เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวสำคัญเกิดขึ้นในแวดวงวิชาการไทย เรื่องราวเกี่ยวกับรายชื่อนักวิชาการไทยจำนวนหนึ่งที่เข้าไปอยู่ในกระบวนการซื้อขายชื่อ (Authorship)ในงานวิจัย จนนำไปสู่การตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับวงการนี้กันแน่ อะไรคือปัจจัยผลักดันให้เกิดพฤติกรรมเช่นนั้น
ถ้าดูผิวเผิน มันอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญที่กรณีนี้เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันกับการตั้งคำถามถึง ‘คุณภาพชีวิต’ ของอาจารย์และนักวิชาการไทยอย่างต่อเนื่อง เมื่อมหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มใช้นโยบายผูกพันการต่อสัญญาอาจารย์ เข้ากับการขอตำแหน่งความก้าวหน้าทางวิชาการ หรือแม้แต่ภายในเรื่องความก้าวหน้าทางวิชาการเองที่ดูเหมือนจะมืดมน นักวิชาการรุ่นใหม่ๆ เริ่มหมดไฟ เพราะแบกรับภาระไม่ไหว รวมถึงมองไม่เห็นถึงเส้นทางอนาคตในวิชาชีพนี้
อย่างที่กล่าวไป มันอาจดูผิวเผินแต่ถ้าเราถอยออกมามองในภาพรวมแล้ว ปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้นคนละที่ทาง อาจจะมีรากของปัญหาร่วมกันในบางแง่มุม
The MATTER นัดคุยกับ อ.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิชาการที่ตั้งคำถามกับปัญหาเหล่านี้ เราตั้งใจชวยคุยกันถึงปัญหาคุณภาพชีวิตที่อาจารย์จำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญอยู่ อะไรคือรากของมัน และแวดวงนี้จะเดินต่อไปในทางไหนดี?
กรณีเรื่องการซื้อขาย Authorship ในงานวิจัย นอกจากสะท้อนปัญหาพฤติกรรมบุคคลแล้ว อาจารย์คิดว่าตัวนโยบายของมหาวิทยาลัยเองมีส่วนสร้างปัญหานี้แค่ไหน
เวลาเราพูดถึงปัญหาในวงวิชาการ เราต้องมองว่ามันเป็นปัญหาที่พัวพันกับปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย แก้ปัญหานี้จะวิ่งไปเจอปัญหาหนึ่ง ปัญหาเรื่องการซื้อขายชื่อในบทความมันเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่ข้างล่างของปัญหามันมาจากระบบที่สะสมกันมาหลายเรื่อง ตั้งแต่วิธีคิดเกี่ยวกับความเป็นวิชาการ ความเป็นมหาวิทยาลัย เรื่องของบทบาทหน้าที่ของอาจารย์มหาวิทยาลัย เรื่องของการส่งเสริมคุณภาพทางวิชาการต่างๆ ทุกอย่างมันเหมือนกับถูกหล่อหลอมจนกระทั่งระเบิดออกมา
ด้านหนึ่งนโยบายมันอาจดูเหมือนสร้างความสำเร็จที่ทำให้ในมหาวิทยาลัยมีงานวิชาการมากขึ้น แต่ในแง่เสียคือมีมากมาย อย่างที่เห็นเรื่องการคอร์รัปชั่นกันในระบบ จำนวนบทความที่ถูกตีพิมพ์ออกมาจำนวนมาก ย้อนถามว่าทุกวันนี้เรามีบทความที่ตีพิมพ์กันในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปีมากขนาดไหน เราอ่านกันทันไหม สุดท้ายแล้วเราตีพิมพ์มันเพื่ออะไร ใครได้ใครเสียประโยชน์
เราไม่ควรมองแค่ปัญหาของระบบวิชาการ เราควรมองว่ามันเกี่ยวอย่างไรกับสังคม สังคมได้หรือเสียอะไรบ้าง นักเรียน นักศึกษาได้อะไรจากเรื่องเหล่านี้บ้าง ที่สำคัญคือองค์กรธุรกิจที่อยู่เบื้องหลังสำนักพิมพ์ บริษัทวิชาการต่างๆ เขาได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้บ้าง เราต้องมองให้เห็นว่าแต่ละเรื่องมันเกี่ยวพันซับซ้อนยุ่งเหยิงไปหมด
การเสพติด ranking ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่งผลต่อปัญหานี้แค่ไหน
เราต้องถอยออกมาก่อนหนึ่งก้าว ประเด็นเรื่อง ranking เป็นประเด็นค้างคาใจของผู้บริหารแต่ละแห่ง ที่เหมือนกันว่าถ้าฉันเข้ามาบริหารมหาวิทยาลัยแล้ว ฉันต้องทำให้มันดีขึ้นหรืออย่างน้อยเท่าเดิม ถ้าทำได้ดีมากกว่าเดิมก็หมายถึงว่าฉันมีความสามารถที่ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับการยอมรับ เรื่อง ranking เลยกลายเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสามารถของผู้บริหารมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง พอถูกกดดันแบบนี้ ความกลัว ความวิตกกังวลที่จะทำให้มหาวิทยาลัยของตัวเองต้องมีชื่อเสียง มันก็นำไปสู่การยอมที่จะทำอะไรหลายๆ อย่างเพื่อให้ได้ ranking ที่มันสูงขึ้น
ถามว่าด้านหนึ่งเราเข้าใจผู้บริหารไหม เราเข้าใจได้ในฐานะการถูกจับตามอง และถูกคาดหวัง ยังมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่กดดันผู้บริหารมาอีกชั้นหนึ่ง เรามีสังคมข้างนอก มีศิษย์เก่าที่กดดันมาอีกทาง เพราะฉะนั้น ผู้บริหารจึงไม่ได้เป็นผู้ตัดสินใจคนเดียว แต่มีองค์ประกอบอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง
