แม้จะผ่านจุดเดือดอย่างการโหวตนายกฯ มาแล้ว แต่ดูเหมือนการเมืองไทยจะร้อนแรงไม่พัก เพราะคนยังถกเถียงกันในถึงความเป็นประชาธิปไตยของรัฐบาล พรรคการเมือง และการเลือกตั้ง
ประเด็นที่เถียงกัน คือ บางคนมองว่าพรรคขั้วรัฐบาลเดิม (ที่ก็เป็นขั้วรัฐบาลใหม่) ไม่เป็นประชาธิปไตย เพียงแค่ต้องการสืบทอดอำนาจ ขณะที่บางคนมองว่า พรรคขั้วรัฐบาลเดิมก็ลงสนามเลือกตั้งมาเหมือนพรรคอื่นๆ นั่นแหละ จะไม่ใช่ประชาธิปไตยได้อย่างไร
จึงเป็นที่มาของการพูดถึง ‘เผด็จการจากการเลือกตั้ง’ (electoral authoritarianism) The MATTER จึงสนทนากับ สติธร ธนานิธิโชต ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เพื่อเข้าใจเผด็จการจากการเลือกตั้งและสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน
คงต้องเริ่มจากการเข้าใจว่ามันคืออะไร สติธรอธิบายว่า เผด็จการจากการเลือกตั้ง คือ การที่คนเข้าสู่อำนาจโดยการเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น มีกติกา/วิธีปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์ให้พรรคตนเองได้เปรียบคู่แข่ง ซึ่งเผด็จการมักจะอาศัยกระบวนการที่ได้เปรียบขึ้นสู่อำนาจอย่างต่อเนื่องยาวนาน
“เลือกตั้งกี่ครั้งก็ชนะ แม้ว่าวิธีการจะไม่ถูกต้อง มีความบิดเบี้ยว มีการเอื้อประโยชน์ มีการเอาเปรียบคู่แข่ง ก็เลยกลายเป็นผู้นำที่ในทางกฎหมายอาจได้ชื่อว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่ในทางปฏิบัติก็เปรียบเสมือนเผด็จการที่เขาครองอำนาจยาวนานนี่แหละ” สติธร กล่าว
สติธรอธิบายว่า เพราะประชาธิปไตยกำหนดว่าจะเข้าสู่อำนาจได้ต้องมาจากการเลือกตั้ง เผด็จการหลายประเทศจึงมักเอาเปรียบจากระบอบเลือกตั้งหลากหลายรูปแบบ เช่น กำหนดรูปแบบวิธีการลงคะแนนให้เข้าทางตัวเอง, กำหนดให้เลือกตั้งแบ่งเขตเยอะๆ ถ้าได้เปรียบเชิงพื้นที่, วางเงื่อนไขกีดกันคู่แข่ง, หาเรื่องตัดสิทธิคู่แข่ง, โกงผลเลือกตั้ง เป็นต้น
ทำไมเผด็จการต้องพยายามแนบเนียนกับการเลือกตั้งขนาดนั้น? สติธรจึงเล่าว่า เพราะต้นทุนการเข้ามาอยู่ในอำนาจของเผด็จการแท้ๆ แพงมาก โดยยกตัวอย่างว่า เมื่อรัฐบาลทหารยึดอำนาจมาบริหารบ้านเมือง วันแรกๆ อาจอยู่ได้ แต่ถ้าไม่เลือกตั้งสักที นับวันคนจะยิ่งไม่พอใจและประท้วงต่อต้านจนกระทบต่อภาคธุรกิจและประเทศ
“เมื่อถึงจุดที่ต้นทุนเริ่มแพง เผด็จการที่เหนือชั้นกว่าก็จะผ่อนคลายด้วยการให้เลือกตั้งและใช้การเลือกตั้งพาตัวเองกลับมาเข้าสู่อำนาจ แต่ทุกการเลือกตั้งจะไม่ชอบมาพากลและเข้าทางคนที่เป็นเผด็จการในคราบประชาธิปไตย เขาจะหาทางสืบทอดอำนาจที่ทำยังไงก็ได้ให้ผลออกมาแล้วยังได้เป็นรัฐบาล” สติธร ระบุ
การเลือกตั้งจึงไม่เท่ากับประชาธิปไตยเสมอไป สติธรกล่าวว่า การประเมินว่าเป็นประชาธิปไตยไหมต้องดูว่าการเลือกตั้ง free (อิสระ) และ fair (ยุติธรรม) หรือไม่ กล่าวคือ คนเลือกตั้งตามที่ตัวเองอยากเลือกได้ไหม มีตัวเลือกให้เลือกตามที่อยากได้ไหม แข่งกันบนกติกาที่ยุติธรรมไหม เป็นต้น ซึ่งสติธรย้ำว่า กติกาที่ให้ สว. 250 เสียงมีส่วนเลือกนายกฯ ได้ คือกติกาที่ไม่ยุติธรรม
เมื่อถามว่า การตั้งรัฐบาลที่เพื่อไทยพลิกหาขั้วรัฐบาลเดิมถือเป็นเผด็จการจากการเลือกตั้งไหม สติธรตอบว่า “พอได้ แต่อาจจะไม่เต็มปาก เพราะอย่างน้อยตัวนายกฯ เปลี่ยน”
สำหรับเขา ถ้าจะนิยามรัฐบาลเผด็จการจากการเลือกตั้งที่สืบทอดอำนาจ จะต้องเป็นรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ และเพื่อไทยต้องไปเป็นฝ่ายค้าน แต่มันไม่เกิดขึ้นเพราะที่นั่งของพรรคขั้วเดิมมีไม่มากพอ เลยต้องอาศัยการผนวกรวมกับฝ่ายประชาธิปไตยตั้งรัฐบาล
“ฝ่ายเผด็จการเดิมเสื่อมอำนาจลงแล้ว และโดยปกติเผด็จการในคราบประชาธิปไตยจะเสื่อมอำนาจลงในระยะยาว”
“ต่อให้ปรับตัว ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไปหาประชาธิปไตยโดยธรรมชาติ จะสั้นยาวก็แล้วแต่บริบทของแต่ละประเทศ” สติธร ระบุ
The MATTER ถามทิ้งท้ายว่า การข้ามขั้วของเพื่อไทยคือการทำให้เป็นประชาธิปไตย (democratize) หรือไม่ สธิตรตอนทันทีว่าใช่ เพราะเขามองว่าไทยค่อยๆ ขยับกลับคืนสู่เส้นทางประชาธิปไตยมากขึ้น จากผลเลือกตั้ง 2566 ที่ทำให้ขั้วเดิมต้องจับมือกับฝ่ายประชาธิปไตย
แล้วคุณละ คิดเห็นอย่างไร?