เวียดนามเหนือมีซาปา-ฮานอย เวียดนามใต้มีมหานครโฮจิมินห์ แล้วถ้าพูดถึงเวียดนามกลางล่ะ? หลายคนก็น่าจะนึกถึงสถานที่น่าเที่ยวที่ช่วงหลังมานี้ได้ยินชื่ออยู่บ่อยครั้ง อย่าง ‘ดานัง’ เมืองท่องเที่ยวสำคัญ ที่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า เมืองนี้ไม่มีทั้งขอทาน คนไร้บ้าน และยาเสพติดเลยแม้แต่นิดเดียว
ดานังในอดีต เคยเป็นเมืองที่ไม่สลักสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะแม้จะมีชายหาดทอดยาวกว่า 60 กิโลเมตร แต่ก็เป็นดินแดนที่ห่างไกลความเจริญ แถมยังต้องเผชิญกับมรสุมทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่า 15 ลูก จึงทำให้ประชากรของเมืองนี้มีเพียงชาวประมงเป็นหลัก
ทว่าหลังเริ่มสหัสวรรษใหม่เป็นต้นมา นครดานังก็ค่อยๆ เปลี่ยนโฉมหน้าทีละนิด การบริหารจัดการเริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น มีการก่อสร้างสวนสนุกบนความสูง 1,487 เมตรอย่างบานาฮิลล์ แถมในปี 2560 เคยได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) และในปี 2565 ยังกลายเป็นเมืองที่ได้รับรางวัล Asia’s Best Awards ด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย
ข้อมูลจาก thaibiz-vietnam ระบุว่า ในปี 2564 มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังดานังสูงถึง 1.3 ล้านคน ตีเป็นรายได้เข้าประเทศกว่า 2.4 ล้านล้านดอง หรือคิดเป็น 3,624 ล้านบาท โดยรูปแบบการท่องเที่ยวของดานังจะเน้นไปที่การจัดนิทรรศการแสดงสินค้า บ้านพักตากอากาศคุณภาพสูง ไปจนถึงการท่องเที่ยวที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนในชุมชุน
กลไกและแผนงานแบบไหนที่เปลี่ยนเมืองที่ครั้งหนึ่งแทบไม่มีคนอาศัยให้กลายเป็นแหล่งเศรษฐกิจซึ่งช่วยขับเคลื่อนประเทศ ใครเห็นก็อยากมาเที่ยว คำตอบของคำถามข้างต้น ได้แก่ นโยบายชื่อแปลกอย่าง ‘5 ไม่มี และ 3 มี’ ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างเมืองที่น่าอยู่และปลอดภัยที่สุดในโลก
เหวียน โหงะ จุง ( Nguyen Nho Trung) รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการต่างประเทศนครดานัง ประเทศเวียดนาม ได้วางแผนการพัฒนาดานังให้เป็นเมืองคุณภาพ ผ่านการยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร โดย 4 ปีหลังจากแยกตัวออกจากจังหวัดกวางนัม-ดานัง คือปี 2540 ดานังก็ประกาศใช้นโยบาย ‘5 ไม่มี’ ซึ่งประกอบด้วย ไม่มีคนอดอยาก ไม่มีคนไม่รู้หนังสือ ไม่มีผู้ใช้ยาเสพติด ไม่มีโจรผู้ร้าย และไม่มีขอทาน
แผนงานของภาครัฐถูกดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตั้งเป้าว่าต้องทำ ‘ไม่มี’ ให้สำเร็จปีละ 1 ข้อ ซึ่งชาวดานังในเวลานั้นก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ด้วยคาดหวังอยากเห็นบ้านเกิดของตัวเองมีความเจริญมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายไม่มีขอทานที่ทางการประสานงานกับคนในพื้นที่อย่างเป็นระบบ โดยชี้แจงว่า หากประชาชนแจ้งเบาะแสขอทาน จะได้รับเงินสด 200,000 ดอง หรือประมาณ 500 บาทในปีดังกล่าว
และใช่ว่าเจ้าหน้าที่จะนำตัวขอทานไปลงโทษหรือจ่ายค่าปรับ ขั้นตอนต่อมาคือการส่งขอทานเหล่านั้นไปฝึกอาชีพเพื่อให้สามารถทำงานเลี้ยงตัวเองได้ ส่งต่อไปยังนโยบาย ‘ไม่มีคนอดอยาก’ อีกทอดหนึ่ง แต่หากขอทานที่พบมีภาวะพิการหรือสภาพจิตใจไม่ปกติ เจ้าหน้าที่ก็จะส่งตัวไปยังศูนย์คุ้มครองของเมืองเพื่อให้การบำบัดรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ในปี 2564 ดานังพบขอทานทั้งสิ้น 176 คน แต่ในจำนวนนี้มีถึง 85 คนที่มาจากเมืองอื่นของเวียดนาม และกว่า 63 คนที่ลักลอบเข้ามาขอทานจากต่างประเทศ ชี้ให้เห็นว่า ความพยายามในการบริหารจัดการจำนวนขอทานของดานังค่อนข้างมีประสิทธิภาพ และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาร่วม 20 ปี
ข้ามมาที่นโยบาย ‘3 มี’ เป้าหมายของนโยบายนี้คือการสร้างเมืองที่น่าอยู่ในระยะยาว เปลี่ยนชุมชนให้มีบ้านที่น่าอยู่ อาชีพที่เหมาะสม และอารยธรรมสากล เคารพกฎหมาย อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ภาครัฐยังพยายามออกแบบพื้นที่ให้มีความน่าสนใจในการเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการไปศึกษาดูงานในประเทศข้างเคียงเพื่อนำมาปรับใช้ เช่น นำองค์ความรู้เรื่องการดูแลสภาพหาดทรายแถวชะอำและพัทยาของไทยมายกระดับหาดดานัง
ถึงตรงนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ดานังจะกลายเป็นฟันเฟืองสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เป็นเมืองที่ตอบโจทย์ทั้งต่อผู้อยู่อาศัยและนักท่องที่เที่ยวผ่านไปผ่านมา
และน่าสนใจว่าหลังจากนี้ เมืองที่ครั้งหนึ่งเคยเงียบเหงาจะก้าวหน้าไปทางใด และจะมีเมืองไหนอีกบ้างที่หยิบยืมโมเดลการเนรมิตดานังไปปรับใช้กับเมืองของตัวเอง
อ้างอิงจาก
https://thaibiz-vietnam.com/states_regions/da-nang/
https://e.vnexpress.net/news/news/da-nang-dealing-with-influx-of-foreign-street-beggars-3946392.html
https://prachatai.com/journal/2005/08/5459