วันนี้ (22 สิงหาคม) ในการประชุมรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ใช้อำนาจประธานรัฐสภา ไม่รับญัตติของด่วนของรังสิมันต์ โรม สส.จากพรรคก้าวไกล เรื่องการขอให้ที่ประชุมทบทวนมติประชุมรัฐสภา เรื่องการเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำ
โดยรังสิมันต์ โรม ขอให้เพิกถอนมติรัฐสภาเรื่องการเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำ พร้อมกับอ้างถึงความเห็นจากนักวิชาการหลายคนที่เคยออกมาท้วงติงว่ามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมให้เหตุผลอีกว่าการลงมติเลือกนายกฯ เป็นบทบัญญัติที่กำหนดไว้เฉพาะในรัฐธรรมนูญ ทั้งยังไม่มีกฎหมายที่ระบุว่าการเสนอชื่อนายกฯ เป็นญัตติ จึงไม่สมควรให้การตีความเช่นนี้เป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต
แม้ว่าเรื่องราวดังกล่าวจะไปถึงศาลรัฐธรรมเพื่อให้วินิจฉัยว่ามติของรัฐสภาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และต่อมาศาลมีคำสั่งไม่รับคำร้อง โรมก็ระบุว่า นั่นก็ด้วยเหตุผลเพราะผู้ร้องไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่จะร้อง ไม่ใช่ด้วยเหตุผลว่ายกคำร้องเพราะเหตุผลในนั้น
อย่างไรก็ดี โรมไม่เห็นว่ากรณีดังกล่าว จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด เพราะถ้าจะมีข้อพิพาทกัน ก็สมควรที่จะหาข้อยุติในที่ประชุมรัฐสภา นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เขาต้องเสนอญัตติดังกล่าว และเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นเรื่องด่วน เพื่อให้เกิดความชัดเจน ถ้าจะมีการเสนอชื่นายกฯ ซ้ำอีก ก็จะได้สามารถทำได้
โรมยังย้ำอีกว่า บางฝ่ายอาจมองว่าเป็นความพยายามที่จะเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกลอีกครั้งหรือไม่ “ก็ขอให้ทุกท่นดูสถานกาณณ์ตอนนี้ เพราะพรรคก้าวไกลไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะเสนอชื่อใครเป็นนายกพวกทั่านไม่ต้องกังวลอะไรอีก เพราะตอนนี้ 8 พรรคร่วมก็แยกย้ายไปแล้ว จะเสนอชื่อใครก็ต้องคุยกันอีกยาว”
โรมยังกล่าวต่ออีกว่า อาจจะมีผู้โต้แย้งว่า เมื่อ 19 กรกฎาคม เมื่อลงมติไปแล้ว ก็มีความเป็นเด็ดขาด แต่คำว่าเด็ดขาดในข้อบังคับการประชุม 151 ไม่ได้หมายความว่ารัฐสภาต้องถือเอาความเห็นนั้นต่อไป แต่หมายความว่าไม่ได้มีองค์กรใดที่จะให้ความเห็นแตกต่างไปได้ แต่รัฐสภา สามารถวินิจฉัยอีกรอบได้ เช่นเดียวกับศาลฎีกาที่เคยกลับหลักคำพิพากษาของตัวเอง
หลังจากนั้น วันมูหะมัดนอร์ ก็ได้พิจารณาว่าข้อเสนอของรังสิมันต์ โรม โดยอ้างความเห็นจากที่ประชุมฝ่ายกฎหมายที่บอกว่า ญัตติที่โรมเสนอนั้น เป็นญัตติซ้อนที่เคยลงมติไปแล้ว ถ้าจะเสนอญัตตินี้ไปเรื่อยๆ ญัตติที่ตกไปแล้ว และเด็ดขาดไปแล้ว ก็จะทำให้มติของรัฐสภาไม่น่าเชื่อถือ
อีกทั้งยังระบุอีกว่า ฝ่ายกฎหมายเห็นว่าไม่ควรให้มีการทบทวนมติรัฐภาตามที่ โรมเสนอเป็นญัตติด่วน เพราะจะสร้างบรรทัดฐานให้ไม่น่าเชื่อถือ ถ้าทบทวนไป คนก็จะเกิดความลังเล ไม่ว่าคนอื่นอาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ตนก็จะขอใช้ รัฐธรรมนูญ 80 ว่าให้สภา ดำเนินการกิจการของสภา ให้เป็นไปตามข้อบังคับ 151 ประกอบ 5 และข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น วันมูหะมัดนอร์จึงมีความเห็นว่าไม่รับญัตติด่วน และที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ก็เห็นด้วยว่าจะไม่รับญัตติด่วนเช่นกัน