turbulent, volatile, exertion, severity … เหล่าคำศัพท์ในข้อสอบวิชาความถนัดทั่วไป หรือที่เรียกว่า GAT (General Aptitude Test) กลายมาเป็นประเด็นร้อนในช่วงที่ผ่านมา เมื่อคำศัพท์ยากเกินกว่าที่นักเรียนจะคุ้นตาจากชีวิตประจำวัน แถมยังไม่ได้ให้บริบทมาอย่างชัดเจนพอที่จะเดาความหมายของคำศัพท์ได้อีกด้วย
ประเด็นนี้ ทำให้ #Dek65 กลับมาเดือดอีกครั้ง หลายคนต่างระบายความทุกข์ใจจากการฝึกฝนทำข้อสอบมานานนับปี แต่กลับเจอแนวข้อสอบที่เปลี่ยนไป และยากเกินกว่าจะใช้ในการวัดระดับความถนัด ‘ทั่วไป’
แต่ปัญหานี้ ก็เป็นเพียงอีกหนึ่งยอดน้ำแข็งของระบบการศึกษาไทยเท่านั้น เพราะเมื่อการศึกษาและการวัดประเมินผลไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักคิดของการพัฒนาผู้เรียน เหล่านักเรียนไทยทั้งหลายก็คือผู้ที่ได้รับผลกระทบใหญ่หลวงที่สุดในเรื่องนี้
The MATTER ขอชวนมาอ่านบทความที่จะอธิบายถึงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมสะท้อนให้เข้าใจว่า ทำไมปัญหาข้อสอบยากนี้ จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ
เกิดอะไรขึ้นกับข้อสอบ GAT/PAT ปีนี้
การสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีประเด็นอยู่ตลอดทุกปี แต่ความแตกต่างก็คือ ในปีนี้ ที่ประชุมอธิบดีการแห่งประเทศไทยแถลงเกณฑ์การสอบ TCAS ใหม่ ประกาศเปลี่ยนทีมออกข้อสอบใหม่
พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ TCAS ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ระบุว่า ทปอ.จะออกข้อสอบเองทั้งหมด โดยมอบหมายสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ออกข้อสอบคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ส่วนวิชาสามัญอื่นๆ เป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ GAT เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำแถลงนี้ออกมาเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2564 อาจดูยาวนานแต่ต้องไม่ลืมว่า การสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทย ถูกสังคมหลอมให้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จของเหล่านักเรียน พวกเขาจึงทุ่มเตรียมตัวกันมานานนับปีเพื่อให้ทำข้อสอบได้
ยังไม่นับว่า ปกติแล้ว หากมีการเปลี่ยนเกณฑ์ในระบบการสอบ ก็จำเป็นจะต้องแจ้งนักเรียนล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี เพื่อให้พวกเขามีเวลาเตรียมตัวด้วย
การเปลี่ยนคณะผู้จัดทำข้อสอบอย่างกะทันหันนี้ จึงทำให้นักเรียนทั้งหลายกังวลกันอย่างมาก เพราะการเปลี่ยนผู้จัดทำข้อสอบจะทำให้แนวข้อสอบที่พวกเขาเพียรฝึกทำกันมาเปลี่ยนไปด้วย
แล้วความกลัวของพวกเขาก็เกิดขึ้นจริง เมื่อข้อสอบ GAT/PAT แทบทุกวิชามีเสียงบ่นถึงความยากและแนวที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างที่ข้อสอบเก่าไม่อาจช่วยอะไรได้
ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ จากคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า เด็กไทยต้องสอบวิชาภาษาอังกฤษอยู่หลายครั้ง สะท้อนให้เห็นว่า องค์กรหรือระบบที่ดูแลการวัดประเมินผลของเด็ก ไม่มีการสื่อสารหรือทำความเข้าใจระหว่างกัน เลยทำให้เกิดความสับสนทั้งหมดนี้ออกมา
ตัวอย่างเช่น การสอบ GAT/PAT ที่ต้องตั้งธงว่าจะวัดประเมินอะไร หากจะประเมินว่า นักเรียนรู้จักคำศัพท์นี้หรือไม่ ก็หมายความว่า ข้อสอบต้องไปเชื่อมโยงกับหลักสูตรแกนกลาง
“แต่พอมันออกมาแล้ว ทุกคนตกใจกันหมดเลย เพราะเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยเห็น นั่นหมายความว่า คนออกข้อสอบกับผู้ที่ดูแลหลักสูตรไม่ได้คุยกัน ไม่รู้กันว่าในห้องเรียนเขาทำอะไร คนออกก็ออกไป คนทำหลักสูตรก็ทำไป ผลกระทบก็ตกมาอยู่ที่เด็ก”
หรือหากผู้ออกข้อสอบต้องการวัดทักษะ หรือสมรรถนะในการอนุมาน การเดาจากบริบท ก็แปลว่า คนออกข้อสอบต้องมีการให้บริบทข้อมูลมาอย่างเพียงพอ แล้วศัพท์ที่เป็นบริบทก็ควรจะเป็นคำศัพท์ที่ไม่ได้อยู่ไกลตัว หรือว่าไกลจากหลักสูตรนักเรียนมากเกินไปหนัก เพื่อที่จะให้เขาสามารถดึงเอาศัพท์ที่เขาเคยเรียน เคยรู้มาประมวลผลรวมกัน และประยุกต์ทักษะการอนุมานมาใช้ได้
ยิ่งข้อสอบยาก ยิ่งวัดประเมินผลได้ดี?
“มธ. มศว ออกเกินขอบเขตไปมาก อันนี้เด็กมัธยมไม่ใช่นิสิต ติวเตอร์ทั้งแกทไทยแกทอิ้งยังบอกเลยว่ายากกว่าทุกปี แปลกกว่าทุกปีด้วย ขอโทษที่บ่นไม่หยุด แต่พยายามมาเยอะ ทำย้อนมาทุกปี เจอแบบนี้ก็ท้อเหมือนกัน เหมือนที่ทำมาศูนย์หมดเลย” เสียงสะท้อนจากผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งที่กล่าวถึงข้อสอบ GAT/PAT ในรอบที่ผ่านมา
ตามที่ข้อความดังกล่าวระบุไว้ ติวเตอร์หลายคนวิเคราะห์ถึงแนวข้อสอบที่ยากและเปลี่ยนไปจากเดิมในปีนี้ โดยเฉพาะในส่วนของGAT ภาษาอังกฤษ
อย่าง ครูพี่แอน จากเพจ Perfect English กับครูพี่แอน ออกมาทวีตว่า “ข้อสอบยากเกินไป จะไม่สามารถวัดผลอะไรได้เลย เด็กที่เตรียมตัวอย่างดี ขยันตั้งใจ ก็ทำไม่ได้ เด็กที่ไม่ได้เตรียมตัวก็ทำไม่ได้ สุดท้ายก็มั่วตอบ ใครดวงดีก็คะแนนดี ใครดวงไม่ดีก็ชวดไป! ทำไมไม่ออกข้อสอบให้มันสมเหตุสมผลเพื่อวัดผลไปเลยว่าใครเตรียมตัวไม่เตรียมตัว?”
แล้วความยากง่ายนี้มีเกณฑ์แบ่งอย่างไร? ต้องอธิบายว่า ปกติแล้วคำศัพท์ที่ใช้ในการทดสอบ GAT นี้ จะเป็นคำศัพท์ในช่วงระดับไม่เกิน B2 (ไล่จาก A1 A2 B1 B2 C1 C2) แต่คำศัพท์ที่ออกในข้อสอบปีนี้ มีคำที่อยู่ในกลุ่ม C2 มาปะปนด้วย เช่น turbulent และ severity เป็นต้น
ความยากของข้อสอบในปีนี้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับคำว่า ข้อสอบที่ดี ควรเป็นแบบไหน ยิ่งยาก แปลว่ายิ่งดีงั้นเหรอ?
