โบราณท่านว่า ผู้หญิงนั้นเปรียบเหมือน ‘ดอกไม้’ ที่บานสะพรั่งส่งกลิ่นหอมและความงามยวนใจ หากแต่วิธีการชื่นชมคือการเด็ดมาดอมดม หลังจากนั้นก็อาจกระทำใดใดก็ได้ ตั้งแต่ทับเก็บไว้จนถึงเด็ดกลีบ ขยี้ หรือแม้แต่เหยียบย่ำ จนบางครั้งเราอาจคิดว่าถ้าดอกไม้เหล่านี้จะเบ่งบานสู้กับแรงคนล่ะ จะพอเป็นไปได้หรือไม่
‘บางกอกคณิกา’ ซีรีส์เปิดตัวโปรเจ็กต์ OneD Original นำเสนอเรื่องราวที่ท้าทายสังคมว่าด้วยการต่อสู้เพื่อความเป็นไทของกุหลาบ โบตั๋น และเทียนหยด ดอกไม้ราคาแพงแห่ง ‘หอบุปผชาติ’ ที่ต่างก็มีความฝันอยากเผชิญโลกในแบบของตน มีคนรัก มีการศึกษา และโลดแล่นไปทั่วโลก ด้วยอาวุธของพวกเธออย่างความงาม โชว์ที่ดึงดูดแขกแลกกับรายได้ หรือการทำให้ตัวเอง ‘อ่านออกเขียนได้’ เพื่อรู้เท่าทันกลของนายเงินที่ควบคุมพวกเธออยู่
เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้ฉาก ‘สำเพ็ง’ แหล่งให้บริการทางเพศที่ใหญ่ที่สุดในปี 2435 กลางสมัยรัชกาลที่ 5 ที่กระแสความเปลี่ยนแปลงของการเมือง เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โสเภณีถือเป็นหนึ่งในอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงนี้ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางกฎหมาย รายได้ และสิทธิ
แต่ในบทความนี้เราไม่ได้จะมาชี้ชวนถึงเนื้อหาของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในซีรีส์ แต่อยากชวนทุกคนนั่งไทม์แมชชีนย้อนไปทำความเข้าใจอดีตของการขายบริการทางเพศในไทย เพื่อไปสำรวจถึงชีวิตของคณิกาในช่วงนั้น เป็นอย่างไร รวมถึงว่าจากวันนั้นจนวันนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้างกับกฎหมายและสิทธิของโสเภณีในไทย
โสเภณีไทย ถูกกฎหมาย สร้างรายได้ ท่ามกลางปัญหา
แต่ไหนแต่ไรมา โสเภณีเป็นอาชีพที่มีสถานะถูกต้องตามกฎหมายมาตลอด ถึงจะไม่ได้เป็นที่ยอมรับในสังคมและนับเป็นอบายมุขชนิดหนึ่ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโสเภณีถือเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทในการสร้างบ้านแปงเมืองให้เข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ อันเนื่องมาจากค่าภาษีที่เก็บจากโสเภณีมีจำนวนมาก
ซึ่งค่าภาษีที่ว่านั้นถูกจัดเก็บด้วยระบบ ‘เจ้าภาษีนายอากร’ ที่รัฐจะเปิดประมูลสัมปทานการจัดเก็บภาษี ใครประมูลได้เขตไหนก็จัดการเก็บภาษีในขอบเขตนั้นๆ โดยจะมีข้าราชการมารับเงินที่เก็บได้ก่อนเข้าท้องพระคลังอีกที ซึ่งแม้จะส่งผลดีต่อการดูแลท้องที่ แต่ก็เกิดปัญหาการหักหัวคิวของเจ้าภาษีและข้าราชการ รวมถึงการยักยอกเงินที่เก็บได้ไว้ก่อนส่งเข้าท้องพระคลัง ซึ่งแน่นอนคนที่เดือดร้อนไม่ได้มีแค่ท้องพระคลัง แต่โสเภณีก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
