กี่ครั้งแล้วที่ความใจดีของเราถูกมองผิดไปเป็นอย่างอื่น?
บางครั้งเราอาจจะซื้อน้ำให้ใครบางคนเพราะอากาศร้อน อาจเปิดประตูค้างไว้ให้ใครอีกคนในที่ทำงาน หรืออาจจะแค่ยิ้มให้กับคนที่เราบังเอิญสบตาด้วยบนรถขนส่งสาธารณะ แม้เราไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าว่า สิ่งเหล่านั้นเมคเซนส์ที่เราจะทำในตอนนั้น แต่ใครอีกคนกลับตีความมันว่าเรากำลังให้ความสนใจพวกเขาในแบบที่เราไม่ได้ตั้งใจอยู่บ่อยครั้ง อาจจะเข้าใจว่าเราชอบเขา หรือแย่ไปกว่านั้นคือเป็นการทอดสะพานเปิดโอกาสให้เขาเข้าหาเราได้
เหตุการณ์แบบนี้บางครั้งเราก็สามารถปฏิเสธไปได้ แต่หลายๆ ครั้งที่อีกฝ่ายไม่ยอมลดละ แม้เราจะพูดออกไปตรงๆ ว่าไม่สนใจ หรือแสดงออกว่าไม่สบายใจขนาดไหนเมื่อพวกเขาเข้าหาเราแบบนี้ การกระทำของพวกเขายังค่อยๆ ละเมิดเราเข้ามาเรื่อยๆ แต่นั่นยังแย่ไม่พอ เพราะเมื่อเราพูดเรื่องนี้ออกไปให้คนรอบข้างฟัง เสียงที่สะท้อนกลับมายังเป็นการกล่าวโทษว่า ก็เพราะเราเป็นคนที่เปิดให้โอกาสนั้นเกิดขึ้นเองแต่แรก ทั้งหมดนี้ทำเราอดที่จะตั้งคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่า ต่อไปนี้เรายังควรใจดีกับใครอยู่อีกอย่างนั้นเหรอ?
ทำไมหลายๆ คนมองการกระทำปกติทั่วไปของเราผิดว่าเป็นการมีใจให้? แล้วทำไมเมื่อเกิดเหตุเช่นนั้น เรามักเป็นคนถูกกล่าวโทษอยู่บ่อยครั้งทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย? งั้นเราอาจต้องเริ่มจากการมองไปยังความเข้าใจผิดเหล่านั้นว่ามันคืออะไร ผ่านคำว่า Sexual Overperception Bias
หนึ่งในสิ่งที่มาคู่กับการมองโลกของมนุษย์คือ อคติ (Bias) เราแต่ละคนมองโลกใบเดียวกันด้วยสายตาที่ต่างกันออกไปเสมอ ความแตกต่างอาจจะมาจากประสบการณ์ การเลี้ยงดู ความเชื่อ ฯลฯ และหนึ่งในอคติที่เกี่ยวข้องกับประเด็นของเราคือ Sexual Overperception Bias การคาดคะเนความต้องการทางเพศของผู้อื่นที่คลาดเคลื่อน ด้วยเชื่อว่าบุคคลคนนั้นมีความต้องการทางเพศต่อเรามากกว่าที่เขามีจริงๆ
ทฤษฎีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ Error management theory (EMT) พัฒนาโดยเดวิด บุส (David Buss) และมาร์ตี้ แฮสเซิลตัน (Martie Haselton) นักจิตวิทยาวิวัฒนาการ มหาวิทยาลัยเท็กซัส และศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียร์ตามลำดับ ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวพูดเกี่ยวกับวิธีที่มนุษย์ ‘สร้าง’ อคติของตัวเอง ผ่านการตวงวัดข้อดีข้อเสียของผลกระทบจากการตัดสินใจของพวกเขา
แฮสเซิลตันวาดภาพการตวงวัดนี้ ผ่านการอุปมาตัดสินใจสักอย่างหนึ่งกับการสร้างเครื่องตรวจจับควัน เธอพูดว่าให้เราลองนึกภาพผลกระทบหากเครื่องตรวจควันไฟไม่เจอนั้น จะนำไปยังการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ในขณะที่ผลของการเกิดสัญญาณผิดพลาดจากการตรวจพบควันที่น้อยเกินจะเกิดไฟไหม้ จะนำไปสู่ความน่ารำคาญใจเท่านั้น เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว วิธีที่ผู้ผลิตเครื่องตรวจจับควันสร้างพวกมันขึ้นมาเอนเอียงไปสู่การสร้างเครื่องที่ไวต่อควันเกินไป มากกว่าการตรวจจับที่ไม่ไวพอ
