วันนี้ (11 กันยายน) ระหว่างการอภิปรายนโนยายรัฐบาล ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.จากพรรคเพื่อไทยอภิปรายถึงนโยบายการศึกษา โดยการเสนอให้มีการสร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปรับปรุงหลักสูตร พัฒนาคุณภาพของครู และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ประเด็นหนึ่งที่ ลิณธิภรณ์กล่าว คือการปรับปรุงหลักสูตร เช่น วิชานาฏศิลป์ พลศึกษา พระพุทธศาสนา กระบี่กระบอง และประวัติศาสตร์ โดยเสนอว่าควรให้เป็นการเรียนรู้ตามความสมัครใจ จากวิชาบังคับให้เป็นวิชาเลือกเสรี และกระทรวงการศึกษาก็ควรเพิ่มวิชาตัวเลือกเสรีมากขึ้น เช่น สิทธิมนุษยชน กฎหมาย สิ่งแวดล้อม เพราะที่ผ่านมา “เราพบว่าวิชาที่เรียนไม่ได้ใช้ วิชาที่ใช้ไม่ได้เรียน เพื่อให้นักเรียน เรียนในสิ่งที่ใช่ ใช้ในสิ่งที่เรียน”
โดยการปรับปรุงหลักสูตร ลิณธิภรณ์มองว่าต้องพัฒนาคู่ขนานไปกับคุณภาพของครู เปลี่ยนจาก ‘ครูที่ถ่ายทอดความรู้’ เป็น ‘ครูผู้อำนวยความสะดวก’ คือการคืนความเป็นครูให้กับผู้เรียน ด้วยการลดภาระงานด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานเอกสาร ลดเวลาเวร ฯลฯ
ลิณธิภรณ์ยังเสนอให้เปลี่ยนระบบการจัดเก็บฐานข้อมูลกลาง ให้ครบในที่เดียว เพิ่มสวัสดิการครูให้เหมาะสม ทั้งด้านการตอบแทนและด้านที่อยู่ เพิ่มความก้าวหน้าด้วยการประเมินครูตามเกณฑ์หลักที่เป็นธรรม อิงกับผลการสอนมากกว่าเอกสาร และเพิ่มการเรียนรู้เพื่อให้ครูเป็นต้นแบบ
การเพิ่มสวัสดิการและลดภาระงานนี้ ลิณธิภรณ์ระบุว่าจะทำให้ครูกว่า 4 แสนอัตรา ตั้งใจสอน และปลูกฝังให้กับลุกหลานไทย
อย่างไรก็ดี ลิณธิภรณ์ยังระบุถึงต้องมีการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เนื่องจากในปี 2565 มีเด็กจำนวน 1.3 ล้านคนเป็นเด็กยากจนพิเศษและเด็กกลุ่มนี้กว่า 50.4% มีรายได้ที่ต้องพึ่งพิงสวัสดิการของรัฐ ปัญหาคือการที่เด็กหลุดจากระบบการศึกษาคือความยากจน
“ถ้าเด็กไทยไม่หลุดออกจากระบบการศึกษาเลย จะทำให GDP เติบโต 3% เพราะฉะนั้น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือเข้าไปตัดวงจรความยากจนดังกล่าวให้เกิดรายได้ใหม่ๆ และเปิดโอกาสการเรียนรู้ให้มากขึ้น”
ลิณธิภรณ์ยังเสนอให้พิจารณา เพิ่มเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนแปรผันตามค่าครองชีพ ขยายมาตรการการลดหย่อยภาษี เพื่อเพิ่มการสนับสนุนเงินเข้าสู่กองทุนเสมอภาคทางการศึกษา สุดท้ายก็คือการออกสลากเพื่อเพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษา มาตรการเหล่านี้สามารถดำเนินการได้ทันทีตามมติ ครม.
“ดิฉันเชื่อว่าตลอดเวลา 4 ปีข้างหน้านี้ จะเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูป โดยเฉพาะมติการศึกษา…” ลิณธิภรณ์กล่าว