จากอดีตถึงปัจจุบัน ผู้หญิงไม่เคยได้รับการปฏิบัติในโลกการงานเท่ากับผู้ชาย พวกเธอถูกกดค่าแรง กดไม่ให้เลื่อนขั้น และเป็นกลุ่มแรกที่ถูกโรงงานไล่ออกในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ คำถามคือ ทำไมตลอดระยะเวลา 200 ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงถึงได้ค่าแรงที่ต่ำและถูกจ้างงานน้อยกว่าผู้ชาย
คลอเดียร์ โกดิน ผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2023 และนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาด ได้วิเคราะห์ข้อมูลค่าแรงและอัตราการจ้างงานผู้หญิงสหรัฐฯ ตลอด 200 ปี และได้พบว่า การเติบโตของผู้หญิงในตลาดแรงงานไม่ได้เป็นเส้นตรง แต่เป็นรูปตัว U โดยในช่วงศตวรรษที่ 19 ผู้หญิงจะต้องออกจากตลาดแรงงานหลังแต่งงาน แต่ในศรวรรษที่ 20 ผู้หญิงเริ่มมีที่ทางในตลาดแรงงาน พร้อมกับการเติบโตของธุรกิจภาคบริการ จนกระทั่งในปัจจุบันที่ผู้หญิงในประเทศพัฒนาแล้วบางแห่งมีรายได้สูงกว่าผู้ชายโดยเฉลี่ย
ข้อสรุปหนึ่งจากงานวิจัยของโกดินคือ การได้รับการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญมากต่อผู้หญิงในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมถึงประสบการณ์ของคนรุ่นที่แล้ว (แม่หรือยาย) ต่อเรื่องการมีครอบครัวก็มีส่วนกำหนดรายได้และการจ้างงานผู้หญิงในตลาดแรงงานด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ยิ่งคนรุ่นที่แล้วมีมุมมองต่อหน้าที่ของผู้หญิงแบบดั้งเดิมมากเท่าไหร่ ผู้หญิงในสังคมนั้นก็จะมีค่าแรงที่ต่ำและถูกจ้างงานน้อยเท่านั้น
“การเข้าใจบทบาทของผู้หญิงในตลาดแรงงานเป็นสิ่งสำคัญ เราขอขอบคุณ คลอเดียร์ โกดิน สำหรับการวิจัยที่ทำให้เราเข้าใจปัจจัยที่แฝงอยู่ใต้พรม ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขในอนาคต” จาร์คอบ เสวนเซ่น กรรมการรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์กล่าว
สำหรับโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2022 มอบให้กับ เบน เบอร์นานเก, ดักลาส ไดมอนด์, และฟิลิป ดิบวิก 3 นักเศรษฐศาสตร์ที่วางรากฐานของการศึกษาธนาคาร และทำให้เราเห็นถึงความสัมพันธ์ของธนาคารกับระบบเศรษฐกิจอย่างไรในช่วงวิกฤต ซึ่งงานศึกษาของทั้ง 3 คน ช่วยให้ภาครัฐกำหนดกรอบนโยบาย รวมถึงดูแลกำกับการทำงานของธนาคาร โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตทางการเงินได้ดีขึ้น
อ่านรางวัลโนเบลสาขาเศรษศาสตร์ปี 2022 ได้ที่: https://thematter.co/brief/187646/187646
อัางอิงจาก:
https://www.nobelprize.org/prizes/economic-sciences/2023/press-release/