หลังมีรายงานว่า ซอคยองด็อก อาจารย์จากมหาวิทยาลัยหญิงซองชิน ในเกาหลีใต้ส่งอีเมลไปที่ค่ายเพลง Kamikaze ว่าการใช้ชื่อดังกล่าวอาจปลูกฝังสำนึกทางประวัติศาสตร์ที่ผิดให้กับเยาวชนชาวไทยได้ ในวันนี้ (2 สิงหาคม) The MATTER จึงอยากชวนดูเรื่องราวคามิคาเซะ ตั้งแต่ตำนานสายลมศักดิ์สิทธิ์สู่ชื่อพลทหารพลีชีพในสงครามโลกครั้งที่ 2
1. สายลมศักดิ์สิทธิ์
จุดกำเนิดของชื่อครมิคาเซะนี้ คือสงครามระหว่างกองทัพมองโกล และญี่ปุ่นในช่วงศตวรรษที่ 12 มาจากชื่อของพายุไต้ฝุ่นใหญ่ที่ช่วยกองทัพญี่ปุ่นให้ปลอดภัย
ในช่วงที่มองโกลรุกรานอาณาจักรโครยอ แล้วจะรุกรานญี่ปุ่นต่อ ก็มีการส่งสารไปให้จักรพรรดิของญี่ปุ่นแล้ว แต่ญี่ปุ่นไม่ตอบรับ ฝ่ายมองโกลจึงยกทัพเรือบุกประมาณ 40,000 คน เข้าไปเมื่อปี 1274 ที่อ่าวฮากาตะแต่ปรากฏว่ามีลมพายุพัดมาแรงมาก จนทัพมองโกลจมน้ำหายไปหลายพัน หลังจากสงครามครั้งนั้น ญี่ปุ่นก็สร้างกำแพงความยาว 20 กิโลเมตร สูง 2 เมตร เพื่อป้องกันการโจมตีครั้งต่อไป
7 ปีหลังจากนั้นทัพมองโกลก็กลับมาอีกครั้งด้วยกองกำลังรวมๆ แล้วประมาณ 140,000 คน แบ่งเป็น 2 รอบ 40,000 คนแรกที่เข้ามาก็ทำให้รบได้ไม่ง่ายนัก แต่ด้วยกำแพงที่ญี่ปุ่นสร้าง ทำให้ไม่ได้เข้ามาง่ายมากนัก ส่วนอีก 100,000 นายก็เจอกับไต้ฝุ่น จนทำให้เรือจมไป ทหารของมองโกลก็ตายเกือบหมด ส่วนคนที่เหลือรอดมาก็ถูกสังหารด้วยซามูไร ซึ่งไต้ฝุ่นในเหตุการณ์ครั้งนั้น ก็ว่ากันว่าเป็นฝีมือของเทพสายฟ้าตามตำนานญี่ปุ่นอย่าง ไรจิน
2. หน่วยรบพลีชีพ
ศิลปะวัฒนธรรมเคยอธิบายถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ไว้ว่า เป็นหน่วยรบนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังจะพ่ายแพ้สงคราม มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘ต็อกโกไต’ หรือ ‘หน่วยจู่โจมพิเศษ’ แต่มักจะเป็นที่รู้จักกันในนามคือคามิคาเซะ เนื่องจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงของญี่ปุ่นหวังว่าหน่วยจู่โจมนี้ จะเป็นเสมือนดั่งสายลมศักดิ์สิทธิ์ที่พัดพาชัยชนะมาเฉกเช่นในอดีต
หลักการของหน่วยรบนี้ ไม่ได้มีไว้เพื่อให้ทหารต้องสละชีพโดยเปล่าประโยชน์เท่านั้น เพราะตามความปรารถนาของพลเรือโททากิจิโร โอนิชิ ผู้ที่เสนอแนวคิดดังกล่าวมองว่า ถ้าให้ทหารอยู่บนบก ก็คงต้องถูกถล่ม ถ้าอยู่บนฟ้าก็โดนยิง ‘คนหนุ่มควรตายอย่างงดงามเป็นหน้าที่ของหน่วยรบพลีชีพ ที่จะมอบความตายอันงดงาม ดั่งนักรบซามูไรคนหนึ่งพึงจะมี’
