เจ้าหน้าที่ทราบหรือไม่ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยกเลิกไปแล้ว?
ถนนดินสอซึ่งเป็นเส้นทางตัดผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และนับเป็นหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของเมืองหลวง ถูกบันทึกให้เป็นอีกหนึ่งที่เกิดเหตุ ของกรณีสลายการชุมนุมเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน (18 พฤศจิกายน) หลังเหตุการณ์ปะทะของเจ้าหน้าที่รัฐ กับประชาชนกลุ่ม “ราษฎรหยุดเอเปค 2022” จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บทุกฝ่าย ไม่เว้นแม้กระทั่งสื่อมวลชนที่กำลังปฏิบัติงาน
“เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เป็นข้อความที่ถูกโพสต์ผ่านออนไลน์ หลังสถานการณ์คลี่คลายไม่นาน ของ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? The MATTER มีโอกาสพูดคุยกับ อ.ปริญญา ถึงมุมมองที่มีต่อกรณีสลายการชุมนุม ที่ ถ.ดินสอ ผ่านคำอธิบายตามหลักนิติศาสตร์
เหตุผลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เป็นเวลากว่า 2 ปี 6 เดือน ที่กรุงเทพฯ อยู่ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งผ่านการต่ออายุมาถึง 19 ครั้ง ส่งผลให้วิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยน จนคุ้นชินกับสิ่งใหม่ในหลายประเด็น ไม่เว้นแม้แต่แนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ
อ.ปริญญา เริ่มต้นอธิบายว่า นับตั้งแต่ 26 มี.ค. 2563 ซึ่งมีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อเป้าหมายในการควบคุมโรค เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่ต้องคำนึงถึง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เนื่องจากมาตรา 3(6) บัญญัติยกเว้นไว้ว่า ถ้ามีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ไม่ต้องทำตามขั้นตอนตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ
“เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือ คฝ. เขาเคยชินกับการควบคุมการชุมนุมโดยไม่ได้ดูกฎหมาย” ถึงได้ปรากฏภาพการสลายการชุมนุม โดยไม่ต้องเสียเวลาร้องขอต่อศาลให้สั่งเลิกการชุมนุม ตามขั้นตอนปกติที่กฎหมายกำหนดไว้
แต่ตามที่ทราบกัน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา หลังการประชุมของ ศบค. ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในช่วงที่อยู่ในฐานะรักษาราชการแทนนายกฯ จึงเป็นผลให้ “การสลายการชุมนุมนับจากนั้น ต้องทำตามขั้นตอนตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ”
เมื่อถามไปถึงกรณีที่ผู้ชุมนุมทำผิดเงื่อนไข ที่ขออนุญาตชุมนุมแค่เพียงลานคนเมือง แต่กลับเดินขบวนลงถนน นับว่าเป็นความผิด หรือเป็นปัจจัยบ่งชี้ไปสู่การตัดสินใจสลายการชุมนุมไหม? อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า ต้องแยกประเด็นกัน เพราะนั่นจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.การจราจรทางบก ที่มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่หากพบการชุมนุมที่ผิดเงื่อนไข เจ้าหน้าที่ก็ต้องย้อนไปใช้หลักปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะอยู่ดี
ขั้นตอนปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีดังนี้
- ต้องแจ้งผู้ชุมนุมให้เลิกชุมนุมก่อน
- ถ้าผู้ชุมนุมไม่เลิกชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องไปร้องขอต่อศาลให้สั่งเลิกการชุมนุม
- ถ้าศาลเห็นว่าเป็นการชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และสั่งให้เลิกชุมนุม ก็ต้องไปปิดคำสั่งศาล และแจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบ
- ถ้าผู้ชุมนุมไม่เลิกชุมนุมก็ให้ประกาศเป็น ‘พื้นที่ควบคุม’ และกำหนดเวลาให้ผู้ชุมนุมออกจาก
- เมื่อกำหนดเวลาครบแล้วจึงจะถือว่าผู้ชุมนุม ‘กระทำผิดซึ่งหน้า’ แล้วถึงจะดำเนินการจับกุมผู้ชุมนุมได้
ปฏิบัติการที่เกินกว่าเหตุ?
