พรรคไหนเคยบอกว่าจะยกมือให้ แต่เอาเข้าจริงกับเปลี่ยนใจบ้าง?
ในวันนี้ (13 กรกฎาคม) มีการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศ โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว จากพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล เพื่อโหวตเป็นนายกฯ
หลังจากที่ ส.ว.และพรรคการเมืองแต่ละพรรคส่งตัวแทนอภิปรายเพื่อโหวตนายกฯ แล้ว ก็มีการลงคะแนนเพื่อเลือกนายกฯ ซึ่งในครั้งนี้ ทาง The MATTER ก็ได้รวบรวมจำนวนของ ส.ส.จากแต่ละพรรคว่าใครโหวตเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง-ไม่มาร่วมประชุมกันบ้าง
ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ:
พรรคที่เห็นชอบให้ พิธา เป็นนายกฯ ได้แก่:
-ก้าวไกล 151 เสียง
-เพื่อไทย 141 เสียง
-ไทยสร้างไทย 6 เสียง
-เพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง
-เสรีรวมไทย 1 เสียง
-พลังสังคมใหม่ 1 เสียง
-เป็นธรรม 1 เสียง
พรรคที่ไม่เห็นชอบ ได้แก่:
-ภูมิใจไทย 70 เสียง
-พลังประชารัฐ 40 เสียง
-รวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง
-ท้องที่ไทย 1 เสียง
-ประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง
พรรคที่งดออกเสียง ได้แก่:
-ประชาธิปัตย์ 25 เสียง
-ชาติไทยพัฒนา 10 เสียง
-ชาติพัฒนากล้า 2 เสียง
-ประชาชาติ 1 เสียง (ประธานสภา)
-ภูมิใจไทย 1 เสียง (ไม่เข้าประชุม)
นั่นแปลว่า ส.ส.ที่ร่วมโหวตให้ ‘พิธา’ ได้เป็นนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย มีแค่ ส.ส.จากว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น ส่วนพรรคชาติพัฒนากล้าและพรรคใหม่ ที่เคยเกือบจะได้เข้าร่วมแต่ถอนตัวออกไปก่อน และเคยกล่าวว่าจะโหวตให้พิธาเป็นนายกฯ แม้ไม่ได้ร่วมรัฐบาล ก็เปลี่ยนเป็นงดออกเสียงแทน โดยยกเหตุผลเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญา ม.112 ขึ้นมา
ส่วนพรรคที่ยืนกรานชัดเจนว่า ‘ไม่เห็นชอบ’ ก็คือพรรคขั้วรัฐบาลเดิม พร้อมกับ พรรคประชาธิปไตยใหม่และพรรคท้องที่ไทย
หากนับแต่ในเสียงของฝั่ง ส.ส.แล้ว จะเห็นว่า ก้าวไกลได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เพราะการโหวตเลือกนายกฯ นี้ยังมีเหล่า ส.ว. อีก 249 เสียงด้วย (หลังมี ส.ว.ท่านหนึ่งลาออก) ทำให้การโหวตนายกฯ ในรัฐสภาครั้งแรกของพิธา ยังไม่สำเร็จ