So, make the friendship bracelets
Take the moment and taste it
You’ve got no reason to be afraid
ตัวอักษรและลูกปัดหลากสีถูกร้อยเรียงเป็นกำไลข้อมือ ประดับอยู่บนแขนของเหล่า ‘สวิฟตี้’ แฟนคลับเทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) นักร้องสาวชื่อดัง เป็นภาพที่เราเห็นกันมาตั้งแต่ปี 2023 นับจากที่คอนเสิร์ต The Eras Tour เริ่มขึ้น ทั้งในอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก และติ๊กต๊อก ที่ล้วนเป็นแพลตฟอร์ทที่ทำให้เทรนด์แลกสร้อยข้อมือระหว่างสวิฟตี้แพร่กระจายไปทั่วโลก
แต่เทรนด์นี้มีที่มาจากไหน อะไรคือ Friendship Bracelet แล้วมันสร้างอิมแพคอะไรกับโลกใบนี้บ้าง ในวาระที่เทย์เลอร์ สวิฟต์กำลังทัวร์ในซีกโลกตะวันออก และสวิฟตี้สาขาไทยแลนด์จำนวนมากก็ได้ร้อยลูกปัดแพคลงกระเป๋าแล้วบินไปดูคอนเสิร์ตของเธอที่สิงคโปร์ The MATTER ขอชวนมาสำรวจสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเทรนด์ friendship bracelets กัน
Friendship Bracelet คืออะไร มีที่มาจากไหน?
อะไรคือ Friendship Bracelet? – หากแปลไทยอย่างตรงตัว มันก็คือสร้อยข้อมือแห่งมิตรภาพนั่นแหละ ซึ่งกำไลนี้ทำมาจากวัสดุถัก ลูกแก้ว หรือลูกปัด ถักทอได้หลายรูปแบบ และจะนำไปมอบให้กับเพื่อนสนิท เพื่อเป็นหลักฐานของมิตรภาพ
อันที่จริง กำไลข้อมือนี้ไม่ได้เพิ่งมาเป็นเทรนด์ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา แต่มีประวัติมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ดี ที่มาของกำไลข้อมือแห่งมิตรภาพนี้ค่อนข้างคลุมเครือ เพราะหลายพื้นที่ทั่วโลกต่างก็มีประวัติศาสตร์ที่ชวนให้คิดว่าเป็นต้นตอของกำไลข้อมือนี้ได้ อย่างในประเทศจีน สร้อยข้อมือถักทอบางอันที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ มีอายุยืนนานมาตั้งแต่ช่วง 481 ถึง 221 ปีก่อนคริสตกาลด้วยซ้ำ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ จีนก็ยังคงเทคนิคการผูกปมกับการตกแต่งเสื้อผ้า การทำกระดุม และของใช้ในครัวเรือน
ขณะเดียวกัน ในฝากฝั่งอาหรับก็มีสิ่งที่เรียกว่า Macrame ซึ่งเป็นงานฝีมือที่ใช้ผูกปมเพื่อสร้างลวดลายที่สลับซับซ้อน ซึ่งคาดการณ์กันว่ามีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 จากการที่ช่างทอชาวอาหรับนำการผูกปมมาทำเป็นลวดลายกับสิ่งของที่ทำจากเครื่องทอผ้า ซึ่งในศตวรรษถัดมา การถักทอนี้ก็ถูกเผยแพร่ต่อไปยังยุโรป โดยเฉพาะอิตาลีและฝรั่งเศส
การทำสร้อยข้อมือแห่งมิตรภาพนี้ต้องอาศัยสกิลการผูกปมอย่างมาก ซึ่งทักษะการผูกปมที่ใช้ในการทำ Macrame ก็ถูกเหล่ากะลาสีเรือนำมาใช้ด้วยเหมือนกัน ซึ่งนี้อาจเป็นเหตุผลให้ Macrame ได้รับความนิยมในอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 19
ไม่เพียงเท่านั้น ข้อมูลบางแหล่งยังมองว่า กำไลข้อมือเหล่านี้อาจมีที่มาจากชุมชนพื้นเมืองในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ก็เป็นได้ แม้ว่ากำไลข้อมือนี้จะปรากฏครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษ 1960-1970 ก็ตาม
อีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับสร้อยข้อมือมิตรภาพ มาจากเอริกา ไวเนอร์ (Erica Weiner) นักออกแบบเครื่องประดับและนักประวัติศาสตร์ ที่คาดการณ์ว่า แนวคิด ‘การแลกเปลี่ยนเครื่องประดับ’ กับเพื่อนนั้น อาจมีต้นกำเนิดมาจากเครื่องประดับไว้ทุกข์ในศตวรรษที่ 17-19 ซึ่งมักทำมาจากเส้นผมของคนที่เรารัก ด้วยการตัดผมของพวกเขาแล้วนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญถักทอทำเป็นลวดลายในแหวน หรือสร้อยข้อมือ
“ก่อนจะมีการถ่ายภาพ การทำเครื่องประดับจากเส้นผมเป็นวิธีหนึ่งเดียวที่จะรักษาส่วนหนึ่งทางกายภาพของคนที่ใกล้ชิดของคุณไว้ ในวันที่พวกคุณถูกแยกจากกัน”
‘Friendship Bracelet’ ในปี 2023-2024
เหล่าสวิฟตี้คงรู้ดีกันอยู่แล้วว่านอกจากตั๋วคอนเสิร์ต (รวมถึงตั๋วเครื่องบินและที่พัก) อีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนอยากเตรียมไปด้วยก็คือกำไลข้อมือแห่งมิตรภาพ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์จากการคอนเสิร์ต Eras tour ของเทย์เลอร์ สวิฟต์
friendship bracelet หรือกำไลข้อมือแห่งมิตรภาพ ที่ถูกนำมาแลกเปลี่ยนกันในคอนเสิร์ต โดยมากจะร้อยเรียงจากลูกปัดหลากสี พร้อมด้วยตัวอักษรที่อาจมาจากชื่อเพลง ชื่ออัลบั้ม เนื้อเพลง มุกวงในที่รู้กันดี หรือบางทีก็เป็นชื่อของสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเทย์เลอร์ (เช่น ชื่อน้องแมวของเธอ) ซึ่งบางคนอาจเตรียมกำไลไปเพื่อแลกกับสวิฟตี้คนอื่นๆ มากกว่า 100 เส้นด้วยซ้ำ
ไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน แค่มีจุดร่วมเดียวกันคือการเป็นแฟนคลับเทย์เลอร์ สวิฟต์ มิตรภาพก็เกิดขึ้นแล้ว
แต่ถามว่า ทำไมสวิฟตี้ถึงลุกมาทำของดราฟต์เองจนกลายเป็นเทรนด์กันขนาดนี้ล่ะ?
ไม่ได้มีคำตอบแน่ชัดว่า ‘ใคร’ เป็นคนเริ่ม แต่หลักฐานที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ไอเดียนี้มาจากท่อนหนึ่งของเพลง You’re on your own, kid ในอัลบั้ม Midnights ซึ่งมีเนื้อหาเล่าถึงการเติบโตของชีวิต การฝ่าฟันอุปสรรคมากมายเพื่อไล่ตามความฝัน เผชิญบททดสอบจนสภาพจิตใจสะบักสะบอม ทั้งหมดนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า เราอยู่ตัวคนเดียวมาตลอด แต่เพราะเราอยู่ตัวคนเดียวมาตลอดนั่นแหละ ดังนั้น ถ้าต่อจากนี้เราจะเจอปัญหาแบบไหน ก็ผ่านมันไปได้อยู่แล้ว
‘Cause there were pages turned with the bridges burned
Everything you lose is a step you take
So, make the friendship bracelets
Take the moment and taste it
You’ve got no reason to be afraid
นี่คือหนึ่งในเพลงที่หลายคนมองว่าช่วยปลอบประโลมจิตใจในวันที่ท้อแท้ สิ้นหวัง และโดดเดี่ยวได้เป็นอย่างดี เพลงนี้ถูกปล่อยออกมาในช่วงเดือนตุลาคม 2022 และอีกไม่กี่สัปดาห์ถัดมา นักร้องสาวชื่อดังก็ประกาศจัดคอนเสิร์ต Eras Tour ที่รวมเอาเพลงจากทุกอัลบั้มของเธอมาจัดแสดง แฟนคลับบางส่วนจึงเริ่มทำ friendship bracelet ไว้แลกกันที่คอนเสิร์ต เพื่อ take the moment and taste it ดื่มด่ำไปกับช่วงเวลานี้ .. แล้ว friendship bracelet ก็กลับมาเป็นสิ่งที่ฮิตติดเทรนด์ทั่วโลก
ด้วยเหตุนี้ โลกอินเตอร์เน็ตจึงเต็มไปด้วยคลิปการสอนหรือการแชร์ไอเดียทำสร้อยข้อมือ โดยเฉพาะในติ๊กต๊อก ซึ่งหลายคลิปมียอดวิวเป็นหลักล้านเลยทีเดียว รวมไปถึงกลุ่มเฟซบุ๊กที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแชร์เทคนิคการประดิษฐ์กำไล ไอเดียแลกของ ไปจนถึงไอเดียแต่งชุดไปคอนเสิร์ต
ขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เหล่าผองเพื่อนที่เดินทางไปดูคอนเสิร์ตด้วยกันจะพากันเม้ามอยพร้อมทำกำไลข้อมือไปด้วยกันในช่วงเวลาก่อนคอนเสิร์ตเริ่ม และเมื่อถึงคอนเสิร์ต สวิฟตี้ก็จะนำกำไลข้อมือที่ตัวเองทำไปมอบให้คนที่อยากจะแลก ด้วยบทสนทนาว่า “อยากแลกกำไลกันไหม” “เธอชอบยุค (era) ไหน” “ชอบเพลงอะไร” ก่อนจะลากยาวไปเรื่องอื่นๆ เพื่อสานความสัมพันธ์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำความรู้จักเพื่อนใหม่
แม้จะไม่ได้มีขั้นตอนในการทำที่ซับซ้อน ละเมียดละไมอย่างในอดีต
แต่ friendship bracelet ก็ยังเป็นสิ่งช่วยสานมิตรภาพในยุคปัจจุบัน
สร้อยข้อมือสุดทรงพลัง อิมแพคของ friendship bracelet
อิทธิพลของนักร้องสาวชื่อดังนั้นทรงพลังขนาดไหน คงไม่ต้องอธิบายกันให้มากความ ทั้งคลาสเรียนในมหาวิทยาลัยที่เอาบทเพลงของเธอมาเป็นวิชาเรียน ทั้งการสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากคอนเสิร์ต The Eras Tour จน The Wall Street Journal ถึงกับบัญญัติศัพท์ (แบบทีเล่นทีจริง) เพื่อนิยามระบบเศรษฐกิจที่เธอมีส่วนช่วยว่า ‘Taylornomics’
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สร้อยข้อมือแห่งมิตรภาพอันเป็นที่นิยมในหมู่สวิฟตี้ทุกสัญชาตินี้ จะมีส่วนขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจไปด้วยเช่นกัน มีรายงานว่าปรากฏการณ์กำไลข้อมือนี้ มีส่วนช่วยให้ร้านขายอุปกรณ์งานฝีมือมียอดขายเพิ่มมากขึ้น อย่าง Michaels craft stores ซึ่งเป็นแฟรนไชส์ขายอุปกรณ์สำหรับงานคราฟต์ในสหรัฐฯ ก็มียอดขายเครื่องประดับเพิ่มขึ้น 300% ถึง 500% จากปกติ ในเมืองต่างๆ ตามช่วงเวลาที่ทัวร์ของนักร้องสาวชื่อดังจัดแสดงในเมืองนั้น
จอห์น แกร์ (John Gehre) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายสินค้าของ Michaels craft storesให้สัมภาษณ์ไว้กับ USA TODAY ว่า โดยรวมแล้ว ยอดขายในหมวดเครื่องประดับ รวมถึงชุดอุปกรณ์ทำเครื่องประดับ เพิ่มขึ้นมากกว่า 40% ทั่วแฟรนไชส์ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2023 ซึ่งเป็นช่วงที่เทรนด์การทำสร้อยข้อมือมิตรภาพเริ่มมาแรง
“ยอดขายหมวดจิวเวลรี่ที่มากที่สุดเพิ่มขึ้นมากกว่า 500% ในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเทย์เลอร์ ซึ่งเธอจัดแสดงคอนเสิร์ต 2 ครั้งในพิตต์สเบิร์กและฟิลาเดลเฟีย และยอดขายแบบครบวงจรที่เติบโตที่สุดคือมากกว่า 400% ในเมืองดีทรอยต์” ข้อมูลจากจอห์น แกร์
ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ธุรกิจของคราฟต์และเครื่องประดับนั้น เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตช่วงที่ COVID-19 เริ่มระบาด (เพราะผู้คนต้องหาอะไรทำระหว่างอยู่บ้าน) แต่จอห์นเสริมว่า นี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมาที่ความต้องการซื้อของผู้คนเพิ่มขึ้นอย่างสูง โดยมีผลพวงมาจาก ‘pop culture’
นอกจากนี้ Michaels craft Stores ทั่วสหรัฐฯ ยังจัดแสดงการทำสร้อยข้อมือแบบ homemade และเปิดคลาสเรียนทำสร้อยข้อมือในร้านค้า ซึ่งข้อมูลจาก USA TODAY ยังระบุด้วยว่า ผู้เข้าอบรมร้อยกำไลกันไปมากกว่า 22,000 เส้นแล้ว
