ชื่อว่าหลายคนอาจเห็นเหตุการณ์สะพานยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่มลงมาเมื่อวานนี้ (10 กรกฎาคม) แต่ อุบัติเหตุที่เกิดระหว่างก่อสร้าง หรือซ่อมแซมถนน-สะพาน ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก
ในวันนี้ (11 กรกฎาคม) The MATTER จึงอยากจะหยิบอุบัติเหตุบางส่วนที่เกิดขึ้นมาในระยะเวลา 1 ปีนี้ขึ้นมาเล่าว่าแต่ละครั้ง ภาครัฐได้เข้ามาจัดการเยียวยา หรือมีมาตรการอะไรจากเหตุการณ์ในครั้งก่อนๆ บ้าง
17 กรกฎาคม 2565: วัสดุก่อสร้างร่วงหล่นลงจากการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี – ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอน ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน – เอกชัย (ขาเข้า กทม.) จ.สมุทรสาคร โดยในช่วงเกิดเหตุ มีเหล็กขนาดใหญ่ได้ลอยตกลงมาทับจนรถกระดอนขึ้น
สาเหตุเกิดจากผู้รับจ้างได้เข้าไปเตรียมความพร้อมในการติดตั้งชิ้นส่วนสะพาน ระหว่างการดำเนินงาน ได้เกิดอุบัติเหตุชิ้นส่วนนั่งร้านเหล็กสำหรับรับขา Launching truss ด้านหน้า ร่วงหล่นลงมาบนถนน ระหว่างนั้นมีรถกระบะวิ่งมาในบริเวณดังกล่าว ไม่สามารถหยุดรถได้ทัน ทำให้รถเหยียบทับชิ้นส่วนนั่งร้านเหล็ก และมีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลได้รับความเสียหายอย่างน้อย 3 คัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยอย่างน้อย3 คน
ทั้งนี้ สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในขณะนั้น ระบุว่าสั่งให้ผู้รับจ้างตรวจสอบจุดเกิดเหตุและดำเนินการเคลื่อนย้ายรถคันที่เสียหายออกจากบริเวณที่เกิดเหตุโดยทันที และได้ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บนำส่งโรงพยาบาล เพื่อรับการรักษาและตรวจร่างกาย พร้อมทั้งให้ผู้รับจ้างดูแลผู้เสียหายและดำเนินการเจรจารับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้รับจ้างยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดตามที่ผู้เสียหายเรียกร้องและยินดีที่จะให้ผู้บาดเจ็บไปตรวจร่างกายอีกครั้งหนึ่ง
สราวุธ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรมทางหลวงได้เน้นย้ำเรื่องมาตรการความปลอดภัยในระหว่างการก่อสร้างอย่างสูงสุดมาโดยตลอด และได้สั่งให้โครงการหยุดงานก่อสร้างบริเวณที่เกิดเหตุ เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยอย่างละเอียดและพิจารณามาตรการเสริมความปลอดภัยในด้านต่างๆ
31 กรกฎาคม 2565: คานสะพานกลับรถความยาว 10 เมตร น้ำหนักราว 5 ตัน ที่อยู่ระหว่างปิดซ่อมบำรุง หล่นทับรถยนต์หลายคันบนถนนพระราม 2 ฝั่งมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ หน้าโรงพยาบาลวิภาราม กม. 34 ต.บางกระเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย บาดเจ็บอย่างน้อย 3 ราย
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ก็มีประชาชนในพื้นที่ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมถึงไม่ปิดการจราจรระหว่างซ่อมแซม รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ดำรงตำแหน่งอุปนายกวิศกรรมสถานแห่งประเทศไทยในตอนนั้น ระบุว่า ได้รับรายงานจากจากเจ้าหน้าที่ว่า เมื่อวานนี้กำลังจะกั้นถนน ไม่ให้รถสัญจรผ่านช่องทางด่วน แต่ในระหว่างที่เตรียมความพร้อม เศษชิ้นส่วนของสะพานก็หล่นลงมาก่อน
ในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 พิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมในตอนนั้นระบุว่า กรมทางหลวงได้รายงานผลการเยียวยาผู้ประสบเหตุและครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมถึงการดำเนินการชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ที่ประสบเหตุทั้งหมด และหลังจากได้ข้อสรุปว่าเป็นความผิดพลาดในการปฏิบัติงานของกรมทางหลวง และเกิดจากความประมาทของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะได้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยเพื่อลงโทษต่อไป
ส่วนผลการสอบอย่างเป็นทางการได้เผยแพร่ออกมาในวันที่ 25 สิงหาคม 2565 โดยพิศักดิ์ คาดว่า เกิดจากการสูญเสียเหล็กเสริมในโครงสร้างคานขวางระหว่างการรื้อถอนพื้นสะพานเพื่อซ่อมแซมพื้นสะพานแบบ Full Depth ส่งผลให้เกิดแรงบิดในโครงสร้างของคานตัวริม เนื่องจากน้ำหนักเยื้องศูนย์อาจทำให้โครงสร้างสูญเสียเสถียรภาพและหลุดออกจากจุดรองรับ