จากแนวคิดของแฮสเซิลตัน เราจะเห็นว่าการมองผิดพลาดของ EMT นั้นมีอยู่ 2 แบบ นั่นคือ
- Type I Error – False Positive – การมองบางอย่างแล้วคิดเกินไป
- Type II Error – False Negative – การมองบางอย่างแล้วคิดว่าไม่มีอะไรเกินไป
เดาได้ไม่ยากว่า Sexual Overperception Bias อยู่ในหมวดของ False Positive อย่างแน่นอน ซึ่งการยึดโยงมันเข้ากับ EMT นี้ก็ไม่ใช่การทึกทักไปเอง เพราะหากจะพูดให้ถูก ในแง่หนึ่ง EMT ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อศึกษา Sexual Overperception Bias เลยด้วยซ้ำ
มีหลากหลายการทดลองและงานวิจัยเกี่ยวข้องกับทฤษฎี Sexual Overperception Bias ในขณะที่มันยังเป็นทฤษฎีที่อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่งานวิจัยจำนวนมากมีร่วมกันนั้นคือ กลุ่มตัวอย่างผู้หญิงมักรายงานว่า พฤติกรรมของพวกเขาถูกตีความพลาดแบบ False Positive จากผู้ชายบ่อยครั้งกว่าแบบ False Negative และเมื่อกลับไปมองยังการรายงานของกลุ่มตัวอย่างผู้ชาย ผลลัพธ์กลับตรงกันข้าม ทำไมกัน?
ในหัวข้อตัวอย่างและหลักฐานของแฮสเซิลตัน เธอเล่าว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ติดตัวมาจากวิวัฒนาการ “การไม่อาจตรวจพบความต้องการทางเพศจากผู้หญิงได้ นำไปสู่ความล้มเหลวในการสืบพันธุ์ ซึ่งเป็นค่าที่สูง (สำหรับผู้ชายยุคดึกดำบรรพ์) แต่ผลลัพธ์ทางตรงข้ามเป็นเพียงเรื่องน่าอาย” แล้วอธิบายต่อว่าถึงแม้ผู้หญิงเองจะมีสัญชาตญาณในการสืบพันธุ์ การชั่งน้ำหนักก็ต่างออกไป เนื่องจากผู้หญิงจำเป็นต้องลงแรงกับลูก ซึ่งเป็นผลิตผลของการสืบพันธุ์มากกว่าผู้ชาย และการคิดเช่นนั้นยังคงตกทอดมาในดีเอ็นเอของพวกเรา เพราะแม้ว่าโลกของเราจะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหนแล้ว เราคงยังพูดได้อยู่ว่าเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในระดับหนึ่ง (ใครบางคน) ก็ยังอาจคิดกันไม่ได้อยู่
นอกจากเหตุผลทางวิวัฒนาการแล้ว ยังมีอีกหลายๆ งานวิจัยที่มองเห็นความเชื่อมโยงของอคติดังกล่าวเข้ากับอำนาจ หนึ่งในนั้นคือการรวบรวมงานวิจัย Sexual Overperception: Power, Mating Motives, and Biases in Social Judgment โดยโจนาธาน คุนส์แมน (Jonathan Kunstman) นักวิจัยจากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยไมอามี ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวข้องกับความเชื่อมโยงระหว่างอำนาจกับการล่วงละเมิดทางเพศ
