เชื่อว่าหลายๆ คนยังจำเหตุการณ์การประท้วงครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีในอิหร่านเมื่อปีที่แล้วได้ แต่ล่าสุดทางการอิหร่านเสนอโทษที่หนักขึ้นกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายการสวมใส่ฮิญาบ พร้อมทั้งจะติดกล้อง AI ในที่สาธารณะควบคู่ไปกับเจ้าหน้าที่เพื่อคอยสอดส่องผู้กระทำผิดอีกด้วย
เล่าก่อนว่า ผู้ที่จุดประกายการประท้วง คือ มาห์ซา อามินี (Mahsa Amini) หญิงชาวเคิร์ด-อิหร่าน วัย 22 ปี ซึ่งเสียชีวิตเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว หลังเธอถูกควบคุมตัวโดยตำรวจและถูกนำตัวไปที่ศูนย์การศึกษาใหม่ เนื่องจากอามินีถูกกล่าวหาว่าไม่ยอมปฏิบัติตามระเบียบการแต่งกายแบบอนุรักษนิยมของประเทศ
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลอิหร่านออกมาเผยว่ากำลังพิจารณาร่างกฎหมายการสวมฮิญาบใหม่ ซึ่งบทลงโทษจะรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยร่างกฎหมายดังกล่าวจะกำหนดข้อเสนอต่างๆ ทั้งโทษจำคุกที่นานขึ้นสำหรับผู้หญิงที่ปฏิเสธที่จะสวมผ้าคลุมหน้าและยังเพิ่มบทลงโทษใหม่สำหรับคนดังและธุรกิจที่ฝ่าฝืนกฎ เช่น ค่ายหนังโปรโมทผลงานโดยทำโปสเตอร์ที่มีผู้หญิงไม่สวมฮิญาบ
“แม้ว่าร่างกฎหมายจะยังไม่ผ่านการพิจารณา แต่ก็ถือเป็นการข่มขู่ชาวอิหร่านแล้วว่ารัฐบาลจะไม่ยอมถอยในการปราบปรามผู้ที่ไม่ทำตามกฎหมาย” ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งกล่าว
ทั้งนี้ ฮิญาบเป็นประเด็นความขัดแย้งในอิหร่านมาช้านาน โดยมีพื้นเพมาตั้งแต่ปี 1936 แต่ เรซา ชาห์ (Reza Shah) นักเคลื่อนไหวหญิงในสมัยนั้นสามารถเรียกร้องให้รัฐบาลล้มเลิกกฎต้องใส่ฮิญาบได้เมื่อปี 1941 แต่หลังจากผ่านไป 40 ปี ฮิญาบกลับกลายเป็นข้อบังคับทางกฎหมายอีกครั้ง หลังจากราชวงศ์ชาห์ของอิหร่านถูกโค่นล้มในการปฏิวัติอิสลามปี 1979
อย่างไรก็ดี ขณะนี้กฎหมายฮิญาบมีโทษจำคุกระหว่าง 10 วัน-2 เดือน หรือปรับระหว่าง 50,000-500,000 เรียลอิหร่าน (ประมาณ 41.29-412.86 บาท) แต่ร่างกฎหมายใหม่จะทำให้โทษมีความรุนแรงขึ้น โดยจะมีโทษจำคุก 5-10 ปี และปรับเงินสูงถึง 360 ล้านเรียลอิหร่าน (เกือบ 3 แสนบาท)
นอกจากนี้ เจ้าของธุรกิจที่ไม่บังคับให้พนักงานคลุมฮิญาบก็จะต้องเจอค่าปรับที่สูงขึ้น ซึ่งอาจคิดเป็นมูลค่าถึงสามเดือนของกำไรจากธุรกิจของพวกเขา และเจ้าของธุรกิจอาจจะถูกห้ามออกนอกประเทศหรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะนานถึง 2 ปี
“ค่าปรับดังกล่าวมากเกินกว่าที่ชาวอิหร่านทั่วไปจะจ่ายได้ เนื่องจากคนอิหร่านหลายล้านคนยังประสบปัญหาความยากจน” ฮอสเซน ราเอซี (Hossein Raeesi) ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนชาวอิหร่านกล่าว
อ้างอิงจาก