Grant Thornton ประเทศไทย เผยผลสำรวจในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2562 บอกว่า 86% ของบริษัทในไทยมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ 83%
เราจึงเชื่อว่าความเป็นผู้นำไม่ได้ผูกติดไว้กับเพศใดเพศหนึ่ง และเราคิดว่าเก้าอี้ผู้บริหารองค์กรในประเทศไทย ถูกจับจองด้วยผู้บริหารหญิงระดับสูงที่น่าจับตามากมาย นั่นคือเหตุผลที่ The MATTER อยากนำเสนอซีรีส์บทสัมภาษณ์ ‘In Her Role’ เพื่อพาเหล่าผู้บริหารหญิงมานั่งพูดคุยถึงเส้นทางการทำงาน ฟังแนวคิดการเป็นผู้นำของพวกเธอ รวมไปถึงคำแนะนำดีๆ ที่พวกเธออยากส่งต่อ
ระหว่างระยะทางการสัมภาษณ์เกือบครึ่งปี เราได้ผ่านความตื่นเต้น รอยยิ้ม ความเจนประสบการณ์ และแน่นอน—แรงบันดาลใจ จากน้ำเสียงของผู้บริหารหญิงจากหลากหลายธุรกิจที่เราได้พูดคุย
โอกาสนี้ The MATTER จึงขอรวบรวมแนวคิดบริหารฉบับย่อของพวกเธอทั้ง 8 คน มาให้ลองอ่านกันดู
“ก้าวข้ามคำว่าผู้หญิงไม่ตัดสินใจ” กับ ‘ศุภจี สุธรรมพันธุ์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)
เธอคือผู้บริหารหญิงที่เป็นกรณีศึกษาในคลาสเรียน MBA หลายๆ แห่ง เธอคือผู้บริหารหญิงคนแรก และผู้บริหารที่อายุน้อยที่สุดของ IBM ประเทศไทย เธอพลิกฟื้น ‘ไทยคม’ จากติดลบสู่กำไร เธอคือ ‘ศุภจี สุธรรมพันธุ์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี
ถ้าพูดถึงผู้บริหารหญิงของไทย ศุภจีคือคนที่จะหลุดทำเนียบไปไม่ได้เลย ด้วยคาแร็คเตอร์ที่อ่อมน้อม แต่ก็เฉียบขาด เธอคือคนที่มีสกิลสื่อสารสูงมากๆ คนหนึ่งเลยทีเดียว
ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อให้ศุภจีนิยามความเป็นผู้นำของตัวเอง เธอเลือกจะเกริ่นก่อนเลยว่า เธอไม่ได้เก่ง การบริหารของเธอเป็นรูปแบบผสมผสานกันระหว่างสามคำ ‘head’ ‘heart’ และ ‘hand’
“head ก็คือว่าคุณต้องมีความรู้ ไม่มีความรู้ไม่ได้ ต้องมีมาตรฐาน ต้องมีทักษะ ต้องมีสกิล แต่ว่ามีแค่นั้นอย่างเดียวไม่พอ มันต้องทำด้วยใจ (heart) ด้วย เรามีแพชชั่นอะไร แก่นของเราคืออะไร แล้วเราสามารถที่จะทำอะไร เราต้องมองบริบทของคนรอบข้าง ต้องมีหัวใจในการที่จะดูถึงคนรอบข้างด้วยไม่ใช่ว่าเราจะเอาตัวรอดคนเดียว และสุดท้าย มันต้องลงมือทำ (hand) ปฏิบัติด้วย เพราะว่าเราเป็นผู้บริหารในลักษณะทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เวลาทำธุรกิจ non-room revenue เราจะไปอยู่ตรงข้างหน้ากับพนักงานเสมอ ไม่ว่าวิกฤตอะไรเกิดขึ้น การผสมผสานหลายหลายอย่าง เลยทำให้เราได้มาถึงจุดนี้”
เธอยืนยันว่าการบริหารไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศ แต่คือการ ‘เตรียมตัว’ เราจะไปพบใคร จะคุยเรื่องอะไร หลายครั้งที่ผู้หญิงถูกแปะป้ายว่า ‘ไม่กล้าตัดสินใจ’ แต่ว่านั่นไม่ใช่เธอคนหนึ่งแน่นอน
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ : thematter.co
ผู้บริหารหญิงที่แบกคำว่าแบรนด์ระดับโลกไว้บนบ่า กับ ‘เนตรนภา ศรีสมัย’ MD แห่ง Starbucks Thailand
