วันนี้ (25 ตุลาคม) หลังจากที่พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคก้าวไกล เสนอญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้ ครม.ดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามกลไกของ พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 9 (4)
ต่อมา ทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีมติ ‘ไม่เห็นชอบ’ กับญัตติดังกล่าวด้วยคะแนน 262 เสียง (เดิม 261 เสียง ก่อนจะเพิ่มมาอีก 1 เสียง) เห็นชอบ 162 เสียง และงดออกเสียงอีก 6 เสียง
ทั้งนี้ ในการอภิปรายของพริษฐ์ ระบุว่าการทำประชามติ จะเป็นกระดุมเม็ดแรกที่จะเดินหน้าไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
1. ทำไมถึงจำเป็นต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่? พริษฐ์ระบุว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ขาดความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยทั้งในส่วนของกระบวนการ ที่มา และเนื้อหา
แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะผ่านการทำประชามติ แต่พริษฐ์ระบุว่าไม่ใช่ประชามติที่เสรีและเป็นธรรม หลายคนที่รณรงค์คัดค้านก็ถูกดำเนินคดี อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในวงกว้าง แต่ถูกเขียนขึ้นโดยคนไม่กี่คน
ด้านเนื้อหา พริษฐ์ระบุว่ามีการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนน้อยลง ทั้งยังเพิ่มข้ออ้างเรื่องความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยที่ตีความได้กว้างขวางเพื่อใช้ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
รวมไปถึง ยังมีการขยายอำนาจให้กับหลายสถาบัน ที่พริษฐ์เห็นว่าถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อขัดขวาง บิดเบือนเสียงของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกลไกของวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ หรือยุทธศาสตร์ชาติ
เมื่อมีปัญหา พริษฐ์ก็ยืนยันว่า “การแก้ไขรายมาตรา ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาทั้งหมด” แต่ต้องมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรม ผ่าน สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100%
2. ทำไมต้องทำประชามติ? พริษฐ์กล่าวว่าจริงๆ แล้ว ต้องทำประชามติอย่างน้อย 2 ครั้ง คือก่อน สสร.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และหลังจากที่ สสร.ยกร่างสำเร็จเท่านั้น ซึ่งก้าวไกลก็ยืนยันหลักการว่าการทำประชามติ 2 ครั้ง เพียงพอแล้ว
อย่างไรก็ดี ประเด็นการทำประชามติก็เป็นที่ถกเถียง เนื่องจากเคยมีการอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตีความว่าต้องมีการจัดทำประชามติอีก 1 ครั้ง ก่อนจะเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญใดๆ ก็ตาม (รวมเป็น 3 ครั้ง)
พริษฐ์ก็ระบุว่า ในการทางการเมือง เป็นเรื่องที่ยอมรับได้หากจะต้องทำประชามติเพิ่มขึ้นมา เพราะประชามติดังกล่าวเป็นวิธีที่ตรงไปตรงมาในการสอบถาม ‘ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดในประเทศ’ ว่าอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และผลของประชามตินั้น ก็จะทำให้ไม่มีสมาชิกคนไหน ยกเหตุผลหรือข้ออ้างใดๆ ที่จะปัดตกเจตจำนงของประชาชน
3. ทำไมถึงเสนอคำถาม “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน?”
ประเด็นเรื่อง ‘การแก้ไขทั้งฉบับ’ ปรากฏเป็นข้อกังวลในสังคมไทยที่ผ่านมา ซึ่งพริษฐ์อธิบายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไม่ได้หมายความว่าจำเป็นต้องแก้ไขทั้งฉบับ เพราะในรัฐธรรมนูญก็มีข้อกำหนดอยู่แล้วว่าไม่สามารถแก้ไขรูปแบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรูปแบบของรัฐได้
ส่วนสาเหตุที่เลือกใช้คำถามดังกล่าวนี้ พริษฐ์มองว่าเป็นคำถามที่เข้าใจง่าย ไม่ชี้นำ และไม่ใช่ของใหม่ เพราะเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2565 สส.ก้าวไกล และ สส.เพื่อไทย เคยเสนอคำถามดังกล่าว ซึ่งได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จาก สส.ทุกพรรคการเมืองหลักที่เข้าประชุม
4. ทำไมถึงเสนอการทำประชามติผ่านกลไกสภาผู้แทนราษฎร?
