“สีแดงเป็นมากกว่าสีผม แต่เป็นเอกลักษณ์ที่ควรค่าแก่การเฉลิมฉลอง”
เมื่อวานนี้ (28 สิงหาคม) ผู้คนหลายพันคนรวมตัวกันที่เมืองทิลเบิร์ก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลคนผมแดงประจำปี (Redhead Days Festival) โดยภายในงานจะมีแคมป์ไฟ ตู้ถ่ายรูป จุดวาดภาพบุคคล การเต้นรำ และการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับมะเร็งผิวหนังเนื่องจากคนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง
บอกก่อนว่า เทศกาลนี้มีผู้คนมากกว่า 80 ประเทศมาเข้าร่วม ซึ่งรายงานทางวิชาการปี 2019 ระบุว่า คนผมสีแดงมีประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ในยุโรป โดยคนกลุ่มนี้มักจะอาศัยอยู่ที่เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์
อย่างไรก็ดี ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นเกี่ยวกับการถูกกลั่นแกล้ง การเลือกปฏิบัติ และการตีตราทางวัฒนธรรม (cultural stigma) ต่อคนผมแดงกลายเป็นข้อถกเถียงในหลายๆ ประเทศซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสกอตแลนด์
ตัวอย่างสำคัญของการถูกเหยียดหยามที่สำคัญต่อคนกลุ่มนี้คือ เมื่อปี 2010 รองผู้นำพรรคแรงงานในสกอตแลนด์เรียกรัฐมนตรีอาวุโสของพรรคร่วมรัฐบาลว่า ‘หนูแดง’ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมายจนเธอต้องออกมาขอโทษในภายหลัง
ไม่เพียงเท่านั้น ตอนหนึ่งของเซาท์พาร์ก (South Park) ภาพยนตร์การ์ตูนอเมริกันชื่อดัง มีชื่อว่า ‘เด็กผมแดง (Ginger Kids)’ ซึ่งตัวละครหลักปฏิบัติต่อเด็กผมแดงราวกับสีผมของพวกเขาเป็นโรคติดต่อ ทว่าการกระทำเช่นนี้กลับเกิดขึ้นจริงในสังคม ตามรายงานของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและแคนาดาพบว่า คนกลุ่มนี้มักจะตกเป็นเป้าของการถูกกลั่นแกล้งและทำร้ายร่างกาย
ทั้งนี้ เทศกาลดังกล่าวเริ่มต้นอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ปี 2005 โดยจิตรกรที่ชื่อว่า บาร์ต รูเวนฮอร์สท์ (Bart Rouwenhorst) หลังเขาโฆษณาทางหนังสือพิมพ์เพื่อตามหานางแบบผมแดง 15 คน แต่มีคนสมัครมากถึง 150 คน ซึ่งเขาไม่อาจที่จะปฏิเสธพวกเธอได้ ดังนั้น เขาจึงให้นางแบบทุกคนมารวมตัวกันเพื่อถ่ายรูปหมู่ ซึ่งสื่อมากมายต่างให้ความสนใจ จนทำให้รูเวนฮอร์สท์มีไอเดียที่จะจัดเทศกาลของคนผมแดงอย่างเป็นทางการ โดยมีสโลแกนที่โดดเด่นอย่าง ‘หน้าไร้กระก็เหมือนคืนไร้ดาว’
“อะไรก็ตามที่ทำให้คุณพิเศษ ไม่ว่าจะมีผมสีแดงหรือลักษณะอื่นๆ ..ล้วนเป็นสิ่งที่คุณไม่ควรปิดบัง แต่ควรเฉลิมฉลองมันอย่างภาคภูมิใจ”
อ้างอิงจาก