เมื่อปัญหาการหักหัวคิวหรือการจ่ายส่วยนี้เกิดขึ้นในเกือบทุกพื้นที่ ไม่เว้นย่านสถานบริการอย่าง ‘สำเพ็ง’ ที่การจัดสรรรายได้ของโรงโสเภณีหรือสำนักโสเภณีมักจะเกิดจากการตกลงกันระหว่างนายโรงกับเจ้าภาษี ซึ่งความไม่เป็นธรรมของรายได้ที่โสเภณีได้รับก็ทำให้เกิด ‘โสเภณีเถื่อน’ ที่เลือกจะรับงานอิสระด้วยตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการกดขี่ค่าแรงจากโรงโสเภณี และทำให้เกิดการขายทาสให้โรงโสเภณีต่างๆ ทั้งที่เต็มใจและไม่เต็มใจในราคาถูก
จนกระทั่งในปี 2416 ที่เกิดการตั้ง ‘หอรัษฎากรพิพัฒน์’ เพื่อบริหารจัดการภาษีโดยตรง และยกเลิกระบบเจ้าภาษีนายอากรไป แต่ก็ใช่ว่าโสเภณีจะได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมมากขึ้น เมื่อโสเภณียังถูกกดขี่ในรูปแบบอื่นๆ ทั้งการไม่ยอมให้ไถ่ถอนตัวจากสำนักโสเภณี การตกลงสัดส่วนรายได้ที่เอื้อประโยชน์แก่นายโรงเป็นหลัก ตลอดจนปัญหายิบย่อยตั้งแต่การแย่งชิงรายได้ของโสเภณีในละแวกเดียวกัน ไปจนถึงปัญหาโสเภณีไม่คืนเครื่องประดับแก่นายโรง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นไปพร้อมๆ กับการขยับขยายของแหล่งโสเภณีจากย่านสำเพ็งไปสู่พื้นที่อื่นๆ อย่างถนนเจริญกรุง อันเป็นที่อยู่ของชาวต่างชาติในสมัยนั้น
นอกเหนือจากปัญหาเรื่องรายได้และการกดขี่สิทธิโสเภณีที่ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแล้ว อีกปัญหาสำคัญมองข้ามไม่ได้ก็คือ ‘โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์’ ซึ่งส่งผลต่ออนามัยของผู้คน ทำให้ในปี 2451 รัฐได้การประกาศใช้กฎหมาย ‘พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค ร.ศ.127′ ที่ได้กลายมาเป็นเครื่องมือในการรับรองสถานะหญิงโสเภณี
กฎหมายโสเภณี: รองรับหรือผลักไส?
เล่ากันว่า ‘ประสบการณ์’ จากข้าราชการนักเที่ยวผู้หญิงจำเป็นในการร่าง พ.ร.บ. ป้องกันสัญจรโรคฉบับนี้ เพราะพวกเขามองว่าการจะร่างกฎหมายให้ครอบคลุมชีวิตโสเภณีมากที่สุด ต้องพิจารณาถึงสถานะของโสเภณี รายได้ที่รัฐพึงจัดเก็บ รวมไปถึงสิทธิการรักษาที่พึงได้รับ นั่นทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีสถานะเพียงรับรองและคุ้มครองโสเภณีเท่านั้น แต่ยังเป็นการบัญญัติว่า โสเภณีแบบใดเป็นโสเภณีที่ถูกต้องในสายตาของผู้ออกกฎหมาย (ซึ่งก็คือข้าราชการนักเที่ยวผู้หญิง)
และเมื่อ พ.ร.บ. ป้องกันสัญจรโรคได้คลอดออกมา จึงไม่แปลกใจที่เนื้อหาจะครอบคลุมทั้งความสะอาดของโรงโสเภณี ความประพฤติและทรัพย์สิน เกณฑ์อายุ ไปจนถึงความผิดหากเกิดกรณีหลอกลวง หรือความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การตั้งโรงโสเภณีที่จำเป็นต้องมิดชิด สะอาด และต้องแขวน ‘โคมเขียว’ รูปพัดเอาไว้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังควบคุมไปถึงการไม่ให้ซื้อขายโสเภณีอายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้ที่จะเป็นโสเภณีต้องสมัครใจเป็น ทั้งยังต้องได้รับการขึ้นทะเบียนรูปพรรณสัณฐานทุกๆ 3 เดือน โดยโสเภณีที่ถูกกฎหมายในขณะนั้นจะต้องมีใบอนุญาต มีสังกัด และได้รับการดูแลอย่างถูกต้องตามกฎหมายทั้งด้านการเจ็บป่วย ความเป็นอยู่ และการจัดการรายได้