แล้วความกดดันเหล่านี้ก็ส่งต่อมาถึงตัวอาจารย์ต่างๆ
ความกดดันมันส่งต่อลงมากันเป็นทอดๆ เมื่อการพยายามเรียกร้องให้อาจารย์มหาวิทยาลัยตีพิมพ์งานวิชาการต่างๆ ให้เป็นที่ยอมรับ มันเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยทำได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนเพราะมันมีตัวเปเปอร์ออกมาชัดเจน มันก็ไปสู้กันที่ตรงนั้น
นโยบายแบบไหนที่สะท้อนถึงการสนใจเรื่อง ranking ของมหาวิทยาลัยไทยเกินไป
เวลาเราพูดถึงกระบวนการปั่น ranking ก็คือการที่เรากำหนดข้อบังคับลงไปที่แต่ละคณะว่าต้องผลิตจำนวนบทความวิชาการในฐาน scopus กี่ชิ้นก็ว่าไป หรือกำหนดเป็นจำนวนเป็นร้อยละของจำนวนอาจารย์ เหล่านี้เป็นต้น อย่างผมเป็นคณบดีก็ต้องเซ็นสัญญาว่าต้องทำจำนวนบทความวิชาการให้ได้ตามเป้า เพราะถือเป็นยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย และตัวชี้วัดนี้ก็จะไปลงที่ฝ่ายอาจารย์ด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้น ยังมีการให้รางวัลตอบแทน ถ้าเราไปดูแต่ละมหาวิทยาลัย อย่างที่เห็นในข่าวก็จะพบว่า บางมหาวิทยาลัยให้เงินหลักหมื่นหรือหลักแสนแก่อาจารย์ที่เขียนเปเปอร์ให้ด้วยซ้ำไป ขึ้นอยู่กับระดับชั้นต่างๆ ของวารสารวิชาการที่อาจารย์ได้รับการตีพิมพ์ กลุ่มที่หนึ่งก็จะมีค่าคะแนนสูง ก็จะมีรางวัลตอบแทนสูงไปด้วย คนที่ตีพิมพ์ผลงานจำนวนมากก็จะได้รับรางวัลประจำปีอีกต่างหาก
ไม่เพียงแค่เรื่องให้รางวัล บางครั้งก็มีเรื่องการลงโทษด้วยเช่นกัน ถ้าคณะทำแต้มได้ตามกำหนดเอาไว้ก็จะมีผลต่อคะแนนของแต่ละคณะ หรือคะแนนของผู้บริหารในคณะนั้น ตัวอาจารย์ก็จะได้รับผลกระทบเรื่องการขึ้นหรือไม่ขึ้นเงินเดือน รวมไปถึงว่า ถ้าเราไม่มีผลงานจำนวนมากพอ เราก็ไม่สามารถเอาไปยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการได้ ยิ่งปัจจุบันนี้ การขอตำแหน่งทางวิชาการมันถูกนำไปผูกติดกับการต่อสัญญา เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าปัญหามันเลยพัวพันกันไปหมด จากแค่เรื่อง ranking เรื่องเดียว มันนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ และผลกระทบต่อชีวิตของอาจารย์แต่ละคนด้วย
ในแง่หนึ่งเราอาจจะมองได้ว่าการมีรางวัลให้มันเป็น incentive แบบนึง แต่มันมีผลอะไรที่ต้องระวังบ้างไหม
เมื่อกี้ผมอาจจะพูดตัวอย่างที่มันสุดโต่ง แต่ผมเชื่อมั่นว่าก็ยังมีหลายคนที่เขารู้สึกว่าการทำงานวิชาการให้มีคุณภาพเป็นสิ่งที่ควรทำ และการได้ตีพิมพ์บทความวิชาการมันคือผลพลอยได้ สำหรับเขาแล้วการสื่อสารกับสาธารณะ หรือการสื่อสารในแวดวงวิชาการเพื่อให้งานของตัวเองได้ออกมาสู่สังคม และมีประโยชน์ต่อแวดวงวิชาการมันก็ยังเป็นสิ่งที่เขาโฟกัสอยู่ ซึ่งก็ต้องชื่นชม ผมว่าเราต้องแยกให้ออกว่าปัญหานี้มันไม่ได้เป็นกับทุกคน
แต่การที่ตีพิมพ์ผลงานวิชาการแล้วมหาวิทยาลัยมีรางวัลให้ ก็เท่ากับการบอกกับเขาว่า มหาวิทยาลัยสนับสนุนให้เขาทำแบบนี้ และอาจจะสนับสนุนน้อยกว่ากับเรื่องอื่นๆ อาทิ เรื่องภาระงานสอน การบริการวิชาการในสังคม เรื่องของการให้เวลากับนักศึกษาในความดูแลของเขา และการเตรียมการสอนต่างๆ ภาระเหล่านี้มันไม่ได้ถูกนำไปประเมินเพื่อให้รางวัลจากมหาวิทยาลัย
โอเค มันอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในแง่สิ่งที่ต้องทำในวิชาชีพนี้ แต่สุดท้ายแล้ว รางวัลที่อาจารย์จะได้รับมันมาจากผลงานวิชาการเป็นหลัก เพราะฉะนั้น ลองคิดง่ายๆ ถ้าคุณจะต้องให้ค่าน้ำหนักกับสิ่งที่คุณจะทุ่มเทในการทำ ระหว่างการสอน งานบริการวิชาการอื่นๆ หรือการช่วยเหลืองานคณะ กับการสร้างผลงานวิชาการเพื่อให้ได้รับผลตอบแทน คุณจะให้น้ำหนักกับเรื่องอะไรมากกว่ากัน ถ้ามีคนเลือกอย่างหลังเยอะๆ เราก็พอจะนึกออกว่า มันจะเกิดอะไรขึ้นกับวงการวิชาการไทย
ผมไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่สนใจตีพิมพ์ผลงาน เขาจะใส่ใจการสอนหรือเป็นอาจารย์ที่ดีเสมอไปนะ ผมคิดว่าต้องแยกประเด็นนี้ออกจากกันด้วย แต่ที่ผมกำลังพูดถึงหมายความว่า ทุกวันนี้เรากำลังสื่อสารไปยังวงวิชาการว่า เราควรจะมุ่งสร้างผลงานของตัวเองเป็นหลัก ในขณะที่งานอื่นๆ ก็จะถูกด้อยค่าลงไป
ทำไมงานอื่นๆ ที่อาจารย์บอก เช่น การดูแลนักศึกษา มันไม่ถูกให้ค่าขนาดนั้น
