ไม่ต้องพิมพ์ให้เมื่อยมือทุกคนก็คงรู้อยู่แล้วว่าเรากำลังเผชิญวิกฤติ ‘แพงทั้งแผ่นดิน’ ทั้งราคาข้าวของเครื่องใช้ อาหารทั้งสดและปรุงสุก ค่าน้ำค่าไฟ ค่าน้ำมันค่าแก๊ส และอีกสารพัดที่ทำเอากระเป๋าเงินแห้งกว่าที่เคย ตัวเลขเงินเฟ้ออย่างเป็นทางการก็ยืนยันว่าเราไม่ได้คิดไปเอง เพราะเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อแตะระดับ 7.10% ทุบสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี
ส่วนใครที่มีความหวังเล็กๆ ว่าอีกไม่นานสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผมคงต้องขอแสดงความเสียใจด้วยเพราะคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย มีจดหมายเปิดผนึกคาดว่า อัตราเงินเฟ้อน่าจะคงอยู่ในระดับเกิน 5% ไปจนถึงสิ้นปี กว่าจะเข้าที่เข้าทางอาจต้องรอถึงต้นปีหน้า
แม้ว่าของแพงจะสร้างความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า แต่ทราบไหมครับว่าคนที่เจ็บหนักที่สุดจากภาวะเงินเฟ้อสูงนี้คือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย แต่ก่อนที่ผมจะเฉลยว่าเพราะอะไร ขอใช้พื้นที่สักหน่อยเพื่อทำความเข้าใจว่าตัวเลข ‘เงินเฟ้อ’ ที่ได้เห็นได้ยินกันจนเบื่อนั้นคำนวณมาอย่างไร
รู้จัก ‘อัตราเงินเฟ้อ’
แม้ว่าหลายคนคงทราบดีว่าเงินเฟ้อหมายถึงเงินที่อยู่ในกระเป๋าจะมีมูลค่าน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป เช่น เมื่อห้าปีก่อนสามารถซื้อข้าวกะเพราหมูสับไข่ดาวได้ในราคา 40 บาท แต่ตอนนี้เงินเท่าเดิมกลับสั่งได้แต่ข้าวกระเพราหมูสับ ถ้าต้องการเพิ่มไข่ดาวจะต้องควักเพิ่มอีก 7 บาท
แน่นอนว่าอัตราเงินเฟ้อที่ประกาศอย่างเป็นทางการย่อมไม่ได้อ้างอิงจากราคาสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่อิงจาก ‘ตะกร้าสมมติ’ ที่ใส่สินค้าและบริการซึ่งภาครัฐมองว่าจำเป็น แล้วจึงติดตามว่าราคาของสินค้าและบริการในตะกร้านั้นมีการขยับขึ้นลงอย่างไร
หากใครยังนึกภาพไม่ออก ผมขอแนะนำให้คว้าถุงผ้าไปซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วซื้อของกินของใช้จำเป็นมาใส่แบบอยู่ได้สักประมาณหนึ่งสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นไข่ไก่ มาม่า ผักสลัด สบู่ แชมพู ยาสระผม และอื่นๆ แล้วอย่าลืมจดบันทึกรายการเอาไว้ สมมติว่าวันนี้เราจ่ายเงินไป 1,000 บาท นี่คือ ‘ราคาฐาน’ สำหรับตะกร้าสินค้าของเรา
ผ่านไปหนึ่งปี เราก็คว้าถุงผ้าใบเดิม ซื้อของเหมือนเดิม โดยอาจจะมีสินค้าบางอย่างราคาแพงขึ้น บางอย่างราคาถูกลง แล้วเดินไปจ่ายเงิน สมมติว่าคราวนี้เราต้องจ่ายเงินออกจากกระเป๋า 1,070 บาท จากตัวอย่างนี้เราจะสามารถคำนวณอัตราเงินเฟ้อได้เท่ากับ (1,070 – 1,000) / 1,000 = 7% นั่นเอง
สำหรับเงินเฟ้อทางการของไทยจะอ้างอิงจาก ‘ดัชนีราคาผู้บริโภค’ (consumer price index) ซึ่งเป็นตะกร้าสินค้าและบริการที่กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้กำหนดและทำหน้าที่ติดตามราคาแบบรายเดือน ครอบคลุมสินค้าและบริการถึง 430 รายการ ตั้งแต่อาหารสดและอาหารสำเร็จรูป เสื้อผ้า ค่าน้ำค่าไฟ สบู่ แชมพู โฟมล้างหน้า ผงซักฟอก เหล้าบุหรี่ ค่ารถโดยสาร ค่าตัดผม ไปจนถึงยาสามัญประจำบ้านแล้วนำมาถ่วงน้ำหนักตามความเหมาะสม
คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าอัตราเงินเฟ้อโดยรัฐคือตัวเลขแบบกลางๆ เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน แต่ละระดับรายได้ย่อมแตกต่างกันออกไป ดังนั้นเราจึงต้องระลึกไว้อยู่เสมอว่าภาวะเงินเฟ้อที่แต่ละคนเผชิญย่อมไม่เหมือนกัน โดยตัวเลขที่เราเห็นเป็นแค่ ‘ค่าเฉลี่ย’ เท่านั้น
ทำไมยิ่งจนยิ่งเจ็บ?