“ข้อสอบยาก ไม่ได้หมายความว่าเป็นข้อสอบที่ดี ข้อสอบที่ดีคือข้อสอบที่วัดประเมินผู้เรียนได้ และสามารถนำข้อมูลจากการวัดประเมินมาใช้ต่อได้”
คำกล่าวจากครูจุ๊ย ที่อธิบายเพิ่มเติมว่า กระบวนการเรียนรู้ คือการนำมาใช้เพื่อพัฒนาการเรียนต่อไป ถ้าเป็นระดับประเทศการดูภาพรวมใหญ่ของการศึกษา ก็คือการดูว่า เทรนด์หรือว่าคะแนนของผู้เรียนในประเทศเป็นอย่างไร คุณภาพของผู้เรียนในประเทศเป็นอย่างไร มีปัญหาตรงจุดไหนอย่างไร ต้องไปแก้ไขตรงจุดไหน ข้อสอบลักษณะนี้ เรียกว่า exit exam ที่ดูเรื่องของการวัดคุณภาพ กระบวนการเรียนรู้ทั้งระบบแบบภาพใหญ่ การวัดประเมินผลจึงมีเป้าหมาย มีจุดประสงค์
“ถ้าคุณตั้งธงว่า ต้องทำข้อสอบให้ยาก เพื่อให้เด็กทำไม่ได้ นั่นหมายความว่า คุณกำลังใช้หลักคิดแบบตะแกรงร่อนเด็ก ฉันอยากได้เด็กที่เก่งเท่านั้น ที่ไม่เก่ง ทำข้อสอบไม่ได้ ช่างมัน ซึ่งมันเป็นแนวคิดที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในระบบการศึกษาแน่นอนทั้งในระยะสั้น กลาง ยาว”
‘ข้อสอบ’ เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการศึกษา
ภาพปัญหาของข้อสอบนี้ สะท้อนไปกับการเรียนภาษาอังกฤษที่เป็นปัญหาในไทยมายาวนาน โดยงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในไทยจาก มศว ตั้งแต่เมื่อปี 2554 ระบุไว้ว่า แม้เด็กไทยจะได้เรียนภาษาอังกฤษกันมานาน 12 ปี แต่ก็ยังไม่สามารถสื่อสารได้คล่อง เพราะที่ผ่านมาครูไม่ได้เน้นให้ความสำคัญกับการสื่อสาร โดยเฉพาะการพูด เพราะในข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่มีการสอบพูด ครูไทยเน้นการสอบไวยากรณ์ (grammar) และเนื้อเรื่อง (reading) เพื่อให้เด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้เท่านั้น
ปัญหาของข้อสอบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษานี้ ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อตัวนักเรียน เพราะเมื่อเป้าหมายของการเรียนเป็นไปเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ได้มีเพื่อการเรียนรู้ ก็จะทำให้ผู้เรียนหลงทาง ซึ่งครูจุ๊ยมองว่า เป้าประสงค์ในการทำระบบวัดประเมินเป็นไปเพื่อพัฒนานักเรียน ดังนั้น การทำข้อสอบไปวันๆ โดยไม่รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ไม่ได้มีไปเพื่อพัฒนานักเรียนแน่นอน
“อันนี้ก็แย่แล้ว ยังไม่พอคุณยังต้องไปเจอกับความรู้สึกแย่จากตัวระบบ คือตัวข้อสอบที่มันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อพัฒนาคุณ และทำให้คุณรู้สึกว่า ฉันทำไม่ได้ ทั้งที่มันไม่ได้เป็นความผิดของคุณตั้งแต่แรก คือคุณก็เรียนมาตามหลักสูตรนั่นแหละ แต่ว่ามันออกข้อสอบมาโดยที่ไม่ได้มีบริบทของหลักสูตรคุณอยู่ในข้อสอบนั้นไง มันออกมาแบบ เพราะฉันอยากให้มันยากไง”
