“ผู้ต้องขังที่ป่วยอยากให้เจ้าหน้าที่ใส่ใจ อย่ามองพวกเขาด้วยอคติ ควรส่งเข้าถึงมือหมอ ไม่ใช่ตัดสินใจเอง จนเขาอาการทรุดหนัก หรือถึงขั้นเสียชีวิต” เอกชัย หงส์กังวาน กล่าว
ปัจจัยสี่ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ที่เพียบพร้อม ล้วนเป็นสิ่งมนุษย์คนหนึ่งจำเป็นต้องมี ทว่าภายใต้หลังกรงขังของเรือนจำ สิ่งเหล่านี้กลับเจือจาง และกลายเป็นสิ่งที่ยากจะจับต้องได้
ในช่วงเวลานี้ประเด็นเรื่อง ‘การเข้าถึงการรักษาพยาบาลในเรือนจำ’ ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง หลังการเสียชีวิตของ เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเธอเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้ประท้วงอดอาหารร่วม 110 วัน เพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
การเสียชีวิตของเธอ ทำให้เกิดคำถามพุ่งเป้าไปยังมาตรฐานของเรือนจำว่า ดูแลผู้ต้องขังที่มีอาการเจ็บป่วยอย่างไรบ้าง เพราะที่ผ่านมา นักกิจกรรมทางการเมืองหลายคนที่มีอาการป่วย หรืออดอาหารประท้วงจนร่างกายเกิดวิกฤต มักจะใช้เวลาในการรักษาค่อนข้างนานกว่าจะหายดี
แต่เมื่อไม่นานมานี้ กรมราชทัณฑ์ ยืนยันว่าให้การดูแลรักษาผู้ต้องขังทุกรายตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ในการช่วยชีวิตผู้ป่วย ล้วนแล้วแต่ได้มาตรฐานถูกต้องทุกประการ ตลอดจนกระบวนการการรักษาที่เป็นไปตามหลักวิชาชีพ
เพื่อไขข้อสงสัยนี้ The MATTER พูดคุยกับ เอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ถึงประสบการณ์การเข้ารักษาพยาบาลในขณะอยู่ที่เรือนจำว่าเป็นอย่างไร
ป่วยวันนี้ ได้พบหมอวันมะรืน
ประโยคแรกที่ เอกชัย กล่าวกับเรา “ต้องรีบมาลงชื่อตั้งแต่เช้า เพราะหมอกำหนดโควตาไม่เกินวันละ 20 คนต่อแดน” เขาระบุเสริมว่า ปกติแล้วทางเรือนจำจะให้ผู้ต้องขังขึ้นห้องนอนตั้งแต่บ่าย 3 โมง จนถึง 6 โมงเช้า เท่ากับว่าในทุกๆ วันผู้ต้องขังต้องอยู่ในห้องนอน 15 ชั่วโมง และใช้ชีวิตอยู่ภายนอกแค่วันละ 9 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้น หากป่วยขึ้นมาต้องรีบลงชื่อ เพราะเวลาที่น้อยนิดทำให้หมอไม่สามารถตรวจคนไข้ไปได้มากกว่านี้
เขาเล่าถึงอาการป่วยของตัวเองว่า “วันที่เริ่มมีอาการเราเป็นไข้ และเพื่อนๆ ผู้ต้องขังทักว่าทำไมดูตัวเหลืองๆ ซึ่งวันนั้นตรงกับวันศุกร์ที่ 1 กันยายน 2566 อย่างไรก็ดี เราก็รู้ทันทีว่าเราจำเป็นต้องพบแพทย์ เพราะเมื่อปี 2548 เราเคยป่วยเป็นนิ้วในถุงน้ำดี ตอนนั้นก็มีอาการตัวเหลือง”
เอกชัยจึงรีบไปลงชื่อก่อนเวลา 8 โมงเช้า เพราะกลัวโควตาเต็ม “แต่เราได้พบหมอในวันจันทร์ที่ 4 กันยายน เพราะเขาต้องตรวจสอบชื่อก่อน รวมถึงติดกับวันเสาร์อาทิตย์” เขากล่าวว่า เรือนจำที่อยู่แพทย์เดินทางมาตรวจผู้ต้องขังในเรือนจำแค่ 3 วันต่ออาทิตย์
