นานนับเดือนที่กองกำลังทหารรับจ้าง อย่าง ‘แวกเนอร์กรุ๊ป’ (Wagner Group) เป็นที่โจษจันถึงความพยายามท้าทายอำนาจของผู้นำรัสเซีย อย่างที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน นำมาสู่การยึดฐานปฏิบัติการสำคัญและส่งขบวนรถหุ้มเกราะมุ่งสู่กรุงมอสโก แต่ทั้งหมดก็จบลงใน 24 ชั่วโมง
ความผิดฐาน ‘ก่อกบฏ’ ตามที่วลาดิมีร์ ปูติน ประกาศกร้าวถึงการกระทำของอดีตพันธมิตร อย่าง เยฟเกนี พริโกซิน (Yevgeny Prigozhin) ว่าเป็นการแทงข้างหลังประเทศที่จำเป็นต้องรับโทษสูงสุด ถูกทำเสมือนเหตุการณ์นี้ไม่เกิดขึ้นมาก่อน หลังมีการพูดคุยโดยมีผู้นำเบลารุสเป็นคนกลาง จนได้ข้อยุติเรื่องทั้งหมด แลกกับการไม่เอาผิดทางอาญากับกองกำลังทหารแวกเนอร์
“ใน 24 ชั่วโมง เราไปถึงมอสโกในระยะไม่เกิน 200 กิโลเมตรในครั้งนี้ เลือดนักสู้ของเราไม่ไหลแม้แต่หยดเดียว” นี่เป็นตอนหนึ่งในแถลงของพริโกซิน ก่อนสั่งกองกำลังให้เคลื่อนกลับฐานที่มั่นเดิม
อะไรเป็นสาเหตุให้แวกเนอร์กรุ๊ปตัดสินใจเช่นนี้? และท่าทีไม่เกรงกลัวของกองกำลังทหารรับจ้าง กำลังสะท้อนปัญหาหลังฉากของสงครามรัสเซีย-ยูเครนหรือไม่ The MATTER ไล่เรียงเหตุการณ์ ไว้คร่าวๆ ดังนี้
1
เริ่มต้นทำความรู้จักแวกเนอร์กรุ๊ปกันก่อน ที่ผ่านมารัสเซียมักยืนกรานว่าทหารรับจ้างเป็นเรื่องผิดกฎหมายมาตลอด แต่แล้วเมื่อเปิดฉากสมรภูมิรบครั้งใหม่ในยูเครน ตัวตนของกลุ่มแวกเนอร์ก็ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลเอง
พวกเขานิยามตัวเองเป็น ‘บริษัททหารเอกชน’ และมีการระบุตัวตนครั้งแรกในปี 2014 เพื่อสนับสนุนกองกำลังแบ่งแยกดินแดนที่ฝักใฝ่รัสเซีย ในภาคตะวันออกของยูเครน ภายใต้การนำของเยฟเกนี พริโกซิน
จากผู้ต้องขังคดีลักทรัพย์ ที่ผันตัวมาเป็นพ่อค้าฮ็อทด็อก จนเติบโตมาเป็นนักธุรกิจจัดเลี้ยงอาหารให้รัฐ จนทำให้เขาได้รับสมญานามว่าเป็น ‘พ่อครัวของปูติน’ ความใกล้ชิดเช่นนี้ จึงทำให้ในวันที่เขายอมรับว่าเป็นผู้ก่อตั้งแวกเนอร์ และมีนักรบรับจ้างในมือมากถึง 50,000 คนในยูเครน ดูจะไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายนัก
แม้พวกเขาจะนิยามตัวเองเป็น ‘บริษัททหารเอกชน’ แต่ในกองกำลังก็ยังมีบรรดานักโทษที่ถูกใช้เป็นผู้นำการโจมตี เพื่อแลกกับอิสรภาพหากชนะสงคราม ตามข้อมูลของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า กว่า 80% ของกำลังล้วนเป็นนักโทษในเรือนจำทั้งสิ้น
และดูเหมือนพื้นที่สำคัญของสงครามอย่างบัคมุตนี่แหละ ที่กลายเป็นพื้นที่เดิมพันชีวิตของหลายฝ่าย ทั้งกองกำลังรับจ้าง บรรดาอาชญากร รวมถึงกองกำลังทหารรัสเซีย ที่ไม่ได้จะพอใจนักกับความสำคัญที่่แวกเนอร์ได้รับ
2
นั่นถึงทำให้เกิดบรรยากาศชวนตึงเครียดมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สงครามคุกรุ่นจากปฏิบัติการโต้กลับของยูเครน