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อการเรียนเป็นไปเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย สิ่งที่ตามมาก็คือ ความพยายามขวนขวายของนักเรียน ที่ต้องการมีอนาคตอันสดใส เมื่อพวกเขารู้ว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะยาก ก็เริ่มมองหาแหล่งติว แหล่งบ่มเพาะประสบการณ์อื่นๆ นอกห้องเรียนซึ่งโดยมากแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายแสนแพง ถ่างช่องว่างของความเหลื่อมล้ำให้ห่างออกไปเรื่อยๆ จนเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงตัวช่วยต่างๆ ต้องติดหล่มอยู่ตรงนั้น ไปไหนไม่ได้
ครูจุ๊ยกล่าวอีกว่า ทั้งหมดนี้คือการสร้างระบบการศึกษาให้เด็กบางกลุ่มรอดไปได้ และเรื่องนี้ก็ไม่ใช่แค่เรื่องข้อสอบภาษาอังกฤษที่ยากเกิน แต่เป็นเรื่องเชิงโครงสร้างของระบบการศึกษาที่ไม่ได้ถูกคิดเพื่อทุกคนอย่างแท้จริง
“ข้อสอบเป็นแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาของระบบการศึกษา เป็นสิวเม็ดเล็กๆ เอง จริงๆ เป็นเรื่องใหญ่มาก เมื่อคนที่จัดการระบบเขาไม่คุยกัน และภาพที่สะท้อนออกมาจากวิธีคิดของเขาว่า ออกให้ยากดีกว่า มันก็สะท้อนวิธีคิดในการจัดการศึกษาของเขา ซึ่งมันถูกพิสูจน์มาตั้งนานแล้วว่ามันไม่ได้ประโยชน์กับใครเลย”
“คุณก็ได้เด็กเก่งอยู่กลุ่มหนึ่ง ชื่นชมเด็กอยู่กลุ่มหนึ่ง ในขณะที่เด็กจำนวนมาก จำนวนที่เหลือ เขาไม่ได้เข้าถึงทรัพยากร เขาก็อาจถูกตราหน้าว่าเป็นเด็กที่ไม่เก่งพอ ซึ่งไม่ใช่ เขาไม่ได้ไม่เก่งพอ แต่เขาอยู่ในระบบที่พัฒนาให้เขาเก่งไม่ได้”
จะแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไร?
ระบบการศึกษาไทยต้องถูกรื้อและแก้ไขใหม่อย่างจริงๆ จังๆ เพื่อให้ปัญหาเรื่องการสอบหมดไปด้วย แต่เราก็รู้กันดีว่า หลายยุคสมันที่ผ่านมา มีความพยายามปรับแก้ระบบการศึกษาให้ดีขึ้นอยู่เสมอ แต่ปัญหาเดิมๆ ก็ยังเกิดขึ้นตลอด และเชื่อมโยงไปกับสภาพการเมือง จนทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ในทันที
ครูจุ๊ยจึงเสนอทางแก้เบื้องต้นสำหรับเรื่องนี้ ด้วยการให้ยุบระบบข้อสอบต่างๆ ให้เหลือข้อสอบเป็นจำนวนเท่าที่วัตถุประสงค์ในการวัดประเมินจะมี เช่น ถ้าจะทำข้อสอบที่วัด exit exam ก็ทำชุดเดียวก็พอ ไม่ต้องทำหลายชุดให้เด็กปวดหัว แล้วทำข้อสอบออกมาด้วยความเข้าใจว่าหลักสูตรสอนอะไร คุณครูสอนอะไร