ถ้าเราลองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของวงการวิชาการจะพบว่า แนวคิดแบบนี้มันเพิ่งจะขยายเข้ามาในเมืองไทย รวมถึงสังคมโลกด้วยเมื่อไม่นานนี้ เราเรียกว่าแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ก็ได้ มันโฟกัสอยู่ที่การแข่งขันทางการตลาด เรื่องของการเอาตัวรอดของคนหนึ่งคน การปั้นแต่งตัวเองให้มีโปรไฟล์ รวมทั้งการกระจายอำนาจของฝั่งรัฐให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องแข่งขันดูแลตัวเอง
วิธีคิดแบบนี้มันหล่อหลอมให้ความเป็นอาจารย์ คือการไม่สอนอย่างเดียว แต่ต้องทำงานวิจัยด้วย มันเป็นวิธีคิดในยุคหนึ่ง ขณะที่ยุคก่อนหน้านี้ เราเชื่อกันว่าการเป็นครูบาอาจารย์ต้องสอน ต้องปลูกฝังอบรมนักศึกษาเป็นหลัก มายุคนี้ วงการวิชาการไทยเชื่อว่า การเป็นครูบาอาจารย์ต้องทำงานวิจัยเป็นหลัก การสอนมันค่อยๆ ถูกลดทอนความสำคัญลงไปเรื่อยๆ ขณะที่การทำวิจัยมันถูกชูให้เด่นขึ้นเรื่อยๆ
เทรนด์นี้มันเริ่มชัดเจนขึ้นมากหลังมหาวิทยาลัยออกนอกระบบรึเปล่า
เป็นส่วนหนึ่ง เพราะหลังจากที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ มหาวิทยาลัยต้องหาเลี้ยงตัวเองและต้องแข่งขันสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยตัวเอง มันไปผูกโยงเรื่องของ global ranking ในระดับโลกด้วย มันไปผูกโยงกับบริษัทที่ทำสำนักพิมพ์ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบ ranking ด้วยเช่นกัน เราถูกสำนักพิมพ์บังคับให้ตีพิมพ์ผลงานกับเขา เพื่อให้เรามีอันดับสูงขึ้น เขากลายเป็นคนควบคุมระบบวิชาการ ผมคิดว่าที่มันน่าขันที่สุด คือเราเชื่อมั่นว่านักวิชาการคือคนที่ฉลาดที่สุด เราเรียนจบปริญญาเอก มีตำแหน่งทางวิชาการ แต่สุดท้ายเรายอมให้บริษัทสำนักพิมพ์เหล่านี้หลอกใช้งานฟรี ในความหมายที่ว่า เราเขียนบทความให้เขาฟรี นอกจากเขียนฟรีแล้ว บางวารสารวิชาการเราต้องจ่ายเงินให้กับเขาอีก พอบุคลากรมหาวิทยาลัยอยากจะอ่านบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารเหล่านี้ มหาวิทยาลัยก็ยังต้องเสียเงินให้กับวารสารในราคาที่แพงมากต่อปี สรุปแล้วใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ ใครเป็นคนกุมอำนาจในทางธุรกิจ เรื่องนี้เราคุยกันน้อยมากในวงวิชาการ เรายอมถูกเอาเปรียบอย่างมาก
เมื่อคณาจารย์ถูกกดดันและคาดหวังให้เน้นปริมาณการผลิตผลงานวิชาการเยอะเกินไป มันส่งผลต่อสภาพจิตใจอย่างไรบ้าง
ระบบ ranking ไม่ได้มีผลต่ออาจารย์แต่ละคนโดยตรง แต่มีผลต่อกลุ่มผู้บริหารแต่ละแห่งมากกว่า ว่าแต่ละปีต้องมานั่งลุ้นว่าผลงานของมหาวิทยาลัยตัวเองจะไปถึงขั้นไหน แต่ว่าผลกระทบของ ranking ที่นำไปสู่เรื่องของการประเมินผลงานทางวิชาการ และการต่อสัญญา มันก็ส่งผลกระทบต่อตัวอาจารย์มหาวิทยาลัยแต่ละคนในท้ายที่สุด
อาจารย์มหาวิทยาลัยรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นเข้ามาทำงาน ถูกคาดหวังว่าจะต้องทำผลงานจำนวนมาก และต้องทำให้ได้ในเวลาที่กำหนด ถ้าไม่ทำก็จะไม่ถูกต่อสัญญา
แทบจะไม่มีวิชาชีพไหนแล้วที่เรารู้สึกไม่มั่นคงในวิชาชีพของตัวเองอยู่ตลอดเวลาเท่ากับอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยในปัจจุบันนี้ ที่พูดแบบนี้เพราะเรารู้สึกเป็นกังวลตลอดเวลาว่าเราทำงานได้ไม่พอ เรามักจะรู้สึกผิด เวลาที่เราหยุดพัก เพราะเราจะคิดว่า เราควรจะเอาเวลาพักไปผลิตงานวิชาการ เขียนบทความต่างๆ แทน ทั้งๆ ที่เราก็ทำงานเต็มเวลาอยู่แล้ว แต่มันเหมือนเราไม่เคยมีเวลาพอ มันมีความวิตกกังวลตลอด เหมือนมีผีเกาะอยู่ที่หลังเราตลอดเวลา
นอกจากมันจะทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่มีความมั่นคงในอาชีพของเราแล้ว เรายังรู้สึกด้อยค่าตัวเองตลอดเวลาด้วย เพราะแต่ละครั้งที่เราส่งงานไปตีพิมพ์แล้วถูกปฏิเสธกลับมา ถึงแม้ส่วนหนึ่งมันคือกระบวนการเรียนรู้ของตัวเราเพื่อนำไปพัฒนาตัวเองต่อไป แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันก็อาจจะทำให้เรามีคำถามกับความสามารถของตัวเราเองว่าเรายังไม่เก่งพอใช่มั้ย รวมถึงการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่มีผลงานมากกว่าเรา ในวารสารที่อยู่อันดับสูงกว่าเรา ทั้งหมดนี้มันทำให้เรามองตัวเองแบบตัดสินและมองตัวเองในแง่ลบตลอดเวลา มันเป็นผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงและเรื้อรังกับอาจารย์สมัยนี้
อาจารย์เคยรับฟังความรู้สึกของอาจารย์รุ่นใหม่ๆ ไหมว่าอะไรคือปัญหาทุกข์ใจของพวกเขา ความทุกข์เหล่านั้นมันมีอะไรเป็นจุดร่วมกันบ้าง
