หลังสังคมออนไลน์ระบุว่ามีคลิปของ เบียร์—ภัสรนันท์ อัษฎมงคล หรือ ‘เบียร์ The Voice’ หลุดออกมาจนเกิดเป็นกระแสล้อเลียนบนเพจเฟซบุ๊ก ก็ปรากฏว่ามีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กหลายรายที่เข้าไปเพื่อ “ขอวาร์ป” ทั้งยังมีการกล่าวถึงผู้เสียหายในเชิงลบ หรือกล่าวโทษผู้เสียหาย
ในวันนี้ (19 กันยายน) The MATTER จึงอยากจะชวนทุกคนไปดูผลกระทบทางจิตใจของผู้เสียหายหลังถูกปล่อยภาพหรือคลิปดังกล่าวในโลกอินเทอร์เน็ตกัน
องค์กร ‘End Cyber Abuse’ ที่รวมกลุ่มนักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ ระบุว่า การปล่อยภาพเปลือยโดยไม่ได้รับความยินยอม ที่เรียกกันว่าภาพหลุด นับเป็นการล่วงละเมิดทางเพศรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสามารถทำได้ทั้งการเผยแพร่ผ่านทางสื่อออนไลน์ แชร์ให้กับบุคคลเฉพาะกลุ่ม เผยแพร่แบบออฟไลน์ และยังหมายความรวมถึงการแชร์รูปภาพหรือวิดีโอที่ถูกตัดต่อ หรือแก้ไขด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ความยินยอมที่ต้องได้รับก็จำเป็นต้องเกิดขึ้นทั้ง 2 ครั้ง คือยินยอมให้ถ่าย และยินยอมให้เผยแพร่
เมื่อมาดูในส่วนของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ก็มีรายงานว่า ผู้เสียหายมักจะต้องประสบกับปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว และรู้สึกว่าภาพดังกล่าวจะติดตามหลอกหลอนพวกเขาไปตลอดชีวิต
จากการศึกษาพบว่า 49% ของผู้เสียหายรายงานว่าพวกเขาประสบกับการคุกคามทางอินเทอร์เน็ต (cyberharrassment) และการสะกดรอยตามทางไซเบอร์ (cyberstalking) จากผู้ใช้งานออนไลน์ที่ดูรูปถ่ายดังกล่าว และผู้เสียหาย 80-93% ยังต้องประสบกับปัญหาทางอารมณ์อย่างมีนัยสำคัญหลังภาพดังกล่าวเผยแพร่ออกไป
เมื่อภาพดังกล่าวถูกแชร์ไปโดยที่ผู้เสียหายไม่ได้รับความยินยอม ก็ยังอาจทำให้ผู้เสียหายรู้สึกถูกละเมิด และสูญเสียการควบคุม ส่งผลให้ความรู้สึกอิสระทางร่างกายของพวกเขาถูกทำลาย ซึ่งก็เป็นผลกระทบเดียวกันกับผู้เสียหายในคดีที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
รวมไปถึง ยังอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และหน้าที่การงานที่ทำอยู่ หรือเมื่อต้องออกจากงานแล้ว ก็ยังอาจกระทบกับการหางานใหม่ หากนายจ้างมีการค้นหาข้อมูลของพวกเขาในออนไลน์
บางรายก็อาจเสียบ้าน ถูกกีดกันออกจากครอบครัว และอาจเลยไปถึงขั้นสูญเสียตัวตนของตัวเอง จนทำให้บางคนจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อเพื่อหลบหนีของออกอดีตของพวกเขาเอง
อ้างอิงจากการวิจัยของ ‘Cyber Civil Rights Initiative’ ในสหรัฐฯ ยังพบว่า กว่า 50% ของผู้เสียหายรายงานว่า รูปถ่ายของพวกเขาปรากฏพร้อมด้วยชื่อเต็มรวมทั้งยังมีช่องทางการติดต่อทางโซเชียลมีเดียต่างๆ และกว่า 20% ก็ยังพบข้อมูลอีเมลและหมายเลขโทรศัพท์ของพวกเขาปรากฏอยู่อีกเช่นกัน
นอกจากนี้ ผู้เสียหายจะรู้สึกหวาดกลัวต่อการถูกทำร้าย และความกลัวก็ยิ่งทวีขึ้นไปอีกเมื่อข้อมูลของพวกเขาถูกแชร์ออกไปควบคู่กับภาพถ่าย และมีช่องคอมเมนต์เมื่อให้คนอื่นๆ สามารถมาแสดงความคิดเห็นได้
กรณีดังกล่าวก็เป็นกรณีเช่นเดียวกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (gender based violence) อื่นๆ ที่มักจะเกิดกรณี ‘victim blaming’ หรือการกล่าวโทษผู้เสียหาย คือกรณีที่ผู้เสียหายถูกตราหน้าว่ามีส่วนผิด และต้องเป็นผู้รับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น โดยผลกระทบจากการถูกกล่าวโทษนี้ ก็ยังเปรียบเสมือนกับการถูกกระทำซ้ำ (second assault) หรือการถูกทำให้ตกเป็นผู้ถูกกระทำโดยกระบวนการยุติธรรม (secondary victimization) จนส่งผลกระทบทางจิตใจของพวกเขาอีกเช่นกัน
อ้างอิงจาก