ในวันที่พายุกำลังจะเข้ามา อากาศสงบนิ่งอย่างประหลาด เราอาจกำลังง่วนกับการเตรียมตัว บ้างเฝ้ามองท้องฟ้าและเฝ้ารอการมาถึงของความเกรียวกราดของธรรมชาติ
ฮารูกิ มูราคามิเขียนถึงพายุใน Kafka on the Shore ว่า “เมื่อพายุพัดผ่านไป คุณเองก็จำไม่ได้ว่าคุณผ่านมาได้อย่างไร คุณเอาชีวิตรอดได้อย่างไร … แต่เมื่อจบลง เมื่อคุณเดินออกจากพายุ คุณจะไม่ใช่คนคนเดียวกับคนที่ก้าวเข้าสู่พายุในวันก่อนอีกต่อไป’’
สิ่งที่มูราคามิพูด ชวนให้เราครุ่นคิดได้ถึงหลายเรื่อง พายุอาจหมายถึงพายุในความหมายตรงตัวคือ เมื่อพายุซัดเข้าสู่ชีวิตเราแล้ว เราต่างดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด บ้างก็หลบเข้าที่ปลอดภัยและเฝ้ารอให้พายุพัดผ่านไป ตัวพายุเองก็มีความหมายโดยอ้อม ตัวมันเองเป็นเหมือนวิกฤติที่เราต้องทนทานและรอให้พายุพัดผ่านชีวิตเราไป การฝ่าพายุนั้นจึงมีความหมายในเชิงอุปมาด้วย ในบางความหมาย การรับมือกับพายุหมายถึงการเฝ้ารอ ทั้งการรอการมาถึงและรอวันที่พายุสิ้นสุดลง
นอกจากมูราคามิแล้ว นักคิดยังพูดถึงพายุไว้หลายแง่มุม ในความเชื่อโบราณ พายุหรือมรสุมเป็นตัวแทนของสรวงสวรรค์และวงจรตามธรรมชาติ ลมฝนบางครั้งปรากฏรูปลักษณ์ที่รุนแรงและเกรี้ยวกราดแต่ทว่าทิ้งไว้ด้วยร่องรอยของชีวิตสำหรับฤดูกาลถัดไป สำหรับนักคิดบางคนเช่น คาลิล ยิบราน เอง มองว่าภาวะสงบนิ่งและพายุใหญ่ที่กำลังตั้งเค้ามานั้นกลับทำให้เกิดความรู้สึกสงบนิ่ง มองเห็นตัวตนที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อยามพายุพัดผ่าน กระทั่งเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงความรู้สึกของคนรักเอาไว้
เมื่อเราเฝ้ารอ ทั้งการมาถึงและการจากไป
พายุเป็นปรากฏการณ์และภัยธรรมชาติที่กระทบกับมนุษย์เราในหลายมิติ ในบางพื้นที่พายุคือภัยพิบัติที่ต้องบริหารจัดการ ในระดับจิตใจ พายุเป็นสิ่งที่อยู่และส่งผลกระทบกับมนุษย์มาตั้งแต่ครั้งโบราณ โดยทั่วไปพายุมักถูกวาดให้เป็นรูปลักษณ์ของอำนาจที่เหนือกว่าเรา เป็นความเกรี้ยวกราดของธรรมชาติหรือสรวงสวรรค์ ในขณะเดียวกัน พายุเองก็เป็นตัวแทนของความไม่แน่นอน การแปรเปลี่ยนอันเป็นความธรรมดาหนึ่งที่มนุษย์เรารับรู้ได้ พายุมักสัมพันธ์กับความแปรผันเช่นในห้วงเวลาหนึ่งก่อนพายุที่พายุก่อตัว ท้องฟ้าและห้วงน้ำมักนิ่งสงบอย่างประหลาด แต่เพียงแค่ไม่กี่วินาที พายุก็อาจจะก่อตัวขึ้นและสร้างความแปรปรวนขึ้นอย่างฉับพลัน ตรงนี้เองที่พายุถูกโยงเข้าสู่อุปมาของชีวิตเรา ที่บางครั้ง วิกฤติและความแน่นอนเป็นสิ่งลวงตา
พายุจึงเป็นภาวะที่แปลกประหลาด คือมีความแปรผันจับต้องได้ยาก ตัวพายุเองประกอบขึ้นด้วยความรุนแรง ความเกรี้ยวกราดและการทำลายล้าง แต่ภาวะก่อนและหลังพายุ ตัวพายุนั้นเหมือนจะได้ดูเอาความยุ่งเหยิงทั้งหมดไปไว้ในตัวเอง ที่ตาของพายุก็มีภาวะนิ่งสงบ ตรงข้ามกับลักษณะทั่วไปของพายุเอง