หนึ่งในความทุกข์ใจของพวกเขาคือปัญหาเรื่องการไม่มีเวลาทำงานวิชาการเพราะมีภาระการสอน ทั้งเรื่องการเตรียมการสอน การตรวจงาน การเจอนักศึกษา นอกจากนั้นยังมีภาระงานอื่นๆ ที่ถูกคณะมอบหมายมาให้ เช่น การเป็นคณะกรรมการต่างๆ แล้วทีนี้ พอจะทำงานวิชาการ มันก็ต้องเริ่มต้นจากการทำงานวิจัย ซึ่งทุกวันนี้ การขอทุนทำวิจัยมันก็มีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ แถมหลายทุนยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมเฉพาะบางหัวข้อ หรือมีความคาดหวังว่า ผู้ได้ทุนจะต้องตีพิมพ์ผลงานมาก่อนให้เป็นที่ประจักษ์ หรือตัวชี้วัดของงานวิจัยที่จะต้องมีการตีพิมพ์ในวารสารของระบบ scopus ซึ่งแน่นอนว่า มันไม่ได้เหมาะกับคนทำงานวิชาการในทุกสาย
บางคนบอกว่าก็ไม่ต้องมีทุนก็ได้ ทำวิจัยของเราไปเอง มันก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่แน่นอนว่าในเวลาที่เราไม่มีทุนสนับสนุนการทำวิจัยแล้ว การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเราก็ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ที่สำคัญมันก็อาจจะทำให้งานวิจัยของเรามีความน่าเชื่อถือลดลง เหมือนมันไม่มีแหล่งทุนมาการันตีคุณภาพให้งานของเรา โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคนที่ได้รับทุนทำวิจัยแล้ว คณะก็จะให้ความสำคัญกับคนที่ได้ทุนทำวิจัยมากกว่าคนที่ทำวิจัยด้วยเงินตัวเอง เรื่องต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้อาจารย์หลายๆ คนรู้สึกท้อแท้ กังวล เพราะมันมีผลต่อการประเมินผลงานของเขาทั้งนั้น
ผลกระทบมันไม่ใช่แค่เรื่องของการขอตำแหน่งเพื่อต่อสัญญาเท่านั้น แต่รวมไปถึงการประเมินผลงานรายปีก็อาจจะถูกตั้งคำถาม เขาอาจจะไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนเหมือนเพื่อนคนอื่น บางคนอาจจะถูกขู่ว่าถ้าไม่เร่งสร้างผลงานก็จะไม่ได้รับการต่อสัญญาแล้ว ความรู้สึกของการแบกความกังวล ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบต่างๆ แบกความรู้สึกว่าเราไม่มีความสามารถ ความรู้สึกที่เราด้อยค่าตัวเอง ทุกอย่างมันเป็นน้ำหนักที่กดทับลงมาที่อาจารย์หลายๆ คนในเวลานี้
ได้ยินมาว่าปัจจุบันนี้การที่อาจารย์จะได้ทุน บางมหาวิทยาลัยก็จะดูจากค่า h-index เป็นหลัก
ใช่ และองค์กรให้ทุนก็ดู h-index ด้วยเหมือนกัน มันคือการใช้การถูกอ้างอิงผลงานมาเป็นเครื่องมือประเมินนักวิชาการคนหนึ่ง หมายความว่า งานของเราไม่เพียงแต่ต้องถูกตีพิมพ์ออกมาเท่านั้น แต่มันต้องถูกอ้างอิงจากคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ควรจะเป็นอย่างนั้น ในแง่ของคุณค่าของผลงานที่มันควรจะส่งผลกระทบต่อวงการวิชาการในวงกว้าง แต่พอเราไปให้ค่ากับมันมาก ถึงขนาดใช้เป็นเครื่องมือตัดสินคุณภาพความเป็นนักวิชาการของคนๆ หนึ่ง มันถึงออกมาอย่างที่เป็นข่าวว่า มีงานของอาจารย์บางคนถูกอ้างอิงซ้ำๆ เวียนไปเวียนมาในกลุ่มคนที่จ่ายเงินเพื่อซื้อยอดการอ้างอิง เราอ้างเขา เขาอ้างเรา เราอ้างคนอื่น คนอื่นอ้างเราต่อไป มันกลายเป็นกระบวนการปั่นค่า h-index ให้สูงขึ้น
แล้วกระบวนการปั่น h-index มันส่งผลต่อวงการการศึกษาไทยอย่างไรบ้าง
มันทำให้เราตั้งคำถามกับเรื่องคุณค่าและคุณภาพของงานวิชาการในปัจจุบันมากขึ้น การจะถูกอ้างอิงมันกลายเป็นเรื่องของการช่วยกันอ้างอิง เช่น “อาจารย์เขียนบทความนะ เดี๋ยวผมอ้างอิงอาจารย์ แล้วอาจารย์กลับมาอ้างอิงงานของผม”
กระบวนการที่สนใจแต่ตัวผลลัพธ์เหล่านี้ โดยไม่สนใจว่างานที่อ้างอิงกันนั้นมันเกี่ยวข้องกันขนาดไหน จริงๆ แล้วเราควรจะอ้างอิงงานอื่นๆ ที่มันจะเชื่อมโยงกับเนื้อหาจริงๆ มากกว่างานที่ถูกขอให้อ้างอิงรึเปล่า แต่ทุกวันนี้ มันกลายเป็นการอุปถัมถ์ตอบแทนบุญคุณระหว่างกันไป เธอช่วยฉัน ฉันช่วยเธอ ระบบอุปถัมถ์ในบ้านเรามันกระจายไปหลายวงการรวมทั้งวงการวิชาการด้วย
มันทำให้เราสนใจแต่ปริมาณมากกว่าคุณภาพ
ใช่ครับ มันทำให้เราสนใจแค่กระบวนการผลิต มันทำให้เราใส่ใจเรื่องของปริมาณและวารสารที่เราจะตีพิมพ์ เราจะนึกถึงแต่วารสารที่มี ranking สูงๆ ถามว่าทั้งหมดทั้งมวลมันส่งผลกลับมาที่คุณภาพการศึกษาขนาดไหน มันส่งผลต่อโลกวิชาการขนาดไหน ผมคิดว่าเราต้องช่วยกันตั้งคำถามต่อสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่แค่การบอกว่างานที่ดีๆ มันจะพิสูจน์ด้วยตัวของมันเอง คำถามคือแล้วจะพิสูจน์อย่างไร มันต้องตอบให้ได้ก่อนว่าการที่เราตีพิมพ์ผลงานลงในวารสารและมีค่า h-index เยอะๆ มันช่วยอะไรนอกเหนือจากการที่เราได้แต้มเยอะ และได้โอกาสที่จะเข้าถึงทุนวิจัยและรางวัลจากมหาวิทยาลัย
