นอกจากเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบกว่า 8 ปี หากแต่ปรากฏการณ์ที่มีพรรคการเมืองกว่า 50 พรรคร่วมลงสมัคร อาสาเป็นตัวแทนประชาชนไปบริหารประเทศ ตลอดจน ‘บิ๊กเซอร์ไพรส์’ หรือ ‘ซูเปอร์ดีล’ ที่สร้างแผ่นดินไหวทางการเมือง สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้การเลือกตั้ง 2562 เป็นหมุดหมายที่สำคัญเป็นอย่างมากต่อประชาธิปไตยไทย
ก่อนที่วันหย่อนบัตรจะมาถึง ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านสันติวิธี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายให้เราฟังถึงข้อเป็นกังวลต่อการเลือกตั้งในครั้งนี้ว่า การเลือกตั้งกำลังถูกทำให้กลายเป็นสงคราม ที่คู่ขัดแย้งจ้องทำลายซึ่งกันและกัน
ศ.ชัยวัฒน์ ตั้งต้นอธิบายว่า เขามองการเลือกตั้งเป็น ‘เกม’ ชนิดหนึ่งในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย ในเกมที่ว่านี้ แต่ละฝ่ายมีฐานะเป็นคู่ต่อสู้ของกันและกัน โดยสู้ภายใต้กรอบกติกาบางอย่าง
“ผมอยากเปรียบเทียบว่าการเลือกตั้งเป็นเกมแบบหนึ่ง” ศ.ดร.ชัยวัฒน์ อธิบาย
“พอบอกว่ามันเป็นเกม สิ่งที่มาคู่กับเกมคือกฎในการเล่นบางอย่าง ถ้าคิดแบบนักกฎหมาย มันก็คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งที่ตีกรอบว่าทำอะไรได้ไม่ได้บ้าง
“แต่เรื่องพวกนั้นมันยากเกินไปสำหรับผมที่จะเข้าใจ ผมคิดว่า การเลือกตั้งในสถานะที่เป็นเกมซึ่งมีกติกา มันมีคุณลักษณะสำคัญสองอย่าง อย่างที่หนึ่งคือ ถ้าเป็นเกมและเป็นเกมที่มีความหมาย การชนะและแพ้ต้องเปลี่ยนแปลงได้ อย่างที่สองคือ ถ้าเป็นเกมก็แปลว่าคู่ต่อสู้สำคัญต่อชัยชนะของคุณ”
นักวิชาการด้านสันติวิธี เล่าต่อว่า เมื่อการเลือกตั้งเป็นเกม มันจึงไม่ใช่สงคราม เพราะสงครามไม่มีคู่ต่อสู้ สงครามมีแต่ศัตรู สิ่งที่ต้องกังวลคือ เมื่อการเลือกตั้งกำลังกลายเป็นสงครามที่จ้องลบล้างอีกฝ่ายให้หายไปจากกระดาน มันอาจจะกระทบต่อหลักการเรื่องความหลากหลายในประชาธิปไตย
เป้าหมายของสงครามคือต้องทำลายศัตรู เพราะศัตรูเป็นอันตรายต่อการดำรงอยู่ของเรา แต่ในเกมนั้น การดำรงอยู่ของศัตรู จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของเราเช่นกัน ยกตัวอย่าง เราเล่นเทนนิสที่เราตีคนเดียวไม่ได้ คู่ต่อสู้เลยสำคัญ หรือนักมวยชกกัน ถ้าจะมีความหมายก็คือคู่ต่อสู้ต้องมีโอกาสสู้กับคุณด้วย
“เวลานี้ ระบบการเลือกตั้งที่มีผู้เล่นหลายคน กำลังกลายเป็นสงครามระหว่างฝ่าย คือจับเอาแต่ละกลุ่มเป็นพวกเดียวกัน พอเป็นแบบนี้มันเลยกลายเป็นตรรกะว่า ถ้าไม่ใช่พวกกู ก็ต้องเป็นพวกมึง เป็น us and them ซึ่งเรื่องนี้มันใช้ในกรณีที่เกิดสงคราม มันจึงทำลายเกมประชาธิปไตยในความหมายนี้
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ เชื่อว่าปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้การเลือกตั้งถูกทำให้เป็นสงครามมากกว่าเกมในระบบประชาธิปไตย คือความขัดแย้งแบบแยกขั้ว (Polarization) ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทย รวมถึงระบบเลือกตั้งที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำให้พรรคการเมืองแตกออกเป็นจำนวนมาก