หลายฝ่ายอ้างว่า ความจำเป็นที่ต้องรักษาความปลอดภัยให้กับการประชุมสุดยอดผู้นำ ที่กำลังดำเนินอยู่ในช่วงเวลานั้น เป็นปัจจัยที่นำไปสู่การสลายการชุมนุมนั้น อ.ปริญญา ให้ความเห็นว่า ฟังไม่ขึ้นเท่าที่ควร ด้วยระยะทางจากพื้นที่ชุมนุมจนถึงพื้นที่จัดประชุม มีระยะทางห่างกันค่อนข้างมาก
“ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่กับการชุมนุมช่วงเอเปค หรือกลัวจะทำให้ไทยบกพร่องในฐานะเจ้าภาพ แต่ผมว่าทุกประเทศที่มา โดยเฉพาะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเขารู้กันดี ว่าการแสดงออกของประชาชนในช่วงมีการประชุมนานาชาติ เป็นเรื่องปกติธรรมดาของประเทศเสรีประชาธิปไตย”
ประเด็นต่อมา คือ ‘การใช้กระสุนยาง’ ที่ไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุยชน ของสหประชาชาติ จนทำให้มีผู้บาดเจ็บบริเวณดวงตาในวันนั้น ภายหลังมีการระบุตัวตน คือ พายุ ดาวดิน อ.ปริญญา ก็ย้ำชัดถึงหลักการที่ว่า “ต้องยิงต่ำเท่านั้น ไม่ใช่ยิงตัว หรือยิงตา”
“ไม่ใช่เหตุเฉพาะหน้า ที่ผู้ชุมนุมมาอยู่ตรงหน้าแล้ว แบบนี้เกินกว่าเหตุแน่นอน ต่อให้อยู่ในช่วงเวลาประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ตาม”
โดย iLaw เคยเขียนถึงแนวทางการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งกระสุนยางจัดอยู่ในกลุ่มนี้ว่า ระบุว่า ควรเล็งไปที่ท้องส่วนล่าง หรือขา ของบุคคลที่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น และย้ำว่าเฉพาะที่เล็งเห็นว่ากำลังจะเกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสาธารณชน
ท้ายสุด อ.ปริญญา ระบุว่า การทำร้ายสื่อมวลชนที่มีสัญลักษณ์แสดงตัวอย่างชัดเจน ก็เป็นหนึ่งความผิดที่ชัดเจน “ผมสงสัยว่าทำไมถึงต้องทำรุนแรงขนาดนี้ ในเมื่อการชุมนุมที่ไม่แจ้งตามขั้นตอน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะเกิดขึ้นบ่อย ไม่ใช่ครั้งแรก ประเด็นคือเมื่อมีการชุมนุมที่ไม่ทำตามขั้นตอน เจ้าหน้าที่ยิ่งต้องควบคุมตามขั้นตอน ไม่ใช่ใช้กำลังจัดการเกินกว่าเหตุ”
มองการทำงานของ คฝ.
