ท่องเที่ยวไทยแบบรักษ์โลกอาจไม่จำกัดแค่การปลูกป่า ปลูกต้นไม้ หรือต้องซีเรียสตึงเครียดจริงจังตลอดเวลานะ
สัปดาห์ก่อน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดบูทประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวประเทศไทยในงาน World Travel Market (WTM) 2023 ณ Excel London กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เพื่อนำเสนอการท่องเที่ยวสู่สายตาโลก และผลักดันให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
หนึ่งในรูปแบบการท่องเที่ยวที่กำลังเป็นเทรนด์ คือ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งภายในบูทไทยมีการเชิญตัวแทนผู้ประกอบการสายกรีนมาร่วมโปรโมทและเจรจาธุรกิจด้วย
ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นยังไงนะ? มีที่มาที่ไปแบบไหน? ทำอะไรกันบ้าง? The MATTER สนทนาหาคำตอบกับ TEATA สมาคมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย และพูนสุขคราฟ วิสาหกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ออกแบบและผลิตสินค้ารีไซเคิลจากภูเก็ต ที่ถูกเชิญมาร่วมบูทไกลถึงลอนดอน
เริ่มกันที่ TEATA วสุมน เนตรกิจเจริญ นายกฯ TEATA บอกกับเราว่าสมาคมนี้เกิดจากการรวมตัวกันของผู้ประกอบการท่องเที่ยวสายกรีน มีทั้งบริษัทนำเที่ยว โรงแรม ชุมชน และรวมตัวกันมากว่า 25 ปีเพื่อทำงานด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และความยั่งยืน
TEATA ผนึกกำลังกับ ททท. เพื่อสร้างเส้นทางท่องเที่ยวแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้รับงบการวิจัยจากหน่วยบริหารจัดการทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) งบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) เพื่อทำงานวิจัย (แบบที่นำมาขับเคลื่อนสร้างมูลค่าได้จริง!) ผลักดัน carbon neutral tourism หรือก็คือ การท่องเที่ยวแบบที่มุ่งปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยในส่วนของการดูสนับสนุนเชิงวิชาการ มี ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และประธานคณะอนุกรรมการกลุ่มแผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมสนับสนุนและทีมนักวิจัยเข้าร่วมด้วย
ง่ายๆ ก็คือ ออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวที่ชดเชยคาร์บอนได้ และมีลักษณะเป็น zero carbon หรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์นั่นเอง เป็นกระบวนการออกแบบและวิจัยที่ผ่านการคำนวณคาร์บอนและทดสอบในพื้นที่จริง โดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเป็นพี่เลี้ยงช่วยให้ความรู้
“จะเห็นว่ามี 13 เส้นทางที่เกิดขึ้นได้จริงแล้วในไทย เราก็สามารถเผยแพร่ได้อย่างมั่นใจ ขณะที่ตลาดยุโรปและอังกฤษก็ให้ความสนใจประเด็น sustainable (ความยั่งยืน) มากขึ้นเรื่อยๆ” วสุมน บอกกับเรา
ตัวอย่างเส้นทางท่องเที่ยวไฮท์ไลท์ที่มีลักษณะ carbon neutral และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็ไม่ใช่เส้นทางท่องเที่ยวยากเย็นเหนือจินตนาการอะไร เช่น วอล์กกิงทัวร์ในกรุงเทพฯ เพื่อเจาะลึกเชิงวัฒนธรรม ปั่นจักรยานเที่ยวกรุงเทพ หรือเที่ยวสมุทรสงครามที่มีทั้งกิจกรรมฝึกทำอาหารและขนมไทยโดยชุมชน ทำผ้ามัดย้อม
หรือสายแอดเวนเจอร์หน่อย จะอยากเที่ยวแบบกรีนๆ ก็มีทริปล่องแพไม้ไผ่ชมธรรมชาติที่สมุทรสงครามเช่นกัน แบบที่ไม่ต้องไปไหนไกล และเป็นการท่องเที่ยวแบบโลว์คาร์บอนอีกด้วย
“หลายคนจะเชื่อว่าไปเที่ยวแบบนี้คือซีเรียสไหม ไม่ คอนเซปเราในการออกแบบเส้นทาง คือ สนุก เต็มที่ ดีต่อโลก ทุกอย่างยังเหมือนเดิม เป็นหน้าที่ผู้จัดทัวร์ที่ต้องออกแบบให้เส้นทาง low carbon” วสุมน ระบุ
เมื่อถามว่าการเที่ยวแบบนี้สร้างกำไรให้ผู้ประกอบการจริงไหม วสุมนยืนยันว่าสร้างมูลค่าเพิ่มจริง ทั้งยังมีเป้าหมายที่จะสร้างเส้นทางท่องเที่ยวแบบ net zero emission หรือก็คือ เส้นทางที่ไม่ปล่อยคาร์บอนเลย ภายในปี 2569-2670
นอกจากนี้ เรายังคุยกับพูนสุขคราฟต์ วิสาหกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมที่นำขยะพลาสติกใน จ.ภูเก็ต มาออกแบบและรีไซเคิลเป็นสินค้าใหม่
เช่น เอาขยะพลาสติก ฝาขวดน้ำ และขวดน้ำที่พบบนเกาะภูเก็ตมารีไซเคิลเป็นของฝากอย่างเช่น ที่รองน้ำ จานสี อุปกรณ์ศิลปะอื่นๆ เป็นต้น
พรหมโรจน์ วิมลกุล ผู้ก่อตั้งพูนสุขคราฟต์บอกกับเราว่า องค์กรร่วมมือกับ ททท. เพื่อพานักท่องเที่ยวต่างชาติมาทำ workshop เปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นสินค้าใหม่ด้วยกัน เพราะต้องการนำเสนอข้อมูลให้ต่างชาติรู้ว่า ภูเก็ตเองก็มีการดูแลจัดการขยะ
“เพราะเมืองไทยติดอันดับการสร้างขยะพลาสติกลงทะเลติดอันดับโลกเลย เราต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ตรงนี้ ให้เห็นว่าแม้เราขยะเยอะ แต่ก็มีโครงการออกมา” พรหมโรจน์ กล่าว
การเก็บข้อมูลขยะของพรหมโรจน์ จะเก็บโดยติดตามดูด้วยว่าเป็นขยะประเภทใดและเดินทางมาจากประเทศไหน (บางชิ้นก็ไม่ใช่ขยะจากเกาะภูเก็ตโดยตรง) ซึ่งในส่วนนี้ เขาบอกกับเราว่าจะส่งข้อมูลเสนอ UN เพื่อให้กดดันกับประเทศต้นทางที่ปล่อยขยะอีกที
พรหมโรจน์ยืนยันว่า โครงการนี้ช่วยเหลือชาวบ้านและกระจายรายได้สู่ชาวบ้านด้วย ซึ่งสิ่งของที่ถูกผลิตจากขยะพลาสติกก็ล้วนมีหน้าตาน่ารัก เหมาะสำหรับคนที่อยากหากิจกรรมสนุกๆ ที่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม