คนอเมริกันในปี 1945 แทบไม่ได้รับรู้ถึงผลกระทบอย่างแท้จริงในอีกฟากฝั่งแปซิฟิก หลังเครื่องบิน B-29 นามว่า อีโนลา เกย์ (Enola Gay) ทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกลงใจกลางเมืองฮิโรชิมะ เช้าวันจันทร์ที่ 6 สิงหาคมของปีนั้น และเมื่อ บ็อกสคาร์ (Bockscar) B-29 อีกลำ ทิ้งระเบิดอีกลูกลงสู่นางาซากิในอีก 3 วันต่อมา
หนังสือพิมพ์ The New York Times วันที่ 7 สิงหาคม 1945 รายงานการทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมะเพียงแค่ว่า “ระเบิดปรมาณู ที่มีพลังมากกว่า TNT 20,000 ตัน … ถูกทิ้งลงสู่ญี่ปุ่น” นำพาให้มนุษยชาติบรรลุหมุดหมายใหม่ทางวิทยาศาสตร์ เข้าสู่ ‘ยุคสมัยแห่งพลังงานปรมาณู’ อิงจากสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ แฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman)
ทั้งข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว และฉบับวันที่ 9 สิงหาคม หลังทิ้งระเบิดที่นางาซากิ The New York Times ไม่ได้ระบุถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตเลย กว่าคนทั่วไปจะรับรู้ถึงตัวเลขก็ภายหลังจากนั้น และด้วยวิธีวิทยาที่ทำให้คำนวณยากลำบาก จำนวนผู้เสียชีวิตก็เป็นเพียงการคาดการณ์แม้จนถึงทุกวันนี้ ขณะที่แทบไม่มีการกล่าวถึงกัมมันตภาพรังสีในอีกร้อยๆ ข่าวหลังจากนั้น
งานวิจัยเมื่อปี 2015 โดยศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ แจเน็ต ฟาร์เรลล์ โบรดี (Janet Farrell Brodie) ยืนยันว่า ในช่วงปีหลังทิ้งระเบิดทั้ง 2 ลูก รัฐบาลและบุคลากรสหรัฐฯ ต่างเซ็นเซอร์และปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่ตามมาอย่างหนักหน่วง แม้ความเสียหายเชิงกายภาพจะเป็นที่รับรู้อย่างเปิดเผย และภาพถ่ายทางอากาศของทั้ง 2 เมืองถูกเผยแพร่ไม่นานหลังจากนั้น แต่ผลกระทบระยะยาวอย่างเรื่องกัมมันตรังสีกลับไม่ปรากฏต่อสาธารณะ
นักประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งผลัดกันเรียกปฏิกิริยาช่วงแรกเริ่มหลังทิ้งระเบิดของชาวอเมริกันว่าเป็น ‘ความรู้สึกก้ำกึ่งอันเงียบงัน’ (muted ambivalence) ‘ความชาทางจิตใจ’ (psychic numbing) หรือเป็น ‘การหลบตา’ (the averted gaze)
ความ (ไม่) รับรู้ ในลักษณะดังกล่าว คงพออธิบายมุมมองของชาวอเมริกันในเดือนสิงหาคม ปี 1945 ได้ดี
และน่าจะพออธิบายการตีความของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) ถึงบรรยากาศที่รายรอบ เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) นักฟิสิกส์เจ้าของฉายาบิดาแห่งระเบิดปรมาณู ผู้อำนวยการโครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) ในขณะนั้น ที่ถูกนำมาเล่าใหม่ผ่านภาพยนตร์ชีวประวัติ Oppenheimer ได้บ้าง
ภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์เรื่องดังกล่าว ไร้ฉากทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมะและนางาซากิอย่างสิ้นเชิง โนแลนเคยอธิบายเหตุผลถึงประเด็นนี้ตั้งแต่ก่อนภาพยนตร์จะเข้าโรงว่า ออปเพนไฮเมอร์ “รับรู้ถึงการทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมะและนางาซากิจากวิทยุ เช่นเดียวกับคนทั่วโลก” เขาต้องการตีความให้เห็นถึงประสบการณ์จากมุมมองของออปเพนไฮเมอร์เองในขณะนั้น
หากจะขยายความต่อจาก Oppenheimer คำถามที่ต้องถามอย่างไร้เดียงสาคือ – เกิดอะไรขึ้นบ้างที่ฮิโรชิมะและนางาซากิ?