อ.ปริญญา ชวนตั้งต้นไปดู ‘ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113’ ที่ไม่เคยใครต้องถูกลงโทษด้วยมาตรานี้ ทั้งที่ผ่านการยึดอำนาจ ที่มีการล้มล้างอำนาจอธิปไตย ซึ่งประกอบไปด้วยอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ถือเป็นความผิดฐานกบฏ ต้องระวังโทษประหารชีวิต และจำคุกตลอดชีวิต มาหลายครั้งหลายหน “แล้วก็จะมีครั้งต่อไปในอนาคต เพราะไม่เคยมีใครต้องรับผิดชอบ ต่อการละเมิดกฎหมายของตนเอง”
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ อ.ปริญญา ชี้ว่า การสลายการชุมนุมที่ผ่านมาก็ไม่ต่างกัน ด้วยความคุ้นชินที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย หากเป็นการกระทำที่สมควรแก้เหตุ ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินกว่าประเด็นจำเป็น “ถึงได้เกิดเป็นการปฏิบัติแบบที่ไม่ต้องระมัดระวังอะไรมาก”
“ควบคุมฝูงชน ไม่ใช่การไปตีกับฝูงชน” เป็นความเข้าใจพื้นฐานที่ต้องยอมรับว่าอาจเข้าใจไม่ตรงกันในหมู่เจ้าหน้าที่ สะท้อนมาตรฐานของการฝึกอบรมที่จำเป็นต้องถูกพูดถึง ไม่เว้นแม้แต่การทำความใจขั้นตอนปฏิบัติตามกฎหมาย ที่ต้องเริ่มต้นด้วยการเจรจา ก่อนที่จะขยับมาตรการเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด
“หน้างานธรรมดาที่จะกระทบกระทั่งบ้าง ผู้ชุมนุมเองก็อาจเลยเถิด แต่มันเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ที่ฝึกมาให้ควบคุม จะควบคุมฝูงชนได้ ต้องควบคุมตัวเองให้ได้ก่อน”
อย่างไรก็ดี เมื่อทุกวันนี้มีการบังคับใช้ตามกฎหมายทั่วไป หลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้ว นั่นเท่ากับว่า “ไม่มี พรก.ฉุกเฉินฯ มาคุ้มครองเจ้าหน้าที่ ที่สลายการชุมนุมบริเวณ ถ.ดินสอ ที่ผ่านมาอยู่แล้ว”
ถามหาบุคคลที่ยังลอยนวล?
อ.ปริญญา ตั้งคำถามต่อไปว่า หาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึงตำรวจไม่เคารพกฎหมายเสียเองในการควบคุมฝูงชน แล้วจะไปเรียกร้องให้ประชาชนให้เคารพกฎหมายได้อย่างไร ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีรากลึกมาตั้งแต่ครั้งที่นายกฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ แล้วอ่านรัฐธรรมนูญไม่ครบ ซึ่งละไว้ในตอนที่ว่า “ทั้งจะรักษาไว้ และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญ”
“การทำให้สังคมอยู่ร่วมกันภายใต้กฎหมายอย่างเสมอภาค จะเรียกร้องประชาชนข้างเดียวไม่ได้ ตัวเองต้องทำตัวเป็นตัวอย่างก่อน แล้วการบังคับใช้กฎหมายที่ประชาชนจะยอม คือผู้บังคับใช้ต้องเคารพกฎหมายด้วย นี่เป็นข้อสำคัญ”
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ อ.ปริญญา มองว่าการสลายการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นนี้ ต้องมีการดำเนินคดีให้เป็นคดีตัวอย่าง โดยวัตถุประสงค์สำคัญ ไม่ใช่เพื่อลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเท่านั้น แต่ควรต้องฟ้องไปถึงนายกฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
อ.ปริญญา กลับมองว่าการวางหมากให้ ‘ตำรวจ’ เป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ชุมนุม แทนที่จะมุ่งไปที่รัฐบาลนั้น ก็เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งของรัฐบาลทหาร
อาจารย์กฎหมายมหาชน ชวนจับตาว่า การตรวจสอบเหตุสลายการชุมนุมที่นำไปสู่การบาดเจ็บครั้งนี้ ที่เขาเชื่อว่าไม่เป็นไปตามกฎหมาย จะเงียบหายไปเช่นทุกครั้งหรือไม่
“จะบอกผู้ชุมนุมว่าให้ทำตามกฎหมาย ผู้รักษากฎหมายก็ต้องทำตามด้วย” อ.ปริญญา กล่าว