หลังจากที่กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ จำนวนสำนักโสเภณีที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากรัฐเข้ามาควบคุมดูแลโดยตรง โสเภณีไม่ถูกกดขี่จากเจ้าภาษี รวมไปถึงรายได้ที่รัฐจัดเก็บได้จำนวนมากกว่าเดิม ทว่าสิ่งที่ผิดคาดคือการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เป็น ‘ชื่อ’ ของกฎหมายนี้กลับไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เนื่องจากมีรายงานว่าโสเภณี ‘ไม่ยอม’ ให้แพทย์เข้าตรวจโรคจนหลบหนีออกจากสำนักของตัวเองไป จนทำให้หนังสือพิมพ์ยุคนั้นโจมตีส่วนกลางว่ามุ่งแต่จะ ‘หาเงิน’ เข้ารัฐ และละเลยอนามัยของทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการทางเพศ
แม้ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีเป้าหมายหลักเพื่อรองรับการจดทะเบียนสำนักและตัวโสเภณี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสุขอนามัยของผู้ให้บริการทางเพศที่ได้รับการรับรองผ่านกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของการทำบ้านเมืองให้ ‘ทันสมัย’ เช่นเดียวกับการจัดเก็บรายได้และบริหารราชการแบบรวมศูนย์ ความสะอาดของบ้านเมือง การแสดงว่าเป็นเขตให้บริการทางเพศ ตลอดจนการควบคุมพฤติกรรมของโสเภณีให้เรียบร้อยอาจถือได้ว่าเป็นการจัดการผู้คนให้เข้าสู่ความเป็น ‘อารยะ’ แบบตะวันตกไปด้วย
แต่ถึงจะมีกฎหมายมาควบคลุมดูแลก็ใช่ว่าพวกเธอเหล่านั้นจะได้รับ ‘สิทธิ’ ในการใช้ชีวิตอย่างคนที่ทำอาชีพอื่นๆ เมื่อตามกฎหมาย ‘พระอัยการลักษณะผัวเมีย’ หญิงที่แต่งงานแล้วไม่มีสิทธิที่จะไปประกอบอาชีพโสเภณี ในขณะเดียวกันผู้ชายที่รับโสเภณีมาเป็นภรรยา ก็ถูกลงโทษด้วยการเทียมแอกที่ใช้ไถนาทั้งสามีภรรยา หรือกฎหมาย ‘พระอัยการลักษณะพยาน พ.ศ. 1894’ ที่โสเภณีไม่สามารถให้การเป็นพยานได้ เนื่องจากจัดอยู่ในกลุ่ม ‘อุตริพยาน’ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นผลจากระบบ ‘ผัวเดียวหลายเมีย’ ในสังคมไทยที่ยังคงกดขี่สิทธิของหญิงที่ไม่ตรงตามมาตรฐานศีลธรรมของสังคม อย่างไรก็ดี กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเหล่านี้ก็ได้ถูกยกเลิกไปด้วยกระบวนการการจัดทำกฎหมายสมัยใหม่ในที่สุด
นัยหนึ่ง เราจึงบอกได้ว่าการมีกฎหมายเพื่อรับรองโสเภณีดูเหมือนจะเป็นการส่งเสริมให้อาชีพนี้ขึ้นมาอยู่บนดิน และสร้างรายได้ต่อภาครัฐจากกิจการที่เกิดมาเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ แต่อีกนัยหนึ่ง เราก็อาจมองได้ว่ากฎหมายในขณะนั้นก็ยังคงจำกัดสิทธิของสตรีไว้บนระเบียบทางศีลธรรมที่กำหนดวิถีชีวิตอันดีงามของมนุษย์ไว้ พร้อมๆ กับการทำบ้านเมืองให้ทัดเทียมชาติตะวันตก
แล้วระหว่างศีลธรรมและคุณภาพชีวิต เราควรต้องทำอย่างไรต่อไป?
