เสียงหัวเราะพาเราไปสู่การท่องเที่ยวได้อย่างไรบ้าง? จะเป็นอย่างไรเมื่อการท่องเที่ยวไทยโดย ‘ททท.’ และสำนักการ์ตูนไทยคลาสสิกอย่าง ‘ขายหัวเราะ’ ได้มาร่วมขับเคลื่อนพลังของซอฟต์พาวเวอร์ไทย ผ่านโปรเจกต์สุดพิเศษไปด้วยกัน เมื่อการท่องเที่ยวและความสนุกสนานเดินทางไปด้วยกันอย่างกลมกลืน ผ่านโปรเจกต์ #แก๊กนำเที่ยว
วันนี้เราขอพาทุกคนไปแอบดูเบื้องหลังโปรเจกต์พิเศษนี้กัน จากคำให้สัมภาษณ์ผสมเสียงหัวเราะจาก ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยุทธศักดิ์ สุภสร และสองหัวเรือจากขายหัวเราะ บ.ก.วิธิต อุตสาหจิต และ นิว—พิมพ์พิชา อุตสาหจิต
#แก๊กนำเที่ยว 5 ภาค โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และขายหัวเราะ เกิดจากความตั้งใจอยากผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยด้วยไอเดีย ‘เปลี่ยนไกด์เป็นแก๊ก’ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวไทยในรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่แค่ไกด์นำเที่ยวทั่วไป แต่ผ่านการเล่าเรื่องในรูปแบบของแก๊กการ์ตูนที่สนุกสนาน ด้วยวิสัยทัศน์ของ ททท. ที่อยากสร้างความสุขให้คนไทยผ่านการท่องเที่ยวและขายหัวเราะที่สร้างความสนุกสนานผ่านคาแรกเตอร์การ์ตูนไทย การร่วมมือกันในครั้งนี้จึงเป็นการผสานจุดแข็งของทั้งการ์ตูนไทยและการท่องเที่ยวไทย กลายเป็นไอเดียสร้างสรรค์ที่พาคาแรกเตอร์การ์ตูนไทยในหน้ากระดาษออกมาโลดแล่นพาเที่ยวทั่วไทย
อะไรคือไอเดียเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความร่วมมือในโปรเจกต์นี้
ผู้ว่าการ ททท. : จริงๆ แล้ว ขายหัวเราะก็อยู่กับสังคมไทยมา 50 ปีแล้ว พูดง่ายๆ ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยมีความสุข ททท. เองเราก่อตั้งในปี พ.ศ. 2503 นะครับ ก็ 60 กว่าปีแล้วที่ส่งเสริมให้คนออกไปเที่ยว เวลาคนคิดจะออกไปเที่ยว ก็มีความสุขแล้ว ผมว่ามันเป็น Something in Common เหมือนกันนะครับ ที่คนที่ทำให้ความสุขของคนสองส่วน คือในส่วนของ ททท. และขายหัวเราะได้มีโอกาสได้มาทำงานด้วยกัน และมันก็สามารถสร้างซอฟต์พาวเวอร์ สีสันและความสนุกสนานได้ด้วย การที่เรามาเจอกัน ทำงานด้วยกัน มันก็เป็นการเสริมพลังซึ่งกันและกัน ซึ่ง ททท. ก็ยินดีอย่างมากเลยนะครับที่มีโอกาสทำงานร่วมกับทางขายหัวเราะ
บ.ก.วิธิต : ทางขายหัวเราะเองก็ยินดีและก็ขอบคุณทาง ททท. ที่ให้เกียรติ ขายหัวเราะ ทราบอยู่แล้วว่า ททท. เป็น Expert ที่สามารถใช้ซอฟต์พาวเวอร์ได้เก่งมากทุกด้านเลยไม่ว่าจะเป็นด้านของ Culture ก็รู้สึกขอบคุณ ททท. ที่มองเห็นคุณค่าซอฟต์พาวเวอร์ของการ์ตูนไทยแล้วก็ใช้คาแรกเตอร์การ์ตูนของขายหัวเราะเป็นเครื่องมือในการชวนคนออกมาท่องเที่ยว คิดว่าน่าจะเป็นมิติใหม่ๆ ที่ช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศไทย เราดีใจที่ได้ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของเราในจุดนี้เหมือนที่ประเทศอื่นๆ อย่างประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีก็ใช้สำเร็จมาแล้ว