1.
“ท้องฟ้าวันนั้นที่ฮิโรชิมะเป็นสีฟ้า ไม่มีเมฆเลยแม้แต่นิดเดียว”
และคงจะเป็น “วันที่สวยงามอย่างไม่อาจจินตนาการได้” ตามคำบอกเล่าของผู้รอดชีวิต คิคุเอะ ชิโอตะ (Kikue Shiota) หากไม่ใช่เพราะ พิคะ (ピカ) แสงสว่างวาบทิ่มแทงตา ที่ตามมาด้วย ดง (ドン) เสียงดังสนั่นปฐพี – ศัพท์ 2 คำที่ชาวญี่ปุ่นใช้บรรยายระเบิดปรมาณู
เช้าตรู่วันที่ 6 สิงหาคม 1945 กองทัพอากาศสหรัฐฯ เริ่มต้นปฏิบัติการด้วยการส่ง B-29 จำนวน 3 ลำ (หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกกันว่า บีซัง ทั้งด้วยความเกรงขามและคุ้นหน้าคุ้นตา) ลาดตระเวนตรวจสภาพอากาศที่ฮิโรชิมะ เป้าหมายหลัก และเป้าหมายรอง 2 แห่ง คือ โคคุระ (ปัจจุบันคือคิตะคิวชู) และนางาซากิ นำหน้า อีโนลา เกย์ B-29 ที่จะทำหน้าที่ทิ้งระเบิดยูเรเนียม-235 นามว่า ลิตเติล บอย (Little Boy) ลงสู่เป้าหมายหลัก ซึ่งไม่นานหลังจากนั้น 8.15 น. ตามเวลาในญี่ปุ่น ก็ถูกปล่อย ก่อนจะระเบิดที่ความสูง 580 เมตร เพื่อล้างผลาญทุกสิ่งอย่างด้านล่าง พาให้เมฆดอกเห็ดมรณะพุ่งสู่ฟากฟ้า
วิลเลียม สเตอร์ลิง พาร์สันส์ (William Sterling Parsons) นายทหารผู้ควบคุมระเบิดอยู่บนเครื่อง อีโนลา เกย์ เล่าเหตุการณ์ ณ วินาทีนั้นว่า “ทั้งหมดนี้มันมหึมาและน่าสะพรึงมาก หลังระเบิดถูกปล่อย ผมถอนหายใจ และตั้งหลักรอแรงสะเทือน พอมันมาถึงแล้ว คนที่อยู่บนเครื่องกับผมก็ได้แต่อุทานว่า ‘พระเจ้า’ และตรงที่เคยเป็นฮิโรชิมะก็ได้กลายมาเป็นภูเขาแห่งหมอกควันคล้ายเห็ดยักษ์”
ก็อย่างที่หน้าประวัติศาสตร์บันทึกไว้ นครฮิโรชิมะพังราบเป็นหน้ากลอง รายงานผลสำรวจอย่างเป็นทางการของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 1946 ระบุว่า “เพราะความแม่นยำ ภูมิประเทศที่แบนราบ และรูปร่างทรงกลมของเมือง ฮิโรชิมะจึงถูกทำลายล้างอย่างเสมอหน้าและเป็นวงกว้าง”
ฟิลิป มอร์ริสัน (Philip Morrison) หนึ่งในนักฟิสิกส์จากโครงการแมนฮัตตัน ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสงครามสหรัฐฯ ให้ไปสำรวจความเสียหาย บรรยายสภาพฮิโรชิมะหลังถูกถล่มว่า สถานีดับเพลิงในเมือง 26 จาก 33 แห่งถูกทำลาย โรงพยาบาลถูกทำลายแทบทั้งหมด เหลือรอดเพียง 1 แห่ง ไฟฟ้า รางรถไฟ สายโทรศัพท์และโทรเลข เสียหายใช้งานไม่ได้ทั้งหมด
ประธานาธิบดีทรูแมน แห่งสหรัฐฯ แถลงประกาศศักดาของระเบิดปรมาณูในอีก 16 ชั่วโมงหลังทิ้งระเบิด ข่าวที่ฮิโรชิมะจึงค่อยๆ แพร่ออกไปในญี่ปุ่น มีข้อถกเถียงว่า ที่ตอนนั้นญี่ปุ่นยังไม่ประกาศยอมแพ้ เพราะคิดว่าสหรัฐฯ มีระเบิดปรมาณูอยู่เพียงลูกเดียวในคลังแสง
รัฐมนตรีกระทรวงสงครามญี่ปุ่น โคเรจิกะ อานามิ (Korechika Anami) เคยกล่าวกับคณะรัฐมนตรีว่า “ผมเชื่อว่าพวกอเมริกันแท้จริงแล้วก็มีระเบิดแค่ลูกเดียวเท่านั้น”
เข้าสู่เช้าวันที่ 9 สิงหาคม 1945 – 3 วันหลังจากฮิโรชิมะ – ฝูงบินกองทัพอากาศสหรัฐฯ จึงออกปฏิบัติการอีกครั้ง คราวนี้เครื่องบิน บ็อกสคาร์ ขนระเบิดพลูโตเนียม แฟต แมน (Fat Man) ทิ้งลงสู่หุบเขาอุราคามิ ทางตะวันตกเฉียงเหนือจากใจกลางเมืองนางาซากิ เมื่อเวลา 11.02 น.