ฟังแล้วรู้สึกว่าสถานการณ์ตอนนี้คืออาจารย์ทุกคนต้องทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอดให้ได้ มันดูแย่ขนาดนั้นไหม
บางคนอาจจะรู้สึกว่านี่คือเกมที่สนุก เขาก็มีความสนุกในการทำงาน บางคนก็รู้สึกว่าต้องทำตามหน้าที่บทบาท ส่วนบางคนรู้สึกว่าทำได้แค่ไหนก็ทำเท่านั้น อย่างมากก็ลาออก แต่แน่นอนว่าก็มีคนกลุ่มใหญ่ๆ ที่ไม่ได้มีทางเลือกในชีวิตมากมายนัก อายุก็สามสิบสี่สิบแล้ว จะให้ไปหางานอื่นก็ยากแล้ว เพราะเราเลือกที่จะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว แปลว่าเราต้องอยู่กับมันให้ได้ การอยู่กับมันให้ได้คือการพยายามทำให้ตัวเองผ่านการประเมิน และการต่อสัญญาในแต่ละครั้ง ซึ่งจะทำอย่างไรล่ะ ถ้าตัวเองพยายามแล้วก็ยังไม่ได้ มันก็ต้องแสวงหาวิธีการช่วยเหลือตัวเอง เอาตัวรอดในหลากหลายรูปแบบ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องไปโกงเสมอไปนะ
อาจารย์เคยโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กถึง ‘ภาวะหน้าไหว้หลังหลอกในวงการวิชาการไทย’ อยากให้ขยายความให้ฟังหน่อยว่ามันคืออะไร
มันเป็นภาวะของการที่เราบอกอย่างนึง แต่ความเป็นจริงเราทำอีกอย่างที่ไม่ได้สนับสนุนในสิ่งที่เราบอก ตอนนี้ปัญหาที่เราเจอแทบทุกมหาวิทยาลัยคือ ทุกที่สนับสนุนการทำวิจัย หรือสร้างผลงานวิชาการ แต่ถ้าไปดูตอนนี้จะพบว่า ยอดของการสมัครเป็นสมาชิกของวารสารวิชาการต่างประเทศมันลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด แน่นอนว่าส่วนหนึ่งอาจจะมาจากราคาสมัครเป็นสมาชิกที่สูงขึ้น แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือ การลดจำนวนเงินสนับสนุนในส่วนนี้ แล้วเอาไปทุ่มให้รางวัลตอบแทนคนที่ตีพิมพ์ผลงานแทน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง แต่ละมหาวิทยาลัยควรจะให้การสนับสนุนเรื่องพื้นฐานอย่างการสนับสนุนทรัพยากรสำหรับการทำงานวิจัย เช่น การมีฐานข้อมูลวิชาการที่สามารถให้คนจำนวนมากเข้าถึงได้ แต่ทุกวันนี้ กลับมีจำนวนที่ลดน้อยลง กลายเป็นว่าเราเน้นสนับสนุนปัจเจกบุคคลที่ทำผลงานและชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัย แทนที่จะเอาเงินตรงนั้นไปช่วยส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศทางวิชาการที่ทุกๆ คนสามารถเข้าถึงความรู้ได้ถ้วนหน้า ตอนนี้อาจารย์หลายมหาวิทยาลัยจึงเกิดปัญหาที่พอจะเข้าไปค้นหาข้อมูลงานวิชาการ ก็พบว่ามหาวิทยาลัยของตัวเองไม่ได้เป็นสมาชิกของวารสารอีกต่อไปแล้ว
เรื่องอื่นๆ ก็เช่นกัน มหาวิทยาลัยบอกว่าเรามีหน้าที่พัฒนาคน ส่งเสริมให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง แต่บทบาทหน้าที่จริงๆ ที่เราควรให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพการจัดการเรียนการสอน การดูแลสุขภาวะนิสิตนักศึกษา เราแทบจะให้ความสำคัญน้อยมาก ถ้าเทียบกับการสนับสนุนให้อาจารย์ตีพิมพ์ผลงาน เพื่อเอาคะแนนไปใช้ในการจัดอันดับโลก
ฟังแล้วเหมือนว่า มหาวิทยาลัยไทยใส่ใจและให้ความสำคัญกับอันดับโลก แต่พอกลับมาดูการดูแลเรื่องภายในบ้านตัวเองแล้ว สถานการณ์มันคนละเรื่องกันเลย
เราก็เลยจะได้ยินเสียงบ่นกันเยอะ เราอาจจะอธิบายได้ว่า ทุกคนก็บ่นในทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะได้ยินเสียงบ่นมากขึ้นเรื่อยๆ จากนักศึกษาว่าอาจารย์ไม่สนใจเรื่องการสอน สนใจแต่งานของตัวเอง อาจารย์แทบไม่ให้ความสำคัญกับงานส่วนกลางของคณะ อาจารย์ให้เวลาน้อยกับการให้คำปรึกษาแก่นักศึกษา ตัวอาจารย์เองก็จะบ่นอยู่บ่อยๆ ว่า มหาวิทยาลัยจะสนใจแค่ตัวเลขการผลิตงานวิชาการ มากกว่าคุณภาพของงานวิชาการ ทั้งที่จริงๆ แล้ว บทบาทของมหาวิทยาลัยเองควรให้ความสนใจกับเรื่องคุณภาพเป็นอันดับต้นๆ เสียงบ่นแบบนี้จะดังขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เรารับข้อมูลข่าวสารกันได้รวดเร็วมาก เรารู้ว่ามันไม่ใช่ความรู้สึกส่วนตัวของเรา แต่มันเป็นความรู้สึกร่วมของอาจารย์หลายคน