พริโกซินเปิดฉากเดือดใส่ เซอร์เก ชอยกู (Sergei Shoigu) รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย และวาเลรี เกราซิมอฟ (Valery Gerasimov) หัวหน้ากองกำลังติดอาวุธ ว่าล้มเหลวในการจัดหาชุดและกระสุนที่เพียงพอ ให้กับทหารรับจ้างของเขา
อย่างไรก็ดี การวิพากษ์ในครั้งนั้นดูจะไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใดจากทำเนียบเครมลิน โดยตอกย้ำด้วยจุดยืนของปูติน ที่สนับสนุนคำสั่งของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ที่ให้กองกำลังทหารรับจ้าง ต้องลงนามในสัญญาเข้ามาอยู่ในอำนาจควบคุมของทางกระทรวงภายในวันที่ 1 กรกฎาคม
ซึ่งเป็นเรื่องที่พริโกซินคัดค้านและไม่ได้ เพราะมองว่าเขากำลังถูกท้าทายเช่นกัน
3
ต่อมาในการเปิดหน้าผ่านเทเลแกรมครั้งแรกของพริโกซิน ในวันที่ 23 มิถุนายน นี่เองที่ดูจะทำให้เหตุการณ์หลายอย่างซับซ้อนขึ้น
ผู้นำแวกเนอร์กรุ๊ปรายนี้ เลือกที่จะสื่อสารตรงถึงชาวรัสเซียว่า เหตุผลในการรุกรานยูเครนของรัสเซีย เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ในปีที่แล้วนั้น เป็นเพียงเรื่องโกหก
“กระทรวงกลาโหมพยายามจะหลอกลวงสังคมและท่านประธานาธิบดี และบอกให้เราฟังเรื่องท่าทีก้าวร้าวบ้าคลั่งของฝ่ายยูเครน และบอกว่าพวกเขากำลังวางแผนที่จะโจมตีเราด้วยกำลังจากนาโต้ทั้งหมด”
ทั้งระบุว่า สงครามที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปเพื่อส่งเสริมความมั่งคั่งของชนชั้นปกครอง ไม่ใช่เพื่อทำให้ยูเครนปลอดทหาร หรือปลดแอกยูเครนจากนาซีตามคำกล่าวอ้าง
และเมื่อกองกำลังรัสเซียโจมตีทางอากาศใส่ทหารแวกเนอร์ โดยที่พริโกซินไม่ได้ระบุช่วงเวลาที่เกิด แต่นั่นก็นำมาสู่การตัดสินที่ที่ชี้ว่ามาจาก ‘สภาแวกเนอร์’ ไม่ใช่เขาเพียงคนเดียว
เป้าหมายเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับบรรดาทหารที่เสียชีวิตจากความผิดพลาดในสงครามยูเครน ภายใต้ผู้บัญชาการทหารที่ไร้ความสามารถ ด้วยการประกาศจะโค่นล้มเซอร์เก ชอยกู ให้ได้
4
และเรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นแค่คำขู่ เมื่อในชั่วข้ามคืนสื่อต่างชาติรายงานถึงการคลื่อนกำลังข้ามพรมแดนจากยูเครนเข้ามายังเมืองรอสตอฟออนดอนของรัสเซีย ซึ่งที่นี่นับเป็นฐานปฏิบัติการสำคัญที่ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน
สัญญาณชัดเจนขึ้นในช่วงเช้าวันที่ 24 มิถุนายน เมื่อพริโกซินเผยแพร่วิดีโอ ที่เขากำลังอยู่ในกองบัญชาการทหารในเมืองรอสตอฟ พร้อมคนของเขาคนอีก 25,000 คน ที่พร้อมตาย แต่ย้ำว่าจะไม่โจมตีหากไม่มีการขัดขวาง ในวิดีโอนั้นยังแสดงให้เห็นว่าไม่มีการต่อต้านจากผู้คนในใจกลางเมืองแต่อย่างใด
5
ถึงตอนนี้ถ้าวลาดิมีร์ ปูติน จะยังนั่งติดเก้าอี้ก็ดูจะผิดวิสัยไป ช่วงสายของวันนั้นประธานาธิบดีรัสเซีย ถึงได้ออกแถลงการณ์อย่างเร่งด่วน โดยเรียกพริโกซิน ว่าเป็น ‘กบฎ’ แทงข้างหลังกองกำลังรัสเซีย ซึ่งนับว่าเป็นการทรยศชาติ และรัฐบาลจะตอบโต้อย่างรุนแรง แม้ว่าที่ผ่านมากองกำลังแวกเนอร์ จะรบในบัคมุตอย่างกล้าหาญก็ตาม