Common value ที่ขายหัวเราะกับ ททท. มีร่วมกันคืออะไร และช่วยผลักดันให้พลังซอฟต์พาวเวอร์ไทยน่าสนใจมากขึ้นยังไงบ้าง
ผู้ว่าการ ททท. : ผมว่ามันเป็นแพสชั่นในการทำงานนะ จุดแข็งจากการที่ ททท. กับขายหัวเราะร่วมมือกันในครั้งนี้คือการใช้ humour marketing เล่าเรื่องผ่านคาแรกเตอร์การ์ตูนต่างๆ อันนี้ผมคิดว่าถ้าลองไปดูประวัติศาสตร์บ้านเรา การ์ตูนหลายๆ ตัวที่มันโลดแล่นอยู่ในโลกปัจจุบันอยู่ไม่ได้แล้ว ดังนั้นการเอาแพสชั่นในเรื่องความมีชีวิตชีวามาเป็นกลไกในการสร้างความสุข ผมว่าน่าจะเป็นหนึ่งใน common value ที่เกิดขึ้นด้วยกัน
บ.ก.วิธิต : การ์ตูนถือเป็นสื่อที่ดีมากนะครับ ยิ่งพอเรามี common value ร่วมกันเรื่องความสนุกสนาน ความบันเทิงแล้ว เราก็ใช้จุดแข็งที่มีสื่อสารกับคนไทยที่เป็นชนชาติที่ชอบเรื่องความสนุกสนาน มีดีเอ็นเอด้านความบันเทิงอยู่แล้ว และคาแรกเตอร์ในการ์ตูนขายหัวเราะก็ครอบคลุมทุกกลุ่ม มีทั้งครอบครัว หนุ่มสาว คนทำงาน อันนี้เป็นจุดร่วมที่คิดว่าพอดีในการที่จะใช้สื่อสารกับกลุ่มคนทุก segment
ผู้ว่าการ ททท. : เมื่อเรามีตลาด เรามีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้ออกเดินทางทั้งกลุ่มผู้หญิง กลุ่มครอบครัว กลุ่มเจนวาย หรือกลุ่มที่เป็นแอ็กทีฟซีเนียร์ เราก็สามารถที่จะวางแหล่งท่องเที่ยวให้มันสอดคล้องกับเป้าหมายที่เราจะทำ โดยผ่านคาแรกเตอร์การ์ตูนอย่างที่ บ.ก.วิธิตพูดเมื่อสักครู่นี้ได้เหมือนกัน
ความพิเศษของคอนเซปต์ #แก๊กนำเที่ยว คืออะไร และมีความสนุกแตกต่างจาก ‘ไกด์นำเที่ยว’ ทั่วไปอย่างไรบ้าง
ผู้ว่าการ ททท. : มันเป็นการพบกันของเครื่องจักรสร้างความสุข เป็นกลไกสร้างความสุขมาเจอกันนะครับ เราก็จะอาศัยจุดแข็งในเรื่องคาแรกเตอร์ของทางขายหัวเราะมาโปรโมตแหล่งท่องเที่ยวครับ ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวก็จะมีแหล่งเที่ยวที่เป็นตำนาน อย่างน้ำตก 7 สาวน้อย จังหวัดสระบุรี ภูชี้ฟ้า จังหวัดเชียงราย รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่ ททท. เปิดตัว Unseen New Chapters ล่าสุดไปนะ
ครับ ทีนี้เราก็จะได้เห็นการ์ตูนขายหัวเราะโลดแล่นไปกับแหล่งท่องเที่ยว 50 แห่ง ใน 5 ภูมิภาคของเรา ซึ่งตรงนี้เองผมคิดว่า ความสุขมันก็จะเกิดขึ้นจากการเดินทางท่องเที่ยวผ่านตัวคาแรกเตอร์การ์ตูนต่างๆ ในแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ซึ่งมีทั้งระดับแหล่งท่องเที่ยวตำนาน และแหล่งท่องเที่ยวใหม่