แม้เมืองมีขนาดเล็กกว่า แต่ระเบิดที่นางาซากิกลับมีอานุภาพทำลายล้างมากกว่าที่ฮิโรชิมะเสียอีก รายงานของสหรัฐฯ แจกแจงความเสียหายไว้ว่า ภายในรัศมี 1 กิโลเมตรจาก กราวด์ ซีโร (ground zero) หรือจุดศูนย์กลางที่ระเบิดลง ทั้งคนและสัตว์เสียชีวิตทันทีจากแรงระเบิด ส่วนสิ่งก่อสร้างก็แหลกเป็นจุณ ไปจนถึงภายในรัศมี 2 กิโลเมตร
จะว่าเป็นโชคร้ายของนางาซากิก็ได้ (และเป็นโชคดีของเมืองโคคุระ จนมีวลีเรียกกันว่า ‘Kokura’s Luck’) เพราะในวันนั้น บ็อกสคาร์ ออกบินโดยมีโคคุระเป็นเป้าหมายหลัก แต่เมฆหมอกหนาทำให้ทัศนวิสัยย่ำแย่จนทิ้งระเบิดไม่ได้ ชาร์ลส์ สวีนีย์ (Charles Sweeney) กัปตันเครื่องบิน B-29 จึงหันหน้ามุ่งสู่นางาซากิ
จนถึงวันนี้ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากทั้ง 2 เหตุการณ์ก็ยังไม่แน่ชัดว่ามีเท่าไหร่กันแน่ ตัวเลข ‘อย่างต่ำ’ ที่เคยมีการประเมินไว้โดยกองทัพสหรัฐฯ ในช่วงปีหลังทิ้งระเบิด ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตที่ฮิโรชิมะ 70,000 ราย และที่นางาซากิ 40,000 ราย รวมแล้ว 110,000 ราย แต่ยอด ‘อย่างสูง’ ที่นักวิทยาศาสตร์ประเมินในช่วง 30 ปีให้หลัง ระบุผู้เสียชีวิตที่ฮิโรชิมะไว้ถึง 140,000 ราย ที่นางาซากิ 70,000 ราย รวมแล้ว 210,000 ราย
ระเบิดปรมาณูได้ผลอย่างที่สหรัฐฯ คาด การทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมะและนางาซากิ (ประกอบกับการบุกแมนจูเรียของสหภาพโซเวียต เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม) ทำให้จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ (Hirohito) ประกาศยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ 15 สิงหาคม ยอมทำตามข้อปฏิบัติในปฏิญญาพ็อทซ์ดัม (Potsdam Declaration) ปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2
(ส่วนอานามิ รัฐมนตรีกระทรวงสงครามที่เคยบอกว่าสหรัฐฯ มีระเบิดลูกเดียว ก็จบชีวิตในวันเดียวกัน ด้วยการทำเซ็ปปุกุ พร้อมทิ้งข้อความขออภัยโทษต่อองค์พระจักรพรรดิ)
2.
