เมื่อขยับเข้าใกล้วันเลือกตั้งหลายพรรคการเมืองก็เริ่มปล่อยไม้เด็ดเรียกคะแนนเสียง หนึ่งในนั้นคือนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางนั่นคือการแจกเงินสดดิจิทัล 10,000 บาทจากรัฐ โอนเข้ากระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ประชาชนคนไทยที่อายุเกิน 16 ปีทุกคนเพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ใกล้บ้าน
นโยบายนี้มีทั้งคนที่ถูกอกถูกใจและวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจสร้างภาระทางการคลังมหาศาลและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบที่ถูกกล่าวถึงไม่มากนักคือ ‘เงินดิจิทัล’ ซึ่งเปรียบเสมือนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของนโยบายนี้
ความเห็นหนึ่งในโลกออนไลน์ตั้งคำถามถึงนโยบายดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจว่า เงินดิจิทัลซึ่งโหมประโคมว่าดีจะแตกต่างอย่างไรกับเงินในบัญชีธนาคารที่ฝากถอนโอนจ่ายผ่านแอปพลิเคชั่นได้อย่างสะดวกสบายในปัจจุบัน เมื่อการชำระเงินแบบนี้ไม่ได้ยุ่งยากแถมยังไม่มีค่าธรรมเนียม แล้วความจำเป็นของเงินสดดิจิทัลคืออะไรกันแน่
ความเห็นข้างต้นถูกต้องเกือบทั้งหมดในฝั่งของผู้บริโภค เพราะเงินสดดิจิทัลของรัฐอาจไม่ได้มีหน้าตาผิดแผกแตกต่างจากเงินสดในบัญชีธนาคารที่เราสามารถทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือฝั่งการบริหารจัดการ ‘หลังบ้าน’ ระหว่างธนาคารพาณิชย์และธนาคารกลาง รวมถึงความสามารถในการ ‘เขียนโปรแกรม’ ใส่เข้าไปซึ่งมีแต่เงินดิจิทัลเท่านั้นที่สามารถทำได้
หลากรูปแบบของเงินดิจิทัลที่ออกโดยรัฐ
นับตั้งแต่เกิดกระแสคริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency) และเหรียญเสถียร (stablecoin) ที่หลายคนวาดฝันว่าจะเข้ามาทำหน้าที่เสมือนเงินสกุลที่ออกโดยรัฐบาล หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการเงินของรัฐอย่างธนาคารกลางทั่วโลกก็ไม่นิ่งเฉย พร้อมเดินหน้าศึกษาแนวคิดเรื่องเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currencies หรือ CBDC)
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ชื่อเรียกจะเหมือนกัน แต่หน้าตาของเจ้า CBDC ที่พัฒนาในแต่ละประเทศก็มีความผิดแผกแตกต่างกันออกไป โดยมีรายละเอียดปลีกย่อย 3 ด้านคือ
CBDC สำหรับรายใหญ่ (Wholesale) หรือรายย่อย (Retail)?
CBDC สำหรับรายใหญ่จะทำหน้าที่เหมือนสินทรัพย์สภาพคล่องที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้ที่ธนาคารตามกฎหมายเพื่อเสถียรภาพของสถาบันการเงิน เงินดิจิทัลรูปแบบนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนแต่ช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพของระบบหลังบ้านในการชำระราคารวมถึงการโอนเงินระหว่างประเทศ
แต่เวลาที่เราพูดถึงเงินดิจิทัลส่วนใหญ่มักจะหมายถึงการพัฒนา CBDC สำหรับรายย่อยซึ่งก็คือการที่ปุถุชนคนธรรมดารวมถึงห้างร้านสามารถถือเงินดิจิทัลได้ด้วยซึ่งจะเปรียบเสมือนการเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารกลาง
ธนาคารกลางจัดการเอง หรือเป็นแบบผสมผสาน?
หากธนาคารกลางเลือกที่จะจัดการ CBDC ด้วยตัวเอง ก็จะต้องดูแลทั้งเรื่องหน้าบ้านและหลังบ้าน จัดการเรื่องแอปพลิเคชั่น การใช้งาน ดูแลผู้ใช้บริการ และปรับปรุงเทคโนโลยีที่ทันสมัยอยู่เสมอ แต่หากต้องการจัดการแบบผสมผสาน ธนาคารกลางอาจดูแลเฉพาะบัญชีหลักสำหรับการเคลื่อนไหวของเงินตรา ส่วนที่เหลืออย่างเรื่องกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์และการบริการลูกค้าก็ให้ภาคเอกชนเป็นคนจัดการ
CBDC แบบรวมศูนย์หรือกระจายศูนย์?
