เคยไหมที่อยากได้บัตรคอนเสิร์ตที่นั่ง 5,000 แต่กดเองไม่ทัน จะซื้อต่อคนอื่น ก็เจอคนขายต่อ 50,000 จนต้องตัดใจ ไม่สามารถไปเจอศิลปินที่รักได้
ปัญหาราคาบัตรคอนเสิร์ตแบบเก็งกำไรนี้ ทำให้ในอเมริกาเริ่มกำหนดให้มีกฎหมายห้ามการขายบัตรคอนเสิร์ตเก็งกำไร และให้ขจัดค่าธรรมเนียมยิบย่อย ในกฎหมายที่มีชื่อเล่นว่า ‘Taylor Swift Act’ หรือ ‘กฎหมาย เทย์เลอร์ สวิฟต์’
จุดเริ่มต้นมาจากตอนที่คอนเสิร์ต ‘Eras Tour’ เปิดขายบัตรในช่วงปลายปี 2022 แล้วแฟนๆ ไม่สามารถซื้อบัตรผ่านช่องทางที่เป็นทางการได้ด้วยปัญหาหลายอย่าง ทั้งเว็บล่ม บัตรหมด ทำให้ต้องไปซื้อบัตรผ่าน ‘resellers’ หรือคนที่นำบัตรมาขาย resale คือขายต่อผ่านช่องทางที่ไม่ใช่ช่องทางทางการ ทำให้คนที่ต้องการบัตร ต้องซื้อบัตรที่แพงขึ้นหลายเท่าตัว หรือโดนโกงจนไม่ได้เข้าชมคอนเสิร์ต
ทั่วสหรัฐฯ ได้เริ่มนำร่างกฎหมายนี้ไปใช้แล้วกว่า 24 รัฐ เช่น ในรัฐอมริแลนด์ ที่กฎหมายจะเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ในรัฐอิลลินอยส์ ร่างฯ นี้ผ่านวุฒสภาแล้ว และในรัฐโคโลราโด ทจะปรับให้ผู้ขายมีความโปร่งใส่ในราคามากขึ้น และให้แบนเว็บไซต์ปลอมที่ทำเลียนแบบเว็บไซต์จริง เพราะจะทำให้คนซื้อสับสนและโดนหลอกได้
บริษัทต่างๆ รวมถึง Ticketmaster และ SeatGeek เว็บไซต์ตัวกลางในการขายตั๋วคอนเสิร์ตชื่อดัง มุ่งมั่นที่จะเพิ่มความโปร่งใสขึ้น โดยขายตั๋วแบบรวมค่าทุกอย่างแล้ว ไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมอื่นๆ เพิ่มอีก นอกจากนี้ไบเดนยังระบุว่า “ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำ เพื่อแก้ไขปัญหาการจองบัตรทางออนไลน์’
กลุ่มศิลปินและตัวแทนผู้จัดคอนเสิร์ตก็ได้ออกมาสนับสนุนกฎหมายนี้เช่นกัน โดยจัดตั้งแนวร่วม ‘Fix the Tix’ นำโดย The National Independent Venue Association (NIVA) หรือสมาคมตัวแทนการจัดงานเทศกาล งานบันเทิงระดับชาติ ในแนวร่วมนี้ประกอบด้วยศิลปินกว่า 250 คน เช่น Billie Eilish, Finneas O’Connell, Green Day และ Fall Out Boy เพื่อผลักดันร่างกฎหมาย ที่เรียกว่า ‘Fan First Act’ หรือ ‘พ.ร.บ. แฟนคลับต้องมาก่อน’ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภาสหรัฐฯ
ร่างกฎหมายดังกล่าว จะป้องกันการขายบัตรคอนเสิร์ตแบบเก็งกำไร ราคาต้องรวมค่าทุกอย่างแล้ว และขจัดเว็บไซต์หลอกลวง เพิ่มบทลงโทษสำหรับการใช้บอทมาช่วยกดซื้อบัตรคอนเสิร์ต
ภายในจดหมายที่กลุ่มศิลปินยื่นต่อรัฐสภา ตอนหนึ่งระบุว่า “พวกคนที่เอาบัตรคอนเสิร์ตมาขายต่อ กับพวกแพลตฟอร์มที่มีส่วนร่วมในการขายบัตรพวกนี้ เป็นการกีดกันโอกาสของแฟนคลับจริงๆ ไม่ให้พวกเขาได้มาเจอศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบด้วยราคาที่เป็นธรรม … ถ้ามีแต่พวกขายบัตรคอนเสิร์ตในราคาสูงเกินจริง แฟนๆ จะไม่สามารถมาร่วมงานได้ และความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและแฟนๆ ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของวงการเพลงถูกตัดขาด”
และสตีเฟน ปาร์คเกอร์ กรรมการบริหาร NIVA ระบุว่า “กฎหมายนี้จะเป็นกฎหมายเรื่องบัตรคอนเสิร์ตที่เป็นมิตรกับทั้งแฟนคลับและศิลปินมากที่สุดเท่าที่รัฐสภาเคยเสนอมา” เพราะก่อนหน้านี้ แพลตฟอร์มและคนที่นำตั๋วมาขายต่อเอารัดเอาเปรียบคนอื่นอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งสตีเฟนยังเรียกร้องให้มีการประเมินตลาดขายตั๋ว resale ในระดับชาติอีกด้วย
ไม่เพียงแต่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น เพราะในประเทศไทยเอง ก็ยังมีเสียงสะท้อนจากแฟนๆ เรื่องราคาบัตรคอนเสิร์ตที่แพง และการซื้อมาเก็งกำไรอยู่เรื่อยๆ โดยสิ่งที่ทำได้คือการแจ้งกับช่องทางขายบัตรอย่างเป็นทางการของคอนเสิร์ตที่จัดในครั้งนั้นๆ และขึ้นอยู่กับว่าทางบริษัทจะช่วยแก้ไขปัญหาหรือไม่ หรือถ้าหากโดนโกงก็สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันในไทยก็ยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยเฉพาะแต่อย่างใด จึงต้องติดตามต่อไปว่า หลังจากนี้ที่เริ่มมีแนวทางการจัดการเรื่องนี้ให้เห็นในต่างประเทศบ้างแล้ว ภาครัฐหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในไทยเองจะขยับอย่างไร ให้ตอบโจทย์การจัดคอนเสิร์ตในประเทศ ในราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
อ้างอิงจาก