มันเป็นลักษณะของ Communication Campaign อย่างหนึ่งในการทำการตลาดนะครับ บางช่วงเวลาบางคนอาจจะทำแบบกินใจซึ้งๆ แต่ยังไงก็แล้วแต่ ในเรื่องของอารมณ์ขันหรือที่เราเรียกว่า Humour Marketing มันก็ยังมีอิทธิพลต่อการจดจำภาพที่เกิดขึ้น เพราะ storytelling นั้นมี key success factor คือแก๊ก การเอาแก๊กไปนำเที่ยว ต้องดูนะว่าขายหัวเราะไม่เคยหมดมุก มีแก๊กมาเรื่อยๆ ก็เอาแก๊กที่คิดเอามาโปรโมตการท่องเที่ยว ซึ่งแก๊กก็จะเป็นไปตามมาตรฐานของทางขายหัวเราะซึ่งเป็นเรื่องความสุข ใช้คำว่าแก๊กพาเที่ยว ‘เปลี่ยนไกด์ให้เป็นแก๊ก’
บ.ก.วิธิต : ในภาพใหญ่ ฟังก์ชันของการ์ตูนเราก็คือ เสริมความสนุกสนานในมุม storytelling กับ humour ล้วนๆ เลยว่าทำยังไงให้ตัวสถานที่ท่องเที่ยวมีแง่มุมอื่นที่ ททท. อาจจะยังไม่เคยได้สื่อสารหรือว่าเคยสื่อสารไปแล้วแต่ยังไม่เคยทำออกมาในรูปแบบนี้ เราก็เพิ่มสตอรี่เข้าไปให้น่าสนใจมากขึ้น อันนี้เป็นจุดที่เราคิดว่าเรามาเติมเต็มซึ่งกันและกัน
นิว : เราได้ใส่ storytelling ให้เขาในแบบที่ไม่ใช่ยาขม ไม่ใช่บังคับให้เขาอ่านข้อความหรือความรู้ แต่ว่าแทรกเข้าไปโดยผ่านปากของคาแรกเตอร์ที่เขาคุ้นเคย ก็ทำให้เขารู้สึกว่า เฮ้ย โอเคอันนี้น่าสนใจนะ ไม่ได้เป็นอะไรที่แบบมา tie in หรือ hard sale มายัดเยียด แล้วพอมันมาในรูปแบบของเกม ซึ่งแฟนๆ ขายหัวเราะก็เป็นแฟนๆ ที่น่ารัก ก็คือชอบเรื่องของการแบบว่าเล่นเกมชิงรางวัลอยู่แล้ว ชอบเรื่องของการ engagement อยู่แล้ว มันก็ทำให้ได้รับการตอบรับที่ดีค่ะ
เราทำเป็นแก๊กการ์ตูนด้านบนแล้วข้างล่างก็จะมีการใบ้คำในลักษณะของมุกตลก ให้คนเข้ามาตอบว่าสถานที่นี้คือสถานที่ท่องเที่ยวที่ไหน แต่ก่อนที่จะไปถึงคำใบ้ เราจะให้คาแรกเตอร์การ์ตูนเราเล่าก่อนว่าสถานที่นี้ มันมีจุดเด่นเช่นนี้นะ แต่เราไม่ได้บอกว่าเป็นที่ไหน แล้วก็ให้มาใบ้คำตบท้าย แล้วก็มีทั้งหมด 5 ภาค
บ.ก.วิธิต : ขายหัวเราะก็จะเสนอสถานที่ไปก่อนในฐานะของคนนอก ว่าเรามองว่าอันไหนมันน่าจะเหมาะกับการเอามาทำเล่าแบบนี้ ส่วน ททท. ก็จะช่วยคัดกรองให้เรา ช่วยแนะนำเราว่าควรจะเป็นอันไหน โดยที่มุ่งเน้นไปในด้านของความทั่วถึงแล้วก็เรื่องของสถานที่และความถูกต้องต่างๆ ก็ออกมาเป็น 50 สถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มปล่อยไปแล้วสองภาค ในเฟซบุ๊กซึ่งคนก็เข้ามาเล่นแล้วก็ให้การตอบรับที่ดีนะครับ
มีการใช้แพลตฟอร์มที่สร้างสรรค์เพื่อนำเสนอ #แก๊กนำเที่ยว ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ยังไงบ้าง
บ.ก.วิธิต : ในโปรเจกต์นี้เราขยายพรมแดนของอารมณ์ขันไปมากกว่าแค่ภาพการ์ตูน สิ่งที่แปลกใหม่สำหรับขายหัวเราะแล้วก็เชื่อว่าแปลกใหม่สำหรับประเทศไทยเหมือนกันก็คือ TikTok Challenge ที่เป็น TikTok Duet ก็คือชวนคนเข้ามาเต้นกับคาแรกเตอร์