ผมไม่อยากให้เราด้อยค่าผลงานดีๆ ด้วยเช่นกัน หลายๆ ครั้งจะมีคนบอกว่า การออกมาพูดแบบนี้จะทำให้คนที่ตั้งใจทำงานรู้สึกเหมือนถูกโจมตี จริงๆ แล้วผมคิดว่าเราควรชื่นชมคนที่ทำงานวิชาการที่มีคุณภาพและพยายามสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง มหาวิทยาลัย และประเทศไทย เวลาเราพูดถึงปัญหาเราไม่ควรมองมันแบบขั้วตรงข้าม เราต้องมองสถานการณ์ให้เห็นถึงความซับซ้อน ว่ามันมีความสัมพันธ์ที่โยงใยกันไปหมด คนทำดีแล้วเราก็ต้องชื่นชม ขณะเดียวกันเราก็ต้องยอมรับว่าสังคมวิชาการควรมีความหลากหลาย ตั้งแต่ในระดับสาขาวิชา สไตล์การทำงาน ความหลากหลายในแง่ความสามารถ บางคนทำงานวิชาการเก่ง บางคนสอนเก่ง การที่บอกว่า คุณไม่ทำงานวิจัยคุณจะไม่มีทางอัพเดตความรู้ได้ มันจริงรึเปล่า การอ่านก็ทำให้เราอัพเดตความรู้ได้ใช่ไหม
การทำงานวิจัยไม่เท่ากับการอัพเดตความรู้เสมอไป เพราะทุกวันนี้มีงานวิจัยขยะออกมาจำนวนมาก มันแทบจะไม่มีอะไรให้ให้กับวงการนอกไปจากการเปลี่ยนตัวแปรอะไรสักอย่าง แล้วเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยทำมารีไซเคิลใหม่ งานแบบนี้ถือเป็นงานวิจัยนะ แต่งานวิจัยของคุณสร้างความรู้ความเข้าใจอะไรใหม่หรือมันนำไปสู่การต่อยอดอะไรไหม หรือคุณแค่ผลิตซ้ำความรู้บางอย่างเอาไว้ใช้อ้างอิงในกลุ่มของคุณเท่านั้นเอง ผมคิดว่าการกลับมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เราทำอยู่ สิ่งที่เราเคยเชื่อว่าเป็นความจริงหรือควรจะเป็นเช่นนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่เรามักชอบพูดกันว่า เป็นอาจารย์ต้องทำงานวิจัยมันจริงขนาดไหน และมันจริงหรือไม่ที่ต้องทำงานวิจัยเท่านั้นถึงจะสามารถอัพเดตความรู้ในสาขาวิชาของตัวเอง แล้วสุดท้าย ใครได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากวิธีคิดเหล่านั้น
ปัญหาจำนวนงานวิจัยขยะเยอะๆ มันก็สะท้อนได้ว่าว่าเพราะคนถูกกดดันให้ต้องปั่นจำนวนเยอะๆ เพื่ออยู่รอดรึเปล่า
แน่นอนครับ แล้วเราก็จะพบว่า จำนวนคนอ่านงานวิจัยก็น้อยลงเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน ล่าสุดเท่าที่ผมค้นข้อมูลมาพบว่าเมื่อสามสี่ปีที่แล้ว แต่ละปีมีบทความวิชาการออกมาประมาณเกือบสามล้านบทความ ถามว่าในจำนวนนี้มันมีงานที่มีประโยชน์จริงๆ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในวงวิชาการหรือในสังคมสักกี่บทความ แล้วที่เหลือมันคืออะไร เรากำลังทำอะไรกันอยู่ ทุกวันนี้เราทำงานวิจัยกันในกลุ่มปิด คือทำกันเอง อ้างอิงกันเอง ชื่นชมกันเอง เชิดชูกันเอง แล้วมันก็จบกันอยู่แค่นี้ ไม่ได้ไปไหนสักทีนึง สิ่งเหล่านี้เราต้องการเห็นกับวงการวิชาการในอนาคตรึเปล่า เราต้องถามเรื่องเหล่านี้กันเยอะๆ
มีไหมที่อาจารย์หลายคนที่ทุ่มเททำงานวิจัยที่มีคุณภาพอย่างจริงจัง แต่กลับเติบโตในเส้นทางอาชีพนี้ได้ช้ามาก
ผมคิดว่าเคสทำนองนี้มีความเฉพาะตัวมาก ถ้าไม่ติดประเด็นอย่างการเมืองในมหาวิทยาลัย หรือสถานการณ์อื่นๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ผมคิดว่า หลายคนน่าจะติดปัญหาในแง่ของการที่หัวข้อของเราที่ได้รับการตีพิพม์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในต่างประเทศหรือในไทยเองก็ตาม มันอาจจะเป็นหัวข้อที่ไปย้อนแย้งหรือไปโต้แย้งวิพากษ์งานของอาจารย์ในรุ่นเก่าก็อาจจะกลายเป็นปัญหา มันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่กระบวนการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการที่ผ่านมามันเปิดช่องให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นได้
ในแง่ของความหลากหลายของความรู้ เคยมีอาจารย์บางคนพูดกันว่า ถ้าอาจารย์ ธงชัย วินิจกุล เขียนงานวิชาการบางเรื่องเช่น Siam Mapped แล้วประเมินในไทย ก็อาจจะะผ่านได้ยากเพราะข้อจำกัดบางอย่าง
งานของอาจารย์อาจจะถูกฟ้องหรือหัวข้อไม่ผ่านกรรมการตั้งแต่แรกก็ได้ ที่สำคัญ ผลงานส่วนใหญ่ของอาจารย์อยู่ในรูปของหนังสือ ซึ่งในระบบวิชาการของเมืองไทย หนังสือถูกตีว่ามีคุณค่าน้อยกว่าบทความวิชาการ ทั้งที่จริงๆ แล้วกว่าที่หนังสือหนึ่งเล่มจะออกมาได้ มันผ่านกระบวนการคิด การตกตะกอนค่อนข้างมาก หนังสือหลายเล่มช่วยเราเปลี่ยนมุมมองต่อโลกและชีวิตได้ด้วยซ้ำ
ผมพูดมาขนาดนี้ ผมอาจจะถูกโจมตีได้ว่าอาจารย์มองโลกด้านเดียว เพราะจริงๆ แล้วมีบทความวิชาการที่มันส่งผลสะเทือนต่อสังคมและแวดวงวิชาการอย่างมากเช่นกัน ผมเห็นด้วยกับเรื่องนี้นะครับ แต่ผมเห็นว่าหนังสือหลายๆ เล่มก็ส่งคุณค่าทางวิชาการด้วย เพียงแต่มันไม่ถูกอ้างอิงในฐาน scopus เท่านั้นเอง ที่จริงเราควรส่งเสริมสนับสนุนให้อาจารย์ไทยลุกขึ้นมาเขียนหนังสือที่มีคุณภาพมากกว่านี้ เพราะจริงๆ แล้ว หนังสือและตำราที่ทันสมัยและทันต่อความเปลี่ยนแปลงในสังคมยังมีความจำเป็นอยู่สำหรับการเรียนรู้ของผู้เรียน
