#ConforAll แถลงข่าวขอพบ นายกฯ เพื่อเข้าไปชี้แจงและสอบถามแนวทางการทำประชามติ หลังพบว่าคำถามของทางคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ อาจสร้างความสับสน ทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญไม่เดินหน้า จนอาจกลายเป็นหนึ่งในชนวนเหตุของความขัดแย้ง
วันนี้ (12 มกราคม) กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ #ConforAll แถลงข่าวขอพบ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ เพื่อหารือเรื่องคำถามประชามติ หลังเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการ (คกก.) ศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ ได้แถลงผลสรุปการทำงานตลอด 3 เดือน มีสาระสำคัญว่า จะจัดทำประชามติ 3 ครั้ง โดยในการทำประชามติครั้งแรกจะใช้คำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”
สาเหตุที่ต้องขอเข้าพบนายกฯ นั้น ทางกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญระบุว่า ครม.มีส่วนในการกำหนดคำถาม เพราะฉะนั้น การเข้าไปคุยกับ ครม.จึงเป็นเรื่องสำคัญ
กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่า คำถามของ คกก.เป็นการนำ ‘เจตจำนง’ ที่ว่าประชาชนต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ มาปนกับ ‘เนื้อหา’ ในส่วนที่จะร่างแก้ไข ซึ่งเนื้อหาที่จะแก้นั้น ยังไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องมาคุยกันตอนนี้
อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญยังย้ำว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ แต่การจะแก้ไขเนื้อหาในส่วนไหนบ้างนั้น เป็นส่วนหน้าที่ของ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่ง สสร.ที่ว่านี้ ทางกลุ่มก็มองว่าต้องมาจากการเลือกตั้ง เพื่อท้ายที่สุดแล้ว สังคมจะได้มีรัฐธรรมนูญที่สะท้อนเจตจำนงของประชาชน เช่น ถ้าประชาชนคนไหนไม่อยากแก้ไขหมวด 1-2 ก็จะได้เลือก สสร.ที่ไม่แก้ไขหมวดดังกล่าวเข้าไป
รวมไปถึง คำถามของ คกก.ยังอาจสร้างความสับสน ไม่ชัดเจน อาจทำให้เสียงของประชาชนถูกบิดเบือน เพราะคำถามดังกล่าว อาจทำให้คนที่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่อยากให้แก้ไขได้ทั้งหมด ไม่เห็นชอบกับคำถามประชามตินี้ ทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญไม่เดินหน้า จนอาจกลายเป็นหนึ่งในชนวนเหตุของความขัดแย้งในอนาคต
ดังนี้ ทางกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญจึงขอให้นายกฯ ทบทวนคำถามประชามติ ที่ต้องเป็นคำถามเปิดกว้าง เป็นคำถามพื้นฐาน ถามประเด็นเดียว แต่อาจมีหลายคำถาม หรือใส่เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 ที่ระบุว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐและระบอบการปกครองได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องล็อกหมวดในการแก้
อีกประเด็นหนึ่งที่ทางกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญต้องการคือ ให้นายกฯ รับรองคำถามประชามติที่ประชาชนกว่า 2 แสนรายชื่อได้เสนอไป พร้อมกับขอให้ทาง ครม.ให้ความสำคัญและไม่มองข้ามเสียงของประชาชน 2 แสนกว่ารายชื่อ
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งข้อสังเกตจากกกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญอีกเช่นกันว่า คำถามประชามติของ คกก.นั้น ไม่มีการกล่าวถึงที่มาของ สสร. ซึ่งไม่มีอะไรรับรองว่าจะมี สสร.จากการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ ทางกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญยังเตรียมยื่นหนังสือขอเข้าพบนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 15 มกราคมนี้ เพื่อหารือทางออกแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ
อ้างอิงจาก