“หมอที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัว ก็เหมือนทหารที่ลงสนามรบไม่มีเกราะ” แพทย์รายหนึ่งกล่าว
ในวิกฤติที่เชื้อไวรัสแพร่ระบาด กลุ่มคนสำคัญที่เสี่ยงติดเชื้อและได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรกๆ คือคนในแดนหน้า เช่น แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางด้านสาธารณสุข
ไม่ใช่แค่การใกล้ชิดกับผู้ป่วย ที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์เสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 แต่ยังมีเรื่องถึงข้อจำกัดด้านการจัดสรรทรัพยากรป้องกันเชื้อโรค รวมถึงปัญหาในขั้นตอนสืบสวนโรคที่ทำให้แพทย์เสี่ยงติดเชื้อมากยิ่งขึ้น
The MATTER พูดคุยกับแพทย์หลายคนที่ทำงานอยู่ในสถานการณ์ ‘แดนหน้า’ ของการต่อสู้กับ COVID-19 เพื่อร่วมกันสะท้อนถึงภารกิจสำคัญมากๆ ที่พวกเขากำลังต่อสู้กันอย่างสุดความสามารถ รวมถึงส่งเสียงถึงปัญหาด้านอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก ณ เวลานี้
ฟังเสียงแพทย์ไทยที่กำลังต่อสู้อย่างหนักในแดนหน้า
ในภาวะที่สถานการณ์ของ COVID-19 ยังมีเคสผู้ป่วย และกระบวนการคัดกรองผู้ป่วยที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องตามโรงพยาบาลต่างๆ สังคมไทยแทบจะเข้าใจตรงกันว่า แพทย์คือหนึ่งในกลุ่มคนที่ต้องรับหน้าที่หนัก และกำลังแบกรับภาะที่สำคัญเอาไว้มากที่สุด
หนึ่งในความท้าทาย ณ เวลานี้ คือจำนวนเคสของผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ที่เพิ่มขึ้นและเข้ามาใหม่อย่างต่อเนื่อง
“หนักมากๆ หนักทั้งกาย หนักทั้งใจ” อายุรแพทย์คนหนึ่งอธิบาย “ไม่มีโควิด งานของอายุรแพทย์ก็หนักมากอยู่แล้ว มีโควิดเข้ามายิ่งแล้วใหญ่”
แพทย์คนนี้ประเมินด้วยว่า ถ้าหากสถานการณ์ในโรงพยาบาลเปลี่ยนไป ก็คงจะมีการเพิ่มวอร์ดใหม่เป็นวอร์ด COVID และน่าจะทำให้งานหนักขึ้นอีกหลายเท่าตัว อย่างไรก็ดี แม้ภาระงานจะหนักขึ้น แต่แพทย์ทุกคนก็พยายามจะต่อสู้กับวิกฤตินี้อย่างเต็มที่
ส่วนอายุรแพทย์อีกคนหนึ่ง เล่าให้เราฟังถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลรัฐได้อย่างน่าสนใจ
“เราเข้าเวรมากขึ้นกว่าเดิมมากๆ ปัจจัยที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ เคสผู้ป่วยกรณีเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคเพิ่มขึ้น ถ้ามองในอีกมุมหนึ่งมันก็คือหน้าที่เราอยู่แล้ว เรารู้มาว่า ผู้ป่วยบางคน พอรู้ตัวว่าเข้าเกณฑ์เป็นเคส PUI ก็เครียดแล้วนะ จิตตกไปแล้ว ซึ่งเรื่องแบบนี้ทำให้เรายอมแพ้ไม่ได้ มันคือหน้าที่เรา แล้วเราก็อดหลับอดนอน เรียนหนักกันมาเพื่อสิ่งนี้”
เมื่อถามถึงสิ่งที่กังวลมากที่สุดในเวลานี้ แพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คนหนึ่งบอกว่า เขากังวลกับปัญหาที่เชื้อโรคอาจจะแพร่กระจายมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
“เรากังวลเคสที่อาจจะหลุดมาแพร่กระจายในคนกลุ่มใหญ่ ถ้าคัดกรองพลาด และเคสที่ยังไม่เข้าข่ายแต่กังวลเยอะเลยรีบมาโรงพยาบาล เพราะปัญหาที่ตามมาคือเรื่อง crowed (ความแออัด) และการสี่ยงมา exposed (สัมผัสโรค) ในขณะที่เขาเดินทางและในโรงพยาบาลนี่แหละ”
เข้าใจความเสี่ยงที่แพทย์ต้องเจอ
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 มีกรณีที่ถูกพูดถึงกันเป็นอย่างมาก คือเรื่องราวที่โฆษกกระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ให้ข้อมูลว่า มีบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 2 ราย (ณ วันนั้น) ได้ติดเชื้อ COVID-19 เพราะผู้ป่วยที่ปกปิดข้อมูลความเสี่ยงของตัวเอง
สอดคล้องกับความเห็นของแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ที่อธิบายว่า ความเสี่ยงที่เขาต้องเผชิญ อาจจะมาได้จากช่องโหว่ของ ‘กระบวนการระหว่างทาง’
“ความเสี่ยงมาจากเรื่องการ screening ที่ผิดพลาด จากซักประวัติไม่ครบหรือคนไข้ไม่ให้ประวัติ เรารับมือด้วย universal precaution (หลักการระมัดระวังป้องกันตนเองของบุคลากรทุกคนให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ) ไว้ก่อนในเคสที่ต้องสงสัย”