ยิ่งกว่านั้น ครูจุ๊ยยังกล่าวอีกว่า เรื่องข้อสอบมันพันไปกับการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน พัฒนาคุณภาพครู และพัวพันกับเงินเดือนครู นั่นเลยทำให้เกิดการติวขึ้นมา ซึ่งมันไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้ในระยะยาวเลย ดังนั้น วิธีการวัดประเมินทั้งหมด วัตถุประสงค์ของการวัดประเมินทั้งหมดต้องถูกรื้อใหม่ แล้วทำให้ชัดเจนทุกคนเข้าใจตรงกันว่าคืออะไร
“ที่สำคัญ การวัดประเมินจากข้อสอบ ข้อมูลเหล่านี้ ครูต้องนำไปใช้ได้ ผู้บริหารโรงเรียนต้องนำไปใช้ได้ แต่การนำไปเป็นเกณฑ์ขึ้นเงินเดือน โดยที่ใช้เกณฑ์เหมือนกันทั้งหมด ก็ไม่ได้อีก เพราะการพัฒนาโรงเรียนแต่ละแห่ง มีบริบทที่แตกต่างกันมาก คุณมีโรงเรียนที่มีเด็ก 30 คน กับเด็ก 3,000 คน คุณใช้วิธีวัดประเมิน ผอ.โรงเรียนแบบเดียวกันไม่ได้ อย่าเอาข้อสอบไปผูกกับเกณฑ์แบบนี้ เบื้องต้นในระดับเชิงระบบมันมีเรื่องที่ทำได้เยอะ แต่ว่ามันจะมีคนลุกขึ้นมาทำหรือเปล่า”
ขณะเดียวกัน การออกข้อสอบในต่างประเทศ จะมีการเก็บเป็นคลังข้อสอบเอาไว้ เพราะการออกข้อสอบหนึ่งข้อไม่ได้ทำกันง่ายๆ ทั้งยังต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดประเมินผลมาดูแล แต่เมื่อมองกลับมาที่ไทย ครูจุ๊ยชวนตั้งคำถามว่า องค์กรที่ออกข้อสอบมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญพอที่จะมาบริหารจัดการข้อสอบมากมายหรือเปล่า ซึ่งหากคนเขาไม่พอ ทรัพยากรไม่พอ ข้อสอบก็ไร้คุณภาพ และจะมีประสิทธิภาพลดลงไปเรื่อยๆ
“แต่เราก็มองอีกเรื่องนึงว่า คุณภาพที่มันลดลงไป ก็สอดคล้องกับคุณภาพของกระบวนการเรียนรู้ในประเทศไทยที่ค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ มันก็ไม่ได้ดีอยู่แล้วตั้งแต่ตอนแรก แล้วจะเห็นว่า เด็กไปกองอยู่ที่ค่าเฉลี่ยข้อสอบอย่าง O-NET ไปกองอยู่ที่เผลอๆ ต่ำกว่าครึ่งนึง ก็สะท้อนว่าผู้เรียนเราไม่ได้สามารถอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ แล้วมีสมรรถนะหรือทักษะที่เพียงพออยู่แล้ว แต่ละคนก็เลยไปติวให้เด็กดีขึ้น แต่คุณภาพภาพรวมมันแย่ลง เพราะการติวมันไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะยาว ไม่ใช่การทำให้เด็กมีกระบวนการเรียนรู้ หรือทักษะการเรียนรู้ติดตัว”
ปัญหาจากเรื่องข้อสอบวัดประเมินยากเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในระบบการศึกษาไทย ที่ผูกมัดไปกับสภาพสังคมและการเมือง นับเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะการปล่อยเวลาให้ผ่านไปเรื่อยๆ โดยที่เด็กรุ่นต่อๆ ไปต้องถูกบ่มเพาะในระบบการศึกษาที่มีปัญหา ย่อมส่งผลต่ออนาคตของชาติอย่างแน่นอน