“นี่จะเป็นกฎหมายที่รับรองสิทธิให้เพศหลากหลายสมรสกันได้ แต่ไม่รับรองสิทธิการมีครอบครัวของคู่สมรสเพศหลากหลาย” นัยนา สุภาพึ่ง กรรมาธิการตัวแทนภาคประชาชนระบุระหว่าง สภาฯ โหวตผ่านร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม
เมื่อวานนี้ (27 มีนาคม) สภาฯ มีมติผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเรียบร้อยแล้ว และเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือการพิจารณาในชั้น สว. อย่างไรก็ดี ร่างฯ ที่ผ่านออกมานั้น ไม่รวมถึง ‘สิทธิในการสร้างครอบครัว’ หรือพูดโดยเข้าใจง่าย คือ คู่รักเพศหลากหลายยังไม่สามารถมีสถานะเป็นบุพการี (พ่อ-แม่) ของเด็กร่วมกันได้
ประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิการสร้างครอบครัวนี้เสนอโดยกรรมาธิการเสียงส่วนน้อยหรือภาคประชาชน โดย ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ กรรมาธิการ อภิปรายถึงสาระสำคัญว่า ในกฎหมายหมวดเกี่ยวกับครอบครัว จะต้องเพิ่มคำว่า ‘#บุพการีลำดับแรก’ เพื่อรับรองสิทธิในการสร้างครอบครัวของเพศหลากหลาย (LGBTQ+) เนื่องจากหากยังระบุเป็นบิดา-มารดา คู่รักเพศเดียวกันก็ไม่สามารถมีชื่อเป็นพ่อแม่ของเด็กได้.
นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงนี้ยังมีจุดประสงค์เพื่อให้คำเรียกพ่อแม่ กลายเป็นคำที่มีความเป็นกลางทางเพศ เพราะคำว่า บิดา-มารดา สื่อถึงเพศชาย-หญิง ซึ่งณธีร์ภัสระบุว่า กฎหมายไทยเขียนขึ้นด้วย ‘ระบบสองเพศ‘ (Gender Binary) อันเป็นการกีดกันเพศหลากหลายออกไป
ตัวอย่างในสหราชอาณาจักร เป็นประเทศหนึ่งทีใ้ช้คำที่มีความเป็นกลางทางเพศในกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ซึ่งใช้คำว่า ผู้ปกครอง (Parents) และในยุโรป ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ได้ตัดสินให้ประเทศในยุโรปทั้งหมดรับรองสิทธิของผู้ปกครองเพศหลากหลาย และให้รับรองในสูจิบัตร ซึ่งเป็นการคุ้มครองทั้งสิทธิผู้ปกครองและสิทธิเด็ก
นัยนา เสริมว่า ประเด็นนี้จำเป็นต้องถูกแก้ไขทันที เพราะประมวลแพ่งและพาณิชย์ เป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าพระราชบัญญัติ หรือข้อกำหนดต่างๆ จึงไม่สมเหตุสมผลที่มีกรรมาธิการเสียงข้างมากแสดงความเห็นว่าให้แก้กฎหมายเล็กๆ ก่อน แล้วค่อยไปแก้ประมวลฯ ภายหลัง
ด้านกรรมาธิการเสียงข้างมาก อภิปรายชี้แจงว่า เข้าใจในประเด็นที่ตัวแทนภาคประชาชนเสนอมา แต่เนื่องจากเป็นการพิจารณาประเด็นกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็ก
กรรมาธิการเสียงข้างมากระบุว่า การตั้งบุพการีลำดับแรก ยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบ และยังไม่ได้ฟังความเห็นจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงจะขัดต่อข้อกำหนดเรื่องการเสนอแก้ไขร่างกฎหมายในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหากเพิ่มเติมเรื่องนี้เข้าไป อาจทำให้ร่างกฎหมายนี้ทั้งฉบับถูกปัดตกในขั้นต่อไปได้
และถ้าหากมีการแก้ไข จะต้องรื้อกฎหมายที่มีอยู่ทั้งประเทศที่มีการบัญญัติคำว่า บิดา-มารดา ไว้ ซึ่งจากการสำรวจ เฉพาะในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีคำว่า ’บิดา‘ 106 แห่ง คำว่า ’มารดา‘ 112 แห่ง และคำว่า ’บุพการี‘ 8 มาตรา และยังมีคำว่าบุพการีอยู่ในกฎหมายอื่นๆ อีก 77 ฉบับเป็นอย่างน้อย
”สมรสเท่าเทียม ยังไม่ใช่เรื่องของอัตลักษณ์ทางเพศ แม้จะมีความใกล้เคียงกัน“ กรรมาธิการเสียงข้างมากอธิบายเพิ่ม ว่าทำไมจะต้องไม่นำเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาในตอนนี้
สภาฯ มีมติเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก (ไม่ให้เพิ่มเรื่อง บุพการีลำดับแรก ลงในร่างฯ) ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 239 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 140 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 6 เสียง ทำให้ประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมนี้ถูกปัดตกไป
ประเด็นเรื่องครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็นเพศหลากหลายนั้น เป็นเรื่องที่มีการวิจารณ์ในสังคมอยู่เสมอ โดยมีความกังวลต่างๆ เช่น เด็กจะโดนเพื่อนล้อ รู้สึกไม่อบอุ่น หรือแม้กระทั่ง จะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบและเป็นเพศหลากหลายตามด้วย
แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการฯ ชี้ว่า มีงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาแล้วว่า ’ความรู้สึกของเด็ก‘ ที่มีบุพการีเป็นเพศเดียวกัน กับบุพการีที่เป็นชายหญิง ไม่มีความแตกต่างกัน และไม่ได้มีแนวโน้มที่เด็กจะมีพฤติกรรมเลียนแบบและเป็นเพศหลากหลายด้วย
หลังประเด็นนี้ถูกปัดตกไป กรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้ส่งสารถึงประชาชนว่าจะผลักดันสิทธิการสร้างครอบครัวต่อไป
ประเด็นดังกล่าวยังถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง โดยมีประชาชนตั้งคำถามว่าทำไม สส. จึงโหวตไม่ใหัผ่าน ส่วนหนึ่งเปรียบเทียบว่าคู่สมรสชาย-หญิงยังมีสิทธิทุกประการทั้งการรับรองบุตร เข้าถึงเทคโนโลยีรับรองบุตร และรับบุตรบุญธรรม แต่คู่สมรสเพศหลากหลายทำได้แค่รับบุตรบุญธรรมเท่านั้น
อย่างไรก็ดี อีกส่วนหนึ่งแสดงความเข้าใจต่อผลการพิจารณานี้ ด้วยเห็นว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือผลักดันร่างฯ นี้ให้เกิดขึ้นจริงได้ก่อนแม้จะขาดรายละเอียดส่วนนี้ไปด้วย เพราะเกรงว่าถ้าเพิ่มประเด็นนี้จะเป็นข้อที่ถูกปัดตกได้
เรื่องนี้จึงยังมีอีกร่างกฎหมายมาเกี่ยวข้อง คือ ร่าง พรบ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศและคำนำหน้า ซึ่งมีรายละเอียดการใช้คำที่มีความเป็นกลางทางเพศ จึงต้องติดตามต่อไปว่าร่างฯ นี้จะเข้าสภาได้เมื่อไร และจะสำเร็จหรือไม่.