“หนูรู้สึกว่าคาดหวังกับความยุติธรรมมากเกินไป แต่ไม่โทษศาลนะ เพราะคนเรามีมุมมองที่ต่างกัน หนูได้คิดและตกตะกอนว่า สิ่งที่หนูทำก็คงมีคนไม่เห็นด้วย แต่หนูยังมีความหวังว่ากระบวนการยุติธรรมจะให้ความยุติธรรมกับหนู”
นี่คือเสียงของหนึ่งในผู้ต้องขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เล่าให้กับทนายความฟัง
ใกล้ปีใหม่เข้ามาทุกที หลายคนอาจมีแผนที่จะไปเที่ยวกับครอบครัว ไปเดตกับคนรัก ไปแฮงเอ้าต์กับเพื่อน หรืออาจเลือกที่จะอยู่เงียบๆ คนเดียว ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแต่สำหรับผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ทั้ง 21 คน เขาอาจจะไม่ได้มีตัวเลือกอะไรมากมาย นอกจากการเฝ้ารอวันที่จะได้รับอิสรภาพอยู่ในห้องขังข้ามปี
จากการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ปรากฏบนเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจนถึงวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ต้องขังจากข้อหาตามมาตรา 112 ทั้งสิ้น 21 คน โดยในนี้ มีผู้ต้องขังที่คดีสิ้นสุดแล้ว (นักโทษเด็ดขาด) 6 คน และอยู่ในระหว่างสู้คดี 16 คน ซึ่งในจำนวน 16 คน นี้มีผู้ต้องขังที่เป็นเยาวชนรวมอยู่ด้วย 2 คน
ทำไมผู้ต้องขังทั้ง 21 ถึงสูญเสียอิสรภาพ?
สำหรับข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ของทั้ง 21 คน สามารถแบ่งได้เป็น การกระทำที่เกิดจากการโพสต์ 12 ครั้ง, แชร์ 7 ครั้ง, พูดหรือกล่าวปราศรัย 4 ครั้ง, อื่นๆ (เช่น วางเพลิง) 3 ครั้ง และจากการคอมเมนต์ 2 ครั้ง
ข้อมูลดังกล่าวนี้ ก็สอดคล้องกับความเห็นของ รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยกล่าวไว้ว่ามาตรานี้มีปัญสำคัญ 2 ส่วน คือตัวบท และทัศนคติในการบังคับใช้ ซึ่งไม่ได้มีการตีความอย่างเคร่งครัดตามหลักของกฎหมายอาญา
อ.รณกรณ์เคยกล่าวว่า ความผิดตามมาตรา 112 เป็นเรื่องของ ‘การดูหมิ่น’ คือการลดทอนศักดิ์ศรี เช่น บอกว่าอีกฝ่ายเป็นสัตว์ ซึ่งการพูดจาไม่สุภาพไม่ใช่การดูหมิ่น ‘หมิ่นประมาท’ คือนินทา ไม่ว่าจริงหรือเท็จส่งผลให้อีกฝ่ายเสื่อมเสีย ‘อาฆาตมาดร้าย’ คือการข่มขู่
ตัวบทของมาตรา 112 นี้ค่อยข้างชัดเจน แต่เมื่อเวลาที่ศาลนำคำเหล่านี้ไปใช้ อ.รณกรณ์มองว่า ศาลตีความเกินตัวบท หลุดจากคำว่า ‘ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย’ โดยศาลกลับไปรวมการไม่แสดงความเคารพ ไม่รัก เช่นเรื่องการแต่งกายหรือการล้อเลียน ที่ไม่ได้ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ได้นินทาว่าร้าย หรือไม่ได้แสดงความอาฆาตมาดร้าย
ใครเป็นคนกล่าวหาผู้ต้องทั้ง 21 คน?
เมื่อพิจารณาบุคคลที่กล่าวหาผู้ต้องขังทั้ง 21 คนตามที่ทราบข้อมูล จะพบว่า ประชาชนทั่วไป กล่าวหาไปทั้งสิ้น 11 คดี รองลงมาเป็นตำรวจที่กล่าวหาไป 8 คดี และฝ่ายปกครองที่กล่าวหาไป 1 คดี
ในคดีมาตรา 112 นี้ เป็นคดีที่มีความผิดต่อแผ่นดิน ประชาชนทั่วไปอาจ ‘เริ่มแจ้งความ’ ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้เจ้าหน้าที่ส่งฟ้อง แต่ประชาชนไม่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้เอง โดยศาลอาญาเคยวางบรรทัดฐานในคดีมาตรา 112 ที่มีประชาชนฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ตำแหน่ง ณ ขณะนั้น) ซึ่งต่อมาศาลอาญาไม่รับฟ้องเนื่องจาก “ไม่มีประชาชนคนใดได้รับความเสียหายเป็นพิเศษเป็นการเฉพาะตัว หากประชาชนทั่วไปต้องการจะเอาผิดดำเนินคดีต้องใช้วิธีการแจ้งความหรือกล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ…”
อย่างไรก็ดี แม้ประชาชนจะไม่สามารถ ‘ยื่นฟ้อง’ ต่อศาลได้เอง แต่การเปิดช่องให้ใครก็ตามสามารถแจ้งคววามเพื่อเอาผิดในข้อหานี้ ก็เคยเป็นประเด็นถกเถียงกันในสังคม ดังเช่นในกรณีของจิรวัฒน์ ที่มีความผิดจากกรณีแชร์โพสต์ในเฟซบุ๊ก 3 ข้อความ
กรณีของจิรวัฒน์ ศูนย์ทนายฯ เคยรายงานว่า คดีนี้อาจเป็นคดีความที่เกิดจากการกลั่นแกล้ง เนื่องจากความไม่พอใจส่วนตัว แต่ใช้ข้อกล่าวหามาตรา 112 เป็นเครื่องมือ “สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย…”
ตอนนี้ผู้ต้องขังแต่ละคนอยู่ที่ไหนกันบ้าง?
