เราไม่ปฏิเสธนะว่า ‘การสวมฮิญาบ’ คือผลผลิตของปิตาธิปไตยในนามของกฎระเบียบศาสนาที่มันมาครอบงำเนื้อตัวร่างกายผู้หญิง กดให้พวกเธอต้องจำนนต่อโครงสร้างสังคมปิตาธิปไตย ยอมรับสถานะอันด้อยกว่าและกล่อมเกลาให้พวกเธอว่าง่ายต่อผู้ชาย แต่ ‘ฮิญาบ’ มันก็ไม่ได้มีความหมายเดียวเท่าๆ กับอำนาจการกดทับการสร้างความด้อยกว่ามันไม่ได้มีโครงสร้างเดียว ในบางครั้ง ในบางโครงสร้างอำนาจ ฮิญาบก็เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับอีกชุดอำนาจหนึ่งที่มากดทับพวกเธอด้วยเช่นกัน
อย่างเช่นรัฐราชการไทยที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่กรุงเทพ ความคิดความอ่านแบบกรุงเทพๆ และ หลงเข้าใจผิดว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และมีแต่ชาติพันธุ์ไทยเท่านั้นที่เป็นเจ้าของประเทศ
ในอดีต เจ้าหน้าที่รัฐจึงมักข่มเหงรังแกใช้ความรุนแรงชาวบ้านมลายูมุสลิมบริเวณชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง และจากการที่กลุ่มทหารนาวิกโยธินทำร้ายชาวบ้านบาเจาะ จังหวัดนราธิวาสจนตายเป็นจำนวน 5 คน แล้วโยนศพทิ้งลงแม่น้ำสายบุรีที่สะพานกอตอ ซึ่งเป็นเขตติดต่อระหว่างจังหวัดนราธิวาสกับปัตตานี เมื่อคืนวันที่ 29 พฤศจิกายน ปี พ.ศ.2518 บังเอิญดีที่เด็กชายที่ถูกร้ายด้วยเช่นกันแต่ยังไม่ตายได้ว่ายน้ำหนีขึ้นฝั่งไปขอความช่วยเหลือจากชาวบ้าน เรื่องราวจึงไม่ถูกทำให้เงียบเช่นแต่ก่อน และได้นำไปสู่การรวมตัวกันของนักเรียนนักศึกษาประชาชนมลายูมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ชุมนุมประท้วงหน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี เรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาล ท่ามกลางการดำเนินการสลายปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐ มีแกนนำประท้วงถูกไล่ตามเก็บทั้งระหว่างปราศรัยและหลังประท้วง จนหลายคนต้องหนีเข้าป่า
การชุมนุมเรียกร้องดำเนินได้เพียงสองวัน ตำรวจก็โยนระเบิดใส่ผู้ชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต 12 คน บาดเจ็บประมาณ 30 คน ยิ่งสร้างโกรธแค้นและจำนวนผู้ชุมนุมมากขึ้นเรื่อยๆ มีการเดินขบวน นักเรียนนักศึกษาจากมหา’ลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่และวิทยาเขตปัตตานี วิทยาลัยพละยะลา มหา’ลัยศรีนครินทรวิโรฒ (สงขลา) วิทยาลัยครูยะลา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา) วิทยาลัยครูเทคนิคภาคใต้ โรงเรียนการช่างปัตตานี โรงเรียนเทคนิคยะลา และโรงเรียนประจำจังหวัดนราธิวาส นัดหยุดเรียนประท้วง ชาวมุสลิมในกรุงเทพก็ร่วมขบวนการเคลื่อนไหวนี้ จนมีผู้เข้าร่วมชุมนุมถึงประมาณ 100,000 คน และยืดเยื้อออกไปถึงวันที่ 24 มกราคมในปี พ.ศ.2519 [1]
กลายเป็นอีกเหตุการณ์ต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมือง
ครั้งสำคัญที่พยายามถูกทำให้ลืม แต่ลืมไม่ลง
การประท้วงครั้งใหญ่ครั้งนี้ได้เป็นหมุดหมายจุดเปลี่ยนของประชาชนมลายูมุสลิมให้มาเริ่มพัฒนาขบวนการเคลื่อนไหวในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองภาครัฐ และเป็นครั้งแรกที่คนรุ่นใหม่หนุ่มสาวได้เรียนรู้ทั้งประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในปัตตานีจากคนรุ่นก่อนๆ