ดีเอ็นเอของคนไทยคือเรื่องของความสนุกสนานอยู่แล้ว อย่างใน TikTok ทุกคนที่เล่น TikTok จะไม่ได้คาดหวังกับการเข้าไปแล้วเจอเรื่องซีเรียสจริงจังร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เขาจะรู้แล้วว่าเนเจอร์ของ TikTok เป็นเนเจอร์ของความเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ความสนุกสนาน เพราะฉะนั้นอันนี้มันจะเข้ากับบุคลิกของตัวขายหัวเราะมากๆ ความสั้นของ format TikTok มันก็เหมือนแก๊กขายหัวเราะ มีวิธีการเปิดโดยการปู ชง ตบเหมือนกัน มีความเป็นแบบเอ็นเตอร์เทนเมนต์ bite-sized เหมือนกัน
นิว : คิดว่านี่เป็นครั้งแรกเลยที่คนจะได้เห็นตัวคาแรกเตอร์เต้นกับเพลง ซึ่งก็เป็นเพลงที่เราทำร่วมกับทาง ททท. ชวนคนออกมาท่องเที่ยวในรูปแบบของเพลงรัก เพลงที่มีสตอรี่ เหมือนกับว่าคนรุ่นใหม่เช่นหนุ่มสาวจีบกันแล้วก็แอ๊วหนุ่มแอ๊วสาวชวนกันออกมาเที่ยว แล้วก็มีคาแรกเตอร์เรามานำเต้น โดยที่ฉากหลังเนี่ยก็จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เราวาดออกมาให้สวยงามแล้วก็สอดคล้องไปกับเนื้อเรื่อง ก็เป็นเพลงที่สนุกสนานแล้วก็เป็นอีกหนึ่งมิติใหม่เพราะว่าในไทยยังไม่มีใครทำ
บ.ก.วิธิต : จริงๆ แล้วตัวไส้ของแคมเปญหรือว่าสิ่งที่เราทำมันจะครอบคลุมหลายๆ activity ในหลายมิติที่แตกต่างกันไป เราใช้สื่อหลากหลายมากขึ้นในเชิงของ Marketing Mix ไม่ว่าจะเป็นการใช้คาแรกเตอร์ทำให้คนสนใจแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในรูปแบบที่แปลกใหม่ขึ้น อย่างเกมทายคำที่ใช้คาแรกเตอร์การ์ตูนและความสนุกสนานเข้ามาดึงดูดผู้คนมากขึ้น
นอกจาก TikTok ก็มีการใช้สื่อใหม่ๆ ที่เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างเช่น Twitter, facebook รวมถึงตัว merchandise ที่มีการทำสติกเกอร์ 5 ภาคออกมา เป็นสติกเกอร์ขายหัวเราะเวอร์ชันส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยว อันนี้ก็จะเป็นอะไรที่แฟนๆ หรือใครก็จะได้เห็นความแปลกใหม่และความสนุกของแคมเปญ เราใช้ตัวคาแรกเตอร์สร้าง storytelling อย่างที่ผู้ว่าการ ททท. บอกว่ามันคือการ add value ซึ่งกันและกัน สร้าง storytelling และกิมมิกให้แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ มีความสนุกสนานทำให้เป็นที่สนใจของคนมากขึ้นและครบทุกมิติของประสบการณ์
อยากให้ #แก๊กนำเที่ยว ส่งอิทธิพลต่อคนอ่านอย่างไรบ้าง
ผู้ว่าการ ททท. : เราพยายามจะทำให้เกิดฟีเวอร์ หมายถึงทำให้คนเที่ยวตาม อยากเป็นคาแรกเตอร์ตัวนั้นตัวนี้ สร้างภาพจำและสะท้อนผ่านตัวการ์ตูนขายหัวเราะแล้วคนก็อาจจะมีพฤติกรรมเที่ยวตาม อันนั้นคือสิ่งที่มันเป็นหัวใจที่เราอยากจะทำ ถ้าเกิดเขาชอบขึ้นมา ก็อยากจะไป
