บ่อยครั้งที่เรามักจะเห็นคลิปนักเรียนไวรัลในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียออนไลน์ ไม่ว่าจะคลิปครูตัดผมเด็ก คลิปเด็กร้องไห้เพราะไม่อยากไปโรงเรียน หรือคลิปเด็กเขียนการ์ดให้บุพการีที่ล่วงลับ เป็นต้น คลิปเหล่านี้มักมียอดชมและยอดไลก์สูง บางคนอาจมองว่าตลกและน่าเอ็นดู แต่หลายฝ่ายก็กังวลว่านี่เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก
จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ ‘หมอโอ๋’ จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน คือหนึ่งในกลุ่มที่กังวลถึงสิทธิเด็ก เธอจึงตัดสินใจสร้างแคมเปญรณรงค์ ‘กระทรวงศึกษาต้องปกป้อง #นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ #TikTok’ ผ่าน change.org โดยชวนให้ประชาชนร่วมเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการออกกฎคุ้มครองสิทธิเด็ก ไม่ให้ครูหรือบุคลากรทางการศึกษาใช้เด็กมาผลิตคอนเทนต์ โดยเฉพาะกรณีที่ทำให้เด็กเกิดความอับอายหรือละเมิดสิทธิรูปแบบอื่น
จิราภรณ์เล็งเห็นว่า เด็กมักจะถูกทำคอนเทนต์เพื่อเรียกยอดไลก์ ซึ่งหลายคอนเทนต์มักเกิดขึ้นโดยที่เด็กๆ ไม่ยินยอม ไม่รู้ตัว ไม่เข้าใจ ไม่สนุกด้วย หรือปฏิเสธไม่ได้ เพราะคนถ่ายทำคือผู้มีอำนาจในโรงเรียน ทั้งยังชี้ว่า บางคอนเทนต์ถือเป็นการ social bullying ที่ส่งผลเสียและละเมิดสิทธิเด็ก
“ประเด็นหนึ่งที่น่ากังวลในตอนนี้ คือ คลิปไวรัลเหล่านี้มาจาก ‘ครู’ ผู้ซึ่งมีหน้าที่พิทักษ์สิทธิของเด็กเสียเอง ทั้งๆ ที่โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นที่ที่ทำให้เด็กเข้าใจเรื่องการเคารพสิทธิผู้อื่น แต่กลับกลายเป็นว่าเด็กๆ ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างคอนเทนท์ให้ครู ซึ่งกรณีแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความไม่ระวังของครู หรือเพราะกระทรวงไม่มีกฎที่ห้ามครูทำอย่างนี้กับเด็กโดยชัดเจน” ข้อความนี้ถูกระบุไว้ในรายละเอียดของแคมเปญรณรงค์
นอกจากนี้ จิราภรณ์ ระบุว่า คอนเทนต์ที่อยู่บนโลกออนไลน์มักจะอยู่ที่นั่นตลอดไป ซึ่งอาจทำให้เด็กๆ หลายคนรู้สึกไม่ดีได้
แคมเปญนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 65 และขณะนี้มีผู้ร่วมสนับสนุนแล้วอย่างน้อย 650 ราย โดยผู้ร่วมลงชื่อหลายรายแสดงความคิดเห็นตรงกันว่า การที่ครูถ่ายคลิปเด็กทำคอนเทนต์ออนไลน์เป็นการละเมิดสิทธิของเด็กอย่างแท้จริง
อ้างอิงจาก