ในคดีมาตรา 112 นี้ มีผู้ต้องขังที่อยู่ใน เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 12 คน, ทัณฑสถานหญิงกลาง 2 คน, เรือนจำ มทบ.11 (เรือนจำทหาร) 1 คน, เรือนจำพิเศษมีนบุรี 1 คน, บ้านเมตตา สถานพินิจ (เยาวชน) 2 คน และเรือนจำในภาคใต้อีก 2 แห่ง ได้แก่ เรือนจำจังหวัดนราธิวาส 2 คน, เรือนจำจังหวัดพัทลุงอีก 1 คน
นอกจากผู้กล่าวโทษในคดีมาตรา 112 นี้จะเป็นใครก็ได้แล้ว สถานที่แจ้งความก็ยังเป็นที่ไหนก็ได้อีกเช่นกัน ทำให้ในคดีมาตรา 112 นี้ มีผู้ต้องขังที่ต้องเดินทางไกลกว่า 1,000 กม. และต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกด้วย
กรณีของกัลยา (นามสมมติ) คือ 1 ในนั้น
กัลยาเป็นพนักงานอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี ถูกกล่าวหาด้วยข้อหามาตรา 112 เนื่องจากเหตุโพสต์เฟซบุ๊ก 4 ข้อความ โดยเธอถูกฟ้องที่ สภ.สุไหลโกลก จังหวัดนราธิวาส ทำให้เธอต้องเดินทางกว่า 1,204 กม. ทั้งยังต้องลางาน และจ่ายค่าเดินทาง รวมถึงค่าที่พักในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกเช่นกัน
ในฐานะที่กัลยาถูกฟ้องด้วยข้อหามาตรา 112 เธอเคยกล่าวกับ iLaw ไว้ว่า รู้สึกเหมือนมาตรานี้สามารถใช้กลั่นแกล้งได้ ใครจะเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ก็ได้ รวมถึงยังมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ร้ายแรงเท่ากับฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ทั้งที่เพียงแค่เห็นต่างเท่านั้น
สิทธิการประกันตัวเป็นอย่างไร?
เมื่อพิจารณาจำนวนของผู้ต้องขังในข้อหามาตรา 112 จนถึงวันที่ 26 ธันวาคม จะพบว่า มีคนที่สูญเสียอิสรภาพตั้งแต่ 21 วัน จนถึง 1,121 วัน ซึ่งในจำนวนนี้ ก็ยังรวมถึงเยาวชนที่อยู่ในสถานพินิจ (มาตรการพิเศษแทนการพิพากษา), ผู้ต้องขังที่คดียังไม่สิ้นสุด, คนที่ถูกคุมขังในชั้นสอบสวน และคนที่ถูกคุมขังในชั้นพิจารณาคดีอีกเช่นกัน
“การที่คนถูกปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวชั่วคราวในคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ มันเป็นเรื่องที่เข้าใจยากมากว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มันเป็นเรื่องที่สะเทือนใจทุกครั้งเวลาได้ฟังข่าวแบบนี้ และผมคิดว่ามันเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดปัญหาหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมไทย” มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ถึงปัญหาของมาตรา 112
อ.มุนินทร์ยืนยันว่า สิทธิที่จะได้รับการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และสอดคล้องกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ แต่บางคนถูกขังระหว่างพิจารณาคดีเป็นเวลาหลายร้อยวัน เช่นในกรณีของ อานนท์ นำภา ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จากกรณีขึ้นประศรัย ซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวระหว่างสู้คดี เพราะกลัวหลบหนี ส่งผลให้อานนท์ที่ยังคงทำหน้าที่ทนายความให้ผู้ต้องหารายอื่น ต้องใส่ชุดนักโทษพร้อมโซ่ตรวนเพื่อทำหน้าที่ทนายต่อไป
“เราไม่สามารถฝากความหวังไว้กับศาลให้แก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างถอนรากถอนโคนของปัญหา เพราะคนที่จะแก้ปัญหาได้ถึงฐานราก มีแต่รัฐบาลและรัฐสภาเท่านั้น” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าว
ท่ามกลางแสงไฟที่ส่องสว่างเพื่อแสดงถึงการเฉลิมฉลอง ภายในห้องขังที่มีเพียงแสงสว่างป้องกันไม่ให้เกิดการหลบหนี ยังคงมีผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 และผู้ต้องขังคดีการเมืองอีกนับสิบชีวิต ที่ยังคงรอคอยอิสรภาพ
Graphic Designer: Manita Boonyong