อย่างลูกผมเนี่ย ทุกวันนี้กำลังจะเรียนปริญญาโทต่อก็ยังอ่านการ์ตูนแล้วเขาก็อยากจะไปสถานที่ตามฉากของการ์ตูน ผมคิดว่ามันเป็นลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าเรื่องอารมณ์ขัน เรื่องการสร้างภาพจำที่ผ่านตัวการ์ตูนเส้นสายต่างๆ มันก็จะทำให้เกิดพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวในลักษณะที่จะทำให้คนมีความสุขได้
ตอนนี้เราไปเจอเกาะหนึ่งที่จังหวัดตราด เกาะนั้นมันมีต้นไม้ขึ้นมาหนึ่งต้น ก็เหมือนในภาพปกซึ่งเป็นคาแรกเตอร์ของการ์ตูนขายหัวเราะ ทุกคนก็เลยเรียกกันว่าเป็นเกาะขายหัวเราะ เพราะมันเกิดขึ้นกับภาพจำ นี่เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คนก็อยากจะไปถ่ายรูปกัน ถ้าเราสร้างภาพจำ พูดง่ายๆ ว่าแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นตำนาน แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นอันใหม่ที่เราเปิดตัวว่าเป็น Unseen New Chapters ถ้าถูกถ่ายทอดผ่านในมุมมองของขายหัวเราะล่ะ ผมว่ามันก็น่าจะเกิดคล้ายๆ กับเรื่องของตัวเกาะ เราก็จะสอดแทรกต่างๆ เข้าไปด้วย ดังนั้นเราต้องคุยกันว่า คงไม่ใช่แค่เที่ยวตามอย่างเดียว คงไม่ใช่แค่ว่าให้ไปอย่างเดียว แต่จะต้องมีการสอดแทรกสารัตถะบางเรื่อง เช่น เราพูดถึงเรื่องความยั่งยืน การดูแลธรรมชาติ การช่วยกันทำให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งตรงนี้มันก็จะเป็นการ add value ให้คาแรกเตอร์ต่างๆ นั้นด้วย
มองอนาคตของซอฟต์พาวเวอร์ในไทยอย่างไร
ผู้ว่าการ ททท. : ผมคิดว่าเรายังมีโอกาสที่จะสามารถพัฒนาต่อยอดได้อีกเยอะเลยนะครับ เรื่องซอฟต์พาวเวอร์เนี่ยทุกคนก็ทำกันหมด ไล่เรียง 5F ตั้งแต่ Food Film Fashion Fight Festival แต่ในมิติการท่องเที่ยวมันคืออะไรล่ะ เราก็ต้องเปลี่ยนซอฟต์พาวเวอร์ให้มันเป็นจุดสนใจ เราใช้คำว่า SPOT คือซอฟต์พาวเวอร์ออฟไทยแลนด์ ให้กลายมาเป็นทริปนะครับ มันสามารถทำได้หลายอย่าง เช่น
Food มันไม่ใช่เมนูที่ทำให้คนอยากจะมา แต่มันคือ Flavour หรือรสชาติต่างหาก รสชาติที่แตกต่างกันสะท้อนวัฒนธรรมการกินในแต่ละภาคจะมีความแตกต่างกัน มันทำให้คนอยากจะมาเมืองไทยบ่อยขึ้น
ในเรื่องของ Film ก็เหมือนกัน แน่นอนตอนนี้ทุกคนก็ยังไปตามโลเคชั่นต่างๆ ที่เที่ยวต่างๆ แต่ผมอยากเห็นในซอฟต์พาวเวอร์เรื่องของฟิล์มมันถูกใช้ไปเหมือนกับเรื่องของเกาหลี ที่มันเป็นฟีเวอร์ มันจะลงไปในเรื่องของวัฒนธรรมด้วย ทุกคนสังเกตไหมว่าเวลาจะดูหนังเนี่ย ก็จะดูการแต่งตัว อาหาร ไปด้วยแฟชั่นก็เหมือนกัน สิ่งที่จะต้องทำให้เกิดคือ Fascinate ความหลงใหลในเรื่องของ craftsmanship คาแรกเตอร์ที่แตกต่าง รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ก็เกิดการเดินทางไปในพื้นที่ไปดูว่าเกิดขึ้นมายังไง อย่างนี้เป็นต้น
