“น้ำยิ่งลด เราก็ยิ่งพบศพมากขึ้น”
ทางการลิเบียคาดอาจมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 20,000 คนและสูญหายอีกหลายหมื่นจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัวเมื่อวันอังคาร (12 กันยายน) ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างเดียว แต่มาจากความล้มเหลวในการจัดการของรัฐด้วยเช่นกัน
เล่าก่อนว่า ก่อนที่ลิเบียจะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ พายุไซโคลนลูกนี้ทำให้กรีซเกิดน้ำท่ามครั้งใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเช่นกัน ต่อมาพายุนี้ก็เคลื่อนตัวมาที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของลิเบีย ทำให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าเขื่อน 2 แห่งในบริเวณนั้นจะพังทลายลง จนจำนวนน้ำมหาศาลทะลักเข้าไปรวมกับน้ำที่ท่วมอยู่ในพื้นที่อยู่แล้วอย่างรวดเร็ว กลายเป็นหายนะที่ผู้คนส่วนใหญ่หลีกหนีไม่ทัน
“ศพจำนวนมากถูกวางไว้บนทางเท้านอกห้องดับจิต” แพทย์ผู้เป็นอาสาสมัครในเมืองเดอร์นากล่าว
กลับมาที่ต้นตอสาเหตุของวิกฤตครั้งนี้ โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่า “ภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิของมหาสมุทรทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น จนเป็นสาเหตุให้เกิดฝนตกหนักในแทบพื้นที่ที่อยู่แล้วทะเลเมดิเตอร์เรเนียน” นอกจากนี้ อีกหนึ่งสาเหตุที่พวกเขาพูดถึงก็คือ ‘ความขัดแย้งทางการเมือง’ ที่ดำเนินมายาวนานแม้ว่าจะโค่นล้มมูอัมมาร์ กัดดาฟี (Muammar Gaddafi) ผู้นำเผด็จการเมื่อปี 2011 แต่ลิเบียก็ยังต้องตกอยู่ภายใต้การต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างรัฐบาล 2 ฝ่ายแทน
“เมื่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศพบกับรัฐที่ล้มเหลว ผลลัพธ์ที่ได้คือหายนะแบบที่ลิเบียประสบ” แพทริค วินทัวร์ บรรณาธิการการทูตของสำนักข่าวเดอะการ์เดียนส์ (The Guardian) ระบุ
เนื่องจากสาเหตุหลักๆ ของการเกิดน้ำท่วมครั้งนี้คือ เขื่อนที่มีสภาพเสื่อมโทรมทั้งสองแห่งพังทลายลง เพราะการเมืองที่ไม่นิ่งทำให้ไม่มีการดูแลบำรุงรักษาเขื่อนที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1970 อย่างเหมาะสม แม้ว่าจะมีนักวิชาการมากมายพูดถึงประเด็นนี้ตั้งแต่ปี 2022 ว่าเขื่อนมีโอกาสที่จะแตกแน่นอนถ้ามีฝนตกหนักอย่างรุนแรง
“การเมืองที่ซับซ้อนก่อให้เกิดความท้าทายในการประเมินความเสี่ยงของหายนะต่างๆ การประสานงานปฏิบัติการกู้ภัย รวมทั้งการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น เขื่อน” เลสลี มาบอน (Leslie Mabon) อาจารย์ด้านสิ่งแวดล้อมกล่าว
ทั้งนี้ มีข้อมูลเพิ่งมีข้อมูลเปิดเผยออกมาว่า รัฐบาลมีงบสำหรับบำรุงรักษาเขื่อน แต่กลับถูกใช้ไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ประสบภัยยังไม่ได้รับคำแนะนำหรือการช่วยเหลือในการอพยพใดๆ เลย “ภัยพิบัติที่ลิเบีย ประสบแตกต่างจากภัยพิบัติที่โมร็อกโกเพิ่งประสบ เพราะแผ่นดินไหวเป็นเหตุการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่รัฐบาลลิเบียกลับประมาทเลินเล่อ จนทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องเสียชีวิต” ราชิด ฮาเหม็ด (Rashad Hamed) ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลของยูนิเซฟ (Unicef) ระบุ
“หวังว่าหลังจากนี้ผู้คนในลิเบียคงนำความเสียหายของหายนะในครั้งนี้ไปไตร่ตรองเกี่ยวกับความจำเป็นในการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มีประสิทธิภาพ”
อ้างอิงจาก