เธอคือลูกหม้อ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ที่ก็ต้องบอกว่าเหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งผู้บริหารคนแรกของ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย เพราะเธอทำงานทะลุปรุโปร่งเกือบทุกแผนกแล้วในธุรกิจร้านกาแฟระดับโลกแห่งนี้
เริ่มจากการทำงานสายการเงิน จากนั้นเธอก็ไปลุยในฝ่ายดำเนินกิจการ ก่อนก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุด เนตรนภาบอกว่า หัวใจสำคัญของการบริหารสตาร์บัคส์คือ “สิ่งที่เรานำเสนอให้ลูกค้าทุกๆ วันคือ ข้อผูกมัด [commitment] ที่เรามีในแง่ของแบรนด์ ลูกค้าต้องคาดหวังได้ ลูกค้าต้องได้รับประสบการณ์ที่เหมือนเดิม คุณภาพที่ดีเหมือนเดิม มันคือคำสัญญาของแบรนด์ของเราที่มีกับลูกค้า”
และแน่นอนว่าการให้ความสำคัญกับพนักงาน ซึ่งเป็นเส้นเลือดหลักของสตาร์บัคส์ ที่ขึ้นชื่อเรื่องการบริการที่เป็นมาตรฐานในทุกสาขาทั่วโลก
“เราเชื่อในความมุ่งมั่นตัวเอง ชอบการเรียนรู้ มันจะทำให้เราสนุกกับการที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับหลายๆ เรื่อง ในหลายๆ ทีม หลายๆ ฟังก์ชั่น เพื่อจะเข้าใจ แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของเขา เราสนุกกับสิ่งเหล่านี้ เลยรู้สึกว่ามันทำให้มีพลังในทุกๆ วัน”
“เรามั่นใจว่าเรามีความสม่ำเสมอชัดเจน แล้วก็ความต่อเนื่องในแง่ของการวางแนวความคิดตัวเอง และทำให้น้องๆ คาดหวังได้ว่า ผู้นำของเขามีลักษณะอย่างไร เป็นใคร แต่อันนี้ต้องฟังความเห็นจากทีมในองค์กรเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่จนถึงตอนนี้ เราก็แฮปปี้ดีนะ จากงานที่ทำในช่วง 3–4ปี ที่ผ่านมา”
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ : thematter.co
ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพซัพพลายเชนร้านอาหาร ที่อยากกระจายรายได้ให้คนตัวเล็กตัวน้อยอย่างเท่าเทียม ‘เบลล์—พงษ์ลดา พะเนียงเวทย์’ ซีอีโอของ Freshket
Freshket คือสตาร์ทอัพซัพพลายเชนด้านอาหาร ซึ่งเป็นตัวเชื่อมระหว่างเกษตรกร-ชาวประมงไปสู่บรรดาร้านอาหารต่างๆ ด้วยราคาที่เธอบอกว่า พยายามให้ทุกคนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำได้รายได้อย่างเป็นธรรมที่สุด
พงษ์ลดา พะเนียงเวทย์ เคยเป็นพนักงานประจำ แต่ความฝันตั้งแต่เด็กคือการได้เป็นเจ้าของกิจการอะไรสักอย่าง และความฝันของเธอก็เริ่มต้นเมื่อราว 4 ปีที่แล้ว แม้ว่าจะล้มลุกคลุกคลาน พิชชิ่งงานหลายร้อยรอบเพื่อหาทุนทรัพย์
“รับมือกับความรู้สึกล้มเหลว … ก็ไม่นิยามความล้มเหลว คือเบลล์ว่าสำเร็จกับล้มเหลวอยู่ที่เราให้คำจำกัดความมันนะ” เธอบอกเล่าให้เราฟัง
สำหรับการทำงานสตาร์ทอัพ นอกจากเรื่องไอเดียแล้ว เรื่อง ‘ทีม’ สำคัญไม่แพ้กัน เธอบอกว่า ไม่มีทีม ก็ไม่มีเธอ ในช่วงแรกที่เธอต้องลงมือทำทุกอย่าง ทีมของเธอคือ ‘ครอบครัว’ แต่ปัจจุบันเมื่อบริษัทเติบโตขึ้น คงจะบริหารแบบครอบครัวไม่ได้อีกต่อไป แต่เธอก็ยังพยายามให้ Freshket เป็นสตาร์ทอัพที่แข็งแรง ด้วยการเติบโตจากการมีรากฐานของทีมงานที่แข็งแกร่ง