ในวันที่ 6 สิงหาคม 1945 สึโตมุ ยามากุจิ (Tsutomu Yamaguchi) คือวิศวกรเครื่องกลเรือ ชาวเมืองนางาซากิ ที่ทำงานให้กับมิตซูบิชิ เขาย้ายมาทำงานชั่วคราวที่ฮิโรชิมะเป็นเวลา 3 เดือน และกำลังจะได้กลับไปหาครอบครัว
ขณะกำลังเดินไปอู่ต่อเรือ “แสงจ้ามหาศาลบนท้องฟ้า” ก็พาให้เขาหมดสติไป แต่ยามากุจิรอดชีวิตจาก ลิตเติล บอย มีเพียงแค่แผลไฟไหม้เล็กน้อย เขากับเพื่อนร่วมงานที่รอดชีวิตด้วยกันรีบเก็บกระเป๋าจากหอ นั่งรถไฟกลับนางาซากิ
พอมาถึงแล้ว ยามากุจิไปเข้ารับการรักษาแผลไฟไหม้ที่โรงพยาบาล และเมื่อไม่ได้รับบาดเจ็บมากมาย หนึ่งวันถัดมาก็กลับไปทำงานตามปกติ
วันที่ 9 สิงหาคม ขณะที่หัวหน้ากำลังต่อว่ายามากุจิ พร้อมตั้งคำถามว่าเขาสติดีหรือเปล่าที่เชื่อว่าระเบิดลูกเดียวจะทำลายล้างฮิโรชิมะทั้งเมืองได้ จู่ๆ แฟต แมน ก็ระเบิดเหนือนางาซากิ
“ผมนึกว่าเมฆดอกเห็ดตามผมมาจากฮิโรชิมะ” ยามากุจิเคยให้สัมภาษณ์กับ The Independent
ใช่แล้ว ยามากุจิคือผู้รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดทั้ง 2 ครั้ง เขาเป็นเพียงคนเดียว ที่จนถึงทุกวันนี้รัฐบาลญี่ปุ่นให้การรับรองว่าเป็นผู้รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดทั้งที่ฮิโรชิมะและนางาซากิพร้อมๆ กัน แม้ทางการของเมืองนางาซากิชี้ว่า อาจเป็นไปได้ที่จะมีคนแบบยามากุจิมากกว่านี้
แน่นอนว่า ยามากุจิคือหนึ่งคนที่ได้รับการรับรองว่าเป็น ‘ฮิบะคุชะ’ (hibakusha) หรือกลุ่มคนผู้รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดปรมาณู และได้รับผลกระทบจากกัมมันตรังสี เป็นการจัดหมวดหมู่อย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข ข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2022 ระบุว่า ยังมีฮิบะคุชะที่มีชีวิตอยู่ 118,935 คน
นี่คือคนทั้งรุ่นที่ต้องอยู่กับผลกระทบของระเบิดปรมาณูไปชั่วชีวิต ยังไม่นับฮิบะคุชะรุ่น 2 ที่แม้ไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ เพราะยังไม่มีงานวิจัยยืนยันผลกระทบในสุขภาพของผู้รอดชีวิตรุ่น 2 แต่พวกเขาก็ยังส่งเสียงเรียกร้องทางการเมืองเพื่อสิทธิของตัวเองจนถึงทุกวันนี้ คาดการณ์ว่า ฮิบะคุชะรุ่น 2 มีอยู่ราวๆ 300,000-500,000 คนทั่วญี่ปุ่น
ก็ชัดเจนว่า ชีวิตของฮิบะคุชะไม่ง่าย แต่ที่น่าหดหู่ยิ่งกว่า ครั้งหนึ่งฮิบะคุชะเคยถูกกีดกันจากสังคม กลายเป็นตราบาปที่รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณู เพราะความกลัวถึงความบกพร่องทางกายและจิตใจ ขณะที่รุ่นลูกก็ถูกหวาดกลัวว่าจะมีโรคทางพันธุกรรม
กว่าจะได้รับการยอมรับและได้รับความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ ก็เริ่มตั้งแต่ปี 1954 ส่วนหนึ่งเพราะเกิดเหตุการณ์เรือประมง ‘Lucky Dragon No. 5’ ที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากการทดสอบนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ที่บิกีนีอะทอลล์ จนลูกเรือล้มป่วยอย่างรุนแรง ทำให้สาธารณะออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องการเยียวยา กระทั่งญี่ปุ่นออกกฎหมายว่าด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์สำหรับผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณู (Law Concerning Medical Care for the Hibakusha of the Atomic Bombings) เมื่อปี 1957