ได้แก่ จันทร์ พุธ ศุกร์ สมมติลงชื่อในวันจันทร์ ก็จะได้พบหมออีกทีวันมะรืน เพราะวันอังคารไม่มีทีมแพทย์เข้ามา นอกจากนี้ ถ้าสามวันนี้ตรงกับวันหยุดราชการ หมอก็จะไม่มา ซึ่งทำให้ผู้ต้องขังได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวอย่างสงกรานต์ หรือปีใหม่
อย่างไรก็ตาม เขาเล่าต่อว่า พอวันจันทร์เขาไปต่อคิวที่ลานโล่งๆ ที่หมอจะนั่งอยู่บนโต๊ะที่ตั้งห่างกับคนไข้ประมาณ 2 เมตร “พอถึงคิว หมอก็ซักถามโดยไม่แม้แต่จะเงยหน้าขึ้นมามองเรา เพียงรอฟังอาการที่คนไข้จะแจ้งเท่านั้น”
ซึ่งเอกชัยยกตัวอย่างเคสของ อำพล ตั้งนพกุล หรือ อากง SMS ที่บอกอาการป่วยของตัวเองกับหมอว่า เขาปวดท้อง หมอก็แค่ให้ยาแก้ปวด โดยไม่มีการซักถามหรือตรวจลึกไปมากกว่านี้ ว่าอาการปวดท้องดังกล่าวเกิดจากสาเหตุใด
เอกชัยระบุว่า เขารู้ว่าหมอเหล่านี้เป็นอย่างไรจึงพูดไปว่า ผมมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง และเคยเป็นนิ่วในถุงน้ำดีซึ่งผ่าตัดเอาออกไปแล้ว แต่ไม่รู้ว่ามีปัญหาอีกหรือเปล่า
“หมอถึงจะเงยหน้าขึ้นมามอง และเบิกตาเราดู ซึ่งถ้าเราไม่อธิบายชัดเจนขนาดนี้ แต่บอกเพียงว่าเป็นไข้หลายวันไม่หายก็คงให้แค่ยาพารา ซึ่งทุกเคสโดนเหมือนกันหมดไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องขังจากคดีใดๆ ก็ตาม”
เอกชัยเล่าต่อว่า หลังจากตรวจร่างกายเราคร่าวๆ แพทย์ก็นัดว่าอีก 2 วัน หรือ วันพุธที่ 6 กันยายน ค่อยมาตรวจเลือด พอถึงวันดังกล่าวพี่เลี้ยงหรือผู้ต้องขังที่ได้รับหน้าที่ให้ช่วยงานเจ้าหน้าที่ จะเป็นคนพาเขาไปสถานที่ที่เหมือนกับคลีนิก และทำการเจาะเลือดให้อีกด้วย
หลังจากเสร็จเรียบร้อยมีการแจ้งว่าพรุ่งนี้ค่อยมาฟังผลอีกที หลังจากนี้ก็กลับไปในเรือนจำตามเดิม “ผลเลือดบ่งบอกว่าร่างกายเรามีปัญหาจริงๆ แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะส่งตัวเราไปโรงพยาบาลวันที่ 8 นะ เราก็ต้องไปรอที่ห้องขังตามเดิม
พอวันรุ่งขึ้นเราไปถึงโรงพยาบาล ก็นั่งรอจนเย็นกว่าจะได้ขึ้นห้องพัก ซึ่งวันดังกล่าวตรงกับวันศุกร์ ทำให้เราทำได้เพียงนอนรอถึงวันจันทร์ เพราะติดวันหยุดเสาร์อาทิตย์” ซึ่งเอกชัย กล่าวว่า ไม่ต่างกับเคสอากง SMS ที่ไปโรงพยาบาลวันศุกร์ แต่ติดวันเสาร์อาทิตย์ รวมถึงวันจันทร์ที่ตอนนั้นเป็นวันฉัตรมงคล จนอากงเสียชีวิตในวันอังคาร
เขายอมรับว่า ณ จุดนั้นรู้สึกไม่ต่างกับอากงเลย เพราะกว่าหมอจะมาตรวจเขาจริงจังก็ปาไปวันที่ 11 กันยายนแล้ว หลังจากนั้นผลตรวจพบว่าเอกชัยมีก้อนเนื้อที่ตับ จึงต้องทำ CT Scan ต่อ แต่ในเวลานั้นเขามีนัดไปศาล ที่ซึ่งไม่ว่าเขาจะป่วยแค่ไหนก็ต้องเดินทางไปตามนัดให้ได้ ส่งผลให้การทำ CT Scan ต้องเลื่อนออกไป
