มีหรือผู้ที่จะไม่รักชีวิตตัวเอง? ดังนั้นการที่คนคนหนึ่งยอมเสี่ยงชีวิตด้วยการปฏิเสธการรับน้ำและอาหาร คงไม่ใช่อารมณ์พาไป แต่อาจมาจากการบีบบังคับด้วยเหตุผลบางประการ อย่างที่เกิดขึ้นกับ น้ำ-วารุณี หนึ่งในผู้ถูกคุมขังทางการเมือง ที่ถูกปฏิเสธการให้ประกันตัวกว่า 7 ครั้งในช่วงเวลา 2 เดือน
อาจไม่ได้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง แต่แทบจะทุกสัปดาห์ยังคงมีการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง ส่งผลให้ตัวเลขผู้ถูกคุมขังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจำนวนมากไม่ได้รับสิทธิให้ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี ทั้งที่กฎหมายไม่ได้ว่าอย่างนั้น
อย่างในวันนี้ (6 กันยายน) ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ก็เพิ่งมีคำพิพากษาคดีนักกิจกรรมทางการเมือง พิมชนก ใจหงษ์ ผู้ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดเหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวในวันเดียวกัน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 29 วรรค 2 และ วรรค 3 ในคดีอาญา ที่ให้สันนิษฐานว่าไม่มีความผิดไว้ก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุด และระหว่างนั้นจะปฏิบัติต่อคนนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงสิทธิตามบทบัญญัติที่ได้รับรองในกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 นี้
หมายเหตุ จำนวนวันถูกคุมขังนับถึง 6 กันยายน 2566
ยืนยันตาม สถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่รวบรวมรายชื่อผู้ถูกคุมขังในปี 2566 จากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมืองเอาไว้ ว่าแค่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ถูกคุมขังเพิ่มขึ้น 10 คน
ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างสู้คดีถึง 20 คน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในสถานะเดียวกันคือ ‘คุมขังระหว่างพิจารณาคดี’ ด้วยคำสั่งศาลไม่ให้ประกันตัวใต้เหตุที่คล้ายกัน อย่างอัตราโทษของคดีสูง เกรงว่าจะหลบหนี รวมถึงยืนตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่ให้ประกันตัว
ทั้งบางส่วนยังเคยถูกคุมขังในชั้นสอบสวนมาแล้วเกินกว่า 200 วัน นั่นยิ่งนำมาซึ่งคำถามถึงความอยากลำบากของผู้ต้องขังทางการเมือง ที่จะเข้าถึงสิทธิของการต่อสู้คดีโดยไร้พันธนาการ
การถูกปฏิเสธอิสรภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงเป็นเหตุผลให้บางคนตัดสินใจทวงถามสิทธิด้วยการอดน้ำ และอาหาร จนไปถึงปฏิเสธการเข้ารักษาพยาบาล อย่างที่วารุณีกำลังกระทำต่อเนื่องมากกว่า 14 วันแล้ว หลังจากที่ศาลยกคำร้องขอประกันตัวในครั้งที่ 5 แม้ทนายจะแย้งถึงพฤติการณ์ที่ไม่เคยคิดหลบหนีตลอด 2 ปีที่ต่อสู้คดีก็ตาม
เช่นเดียวกับ เวหา อีกหนึ่งผู้ต้องขังที่ร่วมเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับผู้ต้องขังทางการเมืองที่คดียังไม่สิ้นสุด ด้วยการอดอาหารอยู่ในตอนนี้ ขณะที่ เก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ เป็นอีกคนที่ตัดสินใจปฏิเสธอำนาจศาล ไม่ขอร่วมกระบวนพิจารณาคดีไม่ว่าในทางใดๆ ด้วยการถอนทนายความ ระหว่างถูกเบิกตัวเพื่อสืบพยานในคดี เพื่อขอคืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน
โดยก่อนหน้านี้มีผู้ต้องขังที่กลายเป็นนักโทษเด็ดขาดหลังคดีสิ้นสุดแล้ว 10 คน ซึ่งก็มีผู้ที่คุ้นหน้าคุ้นตาตามหน้าสื่อ อย่าง เอกชัย หงส์กังวาน เป็นต้น
ถูกคุมขังด้วยเหตุแห่งคดีใดบ้าง?
สำหรับข้อกล่าวหาของการถูกคุมขังนั้น จำนวนมากเกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ทั้งจากเหตุการณ์ชุมนุม รวมถึงการโพสต์หรือแชร์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งจะมีฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 4 (3) พ่วงมาด้วย
กลุ่มก้อนต่อมาที่ศาลไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุว่ามีความผิดตามกฎหมายหลายบท ทั้งร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, ไม่เลิกชุมนุมมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
รวมถึงอีกฐานความผิดที่มีบทลงโทษหนัก คือ ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ฯ ของผู้อื่นและทำให้เสียทรัพย์ โดยเจตนา ตามมาตรา 217
เช่นเดียวกับเหตุสำคัญว่าคดีมีโทษสูง ก็ทำให้ผู้ถูกคุมขังไม่ได้รับการประกันตัว อย่างข้อหามีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนใหญ่มาจากการร่วม #ม็อบราษฎรไล่ตู่ ถือเป็นคดีที่มีการจับกุมผู้ชุมนุมจากกลุ่มทะลุแก๊สเป็นจำนวนมาก ซึ่งในระหว่างสอบสวนก็ถูกคุมขังมานานกว่า 240 วัน
อ้างอิงจาก
thematter (1)
thematter (2)
thematter (3)