“ทำยังไงให้วัฒนธรรมของความที่เราสนิทกันมันยังอยู่ แต่แน่นอนว่าเบลลล์ตอบได้อย่างหนึ่งว่า มันไม่ใช่ครอบครัวแล้ว มันจะจัดการแบบครอบครัวไม่ได้ เพราะว่าครอบครัวในความคิดของเบลล์ล์มันคือความรักที่ไม่มีเงื่อนไข แต่ในการทำธุรกิจ ในการผลักดันองค์กรให้โต มันคงไม่มีเงื่อนไขไม่ได้ […] เราก็จะบอกน้องแล้วกันว่า เหมือนเราเล่นกีฬาเนอะ ให้เราเป็นทีมที่เราเล่นกีฬาด้วยกันดีกว่า รู้แพ้รู้ชนะนะ รู้จักส่งลูก ร่วมมือกัน สุดท้ายเป้าหมายอันเดียวกัน คือที่เราจะยิงประตูตรงนั้นนะ ขอให้มองที่ตรงนั้น”
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ : thematter.co
ผู้บริหารที่ทำงานกับโลกโซเชียลมีเดีย หวังอยากให้เด็กรุ่นใหม่เดินนำ และเธอเดินตาม ‘ปู—สุวิตา จรัญวงศ์’ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Tellscore
ไถฟีดผ่านหน้าจอโซเชียลมีเดีย เราคงจะเลื่อนสายตาผ่านอินฟลูเอนเซอร์สัก 4–5 คน ซึ่งบางคนในนั้นอาจจะร่วมงานกับ สุวิตา จรัญวงศ์ บ่อยครั้ง เพราะเธอคือเจ้าของเอเจนซีที่ออกแบบแคมเปญให้กับลูกค้า ผ่าน data ที่ช่วยเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ให้เหมาะสมกับสินค้าและบริการ
เธอเป็นผู้บริหารหญิงที่เข้าใจเรื่องยากๆ แต่อธิบายออกมาได้สนุกและเข้าใจง่าย เราออกปากถามเธอว่าเหนื่อยไหมกับการต้องท่องโลกออนไลน์ ที่แน่นอนว่าไม่มีวันหยุดพัก
เธอบอกว่า มันก็เหนื่อยแหละ แต่ยังสนุกดีกับการทำงาน และการได้ทำงานกับคนรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขวบปีที่ COVID-19 สาดซ้ำ เพราะมันทำให้เธอมองเห็นตัวเองในอีกแง่มุมหนึ่ง
“ถ้าให้ตอบสักห้าปีที่แล้วว่าเป็นผู้นำแบบไหน พี่จะทำเป็นเก่งนะ เล่าเป็นฉากๆ เลย แต่ปีนี้พี่อายุ 46 แล้ว อยากจะตอบว่าพี่ไม่รู้ (หัวเราะ) เหมือนหาสูตรที่มันพอดีไม่เจอ พอเจอ COVID-19 อะไรๆ มันเร็ว ปีนี้ ถ้าเกิดคุยกับใคร ก็จะยอมรับว่าบางเรื่องก็ไม่ค่อยเก่งแล้ว ถ้าถามว่าทำงานยังไง ก็คือเราจะผายมือให้น้องๆ ก่อน ผายมือให้น้องคิดก่อน ผายมือให้น้องทำก่อน ผายมือให้น้องนำก่อน ซึ่งตรงนี้ต้องมีความใจเย็นประมาณนึงเลย ซึ่งจริงๆ แล้ว โดยนิสัยแท้ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เป็นเถ้าแก่ปุ๊บ มันก็จะเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนั้น จะทำเอง เราจะใจร้อน เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นสิ่งที่ปรามตัวเองมาเรื่อยๆ เพราะว่าคนรุ่นใหม่เขาต้องการโอกาสมากเลย”