ไม่เพียงแต่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น การคราฟต์สร้อยข้อมือเองที่ละเส้นนี้ ยังช่วยลดความเครียดให้กับเราด้วย อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในวิธีที่นักจิตบำบัดแนะนำให้ผู้ที่มีความเครียดหรือปัญหาด้านสมาธิทำ เพราะขั้นตอนในการร้อยลูกปัดนั้น ต้องอาศัยสมาธิเป็นอย่างมาก ถือเป็นการช่วยให้เราได้พักเบรกจากความคิดยุ่งเหยิง และได้จดจ่ออยู่กับสิ่งหนึ่งโดยไม่ต้องสนใจสิ่งรอบข้าง
อย่างไรก็ดี แม้การทำ friendship bracelet จะมีผลกระทบในเชิงบวก แต่อีกหนึ่งอิมแพคที่อยากขอหยิบมากล่าวถึงด้วยก็คือ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เพราะเราต่างรู้กันดีว่า ลูกปัดเหล่าสีพวกนี้ไม่ใช่ของที่ eco-friendly หรอกนะ
99% ของพลาสติกใหม่ทั้งหมด รวมถึงลูกปัดที่ใช้ในการทำสร้อยข้อมือแห่งมิตรภาพ ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำมันและมีเทน วัตถุดิบเหล่านี้ถูกสกัดจากพื้นดินโดยการขุดหรือการแตกร้าว ซึ่งชานอน สมิธ (Shannon Smith) กรรมการบริหารของ FracTracker Alliance ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ตั้งอยู่ในเพนซิลเวเนีย สหรัฐฯ กล่าวว่า แต่ละขั้นตอนในการผลิตสิ่งเหล่านี้นั้น ล้วนมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพราะการทำเหมืองแร่ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำไปสู่การปนเปื้อนในน้ำ การตัดไม้ทำลายป่า การพังทลายของดิน และมลพิษทางอากาศ
ลูกปัดพลาสติกส่วนใหญ่ทำด้วยกระบวนการผลิตที่เรียกว่าการฉีดขึ้นรูป (Injection Molding) ซึ่งช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถผลิตชิ้นส่วนพลาสติกจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วและสมบูรณ์ แต่ก็ใช้พลังงานมากเช่นกัน กระบวนการนี้เริ่มต้นด้วยการให้ความร้อนและละลายนิวเดิล พลาสติกหลอมเหลวจะถูกเทลงในแม่พิมพ์เหล็กและระบายความร้อนด้วยน้ำเพื่อทำให้พลาสติกแข็งตัว น้ำที่ใช้แล้วมักประกอบด้วยไมโครพลาสติกและสารเคมีที่สามารถปนเปื้อนแหล่งน้ำได้หากไม่บำบัดอย่างเหมาะสม
ยังไม่รวมถึงกระบวนการกำจัดที่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่าย อย่างในปี 2022 มีขยะพลาสติกเพียง 9% จากทั่วโลกเท่านั้นที่ถูกนำกลับมารีไซเคิล ขณะที่ 50% ของขยะพลาสติกจบลงที่หลุมฝังกลบ และอีก 19% ถูกเผาทำลาย ซึ่งทำให้สารเคมีปนเปื้อนอยู่ในอากาศ
จุดประสงค์ของการกล่าวถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ต้องการช็อตฟีลผู้อ่านหรอกนะ และก็ไม่ได้จะบอกให้ทุกคนเลิกทำสร้อยข้อมือแห่งมิตรภาพนี้ด้วย เพียงแต่ หากใครพอมีกำลังซื้อก็อาจจะเลือกวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น แก้วหรือไม้ มาทำกำไลได้เหมือนกันนะ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า friendship bracelet เป็นสิ่งที่ช่วยฮีลใจและสานสัมพันธ์ให้สวิฟตี้ได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ ทั้งยังเป็นปรากฏการณ์ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วย ดังนั้น คงเป็นเรื่องดีไม่ใช่น้อย หากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจะถูกตระหนักด้วยเหมือนกัน
ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เราได้ take the moment and taste it ไปกับโลกใบนี้ได้อย่างไม่มีอะไรค้างคาใจ
อ้างอิงจาก