สำหรับ ฮิญาบ ประชาชนหญิงมาลายูมุสลิมะห์ตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา เริ่มได้รับการศึกษามากขึ้น จากเดิมที่เรียนจบในระดับประถมเท่านั้น บางนางไปเรียนมาเลเซียในยุคกระแสชาตินิยมฟื้นฟูอิสลามเพื่อต่อสู้ปลดปล่อยประเทศจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ บางนางเดินทางออกจากบ้านเกิดเข้าไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยในกรุงเทพและภูมิภาคอื่นๆ บางนางดิ้นรนไปเรียน อียิปต์ ซาอุดิอาราเบีย
และเนื่องจากกระแสฟื้นฟูอิสลามในมาเลเซีย ก็ได้เกิดกระแสฟื้นฟูศาสนาอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย กลายเป็นศาสนาอิสลามสมัยใหม่ในพื้นที่ พยายามสร้างความบริสุทธิ์ของศาสนา ไม่ให้แนวคิดความเชื่ออื่นของชาวบ้านมาปะปน นำหลักศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเข้มข้น เน้นศรัทธาและเคร่งมากขึ้นกว่าอดีต ในฐานะอิสลามสายใหม่ ฮิญาบก็เริ่มมาเคร่งสวมมากขึ้นในช่วงเวลานี้
กลุ่มมุสลิมะห์ที่ไปเรียนจบจาก Yayasan Pengajian Tinggi Islam Nilam Puri สถาบันการศึกษาศาสนาขั้นสูงแห่งแรกของมาเลเซีย ก็เข้ามามีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากต่อการกำหนดอัตลักษณ์และบทบาทของผู้หญิงมุสลิมด้วยกัน ส่งเสริมให้ผู้หญิงคลุมฮิญาบเป็นสัญลักษณ์ของมุสลิมสายใหม่ และก้าวออกจากความเชื่อจารีตมุสลิมสายเก่าที่ว่า ผู้หญิงไม่ต้องเรียนรู้อะไรมาก ให้พ่อแม่สอนหลักศาสนาในครอบครัวก็พอเพราะแต่งงานไปเดี๋ยวผัวก็สอนเอง
พวกเธออุทิศตนเองเพื่อเผยแพร่ศาสนาอย่างจริงจัง เพื่อให้เห็นว่าผู้หญิงก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับผู้ชาย ฮิญาบจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของหญิงสมัยใหม่ที่ได้รับการศึกษามากขึ้น มีบทบาทในสาธารณะที่ทัดเทียมกับผู้ชายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้[2]
และเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ที่ปัตตานีปี พ.ศ.2518-2519 นั้น ก็ทำให้พวกเธอตระหนักถึงตัวตนอัตลักษณ์ความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์และศาสนา และยิ่งปฏิวัติอิหร่าน 1979 ก็ส่งอิทธิพลฟื้นฟูจริยธรรมของประชาชนมาลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้มากขึ้นในปี พ.ศ.2522 ฮิญาบเองที่เป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของการฟื้นฟูอิสลาม
ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือต่อรองโครงสร้างอำนาจ
รัฐราชการรวมศูนย์กรุงเทพค่านิยมพุทธๆ ที่ผลักให้มลายูมุสลิมเป็นคนชายขอบ
เพราะเมื่อมุสลิมะห์ออกไปเรียนหรือทำมาหากินนอกชุมชนบ้านเกิด ไปเป็นครูบาอาจารย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สังคมสงเคราะห์ ในสังคมที่เต็มไปด้วยสิ่งแวดล้อมแบบพุทธๆ พวกเธอถูกชาวพุทธดูแคลน บ้างถูกกีดกันโอกาสในการศึกษาและหน้าที่การงานโดยเฉพาะในราชการ หัวนาย ข้าราชการผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์หลายคนไม่อยากให้มุสลิมะห์คลุมผมในที่ทำงานหรือมาเรียน เพราะถือว่าขัดต่อกฎระเบียบว่าด้วยเครื่องแต่งกาย พวกเธอจึงลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อให้ได้แสดงอัตลักษณ์ทางความเชื่อส่วนบุคคล เรียกร้องสิทธิทางศาสนาของตัวเอง
