ความรุนแรงในรั้วโรงเรียนไทยมักปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ล่าสุดก็มีประเด็นที่ครูทำร้ายนักเรียนจนเป็นกระแสตลอดทั้งวันที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยระบุว่า ความรุนแรงในโรงเรียนมักจะเกิดขึ้นโดยครู ดังนั้น The MATTER จึงชวนทุกคนมาดูวิธีที่จะเป็นประโยชน์ในการลดความรุนแรงที่เกิดขึ้น
เล่าก่อนว่า เราคงจะทราบดีว่าโรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ของเรา เพราะเราอยู่กับมันตั้งแต่เด็กจนโต ทว่าผลการศึกษาเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากครูในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางมีเปอร์เซ็นต์ที่เยอะจนน่าตกใจ
โดยความรุนแรงดังกล่าวมักจะเป็นฝีมือของ ‘ครู’ ผู้ที่ถือมีบทบาทสำคัญในโรงเรียน ทั้งนี้ มีผู้คนมากมายชี้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากวัฒนธรรมอำนาจนิยมฝังรากลึกในสังคมไทย
“ความสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนมีสถานะไม่เท่ากันตั้งแต่แรก เมื่อครูคิด ครูพูด ครูทำอะไรจะถูกหมด นักเรียนมีหน้าที่ทำตามที่ครูบอก วัฒนธรรมนี้อยู่กับระบบการศึกษาไทยมานานมาก และการตีถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้วัฒนธรรมนี้ยังคงอยู่และอยู่ต่อไป..” กานน คุมพ์ประพันธ์ ผู้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับประเด็นการลงโทษของครูระบุ
อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จึงมีผลงานวิจัยมากมายที่พยายามเสาะหาวิธีที่จะช่วยลดความรุนแรงในโรงเรียน ซึ่งเราหยิบยกมา 5 ประการดังนี้
1. การอบรมให้ครูตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังใช้ความรุนแรง พร้อมทั้งแนะนำวิธีที่ที่เหมาะสมแก่การสร้างวินัยกับนักเรียน เช่น ถ้านักเรียนนทำถูกก็มอบรางวัลหรือให้คำชื่นชมแก่พวกเขา แต่ถ้านักเรียนประพฤติตัวไม่เหมาะสมก็ควรใช้วิธีการพูดคุย สอบถามก่อน ไม่ใช่ลงโทษด้วยการทำร้ายจิตใจและร่างกาย ดังนั้นเมื่อครูนำแนวทางเหล่านี้มาใช้จะทำให้ทัศนคติต่อการใช้ความรุนแรงจะเปลี่ยนไป
2. การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและลดภาระหน้าที่ เพราะว่าครูส่วนใหญ่มักจะต้องทำงานในห้องเรียนที่แออัดและมีทรัพยากรไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ยังมีงานอื่นๆ ที่ต้องทำนอกเหนือจากการสอนอีก แต่กลับได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่ไม่เหมาะสม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความเครียด ดังนั้นการรับฟังข้อเรียกร้องของครูจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก
3. การร่วมมือกันของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงเรียน เช่น ครู ผู้บริหารโรงเรียน เด็ก และผู้ปกครอง เนื่องจากการพูดคุยและรับรู้ร่วมกันจะสามารถป้องกันความรุนแรงที่เกิดขึ้นแก่เด็กได้
4. การให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน ซึ่งเป็นวิธีเชิงบวกในการลดความรุนแรงอย่างแท้จริง เพราะการที่ทั้งสองฝ่ายมีการพูดคุยและเข้าใจขอบเขตของกันและกัน จะช่วยลดความรุนแรงได้
5. การทำให้นักเรียนรู้สึกว่าการรายงานครูที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสมนั่นเป็นสิ่งที่ทำได้ เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่มักจะไม่กล้าที่จะขอความช่วยเหลือ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ยากสำหรับพวกเขา ดังนั้นผู้คนที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็ก ทั้งผู้ปกครอง ครูท่านอื่น หน่วยงานต่างๆ เป็นต้น ควรจะเป็นพื้นที่ที่ทำให้เด็กรู้สึกว่า ถ้าพวกเขาบอกอะไรไป พวกเขาจะได้รับการช่วยเหลืออย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ปัญหาความรุนแรงที่ครูกระทำต่อเด็ก ต้องย้อนดูก่อนว่าสาเหตุมาจากอะไร ซึ่งมีหลายปัจจัยทั้งอัตลักษณ์ความเป็นครู วิธีคิดเรื่องความเป็นครูในสังคมไทย ซึ่งทั้งหมดล้วนผูกอยู่กับ ‘วัฒนธรรมอำนาจนิยม’ ท้ายที่สุดแล้ว ปัจจุบันเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความรุนแรงภายในโรงเรียนเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือทำความเข้าใจถึงต้นตออย่างจริงจัง
อ้างอิงจาก