เพื่อให้เห็นภาพ ผมขอแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักครอบครัว A และครอบครัว B
ครอบครัว A มีเสาหลักทำงานหาเช้ากินค่ำ แต่ละเดือนพวกเขาหาเงินได้ประมาณ 8,000 บาท และหมดเงินไปกับค่าอาหารเดือนละ 5,800 บาท ค่าเช่าห้อง 1,500 บาท และค่าเดินทาง 1,400 บาท หากใครเป็นนักคณิตคิดเร็วคงจะทราบแล้วว่าพวกเขาหาเงินได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย สุดท้ายจึงต้องหันไปกู้หนี้ยืมสินให้พอประทังชีวิตไปได้ โดยปัจจุบันมีหนี้สินรุงรังร่วม 1 ล้านบาทที่ไม่รู้เมื่อไหร่จะชำระหมด
ส่วนครอบครัว B มีเสาหลักทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนตำแหน่งสูง แต่ละเดือนมีรายได้เข้ามาประมาณ 80,000 บาท และหมดเงินไปกับค่าอาหารเดือนละ 10,000 บาท ค่าผ่อนบ้าน 7,000 บาท และค่าเดินทาง 9,000 บาท แม้ว่าครอบครัว B จะมีหนี้ก้อนใหญ่ราว 5 ล้านบาท แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะพวกเขามีเงินเหลือเฟือพอที่จะชำระหนี้ได้แบบสบายๆ อีกทั้งยังมีเหลือพอที่จะออมเงินสำหรับเกษียณอายุอีกด้วย
อ่านถึงตรงนี้หลายคนคงเดาได้ว่าครอบครัว A คือหน้าตาค่าเฉลี่ยของครอบครัวที่ยากจนที่สุด 10% ของไทย ส่วนครอบครัว B คือหน้าตาค่าเฉลี่ยของครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุดของไทย โดยทั้งรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินอ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2558
สมมติว่าทั้งสองครอบครัวต้องเจอกับภาวะแพงทั้งแผ่นดินในอัตรา 7% ในปัจจุบัน หากพิจารณาเฉพาะค่าใช้จ่ายส่วนที่จำเป็นที่สุดนั่นคือค่าอาหาร ครอบครัว A จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นราว 400 บาท ส่วนครอบครัว B จะต้องควักกระเป๋าเพิ่ม 700 บาท
ดูเผินๆ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอาจไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่ แต่หากคิดเป็นสัดส่วนเทียบกับรายได้แล้ว ครอบครัว A ต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นถึงเดือนละ 5% ในสถานการณ์ที่เงินขาดมืออยู่แล้ว ขณะที่ครอบครัว B อาจไม่รู้สึกรู้สาเพราะค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไม่ถึง 1%
เคราะห์ซ้ำกรรมซัดสำหรับครัวเรือนที่ยากจน เพราะพวกเขามักจะเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างยากลำบาก ทั้งเครื่องมือที่ช่วยบรรเทาปัญหาจากเงินเฟ้ออย่างบัญชีออมทรัพย์ หรือเครื่องมือที่จะช่วยแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าอย่างสินเชื่อส่วนบุคคล สถานการณ์ดังกล่าวบีบบังคับให้พวกเขาเลือกระหว่างต้องทนหิวกับกู้ยืมเงินนอกระบบดอกเบี้ยโหด
เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็วจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำเลวร้ายลงในระยะยาว นี่คือเหตุผลที่รัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างเร่งด่วนจนกว่าวิกฤตการณ์จะผ่านพ้นไป
แล้วรัฐบาลทำอะไรได้บ้าง?
