เศรษฐกิจเวียดนามเป็นยังไงบ้าง? โตแค่ไหน? จะแซงไทยเมื่อไหร่? คำถามเหล่านี้โผล่มาให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ในประเทศข้างเคียงในภูมิภาคอย่างไทย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนไทยชำเลืองมองและให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามอยู่เรื่อยๆ
ข่าวล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ ที่ปรากฏว่า ข้าวเวียดนาม พันธุ์ ST25 ชนะประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2023 (World’s Best Rice 2023) ในการประชุมข้าวโลก (2023 International IWRC) ที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ (ซึ่งมีการชี้แจงในภายหลังว่า ที่ข้าวไทยไม่เข้ารอบ เพราะไม่ได้ส่งประกวด) ก็เสมือนเป็นเครื่องเตือนความทรงจำเล็กๆ ให้กลับมาสังเกตความโดดเด่นของเวียดนามกันอีกครั้ง
จังหวะเวลานี้ – ที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ของจีน เดินทางมาเยือนเวียดนามเพื่อกระชับความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 12-13 ธันวาคมที่ผ่านมา ตามหลัง โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ก็เพิ่งมาเยือนเวียดนามก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน – ก็คงเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่เราจะกลับมาถามถึงเรื่องเศรษฐกิจของเวียดนามกันอีกครั้ง
หาคำตอบไปพร้อมๆ กับ The MATTER ซึ่งได้ไปพูดคุยกับ อ.ปิติ ศรีแสงนาม รองศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงไปถามไถ่ความรู้สึกของชาวเวียดนามวัยทำงานในกรุงฮานอยจำนวนหนึ่ง ต่อเศรษฐกิจของเวียดนาม ณ ขณะนี้
ตัวเลขสะท้อนการเติบโตของเวียดนาม
“ช่วงเวลาเฉิดฉายทางเศรษฐกิจของเวียดนามมาถึงแล้ว” คือความเห็นของกองบรรณาธิการ Financial Times ช่วงกลางปีที่ผ่านมา
ถ้ากางตัวเลขออกมาดู สัญญาณก็บ่งบอกไปในทางนั้นจริงๆ
เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา เวียดนามกลายเป็นดาวเด่นในพาดหัวข่าวของสำนักข่าวเศรษฐกิจทั่วโลก บ้างก็เรียกว่า ‘ดาวรุ่งแห่งเอเชีย’ หลังจากที่สำนักงานสถิติเวียดนาม (General Statistics Office) ประกาศเมื่อปลายปีที่แล้วว่า GDP ของเวียดนามเติบโตถึง 8.02% ในปี 2022 เกินกว่าที่รัฐบาลคาดไว้ จัดว่าเป็นการเจริญเติบโตรายปีที่สูงที่สุดในรอบ 25 ปี (นับตั้งแต่ปี 1997) และเป็นปีที่เวียดนามกลายเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียด้วย
ขณะเดียวกัน สำนักงานสถิติเวียดนามระบุเมื่อปลายปีที่แล้วเช่นกัน ถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเวียดนาม ซึ่งมีมูลค่าแตะ 2.24 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 7.8 แสนล้านบาท) ในปี 2022 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 13.5% และเป็นมูลค่า FDI ที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี (นับตั้งแต่ปี 2018) ของเวียดนามด้วย