จนวันที่ 14 กันยายน หมอก็พบว่าเอกชัยมีฝีในตับ แต่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มีเครื่องมือเจาะหนอง จึงส่งตัวเขาไปโรงพยาบาลนอก ดังนั้นกว่าเขาจะได้รับการรักษาอย่างจริงจังก็กินเวลาไปสองอาทิตย์
ไม่ดิ้นทุรนทุราย เท่ากับแกล้งป่วย
ทั้งนี้ เอกชัยเสริมว่า เจ้าหน้าที่ในเรือนจำมักตั้งข้อสันนิษฐานก่อนว่า ผู้ต้องขังเล่นละครหรือเปล่า ซึ่งยอมรับบางคนก็แกล้งป่วยเกินจริง แต่บางส่วนเขาป่วยหนักจริงๆ เพียงแต่สื่อสารไม่เก่ง ยกตัวอย่างเคสหนักๆ ที่เขาเคยเจอคือ เป็นลมปลุกไม่ตื่น ดังนั้น ถ้าไม่หนักจริงๆ ไม่มีทางที่จะได้รับการรักษาเลย
โดยช่วงเวลาที่มีปัญหามากที่สุดคือ ช่วงเวลากลางคืน เพราะสมมติใครสักคนป่วยหนักขึ้นมา สามารถกดออดเรียกเจ้าหน้าที่ได้ แต่ออดไม่ได้มีทุกห้อง ดังนั้น จึงมักเกิดเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยต้องตะโกนเรียกผู้ต้องขังที่อยู่ในห้องที่มีออด
เขาระบุว่า แต่พอกดออดไปไม่ใช่ว่าหมอจะมาทันที ผู้คุมจะมาก่อนซึ่งมักใช้เวลาราว 10 นาที พอขึ้นมาพวกเขามักจะตะโกนถามว่า เป็นอะไร! ซึ่งถ้าคนป่วยดูมีอาการไม่หนักขนาดนั้น ก็จะโดนผู้คุมต่อว่า
เอกชัยยกตัวอย่างเคสหนึ่งที่นอนห้องเดียวกับเขา ชายคนนั้นมีอายุราว 60 กว่าปี เขาป่วยสารพัดโรค แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้นำยารักษาโรคประจำตัวเข้ามาในเรือนจำ วันหนึ่งช่วงประมาณสี่ทุ่ม เขาลุกขึ้นมาจะเข้าห้องน้ำ แต่ปรากฏว่าอยู่ดีๆ ก็ล้มหัวฟาดพื้น ชักอย่างรุนแรง และมีเลือดทะลักออกมาจากจมูกและปาก
“กว่าเจ้าหน้าที่จะขึ้นมาก็ 10 นาที กว่าจะวิ่งไปตามหมออีกปาไปเป็นชั่วโมงๆ”
สิทธิด้านสุขภาพของผู้ต้องขังยังคงมีปัญหา
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ (Amnesty International Thailand) กล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่นักกิจกรรมทางการเมืองถูกละเมิดสิทธิในเรือนจำ หรือแม้แต่ผู้ต้องขังในคดีอื่นๆ มาจากทัศนคติของคนในสังคม ที่มองว่าผู้ต้องขังเป็นผู้ทำความผิดที่ไม่สมควรได้รับการให้อภัย ซึ่งมายาคตินี้นำไปสู่ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิที่พวกเขาควรได้รับตามข้อกำหนด แมนเดลลา (Mandela Rules) ที่รัฐไทยลงนามไว้ ซึ่งระบุว่า
การให้บริการด้านการรักษาพยาบาลแก่ผู้ต้องขังเป็นความรับผิดชอบของรัฐ โดยผู้ต้องขังควรได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานเช่นเดียวกับที่รัฐจัดให้กับประชาชนอื่น และจะต้องสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นโดยไม่คิดมูลค่าและไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสถานภาพด้านกฎหมายของตน