CBDC แบบรวมศูนย์หมายถึงมีฐานข้อมูลทั้งหมดอยู่ที่เดียวซึ่งจะบริหารจัดการง่ายกว่าและมีประสิทธิภาพสูงกว่า แต่ก็มีข้อเสียคือความเปราะบางของระบบเพราะทุกอย่างรวมอยู่ที่จุดเดียว แตกต่างจาก CBDC แบบกระจายศูนย์ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกกระจายเก็บอยู่ในหน่วยต่างๆ ผ่านระบบบล็อกเชนทำให้ถูกโจมตีได้ยาก แต่ก็ต้องแลกมากับความสามารถในการประมวลผลที่ช้ากว่าเมื่อเทียบกับการจัดการแบบรวมศูนย์
ความก้าวหน้าของ CBDC จากทั่วทุกมุมโลก
เงินสดดิจิทัลสกุลที่ทุกคนต่างจับตามองก็หนีไม่พ้น e-CNY หรือเงินหยวนดิจิทัลที่ริเริ่มทดสอบระบบมาตั้งแต่ปลายปี 2562 โดย e-CNY คือ CBDC สำหรับรายย่อย ประมวลผลแบบรวมศูนย์ และธนาคารกลางบริหารจัดการผ่านแอปพลิเคชันและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ โดยเปิดตัวต่อสายตาประชาคมโลกในงานโอลิมปิกฤดูหนาวที่จีนเป็นเจ้าภาพ
ทางการจีนรายงานว่า ณ สิ้นปี 2564 มีผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน e-CNY กว่า 261 ล้านคน และมีการทำธุรกรรมผ่านระบบดังกล่าวรวม 360 ล้านครั้งคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านหยวน แม้ตัวเลขจะดูมหาศาลแต่ก็นับว่ายังไม่มากมายนักเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรและขนาดเศรษฐกิจของจีน
อีกหนึ่งหนึ่งประเทศที่นับว่าค่อนข้างก้าวหน้าเรื่อง CBDC คือบาฮามาส โดยมีการออกเงินสกุลที่ชื่อว่า Sand Dollar สำหรับเรียกแทนเงินสดดิจิทัลสกุลดอลลาร์บาฮามาส โดยถือเป็น CBDC สำหรับรายย่อย ประมวลผลแบบกระจายศูนย์ผ่านบล็อกเชน และธนาคารกลางร่วมกับสถาบันการเงินในเครือข่ายบริหารจัดการผ่านแอปพลิเคชันและบัตรอิเล็กทรอนิกส์
บัตรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับจัดเก็บ Sand Dollar สำหรับรายย่อยจะถูกออกแบบมาเป็น 2 ระดับ ระดับแรกคือบัตรที่ใครๆ ก็สามารถถือครองได้แต่จะจำกัดเพดานยอดเงินในบัตรไม่เกิน 500 ดอลลาร์และมีเพดานการทำธุรกรรมต่อเดือนไม่เกิน 1,500 ดอลลาร์ แต่ถ้ามีการยืนยันตัวตนเสียก่อนก็จะจะได้เป็นบัตรระดับสองที่ใส่เงินได้ถึง 8,000 ดอลลาร์และมีเพดานการทำธุรกรรมต่อเดือนไม่เกิน 10,000 ดอลลาร์
ปัจจุบันมีมากกว่า 87 ประเทศที่แสดงความสนใจพัฒนา CBDC ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่ฝั่งสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป เศรษฐีน้ำมันอย่างซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แม้แต่กลุ่มประเทศแถบแอฟริกาก็มีสกุลเงินที่เปิดตัวไปแล้วอย่าง JAM-DEX ของจาไมกา และ eNaira ของไนจีเรีย
หันกลับมาที่บ้านเรา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เดินหน้าโครงการ CBDC ที่ชื่อว่าอินทนนท์ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงการทดสอบนำร่องกับลูกค้ารายย่อย 10,000 คน และมีสถาบันการเงินเข้าร่วมสองแห่งคือธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) รวมถึงบริษัทชั้นนำด้านการชำระเงินอย่างบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด โดยคาดว่าจะทดสอบระบบจนถึงกลางปีนี้ จากเอกสารเบื้องต้นคาดว่าจะเป็น CBDC แบบรวมศูนย์ที่ธนาคารกลางร่วมกับสถาบันการเงินในเครือข่ายบริหารจัดการ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เขียนค่อนข้างแปลกใจคือนโยบายเงินสดดิจิทัลโดยพรรคเพื่อไทยนั้นกลับต่างออกไป โดยระบุว่าจะกระจายผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ประมวลผลบนโครงข่ายบล็อกเชน ซึ่งไม่เหมือนกับเงินดิจิทัลที่พัฒนาโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนนโยบายนี้จะซ้ำซ้อนกับโครงการที่มีอยู่เดิมหรือไม่ก็อาจต้องรอดูรายละเอียดเพิ่มเติมในอนาคต
โอกาสและความเสี่ยงของ CBDC
ผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการพัฒนาเงินสดดิจิทัลจะเป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับประเทศที่มีระบบการชำระเงินล่าช้า ราคาแพง และคนส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน รวมถึงระบบการชำระเงินถูก ‘ผูกขาด’ โดยภาคเอกชนยักษ์ใหญ่ไม่กี่รายเช่นกลุ่ม EMVCo ซึ่งประกอบด้วย American Express, Discover, JCB, Mastercard, UnionPay และ Visa
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยนับว่าค่อนข้างก้าวหน้าเรื่องระบบการชำระเงินโดยมีช่องทางอย่างพร้อมเพย์ที่สะดวก ปลอดภัย รวดเร็ว และเป็นที่ยอมรับในระดับโลกอยู่แล้ว เงินดิจิทัลของไทยก็อาจไม่ประสบความสำเร็จมากนักคล้ายกับกรณีของ e-CNY ที่ไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากประชาชนคุ้นชินกับการใช้ช่องทางชำระเงินที่สะดวกสบายของภาคเอกชนอย่าง Alipay หรือ Wechat Pay
อีกเหตุผลหนึ่งในการพัฒนาเงินดิจิทัลคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับวิธีการใช้จ่ายรูปแบบใหม่ในอนาคต เพราะเงินดิจิทัลสามารถ ‘เขียนโปรแกรมได้’ ด้วยการใช้สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ในการอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยเฉพาะการชำระเงินแบบอัตโนมัติเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไข เช่น การจ่ายเงินค่าสาธารณูปโภคแบบอัตโนมัติโดยอิงจากตัวเลขมิเตอร์ เป็นต้น
ประเด็นนี้ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะหากประเทศไทยดำเนินการได้สำเร็จก็จะนับเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่สามารถใช้เงินดิจิทัลเพื่อดำเนินนโยบายได้แบบ ‘เฉพาะเจาะจง’ เช่น เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินเฉพาะร้านค้าที่ตั่งอยู่ในพื้นที่บ้านซึ่งอาจต่อยอดเป็นการกำหนดเงื่อนไขการใช้เงินดิจิทัลจากรัฐสำหรับสวัสดิการค่าครองชีพ เช่น เงินดิจิทัลสำหรับจ่ายค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน หรือค่าอาหารเท่านั้น
แต่การพัฒนาเงินสดดิจิทัลโดยรัฐก็อาจมีประเด็นละเอียดอ่อนที่ต้องระมัดระวัง ประการแรกคือผลกระทบต่อสถาบันการเงินอย่างธนาคารพาณิชย์ที่ต้องพึ่งพาเงินฝากของประชาชน หากช่องทางการเก็บเงินสดดิจิทัลมีความสะดวกสบาย ปลอดภัย และได้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินในธนาคาร คนจำนวนมากย่อมถ่ายโอนเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์มาเก็บในกระเป๋าสตางค์ดิจิทัลโดยรัฐซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของสถาบันการเงิน
ความเสี่ยงประการที่สองคือการแห่ถอนยุคดิจิทัล (Digital Bank Run) การทำธุรกรรมถอนเงินและโอนเงินได้ด้วยปลายนิ้วคลิกอาจช่วยให้ชีวิตเราๆ ท่านๆ สะดวกขึ้นก็จริง แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกตื่นตระหนก ช่องทางการทำธุรกรรมที่สะดวกสบายก็อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ขาดสภาพคล่องและล้มละลายได้ในชั่วพริบตา การพัฒนาทางเลือกในการเก็บเงินสดรูปแบบดิจิทัลจะยิ่งทำให้ความเสี่ยงดังกล่าวมีสูงขึ้น เพราะเงินจะสามารถถูกถอนออกจากภาคธนาคารได้ง่ายดายยิ่งขึ้นนั่นเอง
เงินดิจิทัลโดยรัฐถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ช้าก็คงเดินทางมาถึงประเทศไทย แต่สิ่งที่ต้องคิดให้รอบคอบคือการออกแบบระบบให้ตอบโจทย์ทั้งประชาชนผู้ใช้งาน และไม่กระทบความมั่นคงของระบบการเงินเดิม ที่สำคัญคือจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับระบบที่มีอยู่เดิม เพราะไม่เช่นนั้นการพัฒนาเงินดิจิทัลก็ไม่ต่างจากการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เปล่าเปลืองเงินงบประมาณโดยที่ไม่ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนแต่อย่างใด
อ้างอิงข้อมูลจาก
China is rapidly rolling out its new digital currency
Central banks are getting closer to issuing their own digital money
When central banks issue digital money
What is central bank digital currency (CBDC)?