การผงาดขึ้นมาของเศรษฐกิจเวียดนาม ทำให้ตอนนี้ มีประชากรเวียดนามแค่ 4.4% ที่อาศัยอยู่ใต้ poverty line หรือเส้นความยากจน (ข้อมูลปี 2021) จากที่เคยมีประชากรมากกว่าครึ่งต้องอยู่ในภาวะยากจน ในช่วงทศวรรษ 1990
The MATTER ได้พูดคุยกับชาวเวียดนามวัยทำงานในกรุงฮานอย ซึ่งก็ให้ความเห็นไปในทางเดียวกัน (แต่ต้องย้ำหลายๆ รอบว่าไม่อาจเทียบเป็นตัวแทนความเห็นส่วนใหญ่ของประชากรเวียดนามได้)
“เทียบกับ 10 ปีที่แล้ว [ตอนนี้] ดีกว่าเยอะ”
ฟาม เหงียน เฟือง เฟือง (Phạm Nguyễn Phương Phương) เล่า “10 ปีก่อนเราเป็นเด็กมัธยมปลาย ตอนนั้นยังไม่มีรถไฟฟ้าเลย”
ส่วน เหงียน ถวี่ เฟิน (Nguyễn Thuý Vân) พูดถึงภาพหนึ่งที่น่าจะสะท้อนพัฒนาการเศรษฐกิจเวียดนามได้ดี นั่นคือ ตอนนี้วัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่มีกำลังซื้อสิ่งของต่างๆ มากขึ้น ซึ่งวัยรุ่นในยุคก่อนหน้าอาจจะซื้อไม่ได้ เช่น แล็ปท็อป หรือโทรศัพท์ ของเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่วัยรุ่นหรือแม้แต่เด็กๆ จะมี “ฉะนั้น ถ้าเทียบกับ 10 ปีก่อน มันดีกว่าแน่นอน” เธอว่า
ขณะที่ เหงียน เฟือง ถวี่ (Nguyễn Phương Thuý) นักวิเคราะห์ธุรกิจในธนาคาร ชี้ให้เห็นคล้ายๆ กันว่า ถ้าดูปัญหาการจราจรในเมืองใหญ่ของเวียดนามขณะนี้ จะเห็นว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนมากๆ สาเหตุก็เพราะคนเวียดนามสามารถซื้อรถยนต์ได้มากขึ้น เงินเดือนเพิ่มขึ้นจนธนาคารปล่อยกู้ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ เธอยังบอกว่า พวกขนส่งสาธารณะหรือโครงสร้างพื้นฐาน คนทั่วไปก็รับรู้ได้ว่ามีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น
‘โด๋ยเม้ย’ นโยบายปฏิรูป ปี 1986 ที่ทำให้เวียดนามเป็นเวียดนามแบบทุกวันนี้
Made in Vietnam – คำสามคำนี้ไปปรากฏอยู่บนสินค้าแบรนด์ระดับโลกนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะ Nike ไม่ว่าจะ Adidas หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์ Samsung จนกลายเป็นเรื่องชินตา
ก่อนที่ฉลาก Made in Vietnam จะถูกปักลงบนผลิตภัณฑ์หลักๆ ของโลก ถ้าพูดถึงที่มาที่ไปของการขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจของเวียดนาม แทบทุกคนต้องพูดถึงการปฏิรูปทิศทางนโยบายทางเศรษฐกิจ ที่เริ่มมีตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมา เรียกว่า โด๋ยเม้ย (Đổi Mới) – พอจะแปลเป็นไทยได้ว่า การบูรณะ
นโยบายโด๋ยเม้ยเริ่มถูกนำมาประกาศอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในการประชุมสมัชชาใหญ่ (National Congress) ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามสมัยที่ 6 เมื่อปี 1986 โดยมีแนวทางคือการปฏิรูปเศรษฐกิจไปสู่ระบบเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม (socialist-oriented market economy) ผ่านการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุน และการปฏิรูปสถาบันและโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