Fight ก็เหมือนกัน มันคงไม่ใช่เรื่องความรุนแรง ชกมวยอย่างเดียว มวยไทยอย่างเดียว แต่ถ้าเกิดเราบิดไปนิดนึงมันเป็นเรื่องของ Fit and Firm เรื่องของสุขภาพ แล้วสุดท้ายเรื่องของ Festival ก็เหมือนกันนะครับ เราพยายามจะให้เป็น local to global แต่อยู่ในพื้นฐานความสนุก ในอนาคตงานสงกรานต์ เราก็สามารถเอาคาแรกเตอร์มาเล่นในแต่ละช่วงเทศกาลก็ได้
นิว : ความจริงตัวคาแรกเตอร์ที่มีอารมณ์ขันก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์ในตัวมันเองแล้ว และยังช่วยไปสื่อสารตัว 5F อื่นๆ ได้ด้วย เช่น การ์ตูนคาแรกเตอร์ที่สื่อสารเรื่องอาหาร พาไปกินข้าว พาไปท่องเที่ยว พาไปเล่นกีฬา หรือว่าชวนดูหนังต่างๆ อย่างตอนที่หนังเรื่องบุพเพสันนิวาสเข้าโรงฉาย อันนี้คือเราก็มีโอกาสได้ช่วย GDH ช่วยโปรโมตหนัง ก็คือตัวมันเองเป็นสื่อที่ดีด้วย อาจจะเพราะความเป็นการ์ตูนเฟรนด์ลี่กับทุกเพศทุกวัย ก็เลยมองว่ามันสามารถที่จะ ต่อยอดไปได้
จริงๆ แล้วซอฟต์พาวเวอร์ในไทยมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก เราว่าตอนนี้ดีตรงที่หลายฝ่ายตื่นตัวเรื่องนี้มากๆ ซึ่งมองว่ามันเป็นโอกาสที่ดีขึ้นจริง ถ้ามองในแง่ของเรื่องความตลกขบขันของการ์ตูนหรือเรื่องของ humour นิวมองว่าจริงๆ แล้วคนไทยมีทรัพยากรด้านซอฟต์พาวเวอร์ต่างๆ ที่เยอะมากๆ เพียงแต่ว่าอาจจะยังไม่ถูกนำมาใช้ได้เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร
บ.ก. วิธิต : คนไทยทุกคนมีดีเอ็นเอของความครื้นเครงอยู่แล้ว แล้วเราก็จะเห็นว่าอย่างในสื่อออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้น เราจะสามารถทำมีมหรือว่าคอมเมนต์ที่สนุกๆ ต่อยอดจากอันนั้นได้ มันเหมือนเป็นคัลเจอร์ของเราจริงๆ แต่สิ่งนี้ยังไม่ถูกนำมาทำให้เกิดเป็น Creative economy ที่สร้างรายได้อย่างชัดเจนในประเทศไทย ก็รู้สึกว่าต่อไปก็มีโอกาสที่จะเติบโต
ในส่วนของวงการการ์ตูนขายหัวเราะแล้วก็ของไทย มองว่าอีกจุดหนึ่งที่ตอนนี้เรายังไปไม่ถึงคือ การทำซอฟต์พาวเวอร์ด้านการ์ตูนคาแรกเตอร์ให้เป็น experience มากขึ้น เพราะตอนนี้เหมือนจะไปเน้นพวกฝั่งมีเดียหรือว่าฝั่งของพวก awareness ต่างๆ เราเริ่มสื่อสารในช่วงปูพื้นฐานให้กับ ecosystem ซอฟต์พาวเวอร์ของเมืองไทย แต่ว่าขั้นต่อไปในการซัพพอร์ตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหรืออุตสาหกรรมใดๆ ก็ตามก็อาจจะต้องทำให้ลึกมากขึ้นไปถึงระดับ experience สัมผัสประสบการณ์ครบในทุกมิติ
ที่ผ่านมาขายหัวเราะใช้การ์ตูนเป็นสื่อในการรณรงค์หรือสื่อสารประเด็นทางสังคมอย่างไรบ้าง
นิว : ที่จริงขายหัวเราะมีแคมเปญที่ทำปีก่อนๆ ร่วมกับ ททท. เรื่อง BCG คือ เราก็เสริมเข้าไปว่าในการปั่นจักรยานรอบเกาะอย่างตรงเกาะหมากสามารถเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมหรือยังไงได้บ้าง มันก็มีการสอดแทรก message เหล่านี้มาเป็นระยะๆ