ปัญหาอีกเรื่องที่ถูกพูดถึงกันบ่อยๆ คือเรื่องที่อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยมองไม่เห็นความก้าวหน้าในวิชาชีพนี้อีกต่อไป อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร
ถ้าไปดูประกาศรับสมัครงานในบางที่ จะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องจบปริญญาเอก แต่ให้เงินเดือนไม่ถึงสามหมื่นด้วยซ้ำไป เราลงทุนกับการเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก แทบจะกรีดเลือดกรีดเนื้อตัวเองออกมา กว่าจะทำวิจัยเรียนจบได้มันยากเย็นเหลือเกิน แต่พอเข้าไปในระบบมหาวิทยาลัย กลับได้รับเงินเดือนน้อยนิด เราถูกทำให้ต้องไปแสวงหาเงินพิเศษทางอื่นเอาเอง เช่น ทำวิจัย สอนพิเศษ รับจ้างทำบริการวิชาการ เปิดหลักสูตรพิเศษต่างๆ เรียกได้ว่า เราทำงานเจ็ดวันต่อสัปดาห์เลยด้วยซ้ำ เวลาที่เขาบอกว่าเก้าโมงถึงสี่โมงเย็นไม่เคยมีอยู่จริงในโลกวิชาการ เพราะกลับมาถึงบ้านต้องตรวจงานนักศึกษา ต้องทำงานวิจัย มันคือวิชาชีพที่เรียกร้องจากเราสูงมาก แต่ค่าตอบแทนและการดูแล มันไม่สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับความคาดหวังจากมหาวิทยาลัย ดังนั้น จึงไม่แปลกเลยที่หลายๆ คนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ไม่อยากทำอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยอีกต่อไปแล้ว
สิ่งสำคัญที่มหาวิทยาลัยต้องทำคือให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของอาจารย์แต่ละคน การดูแลที่ไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่รวมถึงสุขภาพจิตและชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ดูแลแม้กระทั่งเรื่องเส้นทางการเติบโตในอาชีพ ช่วยให้เขามองเห็นโอกาสในอนาคตว่ามันมีทางเลือกอะไรให้กับเขาได้บ้าง ถ้าเขาไม่สามารถจะทำได้ตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดมา เราจะช่วยเหลือเขาได้อย่างไรบ้าง ทุกวันนี้เรามีแต่กระบวนการของการเชือดทิ้ง แน่นอนว่าหลายๆ ครั้งมหาวิทยาลัยได้ตัดเนื้อร้ายทิ้งออกไปจริงๆ เช่น สอนก็สอนไม่ดี งานวิจัยก็ไม่ทำ แบบนี้ก็สมควรให้ออก แต่ก็อาจจะมีอีกหลายกรณีที่อาจารย์เป็นคนตั้งใจสอนหนังสือ ให้ความดูแลเอาใจใส่นักศึกษาเป็นอย่างดี แต่เขาอาจจะไม่ได้มีความสามารถในการทำวิจัยเท่าคนอื่น ซึ่งมันไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องไปด้อยคุณค่าความเป็นอาจารย์ของเขา แต่มหาวิทยาลัยต้องเข้ามาช่วยดูแลด้วย
เมื่อรู้ว่าอาจารย์คนนี้ต้องการการสนับสนุนเรื่องการเขียนบทความวิชาการหรือเขียนหนังสือ มหาวิทยาลัยต้องมีกระบวนการช่วยเหลือตรงนี้ มากกว่าปล่อยให้เขาทำให้เสร็จแล้วไปรอให้รางวัลที่ปลายทาง การให้รางวัลอย่างเดียวไม่พอแล้ว แต่ต้องการกลไกรูปธรรมที่สนับสนุนในทุกกระบวนการ เพื่อช่วยให้อาจารย์มหาวิทยาลัยรู้สึกว่าเขามีคุณค่า ได้รับการมองเห็น และไม่ถูกทอดทิ้งให้เอาตัวรอดตามลำพัง
จริงๆ ต้องชื่นชมหลายมหาวิทยาลัยที่ทำในส่วนนี้ ที่ธรรมศาสตร์เองก็มีความพยายามทั้งในระดับคณะและมหาวิทยาลัยที่พยายามช่วยดูแลคนของตัวเอง แต่ถามว่าเพียงพอไหม ผมก็คิดว่ายังมีคนที่หลุดไปเยอะเหมือนกัน ซึ่งที่อื่นๆ ก็คงจะเป็นเช่นกัน เราจึงต้องมีพื้นที่ของการรับฟังกันและกันมากขึ้น ไม่ใช่แค่ปล่อยให้แต่ละคณะไปจัดการกันเอง ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกแห่งในฐานะที่ทำงานในเชิงภาพรวมอาจจะต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนมากกว่านี้
ถ้าปัญหาที่เราคุยกันมาทั้งหมดนี้ มันยังไม่ถูกแก้ไขไปถึงรากของมันจริงๆ มันจะส่งผลต่อวงการวิชาการไทยในระยะยาวอย่างไรบ้าง
อย่างแรกเลยก็คือหลายคนจะหมดไฟ เราอาจสูญเสียนักวิชาการรุ่นใหม่และรุ่นกลางๆ ที่รู้สึกว่าพอแล้วไม่อยากต่อสู้อะไรอีกต่อไปแล้ว คนกลุ่มนี้จะรู้สึกว่าการเป็นนักวิชาการไม่ใช่อาชีพในฝันของเขาอีกต่อไป คนที่จะรู้สึกว่ามีแพชชั่นกับการสอนหนังสือ คนที่มีแพชชั่นกับการทำงานกับนิสิตนักศึกษา คนเหล่านี้จะรู้สึกว่าไม่ได้รับการให้คุณค่าเท่าไหร่นัก