“ผมคิดว่ามันประสบความสำเร็จมากนะครับ” คือความเห็นของ อ.ปิติ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ต่อนโยบายดังกล่าว
เขาเล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังแนวคิดนโยบายนี้ว่า “เหมือนคุณมีบ้านเก่าอยู่ คุณตกแต่งให้มันสวย เวียดนามจะมาแนวนี้ตลอด ทำยังไงก็ได้ให้พรรคคอมมิวนิสต์อยู่ได้ มันไม่เหมือนจีน จีนเวลาปราบโกง สี จิ้นผิง บอกว่า เขาไม่เลือกนะว่าจะเป็นแมลงวันหรือจะเป็นเสือ เขาปราบหมด เวียดนามจะบอกว่า ตอนนี้เราจะล้างบ้านกัน ดังนั้นเราจะไล่หนู แต่อย่าให้แจกันแตกนะ โด๋ยเม้ยก็เหมือนกัน จะปฏิรูปพรรค แต่พรรคห้ามแตก
“โด๋ยเม้ยเป็นการผสมผสานและเคลื่อน (shift) ตัวเองออกจากวิธีคิดแบบโซเวียตรัสเซีย แต่ไปมองวิธีคิดแบบจีนมากยิ่งขึ้น ก็คือเปิดตลาด ให้กลไกตลาดทำงานไปเรื่อยๆ พรรคคอมมิวนิสต์เองก็จะมีการวางแผน มีจุดประสงค์ หรือมีค่านิยมบางอย่างที่บอกว่า ถ้าตลาดไม่เป็นไปในรูปแบบที่เขาพึงประสงค์ เขาก็พร้อมที่จะแทรกแซง และเขาก็ค่อยๆ ปฏิรูป เปิดประเทศไปเรื่อยๆ” อ.ปิติ อธิบาย
และเมื่อเริ่มเปิดตลาด การค้าที่เวียดนามมองหาก็คือการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ช่วงทศวรรษ 1990 ก็คือช่วงเวลาเดียวกับที่เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area หรือ AFTA) หลังจากที่มีการลงนามข้อตกลง AFTA กันไปในเดือนมกราคม ปี 1992 พอดี ทำให้เวียดนามก็เริ่มเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนต่อมาในปี 1995 รวมถึงเข้าร่วมในข้อตกลง AFTA นี้ด้วย
เมื่อการเมืองไม่เสถียร กับอนาคตที่อาจไม่สดใสอย่างที่คิด
อย่างไรก็ดี ในขณะที่ทุกคนกำลังมองไปที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่าสะท้อนการเจริญเติบโตของเวียดนาม อ.ปิติ กำลังเตือนให้เห็นบริบททางการเมืองของเวียดนามที่ไม่อาจสะท้อนออกมาเป็นตัวเลขได้ แต่กำลังส่งสัญญาณอะไรบางอย่าง “ระยะเวลาแค่ไม่กี่ปี 2021-2023 เวียดนามเปลี่ยนประธานาธิบดี 4 คน คุณลองคิดดูว่า ประเทศคอมมิวนิสต์ปกติไม่มีทางทำแบบนี้ได้”
ต้องเท้าความก่อนว่า ระบบการเมืองของเวียดนามนั้นคล้ายคลึงกับประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ คือปกครองโดยพรรคเดียว นั่นคือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม โดยที่ประธานาธิบดีจะมาจากการเลือกตั้งของฝ่ายนิติบัญญัติ เรียกว่า สมัชชาใหญ่ ที่มีวาระละ 5 ปี ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีก็จะดำรงตำแหน่งยาวนาน อย่างน้อยคนละ 4-5 ปี
แต่หลังจากปี 2021 เป็นต้นมา เวียดนามกลับมีประธานาธิบดีที่ได้นั่งเก้าอี้เพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ ถึง 4 คน คือ
- เหงียน ฟู้ จ่อง (Nguyễn Phú Trọng) ที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2018 จนถึงปี 2021 ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรคฯ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลของเวียดนาม
- เหงียน ซวน ฟุก (Nguyễn Xuân Phúc) ดำรงตำแหน่งต่อในปี 2021 จนกระทั่งลาออกเมื่อเดือนมกราคม 2023 ด้วยข้อครหาว่าคอร์รัปชั่น
- หวอ ถิ อั๊ญ ซวน (Võ Thị Ánh Xuân) รักษาการประธานาธิบดี 43 วัน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม ปี 2023
- หวอ วัน เถือง (Võ Văn Thưởng) ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2023 เป็นต้นมา
“เห็นหรือเปล่าว่า นี่มันคือความผิดปกติมากๆ ที่ปกติแล้วในพรรคคอมมิวนิสต์ต้องคุยกันให้เรียบร้อยก่อน” อ.ปิติ ชี้ให้เห็น
“แล้วเอาเข้าจริง เลขาธิการพรรคฯ อย่าง เหงียน ฟู้ จ่อง อายุจะ 80 แล้ว ปกติโดยวาระ ช่วงอายุสัก 67-68 ควรจะเกษียณแล้ว แต่นี่ต้องอยู่ยาวต่อมาอีกเป็น 10 ปี เพราะว่าอะไร เพราะว่ามันยังไม่มีฉันทามติ มันยังไม่มีตัวกลางที่จะสามารถประสานผลประโยชน์ในพรรคได้ เพราะฉะนั้น ตอนนี้ผู้มีบารมีอย่าง เหงียน ฟู้ จ่อง ก็ต้องอยู่ขัดตาทัพไปก่อน”
เขาอธิบายต่อมาว่า ข้ออ้างที่ใช้นำประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งที่ใช้มากที่สุด ก็คือข้อหาคอร์รัปชั่นที่ต้องปราบปราม ดังนั้น ปัญหาหลักในทางเศรษฐกิจที่เห็นได้เป็นอย่างแรกก็คือ เมกะโปรเจ็กต์ไม่ต่อเนื่อง แม้ตั้งรัฐมนตรีขึ้นมาใหม่ ก็ไม่มีใครกล้าทำต่อจากโปรเจ็กต์เก่า เพราะเป็นโปรเจ็กต์ที่เป็นที่ครหาเรื่องคอร์รัปชั่น
“ตรงนี้มันทำให้เอาเข้าจริงๆ เศรษฐกิจเวียดนามอาจจะไม่ได้สดใสขนาดนั้น และการเมืองในเวียดนามมันกลายเป็นปัจจัยที่เขาเรียกว่า ความไม่แน่นอน (uncertainties) นึกออกไหมว่า สำหรับนักธุรกิจ สำหรับนักลงทุน สำหรับบริษัทข้ามชาติ ความไม่แน่นอนคือสิ่งที่เขากลัว” อ.ปิติ เล่า
แต่นอกจากบริบททางการเมือง อันที่จริง การชะลอทางเศรษฐกิจก็เริ่มสะท้อนให้เห็นในตัวเลขต่างๆ แล้วเหมือนกัน ล่าสุด ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank หรือ ADB) เพิ่งปรับลดการคาดการณ์ GDP ของเวียดนามในปี 2023 นี้ จาก 5.8% เหลือ 5.2% ส่วนในปี 2024 คาดการณ์ไว้ที่ 6%
ในรายงาน Asian Development Outlook ของ ADB ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ระบุถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเวียดนาม ประกอบไปด้วย “การชะลอตัวของเศรษฐกิจ ความตึงตัวของตลาดการเงิน (monetary tightening) ในประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ และผลกระทบสืบเนื่องจากการบุกรัสเซียของยูเครน”
สำหรับชาวเวียดนามบางส่วน อย่าง เล เถ เลียม (Lê Thế Liêm) ที่ทำอาชีพเจ้าหน้าที่สินเชื่อในธนาคาร ก็บอกกับ The MATTER ว่า ถึงแม้เศรษฐกิจเวียดนามจะกำลังโต แต่ก็โตช้า เขาเองก็กลับรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยดีมากกว่า โดยเฉพาะช่วงหลัง COVID-19 ที่ทุกคนต้องลดรายจ่ายลง เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิต
เวียดนามจะแซงไทย?