มีโปรเจกต์ที่เราเคยทำซึ่งก็เป็น issue ที่ยากเหมือนกัน คือเรื่อง gender equality หรือความเท่าเทียมทางเพศ ทาง UN Women อยากโปรโมตเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในไทย แต่ว่าเขาโปรโมตในแนวของวิชาการแต่ว่ายังไม่ค่อยเข้าถึงคนหมู่มากเยอะ ก็เลยมาจับมือร่วมกับขายหัวเราะให้โปรโมตในรูปแบบของการ์ตูนเพื่อให้เข้าถึงคนมากขึ้น มันย่อยง่ายมากขึ้น แล้วก็ใช้การ์ตูนเป็นสื่อ อันนี้ก็ประสบความสำเร็จด้วยดีแล้วก็ไปถึงรายการเรื่องเล่าเช้านี้เลยค่ะ
สุดท้ายแล้ว คิดว่าพลังของเสียงหัวเราะสร้างความสุขและทำให้คนสนใจเที่ยวไทยได้มากขึ้นอย่างไรบ้าง
ผู้ว่าการ ททท. : พูดจริงๆ ว่า ททท. ควรจะขายหัวเราะ ถูกไหมฮะ แม้กระทั่งบางคนเนี่ยความสุขนี้ บางทีก็ร้องไห้เพราะความสุข ภาษาญี่ปุ่นมันมีคำว่าน้ำตาแห่งความสุขนะครับ หัวเราะทั้งน้ำตาก็มีนะ แต่ว่าจริงๆ มันก็เป็นความสุขนะ ผมก็คิดแล้ว แต่ว่าเราจะทำแบบไหน ทำแบบหัวเราะทั้งน้ำตาก็คือพาคนอกหักไปเที่ยว พลังของเสียงหัวเราะมันอยู่ในทุกที่ ในทุกการเดินทาง มันถือว่าเป็นดีเอ็นเอของการท่องเที่ยวไปแล้ว สิ่งที่ละลายความเศร้าได้ดีที่สุดก็คือเรื่องความสนุก ดังนั้น ผมถึงบอกว่ามันเป็นกลไกในการสร้างความสุข ทั้งเรื่องการท่องเที่ยวและในเรื่องของเสียงหัวเราะ
บ.ก. วิธิต : เสียงหัวเราะเป็นสะพานเชื่อมที่ดีที่สุดในการเข้าถึงเรื่องต่างๆ ไม่ใช่แค่เรื่องของการท่องเที่ยว แต่ว่าอะไรก็ตามที่เราอยากจะสื่อสาร message อะไรต่างๆ ที่เราอยากจะบอกผู้คน ถ้าใช้เสียงหัวเราะเป็นสื่อ มันจะเป็นสะพานที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดเพราะคนจะเปิดใจ
ผู้ว่าการ ททท. : ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี เราพยายามทำให้คนไทยยิ้มได้ เช่น ช่วงที่ผมอยู่ก็ให้เขาทำเพลงชื่อ หนึ่งรอยยิ้ม แสดงว่ายังมีความสำคัญ หัวเราะก็ดี รอยยิ้มก็ดี ทำยังไงที่จะเติมความสุข ทำยังไงที่จะทำให้คนไทยมีความสุขอย่างต่อเนื่อง อันนี้เป็นมิชชั่นที่เราอยากจะทำ ซึ่งเราก็ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ ผมก็มั่นใจว่าการที่เราทำงานร่วมกับทางขายหัวเราะ มันก็ยิ่งเกิดการทวีคูณในการสร้างความสุขให้กับคนไทยโดยผ่านช่องทางต่างๆ และกลุ่มเป้าหมายของเราในการสื่อสาร
จากบทสัมภาษณ์พิเศษชิ้นนี้ ผู้อ่านคงจะเห็นได้ว่าเสียงหัวเราะและการท่องเที่ยวมีจุดร่วมกันมากกว่าที่คิด และสามารถรวมพลังกันช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี พลังของการท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ และเสียงหัวเราะที่เป็นตัวกลางสร้างความสุขให้กับการท่องเที่ยวคือส่วนผสมที่กลมกลืนกัน
ด้วยเป้าหมายที่อยากให้คนไทยมีความสุขกับการท่องเที่ยวในประเทศของพวกเราเองได้ในปีท่องเที่ยวไทย 2566
Interviewer : Rata Montreewat
Photographer : Natthajitra Chinaromrat