วันนี้ (10 พฤศจิกายน) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงข้อสรุปของรัฐบาลถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า จะมีการนำเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งจะอยู่ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคน และอีก 1 แสนล้านบาท จะอยู่ในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ
ที่มาของตัวเลขนั้น เศรษฐาระบุว่ามาจากการฟังความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่มาทำงานร่วมกัน และปรับเงื่อนไขของโครงการให้รัดกุมขึ้น
เศรษฐากล่าวว่า รัฐบาลจะมอบเงิน 1 หมื่นบาท ให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน หรือมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท [ถ้ามีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทก็ไม่เข้าเงื่อนไขการรับสิทธิ]
สำหรับการใช้สิทธิ เศรษฐากล่าวว่าให้สิทธิใช้ครั้งแรกในระยะเวลา 6 เดือน หลังโครงการเริ่ม ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในช่วงพฤษภาคม 2567 และสิ้นสุดโครงการ ในปี 2570
เศรษฐากล่าวว่า การใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ตนั้น จะเป็นการพัฒนาต่อยอดระบบ ‘เป๋าตัง’ ให้สามารถทำงานโดยมี blockchain อยู่ข้างหลังเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อป้องกันการทุจริต
อีกทั้ง เศรษฐายังกล่าวว่าจะขยายพื้นที่การใช้จ่ายไปในระดับอำเภอตามบัตรประชาชน
ดิจิทัลวอลเล็ตนี้ สามารถใช้ได้กับสินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร เครื่องดื่มได้เท่านั้น ไม่สามารถใช้กับการบริการต่างๆ สินค้าออนไลน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กระท่อม กัญชา บัตรกำนัล บัตรเงินสด เพชร พลอย ทองคำ อัญมณี การชำระหนี้ ค่าเรียน ค่าเทอม ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ
รวมไปถึง ดิจทัลวอลเล็ตยังไม่สามารถแลกเป็นเงินสด และไม่สามารถใช้แลกเปลี่ยนในตลาดต่างๆ ได้
สำหรับที่มาของงบประมาณ เศรษฐาระบุว่า คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดในการดำเนินนโยบายนี้ คือการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท และมั่นใจว่าจะได้รับการอนุมัติ
พร้อมกันนี้ เศรษฐายังระบุว่า รัฐบาลจะใช้เงินในการ ‘เพิ่มขีดความสามารถ’ ภายใต้งบ 1 แสนล้านบาท และส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล พัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ฯลฯ ซึ่งจะสามารถเริ่มใช้ได้ในเดือนมิถุนายน 2567
กองทุนนี้ เศรษฐาระบุว่าจะใช้ในการดึงดูดบุคคลที่มีความสามารถให้เข้ามามีส่วนร่วม ในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องต่อไป
นอกจากนี้ เศรษฐาระบุว่า ยังมีโครงการ e-refund ให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลจากการซื้อสินค้า และบริการมูลค่าไม่เกิน 5 หมื่นบาท โดยให้ใบกำกับภาษีมาประกอบยื่นภาษี และรัฐจะคืนเงินภาษีให้ ซึ่งโครงการนี้จะเริ่มในเดือนมกราคม 2567
ดังนั้น คนที่ไม่ได้รับสิทธิดิจิทัลวอลเล็ต ก็สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการนี้ได้ และจะทำให้ร้านค้าเข้าระบบภาษีดิจิทัลอีกด้วย
เศรษฐายังกล่าวว่า นโยบายนี้จะส่งผลดีต่อประเทศ 2 ด้าน
1. กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศในระยะสั้น โดยมีประชาชนทุกภาคส่วนเป็นกลไกที่สำคัญ ผ่านการบริโภคและการลงทุน
2. วางโครงสร้างพื้นฐาน นำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และ e-goverment ซึ่งเป็นการวางและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศในระยะยาว
“นี่ไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ ผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาลในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ยังรักษาการเงินการคลังของรัฐทุกประการ” เศรษฐากล่าว
ทั้งนี้ เศรษฐาระบุว่า ทุกอย่างที่แถลงจะยังต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายและมติคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องก่อนจะสรุปเป็นไฟนอลอีกครั้ง
อ้างอิงจาก