นอกจากนี้ เมื่อปี 2563 ได้มีการออกกฎกระทรวง เรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำ ซึ่งมีใจความสำคัญสรุปได้ว่า ถ้าผู้ต้องขังมีอาการป่วยให้ส่งตัวไปรับการรักษาในสถานพยาบาลของเรือนจำโดยเร็ว และถ้าหากไม่สามารถรักษาได้ ผู้บังคับบัญชาเรือนจำมีอำนาจอนุญาตให้ส่งตัวไปรับการรักษาตัวนอกเรือนจำได้ และถ้ามีเหตุจำเป็นสามารถส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้
ทว่าหากตั้งข้อสังเกตจะพบว่า ยังมีข่าวที่ผู้ต้องขังยังต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพและการเข้าถึงการรักษาพยาบาล บางคนมีอาการเจ็บป่วย แต่ก็ไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อย่างเคสล่าสุดคือ กรณีของ บุ้ง ทะลุวัง ที่เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับการช่วยเหลือทางด้านการแพทย์
และตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนหนึ่ง ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ตัดสินใจเรียกร้องสิทธิการประกันตัวผ่านการอดอาหาร อาทิ บุ้ง ทะลุวัง, ใบปอ ทะลุวัง, ตะวัน–ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ เพนกวิน–พริษฐ์ ชิวารักษ์
ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ถ้าคนเหล่านี้หากไม่มีอาการทรุดหนัก ก็จะไม่ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลนอกที่มีความพร้อมในการรักษามากกว่า เช่น เมื่อ 15 พฤษภาคม ตะวัน ทานตะวัน ถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เนื่องจากอดอาหารและน้ำมากกว่า 3 เดือนแล้ว
อาจารย์กฤตยา อาชวนิจกุล นายกสมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม ระบุว่า “สิทธิด้านสุขภาพและการเข้าถึงสาธารณสุขของผู้ต้องขังในเรือนจำยังคงเป็นปัญหา แม้ว่าจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาจากกรมราชทัณฑ์ แต่ไม่เพียงพอ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมและรัฐไทย ที่เน้นใช้การลงโทษเป็นวิธีการหลักในการแก้ไขปัญหา”
อ.กฤตยา เสริมว่า ถ้ามีปัญหาสุขภาพคุณต้องไปสถานพยาบาลในเรือนจำ ซึ่งเปิดเฉพาะเวลากลางวัน และแค่ 8 ชั่วโมงเท่านั้น พอกลางคืนคุณต้องตะโกนเรียก ดังนั้น ในเวลากลางคืนผู้ต้องขังมีโอกาสเจ็บป่วยมากขึ้น เพราะกว่าจะได้รับการรักษานั้นนานมาก
“พวกเขามองว่าชีวิตของผู้ต้องขังนั้นไร้ค่า คิดว่ามึงเสือกมาอยู่ที่นี่ทำไมเอง ดังนั้น เวลาที่ผู้ต้องขังป่วยแต่ยังเดินได้อยู่ พวกเขาจะคิดว่าไม่เป็นไรมาก แม้ว่าจะเดินแบบทุกข์ทรมานก็ตาม” เอกชัย กล่าวปิดท้าย