ถ้าไม่เสียชีวิตทันที ผลที่ตามมาจากการเผชิญกับกัมมันตรังสีจากระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมะและนางาซากิ ก็คือมะเร็งหลากชนิด แต่ที่พบมากที่สุดและอันตรายมากที่สุดในเหยื่อที่รอดชีวิตก็คือลูคีเมีย ซึ่งพบว่า จะเริ่มมีอัตราพบมากขึ้นในช่วง 2 ปีหลังการทิ้งระเบิด และมากที่สุดช่วง 4-6 ปีให้หลัง เด็กคือกลุ่มเหยื่อที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
ส่วนรุ่นลูก แม้อาจจะยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่าได้รับผลกระทบจากระเบิดปรมาณู แต่ที่ผ่านมาพวกเขาก็เรียกร้องความช่วยเหลือจากรัฐบาลอยู่เสมอ ผลสำรวจเมื่อปี 2021 ชี้ว่า เกือบ 80% ของฮิบะคุชะรุ่น 2 มีความกังวลหรือรบกวนทางจิตใจ อันมีที่มาจากสุขภาพหรือผลกระทบของกัมมันตรังสี
การจำแนกคนประเภทฮิบะคุชะยังเป็นประเด็นการเมืองที่มีแง่มุมให้ศึกษาอีกมากมาย หากเราลองดูบทบาทของสหรัฐฯ ก็จะพบว่ามีส่วนให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับความยอมรับในช่วงแรกเริ่มหลังสงครามด้วย
อย่างที่เกริ่นไป รัฐบาลและบุคลากรสหรัฐฯ พยายามปกปิดผลกระทบของกัมมันตรังสีจากระเบิดปรมาณู เช่นในช่วงสงคราม หากมีหนังสือพิมพ์หรือวิทยุญี่ปุ่นรายงานว่ามีคนเสียชีวิตจาก ‘แก๊สพิษกัมมันตรังสี’ หรือแม้กระทั่งสื่อในยุโรปเอง สหรัฐฯ ก็มักจะแปะป้ายว่าเป็น ‘โฆษณาชวนเชื่อ’
การปิดบังจึงส่งผลกระทบทำให้เหยื่อไม่ได้รับความช่วยเหลือจนเวลาล่วงเลย เอ็ม. ซูซาน ลินดี (M. Susan Lindee) นักประวัติศาสตร์ผู้เขียนหนังสือ Suffering Made Real: American Science and the Survivors at Hiroshima ชี้ว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ไม่ต้องการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ เพราะเท่ากับจะเป็นการยอมรับถึงความรู้สึกผิด
3.
ฮิโรชิมะและนางาซากิส่งเสียงสะท้อนก้องไปกว่าแค่ในเชิงกายภาพ หากแต่หยั่งรากลงในวัฒนธรรมญี่ปุ่นหลังสงคราม
ก่อนที่ญี่ปุ่นจะยอมจำนน สหรัฐฯ ตั้งใจให้การทิ้งระเบิดทั้ง 2 ครั้ง กลายเป็นวาระแห่งชาติในญี่ปุ่น หรือ ‘all-Japan events’ ที่ไม่จำกัดแค่ในประชากรเมืองฮิโรชิมะและนางาซากิ แต่เน้นกระจายข่าวให้ได้มากที่สุด ให้เป็นที่พูดถึงกันทั่วประเทศ เพื่อทำลายขวัญและกำลังใจศัตรู ซึ่งสหรัฐฯ ก็ทำได้สำเร็จ
คงไม่แปลกถ้าจะบอกว่า ประสบการณ์เกี่ยวกับระเบิดปรมาณูจะแฝงฝังอยู่ในจิตสำนึกของคนญี่ปุ่น และเมื่อเวลาผ่านพ้น ก็แปรรูปกลายเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรม ทั้งที่ปรากฏในมังงะ อนิเมะ หรือภาพยนตร์
แฟรงค์ ฟูลเลอร์ (Frank Fuller) นักรัฐศาสตร์ชาวสหรัฐฯ เขียนบทความชี้ว่า อิทธิพลของระเบิดปรมาณู เห็นได้ชัดสุดในงานของ เทะสึกะ โอซามุ (Tezuka Osamu) นักเขียนมังงะชั้นปรมาจารย์ และ ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) ทั้ง 2 คนต่างผ่านประสบการณ์และเป็นพยานเห็นการทิ้งระเบิดทำลายล้างญี่ปุ่น (ที่ไม่ใช่แค่ระเบิดปรมาณู) ในช่วงหลังสงครามมาเหมือนกัน