พิศักดิ์ ยังกล่าวถึงแผนการปรับปรุงสะพานกลับรถในเบื้องต้น ระบุว่าจะออกแบบให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565 และจะลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พร้อมร่วมกันวางแผนการก่อสร้าง และแผนการจัดการจราจร เป็นต้น ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 คาดว่าจะดำเนินการหล่อคานสำเร็จรูป ติดตั้ง และก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยก่อนเปิดการจราจรบนสะพานกลับรถ ทล.จะทดสอบการรับน้ำหนักบรรทุกของสะพาน เพื่อให้มั่นใจว่าสะพานกลับรถดังกล่าวมีความมั่นคงแข็งแรงตามหลักวิศวกรรม
ต่อมา ก็มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบกรณีอุบัติเหตุดังกล่าว โดยย้ำให้ใช้มาตรการความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้างอย่างสูงสุด และให้มีการตรวจสอบความปลอดภัยทุกพื้นที่ของโครงการปรับปรุงสะพาน หรือในบริเวณพื้นที่ที่มีการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและเหตุการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ นายกฯ ยังแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ พร้อมสั่งการให้มีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบเหตุตามระเบียบกฎหมายที่มีอยู่
7 พฤษภาคม 2566: เกิดเหตุแท่นปูนกำลังก่อสร้าง ถ.พระราม 2 หล่นลงมาทับพนักงานก่อสร้างของบริษัทรับเหมา ถูกแท่นปูนทับร่าง เจ้าหน้าที่กู้ภัย และเจ้าหน้าที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ใช้เวลาประมาณ 2 ชม. จึงสามารถนำร่างผู้เสียชีวิตออกและส่งนิติเวชโรงพยาบาลศิริราชเพื่อชันสูตรศพต่อไป
เบื้องต้น พ.ต.อ.เลิศศักดิ์ เขียมทรัพย์ ผกก.สน.ท่าข้าม กล่าวว่าให้พนักงานสอบสวน สอบปากคำผู้เสียหายและเจ้าหน้าที่ของบริษัทรับเหมาในที่เกิดเหตุ รวมถึงเตรียมประสานกองพิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุอีกครั้งเพื่อหาสาเหตุการเกิดเหตุที่แท้จริงต่อไป
ต่อมา ในัวนที่ 22 พฤษภาคม กทพ. ก็ได้เปิดเผยความคืบหน้าการสอบสวน พบสาเหตุได้แก่
1. วัสดุเหล็กยึด (PT Bar) บกพร่อง ไม่สามารถรับน้ำหนักชิ้นงานที่ยกได้ ทำให้ขาดลงเพราะใช้ซ้ำมาหลายครั้ง โดยจะตรวจสอบต่อว่าทำไมจึงมีตำหนิในวัสดุนั้น
2. ผู้ปฏิบัติงานไม่ปฏิบัติงานก่อสร้างให้เป็นไปตามขั้นตอนการก่อสร้าง อย่างถูกต้องและครบถ้วน ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการดำเนินการถูกต้องครบถ้วนหรือไม่
กทพ. ยังระบุเพิ่มเติมว่า ได้เจรจาค่าทำขวัญและค่าเสียโอกาสของเจ้าของรถ 1 รายและได้สั่งการให้ผู้รับจ้างเยียวยาญาติผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และเจ้าของรถที่ได้รับความเสียหายให้เหมาะสมอย่างที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมคือ
– ทดสอบวัสดุ PT Bar ทุกๆ 30 ช่วงเสา จากเดิมตรวจสอบทุกๆ 50 ช่วงเสา
– ขั้นตอนการติดตั้งคานคอนกรีตสำเร็จรูป ให้ดำเนินการเฉพาะช่วงที่มีการปิดกั้นการจราจร และช่วงเวลากลางคืน และมีการปิดเบี่ยงจราจรไปแล้วเท่านั้น จนกว่าขั้นตอนการดึงลวดจะแล้วเสร็จ โดยการประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนทราบล่วงหน้า
– ให้ผู้รับจ้างโซนที่เกิดเหตุทำการเปลี่ยนชุด PT Bar ใหม่ยกชุด พร้อมตรวจสอบใบรับรองวัสดุก่อนเริ่มปฏิบัติงาน
– เพิ่มการติดตั้งระบบเซนเซอร์อุปกรณ์หลักที่ใช้ในการยกแขวนคอนกรีตเพื่อการมอนิเตอร์ระบบการทำงาน และแจ้งเตือนไม่ให้ทำงานเกิดขีดจำกัดของอุปกรณ์ และ
– ติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อตรวจสอบจุดเสี่ยงในการทำงานของอุปกรณ์ https://www.sanook.com/news/8854302/
อย่างไรก็ดี จากเหตุการณ์สะพานถล่ม ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (11 กรกฎาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมทีมงาน ก็ได้ตั้งโต๊ะแถลงถึงเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมระบุว่า หลังรื้อถอนโครงสร้างสะพานเสร็จก็จะมีทีมสอบสวนเพื่อสืบหาสาเหตุต่อไป
อ้างอิงจาก