ด้านแพทย์รายหนึ่งที่กำลังอยู่ในช่วงของการกักตัวเอง เล่าว่า นอกจากความเสี่ยงจากคนไข้ที่ปกปิดข้อมูลตัวเองแล้ว ความเสี่ยงยังมาจากปัจจัยอื่นได้อีกด้วย
“เราไม่รู้ว่าคนไข้คนไหนจะเป็นบ้าง ต่อให้มีระบบการคัดกรองแยกผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงออกแล้ว ก็ยังหลุดได้ เพราะมีทั้งคนไข้ที่ปกปิดประวัติ ทั้งคนไข้ที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยง
“เนื่องด้วยเป็นโรคอุบัติใหม่ จึงมีข้อมูลอย่างจำกัด ทั้งเรื่องของอาการ อาการแสดง การตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ รวมถึงประวัติเสี่ยงที่บางครั้งต้องพยายามเค้นจากคนไข้ และเราเองต้องติดตามข่าวด้วยว่ามีคนไข้ รายใหม่ไปที่ไหนมาบ้าง จะได้มาซักประวัติคนไข้ได้ถูก”
เมื่ออุปกรณ์การป้องกันตัวเองคือสิ่งสำคัญ
แพทย์คนเดิม ยังได้เล่าต่อว่า สิ่งที่ดูจะเป็นความท้าทายด้วย ก็คือปัญหาเรื่องการจัดการอุปกรณ์ป้องกันตัวเองให้กับแพทย์
“ความท้าทายอีกอย่างคืออุปกรณ์ป้องกันตัวไม่พอ โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ที่โรงพยาบาลเองก็ต้องไปเบิกเอาที่แผนกตัวเอง หยิบข้ามแผนกไม่ได้ หยิบแทนกันไม่ได้ มีช่วงนึงต้องจำใจใส่ซ้ำ ถ้ามันยังไม่เลอะ”
ความเห็นเรื่องอุปกรณ์ที่ขาดแคลน คล้ายกับสิ่งที่อายุรแพทย์ได้บอกไว้ถึงสถานการณ์ในโรงพยาบาลที่เขาสังกัด
“เราโดนจำกัดการใช้แมส วันละ 1 แผ่น จะเอาแมสที แทบจะไปกราบขอแมสมาใส่ป้องกันตัวเอง จะทำอะไรก็ระแวงไปหมด ชุด ป้องกัน PPE ก็มีน้อยมาก”
เขายังได้เปรียบเทียบการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง ว่าเปรียบกับชุดเกราะที่ต้องใส่เข้าสู่สนามรบ “หมอที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัว ก็เหมือนทหารที่ลงสนามรบไม่มีเกราะ ไม่มีปืน ลงไปก็ตายอยู่ดี”
ภาวะจิตใจของแพทย์ในวิกฤติ COVID-19
นอกจากความเหนื่อยล้าทางร่างกายแล้ว แพทย์หลายคนได้ส่งเสียงตรงกันว่า ภาวะความกดดันทางจิตใจก็เป็นสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญด้วยเช่นกัน
“วันแรกที่รู้ว่าคนไข้ที่ตรวจไปสัปดาห์ก่อนเป็นโควิด ผมนี่ทั้งเครียดทั้ง depress กลัวตัวเองจะเป็นคนแพร่เชื้อ เพราะทั้งสัปดาห์เจอคนหลายร้อย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดถึงผู้สูงอายุ ตอนนี้รู้สึกโอเคขึ้นแล้ว
“แต่เจอการแถลงข่าว และการให้สัมภาษณ์ของบางท่านนี่ถึงกับท้อเลย นอกจากจะดำเนินการช้า ไม่มีนโยบายที่ดี และไม่หาชุดเกราะให้ทหารไปรบแล้วยังหาว่าทหารประมาทไปเที่ยวเล่นแล้วบาดเจ็บเองอีก รู้สึกว่าบางคนไม่ต้องออกมาพูดจะดีกว่าครับ”
สอดคล้องกับความเห็นของแพทย์คนนี้ว่า เขารู้สึกเป็นกังวล เพราะกลัวว่า ถ้าตัวเองติดโรคขึ้นมา จะทำให้งานของแพทย์ และบุคลากรคนอื่นหนักขึ้น
“ก็แย่นะ ทั้งกังวล ไม่อยากติดเพราะ ถ้าติดขึ้นมา หมอคนอื่น ลำบาก ครอบครัวลำบาก เรื่องงานที่เยอะขึ้น ก็เหนื่อยแหละ แต่ไม่ได้เครียดขนาดนั้น เพราะปกติ งานเยอะอยู่แล้ว อุปกรณ์ก็ขาดแคลนมาก ไม่ได้เพียงพอ อย่างที่ ผู้ใหญ่ เค้าพูดๆ กัน”
เสียงจากแพทย์สองคนนี้ สะท้อนได้ถึงภาวะจิตใจที่บุคลากรในแดนหน้าการรักษาต้องเผชิญในทุกวัน
ก่อนหน้านี้เคยมีงานศึกษาซึ่งเผยแพร่ใน Journal of the American Medical Association ที่สำรวจภาวะจิตใจของบุคลากรทางการแพทย์กว่า 1,257 คนในโรงพยาบาลของจีน โดยพบว่า กว่า 50 เปอร์เซ็นต์เผชิญกับอาการของความซึมเศร้า ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับวิกฤติ COVID-19
นี่อาจจะเป็นข้อมูลที่สะท้อนให้พวกเราเห็นว่า บุคลากรทางการแพทย์ในแดนหน้าทุกคน กำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่หนักที่สุดครั้งหนึ่งของพวกเขา ขณะเดียวกัน กำลังใจจากผู้คนภายนอกก็ถือเป็นสิ่งสำคัญเอามากๆ
“ในใจลึกๆ ก็หวังเล็กๆ ว่าหมอทุกคนจะผ่านมันไปได้” เสียงจากแพทย์คนหนึ่งบอกเราไว้อย่างนั้น
หมายเหตุ การสัมภาษณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2563