การคลุมฮิญาบของพวกเธอจึงเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติของรัฐ การสร้างความเท่าเทียมในการแสดงออกทางความเชื่อความศรัทธาในประเทศที่เลือกปฏิบัติทางศาสนา
การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เริ่มต้นในปลายปี ค.ศ.2530 เมื่อนักศึกษามุสลิมะห์ในวิทยาลัยครูยะลา ทำหนังสือให้วิทยาลัยอนุญาตให้พวกเธอสวมฮิญาบ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธแม้ว่าสมาชิกในคณะผู้บริหารพิจารณาก็เป็นมุสลิมด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันนักศึกษาเหล่านี้ก็อารยะขัดขืนด้วยการคลุมฮิญาบมาเรียนท่ามกลางกระแสกดดันของครูบาอาจารย์และวิทยาลัย มีนักศึกษามุสลิมะห์คลุมฮิญาบมาเรียนเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่พวกเธอก็ถูกกดดันมากขึ้นด้วยเช่นกัน ผู้บริหารวิทยาลัยเรียกไปขู่ให้ยุติการเคลื่อนไหวหลายครั้ง มีการเรียกผู้ปกครองมาพบ ถูกกลั่นแกล้งไม่ให้เข้าเรียน ชุดละหมาดของพวกเธอในห้องชมรมจริยธรรมอิสลามถูกนำไปทิ้ง ไม่ให้ใช้เครื่องเสียงเวลาประชุม วิทยาลัยยังจัดให้นักศึกษาจำนวนหนึ่งตั้งกลุ่มต่อต้านรังเกียจพวกเธอ
มีหรือจะยอม … การเคลื่อนไหวของพวกเธอขยายวงกว้างและได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการยื่นหนังสือเจรจาไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ และ ส.ส. และเมื่อมีนักศึกษาถูกไล่ออกจากห้องเรียนและไม่ให้เข้าห้องสอบเพราะการคลุมฮิญาบของเธอในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2531 ก็นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ในยะลา นักศึกษาจัดชุมนุมหน้ามัสยิดกลางที่ยะลา มีผู้ร่วมชุมนุมราว 10,000 คน และประชาชนจากจังหวัดอื่นๆ ก็เริ่มเดินทางมาร่วมสมทบ กลายเป็น flash mob ที่ในแต่ละวัน ชุมนุมเริ่มในช่วงหลังละหมาด ประมาณ 4 โมงเย็น และยุติตอนเที่ยงคืน การปราศรัยใช้สองภาษาทั้งภาษาไทยและมลายูถิ่น มีการส่งคณะตัวแทนชาวมุสลิมไปเจรจากับกระทรวงมหาดไทยให้ยอมรับสิทธิและอัตลักษณ์มุสลิม ซึ่ง 1 ในนั้นก็คือ สมชาย นีละไพจิตร ด้วย
แน่นอนในช่วงเคลื่อนไหว มีการปล่อยข่าวว่า ประเทศอิสลามตะวันออกกลางอยู่เบื้องหลัง และจะใช้ความรุนแรง เช่นหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และหนังสือพิมพ์ดาวสยามตัวดีก็พาดหัวข่าวว่า “ประท้วงแต่งฮิญาบ เพราะการเมืองจากภายนอก ลัทธิชีอะฮ์หนานก่อเหตุข่มพุทธ”
เสี้ยมเก่ง…ดีออก
กว่ารัฐบาลจะยอมรับข้อเรียกร้องก็ในปลายมีนาคม พ.ศ.2531 และออกมาสัญญาว่าจะแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ละเมิดสิทธิมุสลิมะห์[3] และนี่ก็คือเหตุการณ์เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพที่เราจะไม่ลืม
การสวมฮิญาบในไทยจึงมีความหมายมากไปกว่าเครื่องแต่งกายที่กดขี่เนื้อตัวร่างกายผู้หญิง แต่มีความหมายของการต่อสู้การกดขี่การละเมิดสิทธิเนื้อตัวร่างกายของรัฐไทย ที่ออกกฎระเบียบข้อบังคับเลือกปฏิบัติกีดกันความหลากหลายในประเทศ