“เด็กรุ่นใหม่เขามีความกดดันมากกว่ารุ่นก่อนๆ เปิดมาห้าขวบโซเชียลมีเดียก็วุ่นวายกับเขาแล้ว เพราะฉะนั้น เราต้องใช้เวลากับคนรุ่นใหม่ในการนำ แล้วก็เชื่อเสมอว่าน้องต้องเก่งกว่าพี่ อันนี้เหมือนตั้งธงไว้เลย ว่าทำยังไงให้น้องเก่งกว่าพี่ ซึ่งเวลาวัดผลกัน พี่มันก็เก่งกว่าน้องในเชิงปฏิบัติอยู่แล้วแหละ แต่มันเป็นธงที่เราจะตั้งเอาไว้ แล้วน้องเขาจะรู้สึกว่าเชื่อใจเขา น้องเขาจะรู้สึกว่า เฮ้ย จริงเหรอ หนูต้องเก่งกว่าพี่หรอ ซึ่งใช่ แกต้องเขียนเก่งกว่าฉัน แกต้องสัมภาษณ์เก่งกว่าฉัน แกต้องปรับโปรแกรมมิ่งเก่งกว่าฉัน”
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ : thematter.co
ผู้บริหารสาย HR ที่บอกว่า อย่าคุยแต่เรื่องงาน แต่ถามถึงสุขภาพใจพนักงานด้วย ‘เจน—รุ่งกานต์ รตนาภรณ์’ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮสเนสซี่ (DMHT)
ยุค COVID-19 โลกการทำงานกลับตาลปัตร ทุกฝ่ายเหน็ดเหนื่อยกับการปรับตัว เช่นกันกับฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ต้องงัดสารพัดกลยุทธ์มาดูแลพนักงานในองค์กร ให้เหมือนวันวานที่ยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้
รุ่งกานต์เป็นคนหนึ่งที่ออกปากว่า ตำรา HR เล่มเก่าถูกพับปิดลงในสองปีที่ผ่านมานี้ และแทนที่ด้วยเล่มใหม่ ที่อาจจะไม่ได้เน้นการวัดพนักงานที่ผลงานหรือการทำงานเป็นอันดับแรก แต่ผู้บริหารยุคนี้ต้องบริหารงานด้วยใจ และสุขภาพใจพนักงานก็เป็นตัวชี้วัดสำคัญขององค์กรยุคนี้เช่นกัน
“ณ วันนี้ คือถ้าคุณไม่พูดถึงเขา [พนักงาน] และความเป็นอยู่เขาก่อน เรื่องอื่นๆ ไม่ต้องพูดกันเลย มันไม่เกิดขึ้นแน่นอน และไม่ใช่ผู้บริหารทุกคนจะสามารถพูดภาษาที่มันต้องใช้ใจพูดได้ทุกคน เพราะงั้นมันต้องมีการช่วยไลน์เมเนเจอร์เหมือนกันว่าข้อความแบบไหนที่คุณควรสื่อสาร ที่คุณจะต้องพูดเพื่อเริ่มบทสนทนา ไม่ใช่เปิด ปั้ง! แล้วพูดถึงผลงานเลย”
“ถ้าให้พูดกันตรงๆ คือ ผลงานมันจะต้องมี แต่ถ้าเราแคร์คนจริงๆ ถามว่ามันเป็นไปได้ไหมที่การทำงานจันทร์-ศุกร์ มันจะมีความนิ่งได้ตลอด มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะจริงๆ คนก็คือคน และมันยังมีอารมณ์ มีความท้าทาย มีเรื่องที่บ้าน เรื่องส่วนตัว ที่แต่ละคนอาจจะมีแตกต่างกันไป สุดท้ายผลงานเราคาดหวังอยู่ แต่เราจะคาดหวังผลงานที่ดีต่อเนื่องทุกวันหรือเปล่า อันนี้ถ้าได้ก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ เราว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่โรคระบาด การเมือง ภาพรวมทั้งหมด มันมีปัจจัยที่ทำให้คนมีอารมณ์เปลี่ยนได้ง่ายอยู่แล้ว เพราะงั้นมันก็ต้องวงเล็บเหมือนกันว่า ถ้า bottom line ของงานยังได้อยู่ เราอาจจะต้องโอเคกับการที่จะให้เขามีวันที่ไม่พร้อม เรามองว่า มันก็ต้องบาลานซ์กันให้ได้ระหว่างคนและงาน”
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ : thematter.co
ผู้บริหารสตาร์ทอัพการเงิน ที่รักความเปลี่ยนแปลง พอๆ กับลูกค้าของเธอ ‘หนึ่ง—ถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล’ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท มันนิกซ์ (MONIX) จำกัด
