มีมหา’ลัยไหนในประเทศไทยสนใจเปิดหลักสูตรนี้บ้างไหมน้าา? เมื่อมหาวิทยาลัยเกนต์ในเบลเยียมกำลังจะมีวิชาการวิเคราะห์วรรณกรรมผ่านผลงานเพลงเทย์เลอร์ สวิฟต์ (Literature: Taylor’s Version) เพื่อเป็นการยกย่องผลงานของเธอ
“เนื้อเพลงของเทย์เลอร์มีเนื้อหาและอัตชีวประวัติสูง ซึ่งเธอมักจะพาดพิงถึงเนื้อความจากวรรณกรรมต่างๆ ในเพลงของเธอ” เอลลี แมคคอสแลนด์ (Elly McCausland) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ผู้คิดค้นหลักสูตรนี้ระบุ
โดยวิชาดังกล่าวจะเปรียบเทียบธีม ภาพ และการใช้ภาษาระหว่างเทย์เลอร์และนักเขียนชื่อดังต่างๆ ตั้งแต่ยุคกลางจนถึงยุควิกตอเรีย รวมถึงผลงานของนักเขียนร่วมสมัย เช่น ซิลเวีย แพลท (Sylvia Plath), ชาลส์ ดิกคินส์ (Charles Dickens) และ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) และ มาร์กาเร็ต แอตวูด (Margaret Atwood)
แมคคอสแลนด์เสริมว่า “เราจะนำหัวข้ออื่นๆ มาศึกษาร่วมด้วย เช่น สตรีนิยมในวรรณกรรม การวิพากษ์วิจารณ์เชิงนิเวศน์ และยังจะเจาะลึกเพลงเพื่อสำรวจความเป็นทางวรรณกรรมอีกด้วย”
ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นในการเปิดสอนวิชานี้ของแมคคอสแลนด์ เกิดจากการที่เธอฟังอัลบั้มมิดไนส์ (Midnights) ที่ปล่อยเมื่อปีที่แล้ว “มีเพลงหนึ่งในอัลบั้มชื่อ The Great War ซึ่งเทย์เลอร์นำสงครามโลกครั้งที่ 1 มาเปรียบเป็นความรู้สึกอกหัก เสียใจ … นั่นทำให้ฉันนึกถึงบทกวี แดดดี้ (Daddy) ของซิลเวีย แพลท (Sylvia Plath) ที่เธอใช้เรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust) ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อพูดถึงความสัมพันธ์ที่มีปัญหาของเธอกับพ่อ”
เธออธิบายว่า “การนำความเจ็บปวดทางประวัติศาสตร์และสงครามมาเป็นอุปลักษณ์ เพื่อแสดงความรักหรือการสูญเสีย ถือเป็นจุดที่ทำให้ฉันเริ่มคิดถึงแนววรรณกรรมอื่น ๆ จนหลักสูตรนี้เกิดขึ้นมา” โดยวิชานี้เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถลงเรียนได้ แม้ว่าจะไม่ใช่แฟนเพลงของเทย์เลอร์ก็ตาม โดยแมคคอสแลนให้เหตุผลว่า “จุดประสงค์หลักของวิชานี้ คือ การศึกษาเกี่ยวกับเทย์เลอร์ในฐานะศิลปินและนักเขียน และใช้ผลงานของเธอเป็นทางผ่านไปสู่การเรียนรู้ทางด้านวรรณกรรม”
อย่างไรก็ดี เคยมีวิชาที่เกี่ยวข้องกับเทย์เลอร์มาก่อนหน้านี้แล้ว เช่น วิชาบรรยายวิวัฒนาการการประพันธ์เพลงของเทย์เลอร์ว่าผลงานของเธอเกี่ยวเนื่องกับสตรีนิยม เพศศึกษา และชาตินิยมอเมริกันอย่างไร นอกจากนี้ เทย์เลอร์ไม่ใช่ศิลปินคนแรกที่ได้รับความสนใจจากนักวิชาการ อย่างเมื่อปี 2016 มหาวิทยาลัยเทกซัสได้เปิดหลักสูตรวรรณคดีอังกฤษที่วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสตรีนิยมและวัฒนธรรมของคนผิวดำกับอัลบั้มเลมอนเนด (Lemonade) ของบียอนเซ่ (Beyoncé)
อ้างอิงจาก