ทั้งนี้พายุเหมือนกับมรสุมและสายฝน คือมีความหมายทั้งในเชิงทำลายและสร้างสรรค์ พายุและลมฝนในความคิดแบบอินเดียเชื่อมโยงกับเสียงอึกทึกและความเกรี้ยวกราด เป็นความเกรี้ยวกราดที่มีความกรุณาเจืออยู่ในนั้น พระปรรชันยะเทพแห่งสายฝนมักปรากฏองค์ในนามของฝนฟ้าคะนอง มีภาพลักษณ์เป็นโคถึกที่เสด็จมาพร้อมสายฝนและสายฟ้าที่ทำหน้าที่ชะล้างและทำลายสิ่งชั่วร้ายแล้ว ฝนที่เหมือนลูกธนูนั้นยังทำหน้าที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนดิน ในทำนองเดียวกัน วายุ (หรือพายุ) ตามความหมายของสันสกฤตมีความหมายว่า การเป่า การพัด ซึ่งสายลมนี้มีความอีกด้านหมายถึงชีวิต การให้ชีวิต คล้ายๆ การเป่าลมเข้าไปยังร่างกายและเกิดเป็นชีวิต เป็นความเคลื่อนไหว ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หนุมานจะกำเนิดชีวิตจากพระพาย และมีการฟื้นชีวิตทั้งด้วยลมและการเป่าลมมนต์เข้าในตัว
สำหรับพายุในยุคปัจจุบัน การรับมือพายุเป็นหนึ่งในภาวะที่เราคาดการณ์ได้ประมาณหนึ่งเมื่อเทียบกับภัยพิบัติอื่นๆ เราพอทราบว่าจะเกิดพายุ และพายุจะพัดเข้าสู่เมือง สู่ชีวิตของเราเมื่อไหร่ สิ่งเราพอจะทำได้คือการเตรียมตัว และอีกนัยหนึ่งคือการเฝ้ารอ พายุยังสัมพันธ์กับความหวังและความคาดหวัง เมื่อเรารู้ว่าพายุกำลังจะมา สิ่งที่เราทำคือการรอและปล่อยให้พายุพัดผ่านเราไป ตรงนี้ก็อาจจะคล้ายกับเงื่อนไขที่มูราคามิพูดถึง คือเราจัดการและเฝ้ารอก่อนที่พายุจะมา แต่ในห้วงเวลาที่พายุกำลังพัดผ่านเข้ามาในชีวิตเรา การดิ้นรนและความอลหม่านของพายุนั้นสุดท้ายทำให้เมื่อเราแหงนหน้าขึ้นอีกครั้ง เพื่อรับรู้ว่าพายุผ่านพ้นไปแล้ว สิ่งที่เรามองอยู่คือท้องฟ้าที่ค่อยๆ กระจ่างขึ้น และคือการที่เราค่อยๆ รวบรวมสติหรืออะไรก็ตามที่กระจัดกระจายอยู่กลับเข้ามาสู่ตัวตนและความคิดของเราอีกครั้ง
นัยของพายุที่หล่อหลอมเราในความหมายของมูราคามิ อาจจะปนเปไปในหลายความรู้สึก ทั้งการเป็นผู้รอดชีวิต ความสับสนที่ทำให้เราต้องจัดการเพื่อมีชีวิตรอด ตัวตนที่อาจบิดเบี้ยวไปแต่อย่างน้อยก็ยังหายใจจากพายุลูกที่เพิ่งพ้นไป พายุแม้จะผ่านไปแล้วแต่ก็อาจทิ้งรอยบางอย่างไว้ในตัวเรา
ความสงบ และตัวตนที่มั่นคงขึ้นหลังพายุ
โดยทั่วไป การรับมือกับพายุมักเกี่ยวข้องกับการหยุด การผ่อนปรนมากกว่าการแข็งขืน แง่หนึ่งการเผชิญหน้ากับพายุจึงเป็นเหมือนการท้าทายตัวตนของมนุษย์ การยอมหลบ เลี่ยง เรียนรู้ที่จะหยุดนิ่งและทานทนต่อพายุใหญ่ที่ถาโถมเข้ามาในชีวิต พายุให้บทเรียนกับมนุษย์ในหลายแง่เช่นการเรียนรู้และประเมินความไม่แน่นอนที่กำลังเกิดขึ้น การเลือกที่จะก้าวเข้าสู่ภัยนั้นหรือเลือกที่จะรับมือและโอนอ่อนแต่กระแสลมแรงพร้อมเฝ้ารอให้สิ่งต่างๆ ผ่านพ้นไปอย่างชาญฉลาด
สำหรับนักคิดเช่น คาลิล ยิบราล เจ้าของข้อเขียนปรัชญาชีวิต ยิบราลเองได้พูดถึงพายุในมุมของความหลงใหล การเฝ้ามองพายุของยิบราลนำไปสู่การเติบโต ยิบราลคือนักปรัชญาและนักคิดอเมริกันเลบานอน ในช่วงที่อยู่ที่ชายฝั่งของรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.1912 ยิบราลเองได้มองพายุที่กำลังก่อตัวขึ้นร้อยปีก่อนมูราคามิ และดูจะมีความคิดต่อพายุคล้ายกัน แต่อาจจะเจือด้วยความหวังและความโรแมนติกกว่า
