ในบางครั้ง การเลือกปฏิบัติ (discrimination) ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเด็นด้านเพศ อายุ ศาสนา รูปลักษณ์ หรือเชื้อชาติเท่านั้น เพราะในบางที การเลือกปฏิบัติก็อาจจะมีสาเหตุมาจาก ‘ชื่อ’ หรือที่เรียกกันว่า ‘Name Discriminaton’ ก็ได้
เช่นเดียวกับเรื่องราวของ เซจ (Sage) ที่เล่าเรื่องของตัวเองผ่าน TikTok ว่าเธอเป็นคนเชื้อชาติจีน เติบโตและอาศัยอยู่สหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาก็ใช้ชื่ว่า ‘เย่ซินหยวน’ มาโดยตลอด แต่สุดท้ายเธอก็ตัดสินใจหันมาใช้ชื่อภาษาอังกฤษเพราะปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติเพราะชื่อของเธอ
เซจเล่าว่า ในตอนที่เธอใช้ชื่อว่าซินหยวน ไม่ว่าเธอไปที่ไหนก็แทบจะไม่มีคนเรียกชื่อเธอเลย เวลาทักทายก็มักจะพูดกับเธอแค่ว่า สวัสดี แล้วก็เว้นการเรียกชื่อไป เวลาที่เล่นแอปพลิเคชั่นหาคู่ ก็พบว่าไม่ค่อยมีคนแมทช์กับเธอมากนัก หรือแม้แต่ตอนที่สมัครงานโดยลงโปรไฟล์ของตัวเองเอาไว้ใน LinkedIn ก็แทบไม่มีบริษัทที่ติดต่อเธอเข้าไปเลย ซึ่งเธอก็ตั้งข้อกังเกตว่าอาจจะเป็นเพราะหลายที่คิดว่าเธอเป็นคนต่างชาติที่ต้องใช้วีซ่าทำงานก็ได้
แต่เมื่อซินหยวนเริ่มใช้ชื่อว่าเซจมา 4 เดือน ก็พบกับความแตกต่าง เมื่อหลายคนเรียกชื่อเธอมากขึ้น และพูดชื่อเธอบ่อยขึ้นในบทสนทนา หรือตอนที่เธอเปิดแอปพลิเคชั่นหาคู่ ก็พบว่ามีคนเข้าไปกดไลก์เธอถึง 50-60 คน อีกทั้งเธอยังได้รับข้อเสนอจากหลายๆ บริษัทให้เข้าไปทำงานอีกเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ชื่อเซจที่เธอใช้อยู่ตอนนี้ยังไม่ใช่ชื่อที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเธอยังไม่ได้แจ้งเรื่องการเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการ เนื่องจากว่ามีกระบวนการที่ยุ่งยากและค่าใช้จ่ายสูง
โดยหลังจากที่เธอโพสต์คลิปดังกล่าวออกไป ก็มีคนคอมเมนต์ถึงประสบการณ์ที่ใช้ชื่อเอเชียนแต่เติบโตในประเทศตะวันตกว่าคนอื่นๆ ก็มักจะไม่เรียกชื่อของพวกเขาเหมือนกัน ซึ่งก็มีคนบอกว่านี่คือความลำบากของคนที่มีชื่อเป็นคนเอเชียแต่ต้องเติบโตในตะวันตก
อีกทั้งก็ยังมีคนคอมเมนต์ว่าคลิปของเธอ เป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจที่ทำให้มีคนพยายามเรียกชื่อที่ไม่ใช่เป็นชื่อภาษาอังกฤษมากขึ้นอีกด้วย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ก็ทำให้เซจเห็นถึงความแตกต่างที่ชัดเจนของการใช้ชื่อภาษาอังกฤษ และสะท้อนปัญหาเรื่องของ ‘การเลือกปฏิบัติจากชื่อ’ ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกา
การเลือกปฏิบัติจากชื่อนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะที่ผ่านมาก็เคยเกิดกรณีที่มีคนถูกปฎิเสธการเข้ารับการทำงานเพราะชื่อเหมือนเป็นคนมุสลิม ในขณะที่สถานที่ทำงานแห่งนั้นเลือกจ้างอีกคนที่ชื่อเหมือนคนตะวันตก หรือกรณีที่มีคนเคยถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเนอสเซอรี่ แต่พอมีเด็กที่ชื่อเหมือนคนตะวันตกถาม เจ้าหน้าที่กลับบอกว่ายังมีที่ว่างเหลืออยู่
การวิจัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในประเด็น ‘name discrimination’ ก็พบว่าการเลือกปฏิบัติจากชื่อ ในการศึกษาและการจ้างงานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง โดยผู้สมัครที่มีชื่อซึ่งดูเหมือนว่าเป็นชื่อคนดำ ต้องมีประสบการณ์การทำงานมากคนที่ชื่อเหมือนคนผิวขาวกว่า 8 ปี ถึงจะได้รับการตอบกลับจากที่ทำงานแห่งเดียวกัน
ทั้งยังมีข้อมูลที่ระบุว่า ชื่อที่ฟังดูเหมือน ‘คนขาว’ มักจะได้รับการตอบกลับมากที่สุด โดยเรียงจากชื่อที่ดูเหมือนคนยุโรปตะวันตก ยุโรปตะวันออก เอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกาตามลำดับ
และไม่ใช่แค่ชื่อดู ‘ดูเหมือน’ ว่าเป็นคนเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีข้อมูลที่พบว่าชื่อผู้หญิงมักจะได้รับการจัดอันดับว่ามีความสามารถน้อยกว่า ในขณะที่ชื่อผู้ชายถูกมองว่าอบอุ่นน้อยกว่า
ส่วนในผู้สมัครผู้หญิงด้วยกันเอง ชื่อโซฟี ก็จะถูกมองว่าน่าดึงดูดกว่า ส่วนผู้ชาย ก็มักจะเป็นชื่อที่สั้นๆ อย่างแจ็ค รวมถึงคนที่มีชื่อที่ดูเชย ก็จะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกัน
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่บางคนรู้สึกว่าต้องเปลี่ยนชื่อเพื่อทำให้การดำเนินชีวิตของตัวเองง่านขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนนามสกุล ย่อชื่อจริงเพื่อให้สามารถออกเสียงตามภาษาตะวันตกได้มากขึ้น หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนชื่อตัวเองใหม่ทั้งหมด
อ้างอิงจาก