“กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เขาปล่อยตัวลื้อแล้ว” ภรรยาของ ‘อากง’ กล่าวกับร่างไร้วิญญาณของเขา
ช่วงเวลาที่ผ่านมา คดี ‘อากง SMS’ ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง ในวันนี้ (23 สิงหาคม) The MATTER จึงอยากจะชวนไปย้อนดูว่าเกิดอะไรขึ้นอากง?
อำพล ตั้งนพกุล คือชื่อของ ‘อากง’ ชายวัย 61 ที่ถูกสั่งฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
เรื่องราวดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วงพฤษภาคม 2553 หลังสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในขณะนั้นเข้าแจ้งความ กล่าวหาว่ามีคนส่ง SMS ที่มีเนื้อหาแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และพระราชินี ไปที่โทรศัพท์มือถือของเขาจำนวน 4 ข้อความ
ต่อมา พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศรัตรู ก็ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ แล้วพบว่าผู้ที่ส่ง SMS ดังกล่าว ใช้ซิมการ์ดแบบเติมเงิน เมื่อส่งข้อความก็หักซิมทิ้ง แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ยังสามารถติดตามหมายเลขอีมี่ (หมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์ เหมือนกับเลขประจำตัวประชาชน) จนทางเจ้าหน้าที่สรุปออกมาว่า อำพล เป็นผู้ส่งข้อความดังกล่าว แล้วก็เข้าจับกุมตััวมาสอบสวนพร้อมกับนำตัวไปฝากขังทันทีในวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ซึ่งเป็นช่วงเวลาไม่นานนักหลังจากเหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง
หลังจากที่อำพลถูกตำรวจจับกุม ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และถูกคุมขังอยู่ 63 วัน ก่อนจะได้รับอนุญาตจากศาลอุทธรณ์ให้ประกันตัวออกมาได้ราวๆ 3 เดือน กระทั่ง เมื่ออัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ศาลก็สั่งไม่ให้ประกันตัว ทำให้เขาต้องอยู่ในเรือนจำตลอดเวลาระหว่างที่ต่อสู้คดี
ศาลระบุเหตุผลที่ไม่ให้ประกันตัวว่า คดีของอำพล “กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแรง…จำเลยอาจหลบหนี”
อย่างไรก็ดี อำพลระบุว่า เขาไม่ทราบว่าเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ส่งข้อความเป็นของผู้ใด ไม่รู้จักกับสมเกียรติ ทั้งยังส่งข้อความไม่เป็น แต่เมื่อเดือนเมษายน 2553 เขาได้นำโทรศัพท์ไปซ่อม และไม่เคยนำซิมการ์ดหมายเลขอื่นมาใช้กับโทรศัพท์เครื่องดังกล่าว
ทางด้านทนายความของอำพลก็พยายามต่อสู้คดี ในประเด็นว่าไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าอำพลเป็นผู้พิมพ์ข้อความ หรือส่งข้อความดังกล่าว อีกทั้งหลักฐานเรื่องหมายเลขอีมี่ก็ไม่น่าเชื่อถือ เพราะสามารถปลอมแปลงและยังซ้ำกันได้
แต่เมื่อศาลพิจารณา ก็เห็นว่า ข้ออ้างของอำพล เป็นเพียงข้ออ้างที่เขารู้เห็นเพียงคนเดียว ทั้งยังมีเอกสารที่ชี้ว่าหมายเลขโทรศัพท์ของอำพลเป็นมีการส่งข้อความจำนวนมาก
ศาลยังระบุอีกว่า แม้โจทก์ (ผู้ฟ้อง) จะไม่สามารถแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งได้ว่า อำพลเป็นผู้ที่ส่งข้อความ แต่นั่นก็เป็นเรื่องยากที่จะนำสืบ “เนื่องจากผู้ที่กระทำความผิดร้ายแรงย่อมจะต้องปกปิดการกระทำ จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลจากพยานแวดล้อม” ซึ่งจากพยานแวดล้อมทั้งหมด ก็สามารถนำสืบแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ทั้งหมดโดยไม่มีข้อพิรุธ จึงมีน้ำหนักว่าอำพลเป็นผู้ส่งข้อความทั้ง 4 ข้อความ
“การกระทำของจำเลยจึงเป็นการนำเข้าสู่ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรด้วย” ศาลระบุ
ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ศาลชั้นต้นก็พิพากษาให้ลงโทษ 4 กรรม จำคุกกรรมละ 5 ปี รวมเวลา 20 ปี ตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
หลังจากนั้น อำพลพยายามยื่นขอประกันตัวเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์คดี แต่ศาลไม่ให้ประกันตัว เขาจึงตัดสินใจถอนอุทธรณ์ให้คดีสิ้นสุดเพื่อเตรียมยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ
ทั้งนี้ ก็มีรายงานว่าก่อนที่อำพลจะถูกจับ เขาเคยป่วยเป็นมะเร็งในช่องปาก และเมื่ออยู่ในเรือนจำอาการก็กลับมากำเริบ ทำให้ท้องบวม
ทั้งยังมีรายงานว่าอำพลมีอาการปวดท้องมาเป็นเดือน แต่ปวดหนักในวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 ก่อนจะถูกนำตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์โดยไม่มีการเจาะเลือดหรือตรวจเพิ่มเติม เพราะหมดเวลาทำการและติดวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จนได้มาเจาะเลือดในวันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม 2555 และระหว่างเจ็บป่วย “อากงไม่เคยได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องเหมาะสม” พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความอำพลกล่าว
และในวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 อำพลเสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยศาลก็ไต่สวนการตายแล้วสรุปว่า เขาเสียชีวิตจากระบบไหลเวียนเลือดและระบบหายใจล้มเหลว ซึ่งเป็นอาการสืบเนื่องจากโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย
ในวันที่รับร่างไร้วิญญาณของอำพลกลับจากเรือนจำ รสมาลิน ภรรยาของเขาก็กล่าวกับโลงศพสามีว่า “กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เขาปล่อยตัวลื้อแล้ว”
อย่างไรก็ตาม จากกรณีดังกล่าวก็ทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรออกมาชี้ว่า อำพลเสียชีวิตในเรือนจำในสภาพอาการป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา ทั้งยังไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกันตัว
อาทิ สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (The International Federation for Human Rights –FIDH) ที่ระบุว่า การจำคุกของนักโทษที่มีอายุมากและมีสุขภาพที่ย่ำแย่ในเรือนจำของไทย เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และการรักษาพยาบาลในเรือนจำของไทยมักเป็นไปอย่างจำกัด
เรื่องราวของอำพล หรืออากง SMS นอกจากจะสะท้อนเรื่องปัญหาทางกฎหมายแล้ว ก็ยังสะท้อนเรื่องสิทธิของนักโทษที่ควรได้้รับเมื่อยามเจ็บป่วยและสิทธิในการประกันตัวอีกเช่นกัน
อ้างอิงจาก