ในจดหมายที่ยิบราลเขียนขณะที่พายุพัดเข้าในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนั้น ยิบราลเขียนถึงคนรัก แมรี ฮัสเคล (Mary Haskell) ในจดหมาย คาลิลเขียนว่า ในที่สุด พายุใหญ่ที่ตัวเขารอการมาถึงอยู่ ก็มาถึงแล้ว ท้องฟ้าดำสนิทและห้วงน้ำกระฉอกไปด้วยฟองขาว ในบรรยากาศนั้นมีทวยเทพนิรนามโบยบินอยู่ระหว่างห้วงฟ้าและมหาสมุทร ซึ่งยิบราลพูดถึงพายุว่า ในพายุนั้นกลับทำให้เขารู้สึกอะไรบางอย่าง พายุทำให้ตัวของเขาดีขึ้น (better) และแข็งแรงขึ้น (strong) ซึ่งน่าแปลกใจมากกว่าคาลิลกลับนิยามว่า พายุอันเป็นความเกรี้ยวกราดและความไม่แน่นอน เมื่อเผชิญหน้าและผ่านพ้นไปแล้ว กลับทำให้ตัวเขาเองมั่นคงและแน่นอนในชีวิตมากขึ้น (more certain of life)
ยิบราลได้สรุปว่า พายุเป็นสิ่งที่เขารักมากที่สุดในบรรดาธรรมชาติอื่นๆ ตรงนี้เอง แม้ว่ายิบราลจะไม่ได้อธิบายว่าทำไมตัวตนถึงมั่นคงขึ้นเมื่อพายุพัดผ่าน แต่ถ้าเรามองตัวตนของเราที่ยืนหยัดและผ่านพ้นพายุลูกแล้วลูกเล่าไปได้ ก็ไม่แปลกที่เราเองจะเหมือนกับต้นไม้ใหญ่ที่หยั่งรากระบัดใบและรักษาความหวังไว้ผ่านสายลมกรรโชกและเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงได้
อันที่จริง นัยของจดหมายและความคิดของยิบราลที่พูดถึงพายุค่อนข้างมองโลกในแง่ดีและหวานซึ้งเพราะเขียนถึงคนรัก และมุมมองของยิบราลเองก็ค่อนข้างให้ความหมาย ความหวัง และความเข้าใจกับชีวิต มูราคามิเองก็เข้าใจ แต่พายุในชีวิตของคนร่วมสมัยอาจไม่ได้ทิ้งไว้แค่การเติบโต แต่อาจรวมถึงรอยแผลและความเปลี่ยนแปลงทั้งดีและร้าย
สำหรับยิบราลพายุมีนัยของความโรแมนติกมากกว่าบ้าง ด้วยบริบทคือทัศนคติของยิบราลและผู้อ่านจดหมายคือฮัสเคล ในปีเดียวกันนั้น ฮัสเคลก็ได้ตอบจดหมาย และให้ภาพของพายุในมุมโรแมนติกขึ้นที่เราเองก็อาจจะพอสัมผัสได้ พายุเป็นปรากฏการณ์ที่เชื่อมโยงคนรักไว้ด้วยกัน ในจดหมายของฮัสเคลตอบกลับยิบราลนั้น เธอเองก็เขียนท่ามกลางพายุในแคลิฟอร์เนีย บนป่าเขาอันโดดเดี่ยว ในสายฝนและสายลมอันรุนแรงนั้น ฮัสเคลกลับบอกว่า เมื่อเธออยู่กลางพายุโดยไม่มีคนที่เธอรักอยู่เคียงข้าง แต่เธอก็ไม่รู้สึกเดียวดายหรือปราศจากตัวตนของเขาเลย ข้อความเรียบง่ายว่า “I am never in a storm now without you.” ลมฝนนั้นกลับทำให้เธอรับรู้ตัวตนของคนรักได้ ไม่ว่าจะในรูปแบบที่แสนไกลหรือเลือนรางแค่ไหน
ในความหยุดนิ่งที่พายุผลักเราเข้ายังบ้านช่อง ยังห้องหับ ในความนิ่งสงบภายใต้สายลมหวีดหวิว เราเองอาจจะได้กลับมาสู่ตัวเอง ได้ครุ่นคิดทบทวน กระทั่งไปนึกถึงผู้คนที่อยู่อีกด้านของกระแสลมฝน พายุหลายครั้งอาจจะหอบเอาความรู้สึกของเราออกไปอีกฝั่งของท้องฟ้า หรือนำพาเอาความห่วงหาและความห่วงใยกลับมาสู่เรา ในพายุนอกจากที่เราจะกลับเข้าหาตัวเอง ในวิกฤตินั้น พายุอาจกำลังเชื่อมเรากลับเข้าหาคนอื่นๆ ในภาวะโกลาหลเดียวกันนั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon