เมื่อวานนี้ (19 เมษายน) ตำรวจพบร่างของ จีจี้—สุพิชชา ปรีดาเจริญ เน็ตไอดอลวัย 20 ปีที่ถูกยิงเสียชีวิต พร้อมกับศพของอดีตแฟนหนุ่มนักเรียนเตรียมทหารลูกทหารยศสูงที่คาดกันว่าอายุราว 17-18 ปี (จึงเป็นเหตุให้สงวนชื่อตามกฎหมาย)
ฉากฆาตรกรรมเป็นเพียงบทสุดท้ายของความรุนแรงเท่านั้น เพราะหากมองดีๆ จะพบว่ามีสัญญาณอันตรายก่อนหน้ามากมาย เช่น จีจี้เคยแชร์ภาพที่ตนเองถูกทำร้ายร่างกายโดยแฟนเก่า, จีจี้เคยเล่าให้คนใกล้ชิดฟังว่าถูกทำร้ายร่างกาย–เอาปืนจ่อหัว, หรือการแฉแชตสนทนาที่ฝ่ายชายเคยส่งข้อความข่มขู่คุกคามจีจี้ เช่น “กลับไปมึงตายแน่ กูจะฆ่ามึง” หรือ “อันบล็อก ฟังที่กูสั่ง รับสาย ไม่งั้นกูยิงมึงแน่” เป็นต้น
แม้ตำรวจจะยังไม่ยืนยันว่าผู้ก่อเหตุคือ นร.เตรียมทหารหรือไม่ แต่เหตุการณ์นี้นำมาสู่การตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของผู้หญิง ความรุนแรงในครัวเรือน ความห่วยแตกของการควบคุมปืน พรีวิลเลจของลูกคนใหญ่คนโต ไปจนถึงการตั้งข้อสังเกตถึง ‘femicide’ (เฟมิไซด์) หรือพฤติกรรมเจตนาฆ่าเพียงเพราะเหยื่อเป็นเพศหญิง
อะไรคือ femicide? องค์การอนามัยโลก (WHO) นิยามว่า femicide คือพฤติกรรมจงใจฆาตรกรรมผู้หญิงเพียงเพราะพวกเธอเป็นผู้หญิงและเป็นพฤติกรรมที่มีปัจจัยทางเพศเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจ โดยส่วนใหญ่ผู้ก่อเหตุมักมีแนวโน้มเป็นผู้ชาย
บ่อยครั้ง femicide ถูกอธิบายว่าเป็นการฆ่าผู้หญิงโดยคู่รักที่ใกล้ชิดและสมาชิกในครอบครัว คำคำนี้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ศตวรรษที่แล้วเพื่ออธิบายถึงการฆ่าผู้หญิงแบบที่มีปัจจัยทางเพศมาเกี่ยวข้อง อันเป็นคำนิยามที่ชวนให้ตระหนักถึงความไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติ และความรุนแรงต่อผู้หญิง
อะไรที่ทำให้เกิด femicide? UN เคยอธิบายว่า femicide อาจเกิดจากหลากหลายปัจจัย เช่น บทบาททางเพศ (gender role) ที่สังคมคาดหวังและเหมารวม, พฤติกรรมการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง, ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงและเพศชาย ตลอดจนบรรทัดฐานทางสังคมที่บิดเบี้ยว
ตัวอย่างของพฤติกรรม femicide มีหลากหลาย เช่น พฤติกรรมฆาตรกรรมผู้หญิงอันเป็นผลจากความรุนแรงของคู่รัก, การเกลียดผู้หญิงจนต้องฆ่า, การฆ่าผู้หญิงและเด็กเพื่อ ‘เกียรติยศและศักดิศรี’ หรือการฆ่าผู้หญิงในสภาวะสงคราม เป็นต้น
เรื่องของจี้อาจไม่ใช่เรื่องของคนเพียงไม่กี่คน เมื่อปี 2021 มีผู้หญิงและเด็กหญิงราว 81,100 คนถูกฆ่าโดยเจตนา และในปีเดียวกันมีผู้หญิงราว 45,000 คนทั่วโลกที่ถูกฆาตรกรรมโดยคนรักใกล้ตัว ไม่ก็สมาชิกในครอบครัว โดยเฉลี่ยแล้วมีผู้หญิงหรือเด็กหญิงมากกว่า 5 คนถูกฆ่าทุกๆ 1 ชั่วโมงโดยสมาชิกในครอบครัว
และในปี 2021 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกบ้านเรามีสถิติ femicide โดยคนรักใกล้ตัว หรือสมาชิกในครอบครัวสูงถึง 18,100 คน
กลับมาที่คดีฆาตรกรรมของจีจี้ แม้ตำรวจยังไม่สรุปชัดเจนว่าใครคือผู้ก่อเหตุ และคงไม่สรุปว่ากรณีนี้เกี่ยวข้องกับ femicide จริงหรือไม่ แต่ทัศนคติหลายอย่างจากฝ่ายชายก็สะท้อนทัศนคติเหยียดเพศ
ครั้งหนึ่งฝ่ายชายเคยโพสต์ผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวว่า เพศหญิงไม่ควรเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ เพราะธรรมชาติสร้างให้แต่ละเพศมีร่างกายต่างกัน จึงไม่เท่ากัน แถมผู้ชายมีภาระต้องแบกรับมากกว่าผู้หญิง
ไม่ใช่แค่นี้ เขายังเคยโพสต์ด้วยว่าผู้หญิงที่มี red flag (พฤติกรรมที่เป็นสัญญาณว่าจะมีปัญหา) คือผู้หญิงที่เป็นเฟมินิสต์ ขณะเดียวกันยังชื่นชม แอนดรูว์ เทต (Andrew Tate) อินฟลูเอนเซอร์ที่มักแสดงทัศนคติเกลียดชังผู้หญิง และมักพูดถึงการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง
คดีนี้จะจบลงอย่างไรเรายังไม่อาจรู้ได้ แต่หวังว่ากรณีนี้จะช่วยให้สังคมให้ความสำคัญกับความรุนแรงในครอบครัว ให้ความสำคัญกับการอบรมสั่งสอนใครก็ตามให้เคารพผู้อื่น และให้ความสำคัญกับสังเกตสัญญาณบางอย่างของคนรอบข้าง
เพราะไม่มีผู้หญิงคนไหนควรถูกฆ่าเพียงเพราะเป็นผู้หญิง ไม่สิ ไม่มีใครสมควรถูกเพียงเพราะอัตลักษณ์ของตัวเอง
อ้างอิงจาก
https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/77421/WHO_RHR_12.38_eng.pdf
https://eige.europa.eu/thesaurus/terms/1128
https://www.womensaid.org.uk/what-we-do/campaigning-and-influencing/what-is-femicide/
https://asiapacific.unwomen.org/en/stories/statement/2022/11/ending-deadly-violence-against-women-in-asia-and-the-pacific-requires-thorough-data-collection-for-prevention-measures#:~:text=The%20Asia%2DPacific%20region%20accounted,300%20in%20Oceania)%20in%202021.
https://twitter.com/jammamyy/status/1648649265684828163?s=20
https://twitter.com/usedbylemon/status/1648633885306294272?s=20
https://www.facebook.com/photo?fbid=763394111827735&set=pcb.763397815160698