“รองเท้าคู่นี้ทำมาจากกัญชง”
แค่ได้ยินคำนี้ ในหัวก็มีคำถามแทรกมารัวๆ เลยว่า จะมีกลิ่นกัญชงไหม ทำมาจากส่วนไหน ทำไมต้องเป็นกัญชง เพราะเวลาพูดถึงกัญชง เรามักจะนึกถึงสายเขียวและสับสนกับกัญชาอยู่บ่อยๆ
จริงๆ แล้วเส้นใยกัญชงมีคุณสมบัติเหมาะกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ แถมยังดีต่อสิ่งแวดล้อมเพราะประหยัดน้ำและพื้นที่ในการเพาะปลูก และนั่นคือเหตุผลที่แบรนด์ ‘Daybreak’ หยิบยกกัญชงมาเป็นวัสดุหลักสำหรับผลิตรองเท้า
ความดีงามของ Daybreak นอกจากจะเป็นแบรนด์ไทยที่ผลิตสินค้าจากวัสดุธรรมชาติแล้ว ยังตั้งใจจะทำรองเท้าที่สวมใส่สบาย ดีไซน์ดี ราคาน่ารัก ที่สำคัญคือลูกค้า Daybreak สามารถส่งรองเท้ามาซ่อมได้ฟรี เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานที่สุด ยิ่งได้พูดคุยถึงเบื้องหลัง ยิ่งได้รู้ว่ากว่าจะออกมาเป็นรองเท้าแต่ละคู่ของ Daybreak ล้วนผ่านการวิจัยและพัฒนากันมาอย่างเข้มข้น
และต่อไปนี้คือเรื่องราวการรีแบรนด์ของ Daybreak จาก 2 ผู้ร่วมปลูกปั้น อย่างเมษ—คมชาญ ขุนเศษฐ และปลื้ม—ภัทรพงษ์ พัชรพุทธางกูร
จากปัญหาอุตสาหกรรมแฟชั่น สู่การรีแบรนด์ครั้งใหม่
เมษและปลื้มเริ่มต้นจากการเข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์กับแบรนด์ Daybreak โดยนำรองเท้าจากโรงงานของ Daybreak มาจัดจำหน่ายให้กับลูกค้า แต่ยิ่งคลุกคลีกับสินค้าแฟชั่นเท่าไร ยิ่งทำให้เห็นปัญหาตั้งแต่มลภาวะจากกระบวนการผลิต จนถึงการถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะกองโต พวกเขาจึงเสนอ Daybreak ว่าอยากจะรีแบรนด์ใหม่ให้กลายเป็นรองเท้าที่ยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ แต่ก่อนจะไปถึงขั้นผลิตรองเท้า เมษเล่าว่าความท้าทายอย่างหนึ่ง คือในตลาดมีสินค้ารักษ์โลกอยู่เยอะมาก และมักจะถูกมองแยกออกมาเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มมากกว่า
“เราไปเจอปัญหาประมาณ 3 ข้อหลักๆ คือ 1 เรื่องคุณภาพ เวลาพูดว่าเป็นสินค้ารักษ์โลก คนก็จะมองว่า เอ้ย คุณภาพสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco Friendly) อาจจะสู้รองเท้าทั่วไปไม่ได้หรือเปล่า ส่วนที่ 2 ที่เห็นได้ชัดเลยคือเรื่องราคา พอเราบอกกันว่าเป็น ผลิตภัณฑ์ Eco Friendly ราคาอาจจะดีดขึ้นมาทันที 20-30% ส่วนเรื่องที่ 3 ผมว่าเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ยกตัวอย่างเป็นหลอดกระดาษ ระหว่างเราดูดน้ำจากหลอดกระดาษกับหลอดพลาสติก ประสบการณ์ของผู้บริโภคต่างกัน