ทางกองทัพยังเน้นย้ำอีกว่า การโจมตีทุกครั้งต้องได้ผล หากไม่สามารถหาองศาบินเข้าใกล้เป้าหมายเพื่อจะโจมตีเรือรบก็ไม่ให้พุ่งชนอย่างไร้ผล แต่ให้บินกลับฐาน ‘เพราะการพลีชีพอันสูงส่งจะเปล่าประโยชน์ ถ้าไม่สามารถสกัดกั้นการรุกคืบของฝ่ายอเมริกันได้สำเร็จ’ แต่ในความเป็นจริงเครื่องบินประมาณ 4 จาก 5 ลำกลับถูกยิงตกก่อนจะบินถึงเป้าหมาย
ก่อนทำการบิน นักบินคามิกาเซะต้องเขียนจดหมายถึงครอบครัว โดยข้อความที่ปราศจากอารมณ์คิดถึง และเชื่อว่าภารกิจดังกล่าวจะทำให้พวกเขาได้รับจารึกไว้ในหอศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้ายาสุคูนิ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ชาวญี่ปุ่นผู้เสียชีวิตในสงคราม ดังนั้น ภาพของนักบินกามิกาเซ่ในสายตาของคนในชาติและครอบครัวจึงเป็นซามูไรสมัยใหม่ที่ยอมพลีชีพของตนเพื่อปกป้องเจ้านายหรือองค์จักรพรรดิ
กระทั่งในวันที่ 25 ตุลาคม 1944 เรือรบอเมริกันก็ถูกโจมตีโดยนักบินทิ้งระเบิดพลีชีพ บริเวณฟิลิปปินส์ และร้อยโท ยูกิโอะ เซกิ ก็ได้รับการยกย่องที่จมเรือบรรทุกเครื่องบินคุ้มกันชื่อ เซนต์โล ของอเมริกาลงได้
เมื่อวิธีการดังกล่าวได้ผล ทางญี่ปุ่นก็ใช้หลักการคามิคาเซะไปประยุกต์กับการรบทางทะเล จนทหารฝ่ายสัมพันธมิตรเสียชีวิตราว 3,000 นาย และเรือที่ถูกจม 120 ลำ ส่วนทหารญี่ปุ่นเสียชีวิต 7,000 นาย รวมไปถึงปฏิบัติการดังกล่าวก็ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาอย่างรุนแรงต่อฝ่ายสัมพันธมิตรอีกเช่นกัน ครั้งนี้จึงนับว่าเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่ทำให้หน่วยคามิคาเซะเป็นที่รู้จัก
อย่างไรก็ดี ซาบุโร ซาไก นักบินระดับแถวหน้าของญี่ปุ่น ก็เชื่อว่าไม่ใช่นักบินทุกนายที่จะสมัครใจไปตายจริงๆ โดยเขากล่าวหลังจากสงครามจบลงว่า ไม่มีใครที่อยากตาย แต่มันเป็นคําสั่ง อีกทั้งแม้จะมีนักบินสงสัยในเรื่องหลักการคามิกาเซะ ก็ต้องเก็บความสงสัยไว้กับตัว ไม่มีรายงานถึงผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ไม่มีรายงานด้านความพ่ายแพ้ และยังไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกลยุทธ์ดังกล่าว
สุดท้ายญี่ปุ่นก็แพ้สงคราม หลังจากที่เมืองฮิโรชิมะและนางาซากิถูกทิ้งระเบิด และประกาศยอมแพ้ไปเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 1945 พลเรือโทโอนิชิ ก็ปลิดชีวิตตัวเองลง
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตชาวไทยบางส่วนก็ไม่เห็นด้วยกับที่อาจารย์ซอคยองด็อกยื่นเรื่องไปที่ค่าย ในขณะที่อีกฝั่งก็มองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนของประวัติศาสตร์ ที่ควรจะต้องทำความเข้าใจถึงความเจ็บปวด ทั้งยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้
อ้างอิงจาก