ที่เห็นได้ชัดเจนคือเรื่อง Astro Boy หรือเจ้าหนูปรมาณู ผลงานของเทะสึกะ ที่เริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี 1952 หรือ 7 ปีหลังการทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมะและนางาซากิ และเล่นกับประเด็นการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด ส่วนตัวอย่างผลงานของมิยาซากิในประเด็นคล้ายคลึงกัน คือเรื่อง Nausicaä of the Valley of the Wind ที่เล่าเกี่ยวกับมนุษย์กลายพันธุ์ที่ใช้ชีวิตในโลกหลังหายนะ เมื่อมนุษย์ใช้อาวุธนิวเคลียร์ผิดพลาดจนทำลายล้างอารยธรรม
หากพูดถึงภาพยนตร์ที่โดดเด่นขึ้นมาของสตูดิโอจิบลิ คงเป็นเรื่อง Grave of the Fireflies ที่ออกฉายเมื่อปี 1988 จากปลายปากกาของนักเขียน อะคิยูกิ โนซากะ (Akiyuki Nosaka) ที่เล่าเรื่องเด็กชายและน้องสาว หลบหนีและเอาตัวรอดจากการทิ้งระเบิดในช่วงท้ายสงคราม
แต่ไอคอนทางวัฒนธรรมที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย ก็คือ ‘ก็อดซิลลา’ (Godzilla) สัตว์ประหลาดล้างผลาญมนุษยชาติ ที่มีต้นกำเนิดมาจากการเป็นสัญลักษณ์ของระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมะและนางาซากิอย่างตรงไปตรงมา แต่ต่อมาได้รับความนิยมอย่างมาก จนกลายเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมมหาชนญี่ปุ่นในที่สุด
ซูซาน นาเปียร์ (Susan Napier) ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญอนิเมะญี่ปุ่น จากมหาวิทยาลัยทัฟส์ ชี้ว่า
“ก็อดซิลลาคือการบันทึกเหตุการณ์ระเบิดปรมาณูอย่างถึงที่สุด”
“มันคือการทำใหม่ – คือการประมวลผลการทิ้งระเบิดปรมาณูใหม่ – แทนที่จะมีระเบิดออกมาทำลายโตเกียว คุณก็ได้สัตว์ประหลาดนี้มาแทน ซึ่งแผ่รังสีได้ และมาจากการทดสอบนิวเคลียร์ของอเมริกา”
วิลเลียม สึซุอิ (William Tsutsui) ผู้เขียนหนังสือ Godzilla on My Mind: Fifty Years of the King of Monsters เคยเล่าว่า แท้จริงแล้ว ก็อดซิลลาก็คืออุปลักษณ์ของอันตรายจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ เป็นการสื่อสารทางการเมืองที่บ่งบอกถึงความกังวลใจของชาวญี่ปุ่น โดยใช้สัญลักษณ์สัตว์ประหลาดเป็นสื่อกลาง ในยุคสมัยที่สหรัฐฯ ยึดครองญี่ปุ่น และการเซ็นเซอร์ยังคงมีอยู่อย่างหนักหน่วง
สึซุอิอธิบายว่า ในช่วงเวลานั้น “ศิลปิน คนทำหนัง นักเขียน และอาชีพอื่นๆ ในญี่ปุ่น ไม่สามารถพูดถึงระเบิดปรมาณูได้เสียทีเดียว มันเป็นประเด็นที่คุยไม่ได้ และชาวญี่ปุ่นเองก็ไม่ค่อยได้คุยกันถึงโศกนาฏกรรมครั้งนี้ เพราะมันเขย่าขวัญเกินไป และเพราะพวกเขารู้สึกผิดและอับอายกับเหตุการณ์เหล่านั้น” แต่เมื่อเริ่มมีภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องสัตว์ประหลาดยักษ์ออกมา ท้ายที่สุด คนดูก็ย้อนนึกถึงเหตุการณ์การทิ้งระเบิดปรมาณู
และถ้าหากตีความแบบสุดโต่ง Godzilla Minus One ที่กำลังจะเข้าโรงในปีนี้ ก็จะเป็นภาคต่อของ Oppenheimer ได้ด้วย – เชื่อมโยงกันและกันด้วยประวัติศาสตร์ – คำถามถัดมาคือ แล้วอะไรคือภาคต่อของก็อดซิลลา?