หลายๆ คนเลยรู้สึกว่าสินค้า Eco ไม่สามารถให้ประสบการณ์เหมือนผลิตภัณฑ์เดิมได้ แล้วถ้าพูดจากข้อมูลที่เราลองวิเคราะห์กันดู ผู้บริโภคเขาจะเลือกซื้อสินค้าที่มีประโยชน์ต่อตัวเขา ดีกับตัวเขาเอง ส่วนเรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องที่มาทีหลัง อาจจะมีบางกลุ่มที่ซื้อเพราะว่ามันยั่งยืน แต่ยังไม่ใช่กลุ่มหลักอยู่ดี เราเลยคุยกับพาร์ตเนอร์ทุกคนว่า ถ้าจะทำสินค้ารักษ์โลก อย่างแรกที่ต้องให้ความสำคัญ คือเราต้องทำสินค้าที่ดีออกมาก่อน”
“เราอยากให้ผู้บริโภคมองอย่างงี้เลยว่า เขาไม่ต้องมาโฟกัสเรื่องรักษ์โลกกับเรา โฟกัสแล้วกันว่าสินค้าเราสวยไหม ใส่สบาย หรือคุณภาพดีไหม ราคาสมเหตุสมผลหรือเปล่า ส่วนรักษ์โลกเป็นสิ่งที่เราทำกันเองภายใน เพื่อเป็นเหมือนของแถมให้กับผู้บริโภค”
ปลื้มเล่าเสริมว่า แม้ความรักษ์โลกจะเป็นของเหมือนของแถม แต่ก็ผ่านการค้นคว้าอย่างเข้มข้นและลงมือทำอย่างจริงจัง เพียงแต่ไม่ได้หยิบยกมาเป็นจุดขายหลัก “ก็คือปัจจัยรักษ์โลกอะไรพวกนี้ เราไม่ได้นำมาบวกเพิ่มในราคา แทบจะไม่ได้ทำมาร์เก็ตติ้งเพื่อเป็นการขาย พูดง่ายๆ คือในความคิดเห็นของเรา เราคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตมากกว่า แทนที่จะผลักภาระไปให้ผู้บริโภค”
‘เส้นใยกัญชง’ โอกาสใหม่ของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ยั่งยืน
เมษและปลื้มอธิบายว่า เหตุผลที่เลือกใช้เส้นใยกัญชงเพราะเป็นพืชที่ตอบโจทย์ทั้งในมุมการใช้งานและความยั่งยืน ถ้าในมุมการใช้งาน กัญชงมีคุณสมบัติ 3 อย่างที่ตอบโจทย์ คือความแข็งแรงทนทาน แบคทีเรียไม่สามารถเจริญเติบโตได้ และมีน้ำหนักเบาเหมาะกับการผลิตรองเท้า
ส่วนด้านความยั่งยืน เมื่อเทียบกับฝ้าย กัญชงใช้น้ำตลอดกระบวนการผลิตน้อยกว่าฝ้ายถึง 13 เท่า ส่วนพื้นที่ในการเพาะปลูกก็น้อยกว่า เพราะถ้าปลูกในพื้นที่ขนาดเท่ากัน กัญชงจะให้ผลผลิตออกมาเยอะกว่าฝ้ายถึง 4 เท่าเลยทีเดียว ถึงอย่างนั้นเส้นใยธรรมชาติก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการย้อมสีที่อาจจะทำได้ไม่หลากหลาย และการผลิตให้เส้นใยธรรมชาติให้นุ่มทำได้ยากกว่าเส้นใยสังเคราะห์ เลยต้องผ่านขั้นตอนเยอะพอสมควรกว่าจะออกมาเป็นรองเท้าที่ใส่สบาย
นอกจากนี้ปริมาณเส้นใยกัญชงที่ใช้ผลิตมีอยู่อย่างจำกัด ส่วนหนึ่งเพราะเรื่องขั้นตอนการขออนุญาตปลูกกัญชง และนับว่าตอนนี้ยังเป็นช่วงแรกๆ ที่คนเริ่มใช้กัญชงในอุตสาหกรรมสิ่งทอกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมษมองว่าในอนาคตกัญชงอาจกลายเป็นพืชเศรษฐกิจได้เหมือนกัน
