เหตุการณ์โครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช–ลาดกระบังถล่มจนมีผู้เสียชีวิต 2 ราย นอกจากจะสร้างความกังวลต่อผู้ใช้ท้องถนนแล้ว ยังนำมาสู่การตั้งคำถามของประชาชนถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น วันนี้ (11 กรกฎาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมทีมงานจึงตั้งโต๊ะแถลงข่าวกรณีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
โดยวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ผู้กำกับดูแลสำนักการโยธา อธิบายว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างการร้อยดึงลวดระหว่างเสา pier 83 และ 84 โดยระหว่างการทำงาน launcher ซึ่งเป็นตัวยึดคานสะพานชั่วคราวระหว่างก่อสร้างเกิดพลิก และเสียสมดุลจนดึงสะพานถล่มลง อย่างไรก็ดี ทาง กทม. จะหาสาเหตุที่แท้จริงร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ต่อไป
เจ้าของโครงการนี้คือ สำนักการโยธา กทม. ขณะที่ผู้รับเหมาที่ชนะการประมูลก่อสร้าง คือ กิจการร่วมการค้า ธาราวัญ–นภา โดยโครงการมีมูลค่าก่อสร้างอยู่ที่ 1,664,550,000 บาท และเป็นโครงการที่ทำสัญญาตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2564 ภายใต้ปีงบประมาณ 2564 ซึ่งเป็นปีที่อัศวิน ขวัญเมือง ยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.
อย่างไรก็ดี เกิดคำถามว่าเกิดอุบัติเหตุเพราะการเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างหรือไม่ เพราะโครงการก่อสร้างมีการเปลี่ยนจากการ ‘หล่อในที่’ ซึ่งเป็นการหล่อโครงสร้างหน้างาน ค่าใช้จ่ายถูก แต่ใช้พื้นที่เยอะ เป็นการ ‘หล่อสำเร็จ’ ซึ่งเป็นการหล่อสำเร็จรูปจากโรงงานที่ประหยัดเวลา หลังโควิด-19 ทำให้การก่อสร้างชะงักและไม่เสร็จตามสัญญาในวันที่ 11 สิงหาคม 2566
ธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผอ.สำนักการโยธา จึงอธิบายว่า โครงการก่อสร้างนี้ระบุให้ใช้โครงสร้างหล่อสำเร็จได้ ซึ่งผู้รับจ้างบอกว่าจะทำแบบหล่อในที่ แต่เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ผู้รับเหมาขอเปลี่ยนเป็นแบบหล่อสำเร็จเอง
ผู้ว่าฯ กทม. อธิบายด้วยว่า การหล่อสำเร็จเป็นวิธีการก่อสร้างที่ใช้กันทั่วไป เป็นวิธีที่ควบคุมการก่อสร้างได้ดีขึ้น เร็วขึ้น เพราะหล่อจากโรงงาน พร้อมระบุว่า “ที่อ้างว่าเปลี่ยนแบบอะไร (จนทำให้เกิดอุบัติเหตุ) ผมว่าอันนั้นไม่เป็นประเด็น ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยทำมา เป็นวิธีที่คนทั่วไปใช้ และเร็วกว่า”
เมื่อโดนผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าไม่ได้เปลี่ยนแบบทีหลังหรือไม่ ชัชชาติตอบว่า ตามที่สำนักการโยธารายงาน ผู้รับเหมามาขอเปลี่ยนรูปแบบก่อสร้างซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ พร้อมกล่าวว่า “ดังนั้น ทางอำนาจ เราไม่ได้มีการเปลี่ยนแบบก่อสร้าง แต่ทางผู้รับเหมาเขาอยากจะทำกระบวนการที่มันอาจจะเร็วขึ้น หรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น และขอเปลี่ยนตั้งแต่ตุลาคม”
“ถ้าเกิดก่อสร้างถูกต้องก็ไม่มีปัญหาอะไร และเราก็มีผู้ตรวจสอบที่ดูแลมาตรฐาน ส่วนวิธีก่อสร้างก็ไม่ใช่วิธีใหม่ ใช้กันทั่วไปในเมืองด้วยซ้ำ ไม่มีการหล่อในที่เพราะพื้นที่จำกัดและการควบคุมคุณภาพไม่ง่ายเหมมือนทำที่โรงงาน … ตามหลักการไม่ได้ปลอดภัยน้อยลง แต่ขั้นตอนการก่อสร้างก็ต้องละเอียดเพราะมันมีการเปลี่ยนวิธีการก่อสร้าง” ชัชชาติ ระบุ
มีผู้สื่อข่าวถามทิ้งท้ายว่า กทม. ได้ตรวจสอบพื้นที่เองบ้างหรือไม่ เพราะจากแถลงการณ์โยนให้วิศวกรผู้รับเหมาอย่างเดียว ธวัชชัยจึงตอบว่า กทม. มีทีมวิศวกรควบคุม ประกบ และตรวจสอบงานก่อสร้างกับผู้รับเหมาในทุกวัน
อย่างไรก็ตาม จากบันทึกการประชุมสภา กทม. พบว่า วิศณุเคยตอบกระทู้ที่สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.ลาดกระบัง เพื่อไทย ถามถึงความล่าช้าของโครงการที่เกิดอุบัติเหตุ ว่า กทม. จะดำเนินการเร็วขึ้น
รายละเอียดบันทึกการประชุมระบุคำตอบของวิศณุว่า “กทม.ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างทางยกระดับจากแบบเดิมที่เป็นการก่อสร้าง girder box segment ซึ่งติดตั้งแบบหล่อคอนกรีตและเทในที่ ให้เป็น precast box segment โดยหล่อจากโรงงาน และขนย้ายมาติดตั้งบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง”
ทั้งนี้ ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าสาเหตุการถล่มคืออะไร โดยต่อไปจะเป็นกระบวนการรื้อถอนโครงสร้างสะพานลาดกระบังถล่ม ที่ระหว่างรื้อจะมีการเก็บข้อมูลหลักฐาน และหลังรื้อถอนเสร็จก็จะมีทีมสอบสวนเพื่อสืบหาสาเหตุต่อไป
อ้างอิงจาก
https://actai.co/ProjectDetail/64136000032?fillterPj=
https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/200736
https://www.facebook.com/prbangkok/videos/813153993700773