แน่นอน คำตอบย่อมจบลงด้วยคำว่า ‘ศีลธรรม’ เมื่อกึ่งศตวรรษให้หลัง รัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศ ‘พระราชบัญญัติว่าด้วยการค้าประเวณี พ.ศ. 2503‘ อันมีสาระสำคัญว่าการค้าบริการทางเพศเป็นเรื่อง ‘ผิดกฎหมาย’ ซ้ำในปัจจุบันกฎหมายยังควบคุม ลงโทษทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย และเจ้าของสถานที่ขาย กระนั้น เราต่างรู้ดีแก่ใจว่าการค้าบริการทางเพศไม่เคยหายไป
Sex work is work
หลังจากที่กฎหมายห้ามการค้าประเวณีเกิดขึ้นในปี 2503 ได้รับการประกาศใช้ สิ่งที่น่าสนใจคือโสเภณีได้กลายมาเป็นอาชีพที่ถูกแสวงหาผลประโยชน์จากรัฐที่แกล้งทำเป็นมองไม่เห็นเรื่องเหล่านี้ และอ้างเอาศีลธรรมอันดีมาเป็นฉากหน้า
การค้าประเวณีที่เกิดขึ้นในสังคมไทยจึงเป็นไปในโลกสีเทาในทุกกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นการก้าวเข้าสู่อาชีพ ผู้ประกอบการสถานบริการต้องจ่ายส่วยเพื่อเปิดให้บริการได้นานกว่าที่รัฐกำหนด ผู้ขายบริการทางเพศถูกทำให้เป็นกลุ่มคนชายขอบด้วยกฎหมายที่ไม่แม้แต่จะรองรับคนเหล่านี้เป็นแรงงาน หรือแม้กระทั่งสิทธิการรักษาตัวที่ผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้ต้องหลบซ่อนตัวตนจากคำครหาที่ยังคงตีตราพวกเขาเอาไว้ยิ่งกว่าโคมเขียวที่เคยบ่งบอกพื้นที่ให้บริการ
แม้ปัจจุบันที่สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตนเป็นประเด็นสังคมที่คนตระหนักถึงในฐานะสิทธิของตัวเอง ทว่า สิทธิของผู้ขายบริการทางเพศที่หลายคนสมัครใจจะประกอบอาชีพนี้ก็ยังคงอยู่ในชายขอบของสังคม สถานะของคนเหล่านี้จึงก้ำกึ่งระหว่างการถูกกีดกันและการได้รับการมองเห็นอยู่ดี การศึกษาจึงอาจเป็นแนวทางหนึ่งในการรับรู้และเข้าใจเท่านั้น เมื่อโลกความจริงยังคงมีการปะทะกันระหว่างกรอบศีลธรรมและเสรีภาพเหนือเรือนร่าง ตลอดจนประเด็นเกี่ยวเนื่องอย่างการค้ามนุษย์
กลับมามองกฎหมายที่เกี่ยวของกับเรื่องนี้ในปัจจุบันอย่าง ‘พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539′ จะพบว่ากฎหมายนี้ก็ยังคงกดสถานะของผู้ให้บริการทางเพศ ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งร่วมเข้าชื่อยกเลิกกฎหมายนี้ พร้อมกันนั้น องค์กรภาคประชาสังคมก็ได้เสนอร่างกฎหมายและแนวทางอื่นๆ ที่รองรับอาชีพนี้อย่างครอบคลุม เพื่อออกกฎหมายที่ไม่มองข้าม ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ และ ‘สิทธิที่พึงได้’ ของผู้ให้บริการทางเพศในฐานะประชาชนคนหนึ่ง
ซึ่งแน่นอนว่าไม่ควรมีใครจะต้องถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือสิทธิในฐานะบุคคลเพียงเพราะการประกอบอาชีพ
อ้างอิงจาก