ทั้งระบุว่า จะยุติเหตุการณ์กบฏครั้งนี้ และลงโทษผู้ก่อเหตุ เพื่อปกป้องประเทศและรักษาความเป็นหนึ่งเดียวของประเทศให้ได้ โดยตามบทลงโทษฐานเป็นกบฏของรัสเซียนั้น มีโทษจำคุกสูงสุดถือ 20 ปี
คำแถลงดังกล่าว ก็มาพร้อมการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้นบริเวณจัตุรัสแดงใจกลางกรุงมอสโก ซึ่งได้มีรายงานปรากฏให้เห็นตามมา
6
แม้จะมีเสียงปรามผู้นำแวกเนอร์มากมาย แต่เขาดูจะใส่ใจมากนัก โดยยังคงเดินหน้าเคลื่อนทัพสู่จุดหมายถัดมานั่นคือ กรุงมอสโก ภายใต้สายตาจับจ้องของคนทั่วโลกที่เฝ้าติดตาม
ตลอดทั้งวัน มีกองกำลังแวกเนอร์บางส่วนที่เคลื่อนพลไปยังถนนมอเตอร์เวย์ M4 ซึ่งมุ่งหน้าสู่มอสโก และมีรายงานว่าพวกเขาสามารถควบคุมกองบัญชาการทหารของอีกเมืองหนึ่งที่อยู่ทางเหนือของมอสโกได้ นั่นยิ่งทำให้การรักษาความปลอดภัยในเมืองหลวงยิ่งเข้มข้น
7
เหลือระยะทางอีกไม่เกิน 200 กิโลเมตรก็จะถึงใจกลางกรุงมอสโก แต่แล้วกองกำลังแวกเนอร์ก็ได้รับคำสั่งให้แตะเบรกไว้เพียงเท่านั้น
ด้วยวิดีโอของพริโกซิน ที่เผยแพร่ออกมาในช่วงเย็น ระบุถึงการตัดสินใจยุติการเคลื่อนกำลังทหารพร้อมยุทโธปกรณ์ทั้งหมด หลังมีการเจรจาโดยคนกลาง คือ อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ประธานาธิบดีของเบลารุส
โดยให้เหตุผลว่า เป็นไปเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดของประชาชน และจะถอนกำลังกลับสู่ฐานที่ตั้ง และตัวเขาจะเดินทางไปยังเบลารุส
แม้จะไม่ได้มีการเปิดเผยว่า การเจรจาที่สำเร็จครั้งนี้แลกมาด้วยผลตอบแทนอะไร แต่เงื่อนไขเบื้องต้น คือคดีความทางอาญาเกี่ยวกับการกบฏของเขาและกองกำลังแวกเนอร์จะถูกยกเลิกทั้งหมด
8
หลังข้อตกลงที่จะลดระดับสถานการณ์อย่างกะทันหันลุล่วง ช่วงเวลากว่า 24 ชั่วโมงของความตึงเครียดจึงค่อยๆ ผ่อนคลายลง เมื่อกองกำลังทหารแวกเนอร์หันหลังกลับมุ่งสู่ฐานที่มั่นเดิม
รวมถึงกำลังพลที่ประจำอยู่ที่รอสตอฟ ก็ทยอยเคลื่อนพล ท่ามกลางเสียงปรบมือและเสียงปืน ตามรายงานระบุว่าพวกเขาได้รับการต้อนรับจากฝูงชนที่สนับสนุน ซึ่งมาคอยส่งเสียงเชียร์ ปรบมือ และถ่ายรูป แต่ก็มีประชาชนบางส่วนที่ตัดสินใจเดินทางออกนอกเมืองตั้งแต่เหตุการณ์เริ่มขึ้น
9
แล้วปูตินอยู่ไหน? ถึงตอนนี้รัสเซียจะรอดพ้นจากช่วงเวลาที่วิกฤติที่สุดไปแล้ว แต่บรรดานักวิเคราะห์ต่างเห็นตรงกันว่า ผู้นำรัสเซียบอบช้ำมากจากเหตุการณ์นี้ เนื่องจากพริโกซินถือเป็นพันธมิตรที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้สนับสนุนที่ซื่อสัตย์อย่างมาก
ทั้งปฏิบัติการของพริโกซิน ยังสะท้อนปัญหาของปูตินที่สูญเสียการผูกขาดทางการทหาร จากการปล่อยให้กบฏยึดฐานที่มั่นในสองเมืองใหญ่ได้
คงต้องติดตามว่า ยูเครนจะใช้ช่วงเวลาที่การเมืองภายในรัสเซียอ่อนแอ สร้างความได้เปรียบได้มากน้อยแค่ไหน และการปรากฏตัวต่อสาธารณะครั้งต่อไปของวลาดิมีร์ ปูติน จะเป็นไปด้วยท่าทีเช่นไร
อ้างอิงจาก
bbc(1)
bbc(2)
bbc(3)
reuters.com
aljazeera