เธอเป็นผู้บริหารสตาร์ทอัพเทคโนโลยีการเงินที่เติบโตในยุค COVID-19 เธอเป็นผู้บริหารที่มีพลังเหลือล้น ซึ่งเรารับรู้ได้ตลอดในการสนทนากับเธอ ซึ่งพลังงานก้อนนั้นนั่นแหละที่ทำให้เธอ ‘เอนจอยกับความเปลี่ยนแปลง’ ของโลกสตาร์ทอัพ ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ
การทำงานในโลกสตาร์ทอัพต้องมีอะไรบ้าง เธอจิ้มข้อสำคัญมาคือ ‘ทัศนคติที่ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง’ เธอย้ำหลายครั้งว่า ทำสตาร์ทอัพต้องชอบความเปลี่ยนแปลง เพราะลูกค้าเปลี่ยนไปทุกวัน และอาจจะไม่รักเราแล้วก็ได้ในวันพรุ่งนี้ ใครจะไปรู้
“สำหรับเรา ถ้าหยิบตัวสำคัญที่สุดนะ คือ ทัศนคติที่ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง และชอบการเปลี่ยนแปลง เพราะว่าสตาร์ทอัพทำในสิ่งที่น้อยคนทำ หรือแทบจะยังไม่มีใครทำ ถ้ามีคนที่ทำเยอะมากแล้ว สำเร็จมากแล้ว นั่นไม่เรียกสตาร์ทอัพแล้วเพราะมีสูตรสำเร็จให้เดินตา”
“การเป็นสตาร์ทอัพคือการทำสิ่งไม่รู้ หรือไม่แน่ใจ หรือทำในสิ่งที่คนส่วนน้อยเขาทำกันแต่ไม่รู้ว่าจะสำเร็จไหม เพราะฉะนั้น DNA จะต้องเป็นชอบคนการเปลี่ยนแปลง อยู่กับความไม่รู้ ความไม่แน่ใจ แต่ก็ลองดู ไม่กลัว กล้าเสี่ยง กล้าจะลอง และถ้าเจออุปสรรคอะไรก็แก้ไขไป ที่สำคัญ ลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรม ถ้าเราจะบอกว่า ‘ไม่’ ฉันจะไม่เปลี่ยน ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เราถือกำเนิดมาเพื่อทำสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นสตาร์ทอัพต้องเอนจอยการเปลี่ยนแปลงตลอด ถ้าพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนเราก็ต้องเปลี่ยน”
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ thematter.co
‘ยูนิคอร์น’ อยู่ที่ว่าใครจะนิยาม ‘จูน—จุฑาศรี คูวินิชกุล’ ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ YouTrip และผู้บริหารหญิงที่พา Grab เข้าประเทศไทย
เส้นทางการบริหารของจุฑาศรีเป็นเรื่องที่น่าสนุกเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเธอเล่าให้ฟังด้วยตัวเอง
เธอจบจากโรงเรียนธุรกิจ Harvard Business School เรียนร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นที่ก่อตั้ง Grab ดังนั้นเธอจึงกลายเป็นหนึ่งในผู้ที่พา Grab ยูนิคอร์นแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าประเทศไทย (และเธอเป็นคนตั้งชื่อว่า Grab ด้วย!) ปัจจุบันนอกจากบริหารธุรกิจอะลูมิเนียมของที่บ้าน เธอยังเป็นเจ้าของ YouTrip สตาร์ทอัพเทคโนโลยีการเงินมาแรงของอาเซียนด้วย
หลากหลายประสบการณ์การบริหารงาน เราจึงนั่งลงพูดคุยกับเธอถึงหัวใจสำคัญ หลักการเป็นนักบริหารของเธอว่ามันคืออะไร เธอบอกว่า หนึ่ง—‘เงินทุน’ และ สอง—‘พนักงานที่มีความสามารถ’
