วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.ก้าวไกล และฝ่ายค้านคนสุดท้ายที่จะอภิปรายในวันแถลงนโยบาย เริ่มต้นด้วยการเปรียบเทียบคำแถลงนโยบายตั้งแต่สมัย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จากพรรคไทยรักไทย จนมาถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ามีความละเอียดและแยกหมวดหมู่ชัดเจนมากกว่าคำแถลงของรัฐบาลชัดปัจจุบัน
วิโรจน์ยกรายละเอียดคำแถลงของรัฐบาลชุดก่อนๆ มาว่า
- ทักษิณ (1) 29 หน้าแยกหมวดหมู่
- ทักษิณ (2) 26 หน้าแยกหมวดหมู่
- อภิสิทธิ์ 36 หน้า
- ยิ่งลักษณ์ 46 หน้า
- ประยุทธ์ 36 หน้า
- เศรษฐา 14 หน้า และไม่มีการแยกหมวดหมู่นโยบาย
วิโรจน์ยังกล่าวถึงการสื่อสารนโยบายที่กลับไปกลับมา ยกตัวอย่างเรื่องดิจิทอลวอลเล็ต ซึ่งวันที่ 24 ส.ค. ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยบอกจะได้ใช้ก่อนเดือน เม.ย. ปีหน้า ต่อมา 6 ก.ย. นายกฯ เปลี่ยนเป็นก่อนวันวาเลนไทน์ หลังจากนั้น วันที่ 3 ก.ย. ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยบอกจะทยอยโอน 2-3 งวด แต่วันถัดมาเพจพรรคเพื่อไทยโพสต์บอกจะจ่ายงวดเดียว
นโยบาย รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งวันที่ 5 ก.ย. สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม บอกไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนเลยไม่เขียนไว้ในนโยบายของรัฐบาล อีกวันเดียวออกมาขอโทษบอกสื่อสารผิดพลาด บอกจะทำให้ให้เสร็จใน 2 ปี พอนักข่าวไปถามนายกฯ ดันตอบว่ารอนิดหนึ่ง
วิโรจน์ยังถามจี้ถึงความไม่ชัดเจนทางด้านนโยบายหลายข้อ ทั้งเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท/ วัน ที่มีข้อแม้ว่าเศรษฐกิตต้องเติบโต 5% ทุกปี, การแก้ไขปัญหาราคาพลังงานในระยะยาว, ปัญหาผู้มีอิทธิพลและการคอรัปชั่น รวมถึงการปฏิรูปกองทัพ
“ที่พูดถึงคำว่าปฏิรูปหรือพัฒนา (กองทัพ) ร่วมกัน” วิโรจน์เริ่ม “ท่านอย่าลืมกระสุนจริงที่ใช้เมื่อปี 53 จำนวน 117,923 นัด กับคนตาย 99 คน ผมอยู่กับความจริง มันถึงต้องเร่งปฏิรูป ถ้าไม่เชื่อโทรไปถามนายกฯ ยิ่งลักษณ์ดูก็ได้ ตอนนั้นนายกฯ ยิ่งลักษณ์ดีกับ ผบ.ทบ.ขนาดไหน แล้วจุดจบเป็นอย่างไร”
“ปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องการสื่อสาร แต่ไม่เห็นความทะเยอทะยานที่จะให้คำมั่นสัญญากับประชาชนเลย ต่างกับรัฐบาลประชาธิปไตยก่อนหน้านี้เหลือเกิน” วิโรจน์กล่าว
“ความทะเยอทะยานที่เคยมีในสมัยไทยรักไทยมันหายไปไหนหมด ในสมัยรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ พรรคไทยรักไทยตระหนักดีว่าที่ได้เป็นรัฐบาลเพราะได้รับคะแนนไว้ใจอย่างท่วมท้นจากประชาชน จึงคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน” วิโรจน์กล่าวต่อ “แต่รัฐบาลนี้ก็ลึกๆ ทราบอยู่แก่ใจว่าเป็นเพราะการได้รับอนุญาตจากลุ่มอำนาจเดิม คำแถลงนโยบายถึงแม้จะเป็นการแถลงนโยบายอย่างกว้างๆ เต็มไปด้วยถ้อยคำคลุมเครือ แต่มันเป็นสัญญาณที่บอกให้ประชาชนรู้ตัวว่า นับจากนี้คงต้องเอาตัวรอดด้วยตัวเอง ฝากผีฝากไขพึ่งพารัฐบาลได้ลำบาก”
“ผมทราบดีว่ากลุ่มอำนาจเก่ามันบีบท่านอย่างไร กลุ่มเครือข่ายทุนผูกขาดทำให้ลำบากอย่างไรบ้าง พรรคร่วมรัฐบาลต่อรองกับท่านนายกฯ หนักขนาดไหน ทำไมผมจะไม่รู้ ผมเห็นใจท่านนายกฯ แต่ท่านต้องบอกกับตัวเองว่าท่านไม่ใช่ลูกน้องของคนเหล่านั้น ท่านเป็นนายกฯ ของคนไทยทุกคน ท่านต้องมีความทะเยอทะยานอย่างที่นายเศรษฐามีอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว และกล้าตัดสินใจในฐานะหัวหน้ารัฐบาล” วิโรจน์ทิ้งท้าย
“ท่านนายกฯ มีความทะเยอทะยานกล้ารับปากกับประชาชน ประชาชนก็จะรู้สึกมีความมั่นคงในการดำเนินชีวิต กล้าฝากอนาคตไว้กับรัฐบาล”