“จริงๆ คือรัฐบาลออกแบบรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีพรรคการเมืองจำนวนมาก แต่ลักษณะการแยกขั้วที่เกิดขึ้น กำลังไปกดทับสิ่งที่รัฐบาลออกแบบมาเองอีกที ผมกำลังหมายความว่า การมีพรรคการเมืองลงเลือกตั้งกว่า 50 พรรคมันอาจจะดีก็ได้นะ ต่างคนต่างไปคนละทิศคนละทาง แล้วก็มีทางเลือกให้ประชาชนเยอะแยะไปหมดเลย ไม่จำเป็นต้องอยู่กับประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทยอีกต่อไป เพราะมีสิ่งอื่นให้เลือก แต่จากการแยกขั้วที่เกิดขึ้น มันกำลังทำลายความหลากหลายซึ่งอยู่ในระบบประชาธิปไตยของเรา”
เขาอธิบายเสริมว่า ในสังคมซึ่งแยกขั้วแบบนี้ หลายฝ่ายมักจะมองคู่แข่งเป็นผู้ร้าย เป็นคู่ต่อสู้ที่ต้องเหยียบย่ำให้จมดิน ไม่ได้เห็นเลยว่านี่ต่อสู้กันอย่างเคารพกันก็ได้ ในฐานะที่แต่ละฝ่ายเป็นตัวแทนของความคิดที่ต่างกัน
“หลายพรรคการเมืองถูกมัดรวมแล้วก็เหมารวม บังคับด้วยความขัดแย้งเดิมที่สู้กันว่า นี่คือฝ่ายทักษิณ กับอีกฝ่ายอีกนึง เรื่องแบบนี้อันตราย” ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว
สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นข้อเสนอของนักวิชาการผู้นี้ คือการชี้ชวนให้เห็นแต่ละฝ่ายเห็นถึงความสำคัญของคู่ขัดแย้ง (ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม) ว่าก็มีส่วนสำคัญในการแข่งขันกันด้วยเช่นกัน
“ที่สำคัญก็คือ ในการเลือกตั้งที่เป็นเกม คู่ต่อสู้ก็คือคู่ต่อสู้ เป็นพรรคการเมืองซึ่งเล่นเกมนี้ด้วยกัน คู่ต่อสู้ที่เป็นพรรคการเมืองก็สำคัญ ไม่ใช่ทำให้เขาตายหรือหายไป ในความหมายนี้ การออกแบบระบบจึงต้องทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเห็นความสำคัญของคู่ต่อสู้ มันถึงจะเป็นกีฬาที่มีความหมาย
“ยิ่งไปกว่านั้น ในระบบประชาธิปไตยที่ดี อาจจะหมายความว่า คนที่ชนะเลือกตั้งวันหนึ่งก็แพ้ได้ ถ้าใครชนะตลอดก็ย่อมแพ้ได้ หรือถ้าชนะติดต่อกันก็ต้องหยุด เช่น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อยู่ได้แค่สองสมัยเท่านั้น การอยู่ในอำนาจและใช้อำนาจมากเกินไป มันมีผลเสียต่อระบอบประชาธิปไตยเอง เพราะมันจะไม่มีใครมาเล่นด้วย” นักรัฐศาสตร์อธิบายให้เราฟัง
ในบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ซึ่งจะเผยแพร่ต่อไปในเร็วๆ นี้ เราได้ชวน ศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุยกันถึงเดิมพันครั้งสำคัญของการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น
รวมถึงบทวิเคราะห์เรื่องการลงสนามเลือกตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และปรากฏการณ์พรรคอนาคตใหม่ ที่เขามองว่าเป็นภาพสะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างเจเนอเรชั่นในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
ติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มๆ ได้เร็วๆ นี้