เมื่อเราสูญเสียบุคลากรเหล่านี้ไป ก็แน่นอนว่าเราสูญเสียคนที่จะช่วยพัฒนาคนรุ่นใหม่ต่อไป ไม่เพียงแค่นั้น คุณภาพของงานวิจัยทุกวันนี้ ถ้าเอาปริมาณงานวิจัยมาเทียบคุณภาพเราจะพบว่าอัตราส่วนมันต่างกันมาก เรามีบทความวิชาการจำนวนมาก แต่เรามีบทความที่มีคุณภาพมากพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือความรู้ใหม่ๆ น้อยลงเรื่อยๆ พอปัญหานี้กลายเป็นความเป็นปกติ มันจะส่งผลต่อค่านิยมอื่นๆ ต่อไป เช่น ค่านิยมที่เราไม่ให้ความสำคัญกับคุณภาพ แต่เอาตัวเลขขึ้นมาเป็นสิ่งสำคัญ ค่านิยมที่เชื่อว่าทำผิดไม่เป็นไร ตราบใดที่มันเอื้อผลประโยชน์ต่อสถาบันของตัวเอง มันกำลังจะบอกว่า เราไม่จำเป็นต้องมีจริยธรรม คุณธรรม ในแง่ของการเป็นนักวิชาการต่อไปตราบใดที่เราทำตามข้อเรียกร้องและตัวชี้วัดของมหาวิทยาลัยจบก็พอแล้ว
ในบั้นปลาย วิธีคิดหรือกระบวนการของระบบวิชาการเหล่านี้ มันจะนำไปสู่จุดล่มสลายของทั้งระบบวิชาการเลยด้วยซ้ำไป
อาจารย์หลายคนรู้สึกว่าว่าตอนนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่ง สนใจแต่ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย แต่ไม่ค่อยสนใจความทุกข์ใจของเหล่าอาจารย์เท่าไหร่ ตกลงแล้วเราควรมองเรื่องนี้อย่างไรดี
ผมพูดตรงๆ เลยนะ ในนามของคนที่เคยทำงานบริหารมา มหาวิทยาลัยก็ต้องรักษาภาพลักษณ์ของตัวเอง การรักษาภาพลักษณ์ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่คำถามคืออะไรคือจุดที่มันพอดีมากกว่า สำหรับผมแล้ว งานเชิงประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยนั้น เราก็คงต้องทำ แต่เราต้องกลับมาตั้งคำถามว่าอะไรคือพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยของเรา เรากำลังทำอะไรอยู่ บทบาทของเราในแง่ของการขับเคลื่อนสังคมคืออะไร บางครั้งมหาวิทยาลัยลืมเรื่องเหล่านี้ไป เราสนใจแต่ภาพลักษณ์การเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด โดดเด่นที่สุด จ้างโปรเฟสเซอร์ชื่อดังมาอยู่กับมหาวิทยาลัยเพื่อเพิ่มอันดับใน ranking ซึ่งมันทำให้เราพลาดโอกาสที่จะรับฟังเสียงของประชาคมในมหาวิทยาลัยว่าอาจารย์รุ่นเก่ารุ่นใหม่ นิสิตนักศึกษาเขาคาดหวังและต้องการอะไร ทุกวันนี้หลายๆ มหาวิทยาลัย ทีมบริหาร ทีมอาจารย์ ทีมนักศึกษา เหมือนเป็นศัตรูกันตลอดเวลา ฆ่าฟันกันหลังฉากต่างๆ มากมาย เราแทบไม่เหลือคุณค่าร่วมกันอีกต่อไป เราแทบจะคุยภาษาเดียวกันไม่ได้อีกต่อไป สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสที่เราต้องเริ่มหันกลับมารับฟังกันและกันมากขึ้น รับฟังเสียงอาจารย์ ฟังเสียงนักศึกษา และให้คนเหล่านั้นได้รับฟังเสียงกังวลจากผู้บริหารด้วยเช่นกัน เราต้องไม่ใช้ระบบสั่งลงมาจากข้างบนแต่เพียงอย่างเดียว
ไม่ใช่แค่เฉพาะระหว่างผู้บริหารมหาวิทยาลัยกับอาจารย์ ทุกวันนี้อาจารย์ในคณะเดียวกันแทบจะไม่ฟังกันและกัน เราทำงานแบบไซโลคือเราเดินเข้าห้องตัวเองแล้วก็จบแค่นั้น ไม่ได้สนใจกับโลกรอบข้างอีกต่อไปแล้ว ผมไม่อยากโทษพวกเขาด้วยนะครับ เพราะเข้าใจว่าสถานการณ์มันบีบบังคับพวกเขาจริงๆ เพราะทุกวันนี้แทบจะไม่มีเวลาทำงานวิชาการ หรือเตรียมการสอนอีกแล้ว ซึ่งมันทำให้พื้นที่ของการสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรับฟังเข้าอกเข้าใจกันและกันมันลดน้อยลงไปโดยปริยาย
เราจะออกจากวงจรปัญหานี้ได้อย่างไร อะไรคือสิ่งแรกที่ต้องเริ่มกันแก้ไข
ต้องเริ่มต้นด้วยการคุยกันก่อน การฟังกันและกันคือสิ่งที่จำเป็น ยกตัวอย่าง ตอนนี้ผมกำลังเริ่มทำเวทีรับฟังความคิดเห็นจากอาจารย์ทั่วประเทศ โดยทำงานร่วมมือกับมหิดลและจุฬาฯ เพื่อมาประมวลว่ามีประเด็นปัญหาอะไรบ้างที่เราควรให้ความสำคัญ แล้วช่วยกันแสวงหาความเป็นไปได้และทางออกใหม่ๆ ให้กับแวดวงวิชาการของเรา เราไม่สามารถหาฮีโร่ขี่ม้าขาวคนเดียวเพื่อเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างได้อีกต่อไป เพราะสถานกาณณ์ตอนนี้คือเมื่อแก้ปัญหานึงมันก็จะกระทบชิ่งไปอีกปัญหาหนึ่งเสมอ ดังนั้น หน้าที่ของเราคือเอาทุกอย่างมากองไว้ตรงหน้าเรา แล้วสร้างแผนที่สำรวจว่ามันมีปัญหาอะไรอยู่ตรงไหน ค่อยๆ คลี่ปัญหาออกทีละเรื่องเพื่อที่จะได้มองภาพสถานการณ์อย่างชัดๆ
เราต้องไม่สร้างนโยบายแบบเหมารวมอีกต่อไป แต่ต้องเห็นคุณค่าของความแตกต่างหลากหลายในคนทำงาน ความสามารถของคนที่ไม่เหมือนกัน เส้นทางการเติบโตของคนที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ มหาวิทยาลัยกำลังทำลายความหลากหลายนี้ไปหมด และมองว่าอาจารย์ทุกคนต้องเข้าสู่แพทเทิร์นแบบเดียวกันหมด ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตมันไม่ได้เป็นแบบนั้น