“ถ้าเธอไม่รักก็ไม่เป็นไร ระวังตัวไว้เดี๋ยวน้องจะโดนปล้ำ”
“เดี๋ยวพี่จะปล้ำๆๆๆ ถ้าน้องไม่รักเดี๋ยวพี่จะปล้ำ”
เพลงถ้าไม่รักจะปล้ำ โดย ‘นาย เดอะคอมเมเดี้ยน’ กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมออนไลน์ด้วยหลากหลายเหตุผล เช่น 2023 แล้วทำไมยังเล่นมุกตลกข่มขืน, ทำไมถึงร้องเพลงที่สนับสนุนอาชญากรรม ตลอดจนการตั้งข้อส้งเกตุว่า เพลงนี้สนับสนุน ‘วัฒนธรรมข่มขืน’ (rape culture) หรือไม่
แน่นอน เพลงนี้ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมข่มขืน และอาจเป็นอีกเครื่องสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมเรา อย่างไรก็ตาม The MATTER ชวนทุกคนมาทำความเข้าใจว่า วัฒนธรรมข่มขืนคืออะไร เพลงส่งผลกับวิธีคิดคนได้จริงไหม และเราควรทำอย่างไรต่อไปกับประเด็นนี้
เริ่มจากเข้าใจก่อนว่าวัฒนธรรมข่มขืนคืออะไร? วัฒนธรรมข่มขืน คือ วัฒนธรรมที่ความรุนแรงทางเพศกลายเป็นบรรทัดฐานปกติในสังคม ขณะที่เหยื่อมักถูกโทษว่าเป็นสาเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น
สังคมใต้วัฒนธรรมข่มขืนมักมีบรรทัดฐาน–สถาบันบางอย่างที่ปกป้องผู้ก่อเหตุข่มขืน สนับสนุนการเว้นโทษ และสั่งสอนให้ผู้หญิงปรับพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงการข่มขืนเอาเอง (เช่น อย่าออกจากบ้านดึกสิ!)
นอกจากนี้ สังคมใต้วัฒนธรรมข่มขืนมักมองความรุนแรงทางเพศเป็นเรื่องปกติและไร้สาระ ซึ่งการมองพฤติกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องปกติจะยิ่งทำให้ปัญหารุนแรงขึ้นและได้รับการแก้ไขน้อยลง
เช่นเดียวกัน เมื่อสื่อยิ่งทำให้การข่มขืนและความรุนแรงทางเพศเป็นเรื่องปกติหรือเรื่องทะลึ่ง อาจยิ่งทำให้ผู้เสียหายรับมือกับความรุนแรงได้ยากขึ้น หนักเข้าหน่อยก็อาจทำให้พวกเขาโทษว่าเป็นความผิดตัวเองที่โดนทำร้าย
ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อที่ทำให้การข่มขืนดูเป็นเรื่องปกติ ไร้สาระ หรือขำขัน อาจสร้างผลกระทบต่อผู้เสียหายในชีวิตจริง แม้จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
บ..บ้าหน่า! ก็แค่เพลงมันจะส่งผลกับวิธีคิดหรือสนับสนุนวัฒนธรรมข่มขืนได้ไง? ขอเฉลยตรงนี้ มีนักสังคมวิทยาและจิตวิทยาวิเคราะห์ไว้ว่า ดนตรีมีส่วนสำคัญต่อลักษณะพฤติกรรมและการเติบโตด้วยนะ เพราะเพลงช่วยพัฒนาความเชื่อ ความรู้สึก ทัศนคติ และศีลธรรมของเยาวชนได้
ขณะที่ต่างประเทศมีงานวิจัยศึกษาเลยว่า การฟังเพลงแร็ปที่มีเนื้อหาชวนสร้างความรุนแรงทางเพศส่งผลให้บุคคลหนึ่งมีพฤติกรรมก้าวร้าวทางเพศและรุนแรงต่อคนรักอย่างไร ซึ่งผลสรุปก็คือ 37% ของผู้ร่วมวิจัยที่ฟังเพลงแร็ปที่มีเนื้อหารุนแรงทางเพศ มักจะมีพฤติกรรมทางเพศที่รุนแรง
วิธีแสนง่ายที่จะแก้ปัญหานี้ คือ หยุดการเผยแพร่วัฒนธรรมการข่มขืนในสื่อ ภาครัฐควรให้ความรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อและข้อมูลเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ ขณะประชาชนคนธรรมดาอาจช่วยกันเรียกร้องและตั้งคำถามกับสื่อทุกแขนงที่มีเนื้อหาข้องเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศได้
นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาของเพศหญิงเท่านั้น เพราะเพศอื่นๆ ก็ถูกข่มขืนได้เช่นกัน ซึ่งหากยิ่งวัฒนธรรมข่มขืนเติบโตมากเท่าไหร่ ผู้เสียหายทุกเพศทุกวัยก็อาจยิ่งได้รับการคุ้มครองสนับสนุนน้อยลงเท่านั้น
หรือท้ายที่สุด ถึงเราจะรู้สึกว่าแยกแยะได้ว่ามันก็แค่เพลงเพลงหนึ่ง แต่เราคงไม่อยากให้เด็กไม่รู้ประสาเติบโตมากับสื่อที่ปลูกฝังวัฒนธรรมข่มขืนหรอก …ว่ามั้ย?
อ้างอิงจาก
https://www.youtube.com/watch?v=010bWFm23OM
https://www.vox.com/2014/12/15/7371737/rape-culture-definition
https://dailyorange.com/2021/04/social-media-rape-culture/
https://saratogafalcon.org/content/normalizing-sexual-violence-through-media-fuels-rape-culture/
https://uca.edu/cahss/files/2020/07/Gray-CLA-2019.pdf