คุนส์แมนรวบรวมงานวิจัย 4 งานออกมาแล้วกล่าวโดยสรุปว่า การมีอำนาจอยู่ในมือนั้นนำไปสู่การคาดการณ์ว่า ผู้ที่มีอำนาจต่ำกว่าจะต้องการมีความสัมพันธ์ทางเพศกับตัวเอง แต่เป็นเช่นนั้นเฉพาะเมื่อเป้าหมายไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ได้ นอกจากนั้นการมีอำนาจยังนำไปสู่ความต้องการจะมีเพศสัมพันธ์ และมีพฤติกรรมล่อแหลมของคนที่มีเป้าหมายทางเพศอยู่แล้ว” งานวิจัยปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า อำนาจสามารถทำให้เกิดการสังเกตการณ์ที่ผิดพลาดเกี่ยวกับความต้องการทางเพศของทั้งตัวเองและผู้อื่น ซึ่งความผิดพลาดเหล่านั้นก็ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และไม่เป็นที่ต้องการได้” ผู้วิจัยเขียนปิดท้าย
มาถึงตรงนี้เราอาจเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับมุมมองรูปแบบนี้ สัญชาตญาณและอำนาจนำไปสู่มุมมองทางเพศที่บิดเบี้ยวได้ นั่นคือการพูดโดยกว้างที่สุด เพราะเมื่อเราพูดถึงคำว่า ‘อำนาจ’ ไม่ได้จำเป็นว่าเราจะหมายถึงอำนาจในตำแหน่งหน้าที่การงานเท่านั้น มันอาจหมายความถึงระดับอำนาจที่ผูกติดไว้กับเพศในสังคมชายเป็นใหญ่ อาจหมายถึงเพียงคนที่ไม่ได้มีอำนาจเหนือใครจริงๆ แต่เป็นเพียงใครสักคนที่วาดภาพตัวเองให้ใหญ่ เพื่อตอบสนองอีโก้ของตัวเขาเอง
ไม่ว่าเราจะกำลังพูดกันเกี่ยวกับอำนาจแบบใด แต่สิ่งที่จริงเกี่ยวกับเรื่องนี้คือใครสักคนที่ตกเป็นเหยื่ออย่างแน่นอน และที่แปลกที่สุดคือเหยื่อกลับกลายเป็นคนที่ถูกกล่าวโทษอยู่บ่อยๆ เสียด้วย
ในสังคมของเรา มุมมองต่อเหยื่อเป็นยังไง? มันเป็นเรื่องแย่พออยู่แล้วที่ใครสักคนจะต้องตกเป็นผู้ที่ถูกกระทำ แต่ในเวลาที่ผ่านมา หากเราลองสังเกตเสียงตอบรับเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรง โดยเฉพาะกรณีเรื่องเพศ เรามักเห็นการทึกทักว่าเหยื่อเป็นฝ่ายเริ่มก่อนในแง่ใดก็แง่หนึ่ง อาจจะพูดถึงการแต่งตัว การพาตัวเองไปในพื้นที่เสี่ยง การมีหน้าตาดีตามมาตรฐานความงาม หรือถ้าจะดึงมาให้ใกล้กับประเด็นที่เรากำลังคุยกันอยู่ บ้างก็ทึกทักว่าการยิ้มให้ การให้ของ หรือการทำดีด้วยเหล่านั้นเองเป็นการเปิดโอกาส ราวกับแทบจะพูดว่าแค่การมีอยู่ของคนคนหนึ่ง ก็เพียงพอจะเป็นสิ่งผิดที่ก่อเรื่องทั้งหมด
มุมมองดังกล่าวเป็นยิ่งกว่าการกล่าวโทษเหยื่อ เพราะในแง่หนึ่งมันคือการตั้งคำถามที่ไม่ควรถามว่า คนคนหนึ่งเป็นเหยื่อแน่หรือเปล่า ผ่านการหาค่าคุณสมบัติว่าต้องเป็นยังไงถึงจะดีพอที่จะถูกเห็นใจในฐานะเหยื่อได้? นั่นคือการส่งต่อความเชื่อผิดๆ ว่าในโลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่าเหยื่อในอุดมคติ (Perfect Victim) ให้แก่เหยื่อทุกคนบนโลกต่อไปเรื่อยๆ
ถ้าเป็นอย่างนั้นเราจะต้องมองโลกยังไงดี? ถ้าเราทำสิ่งที่คิดว่าดีกับคนคนหนึ่งแล้วเขามีโอกาสจะมาคุกคามเรา และคนจำนวนมากยังมองว่าสิ่งที่เราทำนั่นแหละ คือต้นเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องทั้งหมด เราจะยังอยากทำอะไรดีๆ อยู่อีกหรือเปล่า? เราจะยังเชื่อในความเป็นมนุษย์อยู่หรือไม่ หากรู้ว่าวันหนึ่งเราทำดีกับใครไปแล้วอีกคนตีความผิด ก่อนที่จะกระทำสิ่งเลวร้ายใส่เรา ซ้ำร้ายเรายังกลายเป็นคนที่จะถูกกล่าวโทษด้วย?
เรากำลังอาศัยอยู่ในโลกแบบใด เราถึงจำเป็นจะต้องถามคำถามเหล่านี้?
อ้างอิงจาก