พริษฐ์อธิบายถึงวิธีการทำประชามติ ซึ่งกฎหมายระบุว่าสามารถทำได้ผ่าน 3 กลไก คือ มติของ ครม. การให้ประชาชนเข้าชื่ออย่างน้อย 50,000 รายชื่อเพื่อให้ ครม.อนุมัติ และการที่สมาชิกรัฐสภาเสนอให้สภาผู้แทนรษฎรและวุฒิสภาเห็นชอบ
ในตอนนี้ มีรายงานว่า รัฐบาลจะใช้มติ ครม.เพื่อดำเนิการ อีกทั้งประชาชนก็เข้ารายชื่อกันในโครงการ ‘con for all’ ซึ่งสามารถรวบรวมได้ 200,000 กว่ารายชื่อ แต่พรรคก้าวไกลก็เลือกที่จะเสนออีกรอบ เพราะไม่รู้เลยว่ารัฐบาลคิดเห็นอย่างไรกับการทำประชามติ หรือคำถามประชามติ ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลจะคิดเห็นอย่างไร การยื่นญัตติวันนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่าย และไม่ได้ก่อความเสียหาย
ทางด้านของ ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถือเป็นฉันทามติร่วมของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยในหลักการและเป้าหมาย เพราะพรรคเพื่อไทยประกาศต่อประชาชนทั่วประเทศ ว่าจะมีการจัดทำประชามติเพื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ลิณธิภรณ์ระบุว่า ไม่เห็นชอบกับญัตตินี้ เพราะต้องพิจารณาคำถามประชามติให้ถี่ถ้วน แต่เมื่อพิจารณาคำถามที่พรรคก้าวไกลเสนอมา ก็มีข้อสังเกตถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ‘ทั้งฉบับ’ ที่อาจนำไปสู่ข้อกังวลเรื่องการแก้ไขหมวด 1 และ 2 จนอาจกลายมาเป็นความขัดแย้งทางการเมือง
ลิณธิภรณ์ ระบุว่าพรรคเพื่อไทยมีแนวทาง “เราน่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 เพื่อปลดล็อกข้อกังขาของทุกฝ่าย”
ประเด็นเรื่อง สสร.จากการเลือกตั้งนั้น ลิณธิภรณ์ ระบุว่า เพื่อไทยเห็นด้วย แต่การระบุว่า สสร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง ‘โดยตรง’ ของประชาชน ถือเป็นการตีกรอบที่มาของ สสร.จนเกิดเหตุ
เช่นเดียวกับ ทรงยศ รามสูต สส.เพื่อไทย ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ‘ไม่เป็นประชาธิปไตย’ สมควรต้องมีการแก้ไข แต่ยังมีข้อถกเถียงว่าต้องแก้หมวดไหนบ้าง ประเด็นเรื่อง สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ยังถกเถียงกันว่ามาจากแหล่งใดบ้าง
รวมไปถึง ทรงยศยังกล่าวว่าการทำประชามติแต่ละครั้งใช้งบประมาณไม่ต่ำว่า 5,000-6,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นต้องรอบคอบ แล้วต้องทำประชามติไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง คือแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 และหลังจากรัฐธรรมนูญเสร็จ ไม่แน่ว่าจะมีครั้งที่ 3 หรือไม่
“เห็นด้วยในหลักการ แต่ว่าไม่เห็นด้วยในรายละเอียดและวิธีการ เพราะรัฐบาลก็จะดำเนินการอยู่แล้ว”
สอดคล้องกับความเห็นของ อรรถกร ศิริลัทธยากร สส.พลังประชารัฐ ที่ยืนยันว่าจะไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2
อรรถกรระบุว่า เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลที่จะแก้ไขอย่างจับต้องได้ เป็นรูปธรรม เพราะรองนายกฯ พร้อม รมว.พาณิชย์ ตั้งอนุกรรมการรับฟังความเห็นประชาชน และศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“เราควรจะให้เวลากับรัฐบาล เราควรจะให้เวลากับอนุกรรมการทั้ง 2 คณะ ให้เวลาเขาเถอะครับ” อรรถกรกล่าว พร้อมระบุว่าถ้าเขาเห็นชอบ จะเป็นการ ‘ข้ามหัว’ รัฐบาลและอนุกรรมการ
ต่อมา รังสิมันต์ โรม สส.ก้าวไกลชี้แจงถึงข้อกังวลเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับว่าที่ผ่านมาก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่มาตรา 1 จนถึงมาตราสุดท้ายหลายครั้ง ปรากฏว่าไม่มีปัญหาอะไร
“ทำไมทหารทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ แต่คนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่สามารถทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้” รังสิมันต์กล่าว
รังสิมันต์ ยังกล่าวถึงประเด็น สสร.จากการเลือกตั้ง 100% ซึ่งมีคนที่อภิปรายว่า ไม่เชื่อว่า 100% จะสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายได้ เขาก็มองว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะ สส.ในที่นี้ก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ประเด็นที่รัฐบาลมีแผนจะทำประชามติอยู่แล้วนั้น รังสิมันต์ก็กล่าวว่า กรรมการที่มีการตั้งอยู่ เป็นของฝ่ายบริหาร แต่สภาผู้แทนราษฎรเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และการที่จะไม่เชื่อในกระบวนการของฝ่ายบริหารที่ทำอยู่นั้น ‘ผิดตรงไหน’
“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่คู่ควรกับการเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศนี้แม้แต่วินาทีเดียว” รังสิมันต์กล่าว