เวียดนามจะแซงไทยไหม? แซงไทยเมื่อไหร่? คือคำถามที่สื่อไทยแทบทุกสำนักน่าจะถามกันมาหมดแล้ว
และก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ในเร็วๆ นี้ ถ้าดูที่ตัวเลข GDP เทียบระหว่างไทยกับเวียดนาม ก็ถึงกับขนาดที่ อ.ปิติ บอกว่า “รดต้นคอ”
เขาอธิบายว่า “ถ้าเกิดว่าเขาโตปีละ 7-8% ต่อไปเรื่อยๆ ไม่นาน GDP เขาก็จะแซงเรา ต้องเข้าใจว่าประเทศไทย 10 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยวิ่งเต็มฝีเท้า มีศักยภาพโตได้ปีละ 4-5% แต่บางปีก็ติดลบ บางปี 0% บางปี 1% อยู่แบบนี้ ต่อเนื่องมา 10 ปี เขาวิ่งเดินๆ แต่เราเหมือนย่ำอยู่กับที่ เพราะฉะนั้น โอกาสที่ GDP เขาจะแซงเราก็ไม่ยาก
“แต่ถ้าไปดูปัจจัยอื่นๆ อย่างเช่น การพัฒนาเมือง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การกระจายความเจริญ ผมคิดว่า ประเทศไทยยังมีแต้มต่อสูงกว่า” อ.ปิติ ว่า
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ อ.ปิติ มองว่า เวียดนาม “มีความเหนือกว่าเยอะ” ก็คือ เรื่องของการพัฒนาคน ที่มีแนวคิดเบื้องหลังคือค่านิยมแบบขงจื่อ ถึงแม้ประชากรถึง 86% จะบอกว่าไม่นับถือศาสนาก็ตาม
“คนพวกนี้ เขารู้ว่าเส้นทางในการที่จะพัฒนาตัวเอง ให้ยกฐานะทางเศรษฐกิจ ฐานะทางสังคมได้ คือผ่านการศึกษา โคตรจะขงจื่อเลย มันมีค่านิยมพวกนี้อยู่ มันมีค่านิยมกตัญญูกตเวทิตา ค่านิยมเคารพบรรพบุรุษ ค่านิยมพวกนี้เป็นค่านิยมพึงประสงค์ที่จะทำให้การพัฒนาทุนมนุษย์ (human capital development) มันดี”
แล้วเรื่องนี้มีทางออกสำหรับไทยไหม?
สำหรับ อ.ปิติ เขากลับเสนอมุมมองที่ต่างออกไปในการเปรียบเทียบระหว่างไทยกับเวียดนาม
“ เอาเข้าจริงๆ คำตอบที่ถูกต้องก็คือ เลิกคิดเถอะ ว่าเขาจะแซงหรือเขาจะไม่แซง”
“คือเขาแซง ก็แล้วไง เขาแซงก็แซง คุณต้องคิดให้ได้ว่า เขารวยขึ้น คุณก็ค้าขายกับเขาสิ ลงทุนกับเขาสิ คุณไม่ดีใจเหรอ ลูกค้าคุณรวยขึ้น เขาจะได้ซื้อของคุณเยอะขึ้น หรือไม่ดีใจเหรอ คุณจะได้มีโอกาสทำมาหากินกับเขามากขึ้น เพราะว่าคนไทยก็ไปลงทุนในเวียดนามเยอะนะ เพราะฉะนั้น ไปคิดใหม่ดีกว่าว่า ถ้าเขารวยขึ้น ถ้าเขาพัฒนาขึ้น โอกาสที่คุณจะค้าขายกับเขา โอกาสที่คุณจะลงทุนกับเขา มันมีเรื่องอะไรบ้าง คุณจะเป็นหุ้นส่วนกันในเรื่องอะไรได้บ้าง”
ในขณะเดียวกัน การตั้งคำถามถึงเศรษฐกิจเวียดนาม ก็ช่วยให้เราย้อนกลับมาสะท้อนได้เหมือนกันว่า ไทยเองยังขาดการพัฒนาในเรื่องอะไรบ้าง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ในเรื่องนี้ อ.ปิติ มีข้อเสนอใน 3 ประเด็น ที่ไทยยังต้องพัฒนาต่อไป
- “เราห่างหายจากการพัฒนาคนอย่างจริงจังมานานขนาดไหน”
- การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ที่ต้องไม่ใช่การซื้อเครื่องจักรมือสองจากต่างประเทศมาทาสีใหม่ แต่ต้องอัพเกรดให้ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นั่นหมายถึง ต้องลดขยะเป็นศูนย์ (zero waste) ต้องควบคุมการรั่วไหลได้ และต้องผลิตแล้วมีประสิทธิภาพสูงสุด
- ต้องจริงจังเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย และทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะในเรื่องการปราบปรามคอร์รัปชั่น
“ถ้าคุณไม่ทำ 3 เรื่องนี้ – พัฒนาคน – พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ให้มัน zero waste ให้มันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้มันมีประสิทธิภาพสูง – และปราบโกง ทำทุกอย่างให้มัน rules-based [ยึดถือกฎเกณฑ์เป็นสำคัญ] – คุณก็ไปไหนไม่ได้” คือข้อสรุปจากนักเศรษฐศาสตร์อย่าง อ.ปิติ