ในขณะที่ต่างประเทศ การสวมฮิญาบในบางประเทศ เช่น ในเดือนมีนาปี พ.ศ.2564 นี้เอง รัฐบาลอินโดนีเซียที่มีมุสลิม 90% ของประชากรในประเทศได้ออกคำสั่ง ‘ห้ามโรงเรียนรัฐบาลออกกฎข้อบังคับนักเรียน ครู และบุคลากร ต้องสวมฮิญาบหรือชุดแต่งกายทางศาสนา’ สืบเนื่องมาจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในสุมาตราตะวันตกออกกฎบังคับให้นักเรียนที่ไม่ใช่มุสลิมคลุมฮิญาบมาเรียน จนเกิดกระแสการประท้วงของผู้ปกครองในระยะสั้นๆ ไม่ได้กินระยะเวลานาน
ทางการอินโดนีเซียออกมากล่าวว่า ไม่มีเหตุผลใด
ที่จะใช้ศาสนา ไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น การแต่งกาย
ตามหลักและความเชื่อทางศาสนาเป็นสิทธิส่วนบุคคล
โรงเรียนไม่มีสิทธิออกกฎให้ทุกคนต้องแต่งกายตามหลักศาสนาใดศาสนาหนึ่ง และมันก็ไม่ใช่หน้าที่ของโรงเรียนที่จะตัดสินใจแทนนักเรียนและครู หากแต่โรงเรียนควรทำหน้าที่เสริมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม โดยเฉพาะความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างหลากหลาย
ไม่ว่าฮิญาบจะมีนัยยะใด ใครใคร่ใส่ ใส่ ใครมิใคร่ใส่ มิใส่ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดด้วยสำนึกแห่งสิทธิเสรีภาพ
ทว่าในเดือนปีเดียวกันของจักรวาลคู่ขนาน ปรากฏว่า นายกสมาคมปกป้องพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยออกมาบ่นกระปอดกระแปดพร้อมตั้งคำถามว่า
“ถ้าคนนึงคลุมฮิญาปมาเรียนได้ แล้วหากชาวเขาทุกเผ่าต่างต้องการแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่ามาโรงเรียนด้วย ต่อไปโรงเรียนไทยจะเป็นยังไง ฝากไว้ให้อนาคตของชาติคิดพิจารณาดูที” (สะกดตามต้นฉบับ)
ขอตอบสั้นๆ ว่า ก็เป็นโรงเรียนสิป้า
และเราคงไม่ต้องเสียเวลาไปโต้เถียงชี้แจงอะไรกับคนแบบนี้ กับเรื่องพื้นๆ สามัญสำนึกทั่วๆ ไปที่ไม่ว่าใครก็ใช้สมองคิดเองได้ นอกเสียจากให้คนประเภทนี้ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ให้มากขึ้นเท่านั้น
อ่านเพิ่มเติม
[1] พิเชฐ แสงทอง. ความเป็นมาของการจัดการชายแดนใต้ : เรื่องเล่าการประท้วง กรณี ‘สะพานกอตอ’ สมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช. วารสารรูสมิแลปีที่ 40 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2562
[2] ทวีลักษณ์ พลราชม. อัตลักษณ์แบบผสมผสานกลายพันธุ์ (Hybrid identities) ของผู้หญิงมุสลิมปาตานี “สามรุ่น” ผ่านระบบการศึกษาแผนใหม่ ระหว่างพ.ศ.2500-2525. การประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 10 (2559).;
—–. “ในระหว่างพื้นที่” : อัตลักษณ์ผู้หญิงมาเลย์-มุสลิมปาตานีสามรุ่นที่ผ่านการศึกษาแผนใหม่ ระหว่าง พ.ศ.2500-2525. การประชุมวิชาการนานาชาติเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 8 (2557).;
—–. อัตลักษณ์ผู้หญิงมุสลิมปาตานีที่ผ่านการศึกษาแผนใหม่ หลัง พ.ศ. 2502. วลัยลักษณ์วิจัยครั้งที่.5 (2556).
[3] รอมฎอน ปันจอร์. ประท้วงฮิญาบที่ยะลา: ความทรงจำของการต่อรอง. วารสารรูสมิแล ปีที่ 33 ฉบับที่ 1 มกราคม – เมษายน 2555.