คิดอย่างไรกับข้อกำหนดที่ระบุว่านักศึกษาทุกคนต้องสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ?
มีรายงานว่า มหาวิทยาลัยซีอานเจียวทง (Xi’an Jiaotong University) หนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศจีน ยกเลิกข้อกำหนดที่นักศึกษาต้องวัดระดับความรู้ทางภาษาอังกฤษ (College English Test หรือ CET) เพื่อสำเร็จการศึกษา
หลังจากที่มหาวิทยาลัยประกาศข้อกำหนดใหม่นี้ออกมา ก็เกิดเป็นข้อถกเถียงถึงประเด็นความสำคัญของภาษาอังกฤษในประเทศจีน โดยมีทั้งเสียงสนับสนุนที่มองว่าภาษาอังกฤษไม่ได้จำเป็นสำหรับคนจีนแล้ว และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มองว่าภาษาอังกฤษยังจำเป็นต่อการติดต่อสื่อสารกับประเทศอื่นๆ อยู่
เล่าก่อนว่า การสอบ CET เป็นการสอบมาตรฐานระดับชาติที่จัดขึ้นครั้งแรกในปี 1987 โดยเป็นหนึ่งในข้อกำหนดในการสำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในจีน และการสอบดังกล่าวนี้ก็ไม่ใช่นโยบายที่รัฐกำหนดขึ้น
แนวทางการปฏิบัติดังกล่าว ก็เป็นการเน้นย้ำว่ามหาวิทยาลัยจีนเห็นถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครั้งหนึ่ง จีนเคยเป็นประเทศที่โดดเดี่ยวและยากจน ทำให้ต้องเปิดประเทศเพื่อไล่ตามโลกที่พัฒนาแล้วให้ทัน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยบางแห่งก็ได้ลดระดับความสำคัญของภาษาอังกฤษลง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ข้อสอบที่มหาวิทยาลัยออกเองแทน CET หรือไม่ก็ยกเลิกการสอบภาษาอังกฤษเพื่อสำเร็จการศึกษา เช่นเดียวกับในกรณีของมหาวิทยาลัยซีอานเจียวทง
“ดีมาก ฉันหวังว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ จะทำตาม” ผู้ใช้งานเวยป๋อรายหนึ่งระบุ พร้อมกับเสริมอีกว่า มันน่าตลกที่วุฒิการศึกษาของชาวจีนจะได้รับการรับรองก็ต่อเมื่อผ่านการทดสอบภาษาต่างประเทศ ซึ่งความเห็นดังกล่าวนี้ก็มียอดไลก์ มากกว่า 24,000 และแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องก็ยังมียอดผู้เข้าชมมากกว่า 350 ล้านครั้งอีกเช่นกัน
“ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งสำคัญ แต่ในขณะที่จีนพัฒนา ภาษาอังกฤษก็ไม่สำคัญอีกต่อไป…และนี่ก็ถึงเวลาที่ชาวต่างชาติจะต้องมาเรียนภาษาจีนแล้ว” อินฟลูเอนเซอร์ชาวจีนอีกรายที่มียอดผู้ติดตามบนเวยป๋อกว่า 6 ล้านรายระบุ
รวมไปถึง ยังมีบางส่วนที่สับสนุนให้ยกเลิกการทดสอบภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัย เพราะมองว่าในทางปฎิบัติ การทดสอบดังกล่าวเป็นเรื่องเสียเวลาโดยใช้เหตุ เนื่องจากผู้สำเร็จการศึกษาก็ไม่ค่อยได้ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน หรือใช้ในงาน อีกทั้ง ตอนนี้ก็ยังมี AI ที่เป็นตัวช่วยเรื่องการแปลด้วยเช่นกัน
ที่ผ่านมา การลดความสำคัญของภาษาอังกฤษลงก็มาพร้อมกับแนวคิดชาตินิยมของ ‘สีจิ้นผิง’ ที่เรียกร้องให้ประเทศเสริมสร้าง ‘ความเชื่อมั่นทางวัฒนธรรม’ และปัดเป่าอิทธิพลตะวันตกออกไป มีการห้ามไม่ให้ครูในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยใช้หนังสือจากฝั่งตะวันตก ห้ามพูดคุยเกี่ยวกับ ‘ค่านิยมตะวันตก’ เช่นประชาธิปไตย เสรีภาพสื่อ หรือหลักความเป็นอิสระของศาล ทั้งยังมีความพยายามที่จะลดระดับการสอนภาษาอังกฤษในห้องเรียนอีกเช่นกัน
รวมไปถึง ฝ่ายนิติบัญญัติและรัฐบาลก็ยังได้เสนอให้นำภาษาอังกฤษออกจากวิชาหลักในการศึกษาและการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือ ‘เกาเข่า’ ที่กำหนดให้มีการสอบวิชาบังคับเป็น ภาษาจีน เลข และภาษาอังกฤษ โดยหนึ่งในสมาชิกสภานิติบัญัติของจีนมองว่าภาษาอังกฤษใช้ไม่ได้จริงในเชิงปฏิบัติ เพราะสำหรับคนส่วนใหญ่ ภาษาต่างประเทศก็มีไว้เพื่อสอบเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเห็นที่มองว่าการลดความสำคัญของภาษาอังกฤษลง ก็เป็นการสะท้อนว่าจีนกำลังจะแยกตัวออกจากโลก
ผู้ใช้งานเวยป๋อรายหนึ่งมองว่า จีนควรมีความมั่นใจทางวัฒนธรรม แต่นั่นเป็นคนละประเด็นกับ ‘การหยิ่งผยอง’ ทางวัฒนธรรมด้วยกันมองโลกแบบแคบๆ หรือการปิดกั้นตัวเอง
เช่นเดียวกันกับผู้ใช้งานอีกรายที่มองว่าภาษาอังกฤษยังคงจำเป็นเพื่อให้สามารถเข้าใจโลกได้ และนั่นก็เป็นความจริงที่ลบออกไม่ได้แม้จะมีแนวคิดชาตินิยมอยู่
ทั้งยังมีความเห็นที่ว่า ภาษาอังกฤษยังเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยผู้ใช้งานเวยป๋ออีกรายก็มองว่า ไม่ควรจะมองข้ามความสำคัญของภาษาอังกฤษ เพราะทุกวันนี้ ถ้าไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ ก็ยังคงล้าหลังในโลกทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่เช่นกัน
นอกจากนี้ อวี๋เสี่ยวอวี๋ นักวิจัยภาษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงก็ยังเห็นว่า ถึงแม้มหาวิทยาลัยจะไม่มีการวัดระดับความรู้ทางภาษาอังกฤษ แต่ก็ยังเชื่อว่าในตลาดแรงงาน ยังคงต้องการคนที่มีความรู้ในภาษาอังกฤษอยู่ดี
อ้างอิงจาก