“เราต้องตอบโจทย์นักลงทุน แล้วเราต้องสู้กับตัวใหญ่ๆ อย่างเช่นระบบเศรษฐกิจเก่าๆ หรือบริษัทดั้งเดิมที่เขามาก่อน แล้วเขามีเงินทุนหนา มีคนเยอะ จูนว่าเราหนีไม่พ้นที่เราจะต้องมีเงินทุนเยอะพอสมควร ดังนั้นเงินทุนกับความสามารถ เวลาทำสตาร์ทอัพยังไงก็หนีไม่พ้นสองตัวนี้ คือเราทำด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ เราต้องมีทีม เอาความสามารถมาแข่งกับบริษัทใหญ่ๆ”
“แล้วถ้าคุณที่อยู่ในจุดของคำว่าหัวหน้า หมายความว่าคุณสามารถมีผลกระทบกับชีวิตคนอื่นได้ […] จูนคิดว่าการเป็นหัวหน้าที่ดีจะต้องดูแลทีมได้ดี ซึ่งพูดง่ายแต่ทำยาก มันละเอียดอ่อน หมายความว่าคุณต้องมีความเสียสละ มีความอดทน แล้วปัจจัยที่เจอทั้งภายในและภายนอกมีเยอะ เราต้องบริหารทั้งภายในและภายนอก และกลั่นออกมาให้เป็นทีมที่เราสามารถดึงศักยภาพของคนออกมาให้มากที่สุด ให้มีการแข่งขันที่พอเหมาะ ให้ที่ทำงานมีสภาพแวดล้อมที่ดี แล้วให้ทุกคนพายเรือไปทางเดียวกัน และเขาโอเคกับมัน อาจจะให้ทุกคนมีความสุขไม่ได้ บางอย่างมันต้องตัดสินใจ มันเป็นการตัดสินใจที่ยากแต่จำเป็น”
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ : thematter.co
ท่องโลกอี-คอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างเร้าใจไปกับ ‘มอลลี่—ธนิดา ซุยวัฒนา’
ปฏิเสธไม่ออกจริงๆ ว่า ในยุค COVID-19 ถ้าให้ลิสต์สักธุรกิจที่เติบโตแบบไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ‘อี-คอมเมิร์ซ’ คืออันดับต้นๆ
เมื่อลูกค้าแห่เข้าแพลตฟอร์ม กระทั่ง Generation X และ Baby boomers ยังซื้อของออนไลน์เก่งขึ้นในพริบตาเดียว สมรภูมิซื้อขายโลกออนไลน์แข่งเดือดเมื่อโลกจริงล็อกดาวน์ และคนออกไปซื้อของไม่ได้ ธนิดาเองก็ออกปากว่า สำหรับแบรนด์ใหญ่ๆ ออนไลน์ไม่ใช่ ‘ทางเลือก’ แต่เป็น ‘ทางรอด’
แน่นอนว่าที่ผ่านมาเป็นสองปีที่การทำงานของธนิดาหนักขึ้นมากๆ ไม่ใช่แค่เธอคนเดียว แต่รวมถึงพนักงานอีกมากมายของลาซาด้า
“ส่วนตัวสไตล์การบริหารของเราจะให้ความสำคัญในเรื่องของคนมากๆ เพราะเรามองว่าทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยพนักงานของเรา ทีมงานของ LazMall มีทีมงานเกือบ 200 คน การทำงานก็จะค่อนข้างหนักเนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้นตลอดเวลา และวัฒนธรรมองค์กรที่ทุกคนต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เราสร้างวัฒนธรรมการทำงานให้ทุกคนรู้สึกเหมือนกับว่ามานั่งอยู่กับเพื่อน สามารถเข้าถึงผู้บริหารได้ อยากจะถามอะไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องเส้นทางอาชีพ เรื่องพัฒนาการทำงาน เขาสามารถที่จะเข้าถึงเราได้”
“ถ้ามีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ สิ่งแรกที่เรานึกถึงอย่างแรก คือ ทีมงานจะเป็นยังไง เขาจะสามารถรับมือปริมาณงานที่มันเพิ่มขึ้นได้ไหม และเราในฐานะผู้บริหารเราทำยังไงได้บ้างให้การทำงานของเขาง่ายขึ้น เรามองว่าตราบใดที่ถ้าคนแฮปปี้ เต็มที่กับงาน จะทำอะไรเราก็ทำได้”
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ : thematter.co