“ส่วนตัวผมมองว่ามันเป็นระยะเริ่มต้น (Early State) ของกัญชงที่เพิ่งเข้ามาในตลาด เพราะเพิ่งถูกกฎหมายด้วย และคนเพิ่งเริ่มรู้จักได้ไม่กี่ปี อย่างเราเองมีความเชื่อว่าวันหนึ่ง มันจะถูกนำมาทดแทนเส้นใยหลายๆ อย่างได้ เพราะคุณสมบัติค่อนข้างครบ”
“ปัจจุบันนี้ เราจะเห็นว่ามีผลิตภัณฑ์จากกัญชงเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง ครีม อาหารเสริม แล้วรองเท้าแบรนด์เราก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาเลยคาดการณ์ว่าในอนาคตกัญชงอาจกลายเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของโลก เหมือนกับอ้อย ปาล์ม น้ำมัน ข้าว อะไรพวกนี้ แล้วถ้ากัญชงมาถึงจุดที่เป็นพืชเศรษฐกิจของโลกได้ ก็จะช่วยเรื่องความยั่งยืนด้วยเหมือนกัน แต่ถ้าในประเทศไทย จริงๆ แล้ว กัญชงกับกัญชาเป็นพืชตระกูลเดียวกัน แต่กัญชงมีการปลดล็อกก่อนกัญชาเล็กน้อย เพราะถ้าเกิดเทียบกันแล้ว ในแง่สารเสพติด พวกสารต่างๆ ในกัญชงจะน้อยกว่ากัญชาถึง 20 เท่า เลยถูกปลดล็อคมาก่อน”
ดีไซน์ดี – มีคุณภาพ – สวมใส่สบาย
“วิสัยทัศน์ของแบรนด์ คือเราอยากจะเป็นแบรนด์ที่ยั่งยืนที่สุดในโลก” เมษเกริ่นถึงเป้าหมายปลายทางของแบรนด์ “ผมเข้าใจว่าในกลุ่มแฟชั่นเอง ผู้บริโภคมีความต้องการค่อนข้างหลากหลาย บางคนแต่งตัวสไตล์มินิมอล บางคนแต่งสปอร์ต บางคนแต่งสตรีท ซึ่งเราไม่อยากจะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค แต่เราจะพยายามทำสินค้าที่ดี เพื่อเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคหลายกลุ่มให้ได้ ถ้าทำได้วิสัยทัศน์เรื่องความยั่งยืนของเราก็จะสำเร็จไปด้วย”
ดังนั้นความยั่งยืนของแบรนด์เลยไม่ได้อยู่ที่การผลิตอย่างเดียว แต่ผู้บริโภคต้องได้ใส่รองเท้าที่ดีไปด้วย แต่เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ‘รองเท้าที่ดี’ สำหรับ Daybreak เป็นแบบไหน? ซึ่งเมษให้คำตอบมาว่า
“เรื่องแรกคือดีไซน์ ผู้บริโภคในอุตสาหกรรมแฟชั่นจะซื้อรองเท้า เสื้อผ้า กระเป๋า เขาต้องการซื้อเพื่อเอาไปใส่แล้วดูดี เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเขา ดีไซน์เลยต้องมาเป็นอันดับที่ 1 ส่วนที่ 2 เป็นเรื่องคุณภาพ งานเย็บปักอะไรอย่างนี้ต้องดูเนี้ยบ ดูคม แล้วก็เรื่องที่ 3 คือความใส่สบาย ต่อๆ มาก็จะเป็นเรื่องฟังก์ชั่น ราคา เพราะผมเชื่อว่า ถ้ามันสวยจริง คุณภาพดีจริง ใส่สบายจริง ราคาก็จะเป็นปัจจัยรองลงมา”
“จริงๆ ราคาก็เป็นหนึ่งในหัวใจที่เรามองว่าเป็นปัญหาของสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในตลาด ถ้าเราตั้งราคาสูงกว่าตลาด ก็อาจจะไปจบลูปเดิมคือเราขายไม่ได้ เพราะงั้นความตั้งใจของเราก็จะทำได้ยากขึ้น เราเลยคุยกันว่า โอเค เราเชื่อว่า ถ้าผู้บริโภคเปิดใจยอมรับสินค้าที่เราทำ แล้วจำนวนมันมากพอ มันก็จะทำให้เราเลี้ยงตัวเองได้ จริงๆ แล้วต้นทุนมันก็ไม่ได้สูงขนาดที่ว่า เราจะไม่มีกำไรหรือว่าไม่มีอะไรมาหล่อเลี้ยงองค์กรเลย แล้วเราก็พยายามพัฒนาตลอดเพื่อให้ต้นทุนมันลดลง”
ส่วนปลื้มเล่าเสริมถึงประเด็นนี้ว่า “เราพยายามคัดสรรวัตถุดิบที่มันอยู่ตรงกลาง ให้สามารถใส่สบาย แล้วก็ดูสวยงามด้วย เรื่องความใส่สบายมันก็จะมีรายละเอียดอีกว่าคนไทยหน้าเท้าค่อนข้างกว้างกว่าทางยุโรปหรืออเมริกา ซึ่งก็อาจจะไม่เหมือนกับแบรนด์ระดับโลก เราก็จะปรับรูปเท้าของรองเท้าให้เหมาะสำหรับคนไทยมากขึ้น ซึ่งเราจะให้ความสำคัญตรงนี้ค่อนข้างเยอะ”
เป้าหมายคือแบรนด์แฟชั่นยั่งยืนระดับโลก
นอกจากต้นน้ำที่ลดการใช้ทรัพยากร กลางน้ำที่ผู้บริโภคใช้งานได้นานแล้ว ปลายน้ำก็มีทั้งบริการและโครงการที่ทำให้รองเท้า Daybreak อยู่ห่างไกลจากการเป็นขยะให้มากที่สุด เริ่มมาตั้งแต่บริการซ่อมรองเท้าฟรีสำหรับลูกค้า Daybreak ตลอดอายุการใช้งาน
“เราไม่อยากให้สินค้าเรากลายเป็นขยะ เราเลยตั้งใจว่าอยากจะดูแลสินค้า เพื่อให้ลูกค้าใช้งานรองเท้าเราได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้”
ส่วนอีกโครงการที่กำลังจะเปิดตัวเร็วๆ นี้มีชื่อว่า Give back Get back สำหรับลูกค้าที่รองเท้าพัง แล้วอยากจะเปลี่ยนคู่ แต่ไม่อยากทิ้งให้กลายเป็นขยะ ก็สามารถส่งรองเท้า Daybreak กลับมาให้แบรนด์ซ่อมเพื่อนำไปบริจาค หรือแยกชิ้นส่วนไปรีไซเคิล
“ด้วยความที่เราเป็นผู้ผลิต เราค่อนข้างจะชำนาญเรื่องรีไซเคิล แยกชิ้นส่วน การประกอบใหม่ การซ่อมแซมอะไรพวกนี้ เพราะงั้นมันก็ใช้ต้นทุนไม่สูง เราก็ลองคำนวณกันว่าผู้บริโภคคนหนึ่งจะมีโอกาสส่งมาให้เราซ่อมไปกี่ครั้ง แล้วแต่ละครั้งจะมีต้นทุนเท่าไร ซึ่งถ้ามีบริการแบบนี้ เรายังมีกำไรได้อยู่ แล้วก็ได้ดูแลสินค้า ดูแลผู้บริโภคของเราไปด้วย”
นอกจาก 2 บริการนี้แล้ว ยังมีอีกโครงการที่น่าสนใจคือ ‘Treegether’ โครงการที่จะปลูกต้นไม้ทดแทนทุกครั้งที่ลูกค้าซื้อรองเท้าจาก Daybreak
“เราเป็นแบรนด์สิ่งแวดล้อมที่เอาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติมาใช้ เราเลยอยากรักษาสมดุลและเสริมสร้างให้สิ่งแวดล้อมแข็งแกร่งขึ้น เรียกว่า Provide Home to Nature คือ ให้บ้านกับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในต้นไม้เหล่านั้น”
“ผมอาจจะขยายความหน่อยว่า หลายๆ ครั้งเรามักจะคิดว่า การปลูกต้นไม้เป็นเรื่องที่ดี แต่บางครั้งการปลูกต้นไม้ก็ทำลายสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน เช่น ถ้าสิ่งแวดล้อมเดิมมันเป็นพื้นที่ป่าหญ้า แต่เราเข้าไปขุดแล้วก็ปลูกต้นไม้ มันจะทำให้เกิดเงาแล้วไปกระทบกับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าหญ้าเหล่านั้น เกิดเป็นระบบนิเวศใหม่ แต่จริงๆ แล้วเราควรไปศึกษาว่า พื้นที่นี้ แต่ก่อนมันเป็นยังไง ปัจจุบันขาดอะไรไป แล้วไปเติมสิ่งที่ขาดเพื่อให้มันกลับไปเป็นเหมือนเดิม ซึ่งวิธีการนี้เรียกว่า Forest Landscape Restoration ซึ่งปีที่แล้วเราไปร่วมมือกับอุทยานปลูกต้นไม้ไปประมาณ 20,000 ต้น เพื่อคืนสภาพป่าเสื่อมโทรมให้กับประเทศ ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เราตั้งใจทำมากครับ”
ตอนนี้ Daybreak เวอร์ชั่นรีแบรนด์มีอายุใกล้จะครบ 2 ปี และจากเรื่องราวทั้งหมดก็นับว่าเป็น 2 ปีที่เข้มข้น ซึ่งแน่นอนว่าการเดินทางของ Daybreak นั้นยังอีกยาวไกล
“เราตั้งใจไว้ว่า ถ้าเราทำให้ผู้บริโภคมาใช้สินค้าเราได้ เราก็จะแก้ปัญหามลภาวะได้ อันนี้ผมมองเป็นเป็นสเต็ปที่ 1 ของแบรนด์ ส่วนสเต็ปต่อไป เรามองว่า ยังไงเราทำเรื่องการแก้ปัญหามลภาวะแล้ว เลยคุยกันว่า โอเค เราอยากจะเป็นแบรนด์ที่ยั่งยืนที่สุดในโลกไปเลย แล้วก็เราใช้คำว่า ‘แฟชั่น’ เราไม่ได้ใช้คำว่า Shoes หรือว่า Foot Brand เพราะเราตั้งใจว่าอยากจะทำทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า อะไรก็ตามที่อยู่ในพาร์ตของแฟชั่นให้ออกมาตอบโจทย์ความต้องการของคน”
“ผมเชื่อว่าทีมงานเราเองก็น่าจะเหมือนกัน ถ้าเห็นว่าวันนี้แบรนด์สำเร็จแล้ว มีคนใส่แบรนด์เรา มีคนพูดถึงเราเต็มไปหมด ก็คงจะภูมิใจว่า เฮ้ย เราได้สร้างความเปลี่ยนแปลงหนึ่งให้กับโลก ได้เป็นฟันเฟืองหนึ่งที่คอยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นให้มันเป็นไปในทิศทางที่ทางที่ดีขึ้น”
แม้ Daybreak จะเป็นชื่อดั้งเดิมของโรงงานและไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแม้จะมีการรีแบรนด์ แต่เรามองว่าชื่อนี้เหมาะเจาะกับเรื่องราวทั้งหมดของแบรนด์ Daybreak เพราะ คำๆ นี้ในภาษาไทยหมายถึงรุ่งอรุณหรือยามรุ่งสาง
เช่นเดียวกับ Daybreak ที่แม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่กลับเปี่ยมไปด้วยความหวังเหมือนแสงอาทิตย์ของเช้าวันใหม่