ขอชวนทำความเข้าใจกันก่อนว่าสาเหตุหลักของปัญหาสินค้าราคาแพงไม่ได้เกิดจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาล แต่เกิดจากวิกฤติการเมืองที่ไม่มีใครคาดฝัน ในกรณีนี้คือสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ผลักให้ราคาอาหารและพลังงานพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ดังนั้นสิ่งที่คนไทยกำลังเผชิญก็คล้ายคลึงกับในหลายประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่าเราในฐานะประเทศผู้ผลิตอาหารก็ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เลวร้ายสักเท่าไหร่เมื่อเทียบกับประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารและพลังงานจากต่างประเทศ
โจทย์ที่ประเทศไทยต้องแก้นับว่าโหดหินเพราะสิ่งที่กำลังเผชิญคือภาวะ stagflation จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงและเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ ภาวะดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลดำเนินนโยบายการเงินและการคลังได้อย่างยากลำบาก เพราะหากอัดฉีดเงินเข้าระบบหรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะทำให้ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงยิ่งขึ้น แต่หากรัดเข็มขัดการคลังหรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็อาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องยาวนาน
ท่ามกลางสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก รัฐบาลจึงต้องดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวัง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลควรจะนั่งกระดิกเท้าแล้วรอให้ทุกอย่างคลี่คลายไปเอง เพราะสิ่งที่รัฐควรให้ความสำคัญคือการดูแลครัวเรือนรายได้ต่ำที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเงินเฟ้อรุนแรงที่สุด
หากไม่ต้องการซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อและป้องกันการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด รัฐบาลควรหลีกเลี่ยงนโยบายถ้วนหน้าอย่างคนละครึ่งหรือเราเที่ยวด้วยกัน หรือการอุดหนุนราคาซึ่งสุดท้ายผู้ที่ได้รับประโยชน์มักจะเป็นครัวเรือนรายได้สูงเนื่องจากมีกำลังซื้อมากกว่า แล้วเลือกใช้นโยบายที่มีเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม เช่น เพิ่มเงินช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ลดค่าโดยสารขนส่งสาธารณะ ลดค่าสาธารณูปโภคสำหรับครอบครัวที่ใช้น้ำและไฟน้อย พร้อมทั้งเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินซึ่งจะช่วยให้ครัวเรือนรายได้ต่ำสามารถรับมือกับภาวะเงินเฟ้อได้ดียิ่งขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแก้ปัญหาในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การพร่ำบอกเช้าเย็นว่าปัญหาเงินเฟ้อเกิดจากปัจจัยภายนอกที่รัฐบาลควบคุมไม่ได้ย่อมไม่ใช่ทางออก อีกทั้งยังเป็นคำพูดที่ขาดความเข้าอกเข้าใจคนยากจน ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนักเพราะเหล่าผู้บริหารในรัฐบาลคงจัดอยู่ในกลุ่มครอบครัว A ที่มีเงินเหลือกินเหลือใช้และไม่รู้สึกรู้สาสักเท่าไหร่กับเงินเฟ้อในปัจจุบัน
อีกไม่นานประเทศไทยก็กำลังจะเข้าสู่บรรยากาศของการเลือกตั้งสนามใหญ่ ผมเองก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะฉลาดพอที่จะทุ่มกำลังแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบสุดฝีมือ เพราะหากทำได้สำเร็จ นี่จะกลายเป็นภาพจำที่อาจทำให้เข้าเส้นชัยอย่างสง่างามโดยไม่ต้องหวังพึ่ง ส.ว. แต่งตั้ง
แต่หากบริหารโดยขาดความเข้าอกเข้าใจ ‘แลนด์สไลด์’ ก็อาจไม่ใช่แค่เรื่องเพ้อฝัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan