หลังจากการต่อสู้มากว่า 2 ปี ในวันนี้ (26 กันยายน) ศาลก็มีคำตัดสินให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ชำระค่าเสียหายกรณียิงกระสุนยางให้ให้กับสื่อมวลชน 2 รายจนได้รับบาดเจ็บ
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้สื่อข่าว PLUS SEVEN และ ช่างภาพ The MATTER เข้าไปรายงานสถานการณ์การชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนินและแยกนางเลิ้งเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 แต่กลับถูกยิงกระสุนยางเข้าใส่ ทั้งๆ ที่ใส่ปลอกแขนแสดงตัว และไม่ได้มีพฤติกรรมใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าจะมีการใช้ความรุนแรง ก่อจลาจล หรือก่ออันตรายให้กับบุคคลอื่น ทั้งยังไม่มีการประกาศเตือนผู้ชุมนุมว่าจะมีการใช้กระสุนยางอีกเช่นกัน
ต่อมา สื่อมวลชนทั้ง 2 รายจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหายจากสตช. ในความผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 รวมเป็นเงินกว่า 1.4 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในวันนี้ ศาลก็มีคำพิพากษาว่า ให้ สตช.ในฐานะจำเลยที่หนึ่ง และต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ชดใช้ค่าเสียหายให้ช่างภาพสื่อ 2 คนคือ ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ ผู้สื่อข่าว PLUS SEVEN เป็นจำนวนเงิน 42,000 บาท และชาญณรงค์ เอื้ออุดมโชติ ช่างภาพ The MATTER เป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท
ศาลพิพากษาว่า ในกรณีของธนาพงศ์ คฝ.ทำการละเมิดจริง เป็นการกระทำโดยไม่จำเป็น และไม่ได้สัดส่วน เนื่องจากธนาพงศ์ ยืนอยู่ในพื้นที่รวมกับกลุ่มสื่ออื่นๆ และไม่ได้ท่าทีที่คุกคามเจ้าหน้าที่ การกระทำของเจ้าหน้าที่จึงถือว่าทำโดยปราศจากความระมัดระวัง
ขณะที่กรณีของชาญณรงค์ซึ่งถูก คฝ.ยิงที่แขนซ้าย บริเวณพื้นที่ใกล้แยกนางเลิ้ง ศาลเห็นว่า เจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยางจากจุดที่ไกลเกินกว่าที่จะระบุเป้าหมายเป็นการเฉพาะเจาะจงได้ แต่ศาลก็ยังเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ เป็นการกระทำที่ขาดความระมัดระวังเช่นกัน
ศาลระบุด้วยว่า การที่ สตช.บอกว่าบาดแผลของชาญณรงค์เหมือนโดนลูกแก้วนั้น ศาลเชื่อว่าเป็นกระสุนยางจริง
สำหรับคดีนี้ ศาลแพ่งมี ‘คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว’ ไปเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 โดยสั่งให้ สตช. “ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของโจทก์และสื่อมวลชน ภายใต้หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน” อันเป็นคำสั่งที่ทำให้ ผบ.ตร.ช่วงเวลานั้น ต้องสั่งการกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมอย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชน
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา เมื่อเกิดเหตุตำรวจ คฝ.เข้าสลายการชุมนุมกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 บริเวณถนนดินสอ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 อย่างรุนแรง จนทำให้สื่อมวลชนอย่างน้อย 4 รายได้รับบาดเจ็บ ศาลแพ่งก็รับคำขอให้เรียกตัวแทน สตช. มาไต่สวนว่าได้ละเมิด ‘คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว’ จากคดีกระสุนยางหรือไม่ แม้สุดท้ายจะไม่ได้เรียกบุคคลมาไต่สวน โดยให้ส่งเอกสารมาชี้แจงแทน แต่ศาลก็ระบุว่า สื่อมวลชนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุสลายการณ์ชุมนุมกรณีสลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎรหยุด APEC2022 สามารถใช้สิทธิทางแพ่งหรือทางอาญาแยกเป็นคดีใหม่ต่างหากได้
สำหรับการนัดอ่านคำพิพากษา ‘คดีกระสุนยาง’ ของศาลแพ่งครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังการนัดไต่สวนพยาน ทั้งฝ่ายโจทก์ จำนวน 14 ปาก ระหว่างวันที่ 19-21 กรกฎาคม และฝ่ายจำเลย จำนวน 8 ปาก ระหว่างวันที่ 25-26 กรกฎาคมที่ผ่านมา
อ้างอิงจาก